ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมุนไพร

พืชสมุนไพร

เราคุ้นเคยกับคำว่า “สมุนไพร” มานานแล้วเพราะมีการใช้สมุน ไพรในการบำบัดรักษาโรคมาตั้งแต่สมัยโบราณจนกระทั่งปัจจุบัน เช่นใช้ใน รูปของยาต้ม ยาหม้อ ยาชง ยาลูกกลอน เป็นต้น แม้ว่าในปัจจุบันการบำบัดรักษาโรคส่วนมากจะถูกแทนที่โดยการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งมีความสะดวกสบายรวดเร็วก็ตามการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคก็ยังเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในชนบทที่ห่างไกล และเป็นที่น่ายินดีว่าความนิยมใช้สมุนไพรมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ใช้เพื่อเป็นยารักษาโรค เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ใช้เป็นอาหารเสริม และใช้เป็นเครื่องดื่ม    โดยจะเห็นได้จากการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ที่มีสมุนไพรหรือของจากธรรมชาติเป็นส่วนผสม โดยใช้คำว่า สมุนไพร หรือ Natural บ่งบอกไว้ นอกจากนี้ยังมียาแผนปัจจุบันจำนวนไม่น้อยที่ได้มาจากสมุนไพร ตัวอย่างเช่น วินบลาสทีน (Vinblastine) และ วินคริสทีน (Vincristine) ซึ่งใช้เป็นยารักษามะเร็ง ได้จากรากแพงพวยฝรั่ง, รีเซอปีน (Reserpine) ซึ่งใช้เป็นยาลดความดันโลหิตได้จากรากระย่อมน้อย

Kelnac® เป็นยาที่ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารที่ให้ผลดี ได้จากสารเปลาโนทอล (Plaunotol) ซึ่งสกัดจากใบเปล้าน้อย Agiolax® เป็นยาระบายที่มีส่วนผสมสำคัญเป็นเมล็ดเทียนเกล็ดหอยและฝักมะขามแขก Parodontax® เป็นยาสีฟันและนํ้ายาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด เช่น ชาโมมาย (Chamomile) นํ้ามันกานพลู นํ้ามันเปปเปอรมินต์ เป็นต้น ในด้านเครื่องสำอาง มีเครื่องสำอางหลายชนิดที่มีสมุนไพรเป็นส่วนผสม อาทิแชมภูว่านหางจระเข้หรือเทียนกิ่ง ครีมบำรุงผิวผสมแตงกวา สบู่ผสมน้ำผึ้ง และ ครีมนํ้านม เป็นต้น สำหรับสมุนไพรที่ใช้ในรูปอาหารเสริมเช่น กระเทียม สาหร่ายทะเล นมผึ้ง เป็นต้น ส่วนสมุนไพรที่นำมาใช้เตรียมเป็นเครื่องดื่ม ได้แก่ ชา กาแฟ ขิง บัวบก ว่านหางจระเข้ และคำฝอย เป็นต้น

ความหมายของสมุนไพร

คำว่า สมุนไพร ตาม พ.ร.บ. ยา หมายถึง “ยาที่ได้จากพืช สัตว์ หรือแร่ ซึ่งยังไม่ได้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ” เช่นพืชก็ยังเป็นส่วนของราก ลำต้น ใบ ดอก ผล ฯลฯ ซึ่งยังมิได้ผ่านขั้นตอนการแปรรูปใดๆ แต่ในทางการค้าสมุนไพรมักจะถูกดัดแปลงในรูปแบบต่างๆ เช่น ถูกหั่นให้เป็นชิ้นเล็กลง บดเป็นผงละเอียด หรืออัดเป็นแท่ง อย่างไรก็ตามในความรู้สึกของคนทั่วๆ ไป เมื่อกล่าวถึงสมุนไพร มักจะนึกถึงเฉพาะ ต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นยาเท่านั้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าสัตว์และแร่มีการนำมาใช้น้อย และใช้เฉพาะในโรคบางชนิดเท่านั้น

สมุนไพรนอกจากจะใช้เป็นยาแล้ว ยังใช้ประโยชน์เป็นอาหาร ใช้เตรียมเป็นเครื่องดื่ม ใช้เป็นอาหารเสริม เป็นส่วนประกอบในเครื่อง สำอาง ใช้แต่งกลิ่น แต่งสีอาหารและยา ตลอดจนใช้เป็นยาฆ่าแมลงอีกด้วย ในทางตรงกันข้าม มีสมุนไพรจำนวนไม่น้อยที่มีพิษ ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้เกินขนาดจะมีพิษถึงตายได้ ดังนั้นการใช้สมุนไพรจึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และใช้อย่างถูกต้อง

ปัจจุบันมีการตื่นตัวในการนำสมุนไพรมาใช้พัฒนาประเทศ มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการสมุนไพรกับการสาธารณสุขมูลฐาน โดยเน้นการนำสมุนไพรมาใช้บำบัดรักษาโรคในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐให้มากขึ้น และส่งเสริมให้ปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ภายในหมู่บ้าน จึงนับเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรมากยิ่งขึ้น อันจะเป็น วิธีหนึ่งที่จะช่วยประเทศชาติประหยัดเงินตราในการสั่งซื้อยาสำเร็จรูปจากต่างประเทศได้ปีละเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันมีผู้พยายามศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนายาสมุนไพรให้ สามารถนำมาใช้ในรูปแบบที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น เช่น นำมาบดเป็นผงบรรจุแคปซูล ตอกเป็นยาเม็ด เตรียมเป็นครีมหรือยาขี้ผึ้งเพื่อใช้ทาภายนอก เป็นต้น ตัวอย่างสมุนไพรไทยที่ได้มีการพัฒนารูปแบบเพื่อให้ใช้ได้สะดวกขึ้น และมีการผลิตออกจำหน่ายบ้างแล้ว ได้แก่ ยาชง และยาเม็ดมะขามแขกซึ่งใช้เป็นยาระบาย ครีมทาแก้ปวดบวมไพลจีซาลจากนํ้ามันไพล กระเทียมเม็ด และกระเทียมแคปซูลเพื่อใช้เป็นอาหารเสริม ยาลูกกลอนประสะมะแว้ง ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ ครีมบัวบก แก้ฟกชํ้า ยาเม็ดและยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร แก้เจ็บคอ และครีมผักบุ้งทะเลใช้แก้พิษแมงกระพรุน เป็นต้น

ในการศึกษาวิจัยเพื่อนำสมุนไพรมาใช้เป็นยาแผนปัจจุบันนั้น ได้มีการศึกษาวิจัยกันอย่างกว้างขวาง โดยพยายามสกัดสารสำคัญจาก สมุนไพร เพื่อให้ได้สารที่บริสุทธิ์ ศึกษาคุณสมบัติทางด้านเคมี ฟิสิกซ์ของสารเพื่อให้ทราบว่าเป็นสารชนิดใด ตรวจสอบฤทธิ์ด้านเภสัชวิทยาในสัตว์ ทดลองเพื่อดูว่าให้ผลดีในการรักษาโรคหรือไม่เพียงใด ศึกษาความเป็นพิษ และผลข้างเคียง เมื่อพบว่าสารชนิดใดให้ผลในการรักษาที่ดี โดยไม่มีพิษ หรือมีพิษข้างเคียงน้อย จึงจะนำสารนั้นมาเตรียมเป็นยารูปแบบที่เหมาะสม เพื่อทดลองใช้กับคนต่อไป

ขั้นตอนการวิจัยดังกล่าวใช้ระยะเวลานานและเสียค่าใช้จ่ายสูง บ่อยครั้งที่วิจัยแล้วพบว่าสารที่สกัดได้มีพิษข้างเคียงมาก ไม่สามารถนำมาใช้ เป็นยารักษาโรคได้ ดังนั้นกว่าที่จะได้ยาใหม่ๆ แต่ละชนิดจะต้องเสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายไปมากทีเดียว

การเรียกชื่อสมุนไพร

พืชแต่ละชนิดจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป พืชชนิดเดียวกัน ใน ท้องถิ่นที่ต่างกันก็ยังเรียกชื่อที่ต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น ชา เป็นชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปในภาคกลาง ภาคเหนือมักเรียกว่า เมี่ยง หรือเมี่ยงป่า ชาวกระเหรี่ยงแม่ส่องสอนเรียกชาว่า ลาพ่ะ เป็นต้น ในปัจจุบันการเรียกชื่อพืชแบ่งได้เป็น 2 แบบ กล่าวคือ

1. ชื่อสามัญ (Common Name) เป็นชื่อที่จำได้ง่าย แต่พืชชนิดเดียวกันมีชื่อเรียกได้หลายชื่อ แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ชื่อดัง กล่าวจึงอาจทำให้เกิดความสับสนได้

2. ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name) เป็นชื่อสากลที่ใช้ เรียกพืชชนิดเดียวกันทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อให้คนทุกชาติ ทุกภาษาเข้าใจได้ตรง กัน ชื่อวิทยาศาสตร์เขียนด้วยภาษาลาติน ประกอบด้วยชื่อสกุล (genus) และชื่อที่ระบุชนิดของพืชในสกุลนั้น (species) โดยชื่อทั้งสองจะเขียนคู่กันเสมอ และจะใช้การพิมพ์หรือการเขียนด้วยตัวเอน (italic) หรือใช้การขีดเส้นใต้แต่ละชื่อ เพื่อแสดงว่าเป็นชื่อเฉพาะ ชื่อสกุลเขียนขึ้นต้นด้วยอักษรตัวใหญ่ ส่วนชื่อชนิดเขียนด้วยอักษรตัวเล็กทั้งหมดนอกจากนี้ในการเขียนชื่อวิทยาศาสตร์มักจะเขียนชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้ตั้งชื่อพืชนั้นๆ เป็นคนแรกลงไปด้วย ตัวอย่างเช่นชื่อวิทยาศาสตร์ของกระเทียมคือ Allium sativum Linn. ในกรณีนี้ Allium เป็นชื่อสกุล sativum เป็นชื่อที่บ่งชนิดของพืชในสกุล Allium ส่วน Linn. ย่อมาจาก Linnaeus ซึ่งเป็นชื่อของนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของกระเทียมเป็นคนแรก

อย่างไรก็ตามในบางครั้งพืชชนิดหนึ่งอาจมีชื่อวิทยาศาสตร์ได้ มากกว่า 1 ชื่อ เพราะมีผู้ทำการศึกษาและตั้งชื่อพืชชนิดนี้หลายคน ในกรณีเช่นนี้จะใช้ชื่อของผู้ที่ได้ตีพิมพ์เสนอผลงานก่อน ส่วนชื่ออื่นๆ จะบันทึกไว้ เป็นชื่อพ้อง (Synonym) โดยบางครั้งจะเขียนในวงเล็บคู่กับชื่อจริง เช่น ขมิ้นชัน Curcuma longa Linn. (Curcuma domestica Valeton) เปนต้น

ลักษณะของพืชสมุนไพร

โดยทั่วไปต้นไม้จะแบ่งออกได้เป็น 5 ส่วนคือ ราก ลำต้น ใบ ดอก และผล ส่วนต่างๆ เหล่านี้จะมีรูปร่างลักษณะและหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ราก ลำต้น ใบ มีบทบาทร่วมกันในการดูดซึมอาหาร ผลิต อาหาร ลำเลียงอาหาร และสะสมอาหารให้พืช ส่วนดอก ผล เมล็ด มีหน้าที่ในการสืบพันธุ์ ช่วยให้พืชกระจายพันธุ์ต่อไป

1. ราก เป็นส่วนของพืซที่งอกต่อจากลำต้นลงไปในดิน ไม่มีส่วน ของข้อ ปล้อง ตา ใบ และดอก หน้าที่สำคัญของรากคือ ดูดนํ้า และแร่ธาตุ จากดินส่งไปเลี้ยงลำต้น และยึดเกาะดิน ทำให้ลำต้นตั้งตรง ไม่โค่นล้ม ราก แบ่งได้เป็น 2 ระบบคือ ระบบรากแก้ว และ ระบบรากฝอย รากแก้วมักจะพบในพืชใบเลี้ยงคู่ เช่น คูน มะขาม มะม่วง เป็นต้น ส่วนระบบรากฝอยจะพบได้ในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น หญ้า ตะไคร้ เป็นต้น

ตามปกติรากจะอยู่ใต้ดิน แต่มีรากของพืชบางชนิดเปลี่ยนแปลงไปอยู่เหนือดินเพื่อทำหน้าที่พิเศษแตกต่างกันไป เช่น รากค้ำจุน พบได้ในต้นเตย ไทร ทำหน้าที่ช่วยพยุงลำต้นไม่ให้ล้ม รากอากาศ พบใน กล้วยไม้ชนิดต่างๆ ช่วยดูดความชื้นจากอากาศ รากยึดเกาะ พบได้ใน ไม้เลื้อย เช่น ดีปลี พลู ทำหน้าที่ช่วยให้ลำต้นยึดกับต้นไม้อื่นหรือหลัก ได้แน่น นอกจากนี้รากของพืชบางชนิดยังเปลี่ยนไปทำหน้าที่สะสมอาหารให้พืช เช่น รากมัน รากแครอท รากของพืชหลายชนิดสามารถนำมาใช้เป็นยาได้ เช่น กระชาย ระย่อม แพงพวยฝรั่ง เป็นต้น

2. ลำต้น ลำต้นเป็นส่วนที่สำคัญของพืช ประกอบด้วย ข้อ ปล้อง และตาที่เห็นได้ชัดเจน ลำต้นมีหน้าที่ลำเลียงอาหารจากรากไปยัง ใบ ช่วยคํ้าจุนพืช และในพืชบางชนิดลำต้นยังทำหน้าที่สะสมอาหารด้วย จากลักษณะของลำต้นทำให้แบ่งต้นไม้ได้เป็น 4 ประเภทคือ ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้ล้มลุก และไม้เลื้อย

ไม้ยืนต้น เป็นต้นไม้ที่มีลำต้นสูงใหญ่ มีเนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง แตก กิ่งก้านออกไปมากมาย มีอายุหลายปี ตัวอย่างเช่น มะม่วง มะขาม มะกา เป็นต้น

ไม้พุ่ม มีลำต้นขนาดเล็กและมีความสูงน้อยกว่าไม้ยืนต้น มักแตกกิ่งก้านที่โคนต้นบริเวณใกล้กับพื้นดิน ทำให้ทรงต้นเป็นพุ่ม เช่น ทองพันชั่ง มะนาว ขลู่ เป็นต้น

ไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นเนื้อไม้อ่อน ส่วนมากมีอายุเพียงปีเดียว แต่บางชนิดอาจมีอายุหลายปีได้ ตัวอย่างของพืชประเภทไม้ล้มลุก เช่น ฟ้าทะลาย โจร หญ้าชนิดต่างๆ

ไม้เลื้อย เป็นลำต้นประเภทที่ไม่สามารถตั้งตรงได้ อาศัยการเลื้อยพันไปตามวัตถุหรือต้นไม้อื่น โดยใช้ส่วนต่างๆ ช่วยยึดเกาะ เช่น หนวด ราก หนาม ลำต้นมีทั้งประเภทที่เป็นไม้เนื้อแข็งและไม้เนื้ออ่อน เช่น การเวก ฟักทอง ตำลึง เล็บมือนาง ชิงช้าชาลี และดีปลี เป็นต้น

ลำต้นของพืชส่วนใหญ่อยู่บนดิน แต่มีพืชบางชนิดที่มีลำต้นอยู่ ใต้ดิน ส่วนที่อยู่เหนือดินคือกาบใบหุ้มซ้อนๆ กันจนดูคล้ายกับเป็นลำต้น ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นลำต้นได้ ลำต้นใต้ดินมักพบในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นส่วนใหญ่ เช่น กล้วย ขิง ข่า ตะไคร้ เป็นต้น ลำต้นใต้ดินที่พบเสมอๆ ได้แก่ ประเภท เหง้า และประเภท หัว ตัวอย่างของพืชที่มีเหง้าใต้ดิน ได้แก่ ขิง ข่า ไพล กระชาย เป็นต้น ส่วนลำต้นใต้ดินประเภทหัว เช่น หอม กระเทียม แห้วหมู บุก เป็นต้น ลำต้นของพืชหลายชนิดสามารถนำมาใช้เป็นยาได้ เช่น แค ขี้เหล็ก ฟ้าทะลายโจร ไพล เป็นต้น

3. ใบ ใบเป็นส่วนที่สำคัญของพืช มีหน้าที่ในการสังเคราะห์แสง ใบของพืชหลายชนิดใช้เป็นยาได้ เช่น ใบชุมเห็ดเทศ ใบขี้เหล็ก ใบมะกา ใบมะขามแขก เป็นต้น โดยทั่วไปใบมีลักษณะเป็นแผ่นสีเขียว เนื่องจากมีสารจำพวกคลอโรฟิลล์ ใบที่สมบูรณ์ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ แผ่นใบ ก้านใบ และหูใบ ใบของพืชบางชนิดอาจขาดส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งไปได้ การสังเกตลักษณะของใบควรสังเกตรูปร่างใบ ลักษณะปลายใบ โคนใบ ริมใบ เส้นใบ และลักษณะของเนื้อใบ

แผ่นใบ มีรูปร่างได้หลายแบบ อาจเป็นรูปไข่ รูปวงร รูปใบหอก รูปหัวใจ รูปสามเหลี่ยม รูปขอบขนาน ฯลฯ

ขอบใบ อาจมีลักษณะเรียบ หยักเว้าเป็นแฉก หยักเป็นซี่ฟัน หรือ เป็นคลื่น ลักษณะของขอบใบสามารถแบ่งย่อยเป็นแบบต่างๆ ได้หลายแบบ

ปลายใบและโคนใบ อาจมีลักษณะมน แหลม หรือเว้า ลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้มีชื่อเรียกต่างๆ กันออกไป

ลักษณะต่างๆ ของแผ่นใบ ขอบใบ ปลายใบ และโคนใบ จะช่วยในการบอกลักษณะที่แตกต่างกันของพืชแต่ละชนิดได้ ลักษณะดังกล่าว สามารถแบ่งละเอียดได้หลายแบบ และมีชื่อเรียกเป็นศัพท์เฉพาะได้มากมาย ดังที่แสดงไว้ในรูปที่ 5, 6 และ 7

ชนิดของใบ ใบแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ใบเดี่ยว และใบประกอบ ใบเดี่ยว เป็นใบที่บนก้านใบหนึ่งอันมีใบเพียงใบเดียว ใบของพืช

บางชนิดขอบใบอาจเว้าลึกเป็นแฉกจนเกือบถึงเส้นกลางใบ แต่ถ้าตัวใบไม่ขาดออกจากกัน ก็ยังจัดเป็นใบเดี่ยว เช่น ใบมันสำปะหลัง เป็นต้น

ใบประกอบ เป็นใบที่บนก้านใบหนึ่งอัน มีใบมากกว่าหนึ่งใบขึ้น ไป ใบแต่ละใบเรียกว่าใบย่อย ใบย่อยของพืชแต่ละชนิดมีขนาดไม่เท่ากัน บางชนิดมีขนาดเล็ก เช่น ใบมะขาม บางชนิดใบย่อยมีขนาดใหญ่ เช่น ใบชุมเห็ดเทศ เป็นต้น ใบประกอบแบ่งออกได้เป็นชนิดใหญ่ๆ 2 ชนิดคือ ใบประกอบแบบขนนก และใบประกอบแบบพัด

จาก Bailey LH, Manual of Cultivated Plants, 1969


ใบประกอบแบบขนนก เป็นใบประกอบซึ่งใบย่อยแยกออก จากแกนกลางที่เป็นก้านยาวเรียว ใบประกอบชนิดนี้อาจเป็นใบประกอบชั้นเดียว ใบประกอบ 2 ชั้น หรือใบประกอบ 3 ชั้น ก็ได้

ใบประกอบแบบพัด เป็นใบประกอบที่ใบย่อยทุกใบแยกออก จากจุดเดียวกัน เช่น ใบหนุมานประสานกาย เป็นต้น

การเรียงตัวของใบ

ใบของพืชมีการเรียงตัวได้หลายแบบ ที่พบเสมอๆ ได้แก่

-เรียงสลับ (alternate) ที่แต่ละข้อจะมีใบ 1 ใบ ตัวอย่างเช่น ใบชบา

-เรียงตรงข้าม (opposite) ที่แต่ละข้อมีใบออก 1 คู่ ตรงข้ามกัน เช่น ใบกะเพรา

-เรียงตัวรอบข้อ (whorled) ที่แต่ละข้อมีใบมากกว่า 2 ใบ ออกรอบข้อ เช่น ใบยี่โถ

4. ดอก

ดอกไม้แบ่งได้เป็นดอกเดี่ยวและดอกช่อ ดอกเดี่ยวเป็นดอกไม้ที่บนก้านดอกอันหนึ่งมีดอกเพียงดอกเดียว ส่วนดอกช่อเป็นดอกที่บนก้านดอกอันหนึ่งมีดอกมากกว่า 2 ดอกขึ้นไป การเรียงตัวของช่อดอกมีหลายรูปแบบ แล้วแต่ชนิดของพืช ลักษณะของช่อดอกที่พบได้บ่อยๆ เช่น

Raceme เป็นช่อดอกที่มีแกนกลาง (rachis) ยาว และเจริญต่อไปได้เรื่อยๆ ดอกย่อยเรียงรอบแกน ความยาวของก้านดอกย่อยแต่ละดอกสมํ่าเสมอกัน ตัวอย่างเช่น ดอกหางนกยูงไทย

Spike เป็นช่อดอกที่มีแกนกลางยาวเช่นเดียวกับแบบ raceme แต่ ดอกย่อยไม่มีก้าน

Spadix เป็นช่อดอกที่มีแกนกลางเป็นแท่งอวบนํ้า ดอกย่อยมักไม่สมบูรณ์เพศ ดอกตัวผู้อยู่ด้านบน ดอกตัวเมียอยู่ด้านล่าง โคนช่อมีกลีบประดับขนาดใหญ่สีสวย เรียก Spathe ช่อดอกชนิดนี้ เช่น ดอกหน้าวัว เป็นต้น

Corymb เป็นช่อดอกที่ดอกย่อยมีก้านดอกยาวไม่เท่ากัน ดอก ย่อยดอกล่างมีก้านยาวกว่าดอกด้านบน เพื่อชูดอกให้อยู่ในระดับเดียวกัน ดอกล่างด้านนอกจะบานก่อน ดอกตรงกลางจะบานทีหลัง

Umbel เป็นช่อดอกที่ดอกย่อยมีก้านยาวเท่ากัน ออกจากจุดเดียวกันแผ่ออกไปเป็นรัศมี เช่น ดอกกุยช่าย

Panicle เป็นช่อดอกที่มีแกนกลาง กิ่งด้านข้างมีการแตกแขนงเป็นช่อย่อย ช่อย่อยด้านล่างจะบานไล่ขึ้นข้างบน

Head เป็นช่อดอกที่ดอกย่อยไม่มีก้าน อยู่รวมอัดกันแน่นบน แกนกลางที่สั้น หรือแบน ทำให้ช่อดอกมีลักษณะแผ่ออก หรือกลม ช่อดอกแบบนี้ได้แก่ ทานตะวัน ดาวเรือง เป็นต้น

5. ผล เป็นส่วนที่เจริญมาจากรังไข่ ภายในมีเมล็ด ผลแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ ผลเดี่ยว ผลกลุ่ม และผลรวม

ผลเดี่ยว แต่ละผลเกิดจากหนึ่งรังไข่ในหนึ่งดอก ผลเดี่ยวแบ่ง ออกได้เป็นผลสด (freshy fruit) ผลแห้งชนิดแตกได้ (dehiscent fruit) และ ผลแห้งไม่แตก (indehiscent fruit) ตัวอย่างของผลเดี่ยวชนิดผลสด ได้แก่ มะม่วง ฝรั่ง ฟัก แอปเปิ้ล ตัวอย่างผลเดี่ยวชนิดแห้งแล้วแตกได้ เช่น ฝักถั่ว (เป็นผลชนิด legume) แคปซูลฝิ่น (เป็นผลชนิด capsule) ผลรัก (เป็นผลชนิด follicle) เป็นต้น ส่วนผลเดี่ยวชนิดแห้งแล้วไม่แตก เช่น เมล็ดข้าว (ผลชนิด caryopsis) เมล็ดทานตะวัน (เป็นผลชนิด achene) เป็นต้น

ผลกลุ่ม (Aggregate fruit) แต่ละผลเกิดจากหลายรังไข่ในหนึ่งดอกเชื่อมกันด้วยฐานรองดอก เช่น สตรอเบอรี่ น้อยหน่า กระดังงา เป็นต้น

ผลรวม (Multiple fruit) เป็นผลที่เจริญมาจากรังไข่หลายอันที่มา จากหลายดอกซึ่งอยู่ในช่อดอกเดียวกัน เช่น ผลสับปะรด ขนุน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีผลที่มีลักษณะพิเศษซึ่งเดิมในแต่ละดอกมีรังไข่ เพียงอันเดียว เมื่อกลายเป็นผล รังไข่เจริญแยกออกมาเป็นหลายผลย่อย เช่น กะเพรา แมงลัก โหระพา เป็นต้น ผลของพืชหลายชนิดที่นำมาใช้ประโยชน์เป็นยาได้ เช่น มะเกลือ มะแว้ง ทับทิม เป็นต้น

การเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพร

สรรพคุณของพืชสมุนไพรจะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสาร สำคัญในพืชสมุนไพรนั้นๆ ปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพของสมุนไพร ได้แก่ การเก็บเกี่ยว ช่วงเวลาที่เก็บสมุนไพร และวิธีการเก็บสมุนไพร จะมีผลต่อปริมาณสารสำคัญในสมุนไพร นอกจากนี้การเก็บเกี่ยวยังต้อง คำนึงถึงการเก็บสมุนไพรให้ถูกต้นและเก็บให้ถูกส่วนอีกด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อปริมาณของสารสำคัญ ซึ่งจะเกี่ยวโยงถึงผลในการรักษาโรคของสมุนไพรนั้นๆ

หลักทั่วไปในการเก็บสมุนไพรส่วนต่างๆ มีดังนี้

1. ประเภทรากหรือหัว เช่น กระชาย ข่า ขิง ไพล เป็นต้น ควรเก็บในช่วงที่พืชหยุดการเจริญเติบโต ใบและดอกร่วงหมด หรือเก็บใน ช่วงต้นฤดูหนาวถึงปลายฤดูร้อน เพราะในช่วงนี้รากและหัวจะมีการสะสมสารสำคัญในปริมาณสูง วิธีการเก็บใช้วิธีขุดด้วยความระมัดระวัง

2. ประเภทใบหรือเก็บทั้งต้น เช่น กะเพรา ฟ้าทะลายโจร ชุมเห็ดเทศ ควรเก็บในช่วงที่พืชเจริญเติบโตมากที่สุด หรือพืชบางชนิดอาจระบุให้แน่ชัดลงไป เช่น เก็บใบที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป (ใบเพสลาด) เป็นต้น วิธีเก็บใบใช้การเด็ด

3. ประเภทเปลือกต้นและเปลือกราก เช่น เปลือกสีเสียด เปลือกทับทิม เป็นต้น เปลือกต้นมักเก็บระหว่างช่วงฤดูร้อนต่อกับฤดูฝน เพราะปริมาณสารสำคัญในเปลือกจะสูงและเปลือกลอกได้ง่าย การลอกเปลือกต้นนั้นควรลอกจากส่วนกิ่งหรือแขนงย่อย ไม่ควรลอกจากลำต้นใหญ่ เพราะจะทำให้กระทบกระเทือนต่อการลำเลียงอาหารของพืชซึ่งอาจทำให้พืชตายได้ ส่วนเปลือกรากควรเก็บในช่วงต้นฤดูฝนเพราะจะลอกได้ง่าย

4. ประเภทดอก เช่น ดอกคำฝอย ดอกเบญจมาศสวน โดยทั่ว ไปมักเก็บในช่วงที่ดอกเริ่มบาน แต่บางชนิดก็ระบุว่าให้เก็บโนช่วงที่ดอกยังตูม เช่น กานพลู เป็นต้น

5. ประเภทผลและเมล็ด โดยทั่วไปมักเก็บในช่วงที่ผลแก่เต็มที่ เช่น มะแว้ง ดีปลี ชุมเห็ดไทย แต่บางชนิดก็ระบุให้เก็บในช่วงที่ผลยังดิบอยู่ เช่น ฝรั่ง เป็นต้น

การแปรสภาพและการเก็บรักษาพืชสมุนไพร

การเก็บรักษาสมุนไพรไว้นานๆ มักจะมีการขึ้นรา สีและกลิ่น เปลี่ยน ทำให้สมุนไพรนั้นเสื่อมคุณภาพได้ ดังนั้นหลังจากเก็บเกี่ยวพืช สมุนไพรแล้ว จำเป็นต้องมีการแปรสภาพและเก็บรักษาสมุนไพรด้วยวิธีที่เหมาะสม เพื่อรักษาคุณภาพไม่ให้เสื่อมลงระหว่างรอการส่งจำหน่าย การแปรสภาพพืชสมุนไพรขั้นต้นที่สะดวกนิยมใช้วิธีทำให้แห้ง โดยอาจเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งที่เหมาะสมดังนี้

1. ผึ่งลมให้แห้งในที่ร่ม

2. ผึ่งแดดให้แห้ง

3. ต้มหรือนึ่งแล้วทำให้แห้ง

1. อบให้แห้งด้วยตู้อบ

การต้มหรือนึ่งก่อนทำแห้งนิยมใช้กับสมุนไพรซึ่งมีแป็ง โปรตีน หรือเอ็นไซม์เป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ขิง ขมิ้น สมุนไพรที่เป็นชิ้น

ส่วนขนาดใหญ่ควรหั่นให้เป็นชิ้นบางพอสมควรแล้วจึงทำให้แห้ง ในการทำแห้งนั้นต้องคำนึงถึงการรักษาคุณภาพของสมุนไพรไม่ให้สลายตัวด้วยอุณหภูมิที่ใช้ในการทำแห้งควรใช้อุณหภูมิที่เหมาะสม โดยปกติมีหลักดังนี้

1. ส่วนของดอก ใบ และทั้งต้น ใช้อุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส หรือใช้การผึ่งในร่ม

2. ส่วนของราก กิ่ง เปลือก ใช้อุณหภูมิ 30-65 องศาเซลเซียส

3. ส่วนของผลและเมล็ด ใช้อุณหภูมิ 70-90 องศาเซลเซียส

4. สมุนไพรที่มีนํ้ามันหอมระเหย เช่น กะเพรา ตะไคร้หอม ใช้ อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส

5. สมุนไพรที่มีสารสำคัญเป็นแอลคาลอยด์หรือกลัยโคไซด์ เช่น มะขามแขก ดองดึง ใช้อุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียส

หลังจากสมุนไพรแห้งสนิทดีแล้ว (ความชื้นไม่เกิน 8%) ควรเก็บในภาชนะที่ป้องกันความชื้นและอากาศเข้าไปทำปฏิกิริยาทำให้สมุนไพรเสื่อมคุณภาพ ควรเก็บในที่แห้ง เย็น และอากาศถ่ายเทได้ดี และป้องกันแมลงและสัตว์เลี้ยงเข้ามาทำลาย หรืออาจเก็บในห้องควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศไม่เกิน 20% จะช่วยยืดอายุการเก็บและรักษาคุณภาพสมุนไพรได้นานขึ้น นอกจากนี้การเก็บสมุนไพร ควรเก็บให้เป็นสัดส่วน เพื่อป้องกันความสับสนของสมุนไพรแต่ละชนิด

ตัวยาสำคัญในพืชสมุนไพร

พืชสมุนไพรแต่ละชนิด แต่ละส่วน เช่น ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล เมล็ด ประกอบด้วยสารสำคัญหรือตัวยาที่แตกต่างกันออกไป สารเหล่านี้ จะเป็นตัวกำหนดสรรพคุณของสมุนไพร ชนิด และปริมาณของสารสำคัญจะขึ้นอยู่กับพันธุ์ของพืช สภาวะแวดล้อมที่ปลูก และช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวพืชสมุนไพร ตัวยาสำคัญในพืชสมุนไพรจำแนกได้เป็น 2 พวกใหญ่ คือ

1. สารปฐมภูมิ (Primary Metabolite) เป็นสารที่มีอยู่ในพืชชั้นสูงทั่วไป พบในพืชเกือบทุกชนิด เป็นผลิตผลที่ได้จากกระบวนการ สังเคราะห์แสง (Photosynthesis) เช่น คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เม็ดสี (pigments) และเกลืออนินทรีย์ (inorganic salts) เป็นต้น

2. สารทุติยภูมิ (Secondary Metabolite) เป็นสารประกอบ ที่มีลักษณะค่อนข้างพิเศษ พบต่างกันในพืชแต่ละชนิด คาดว่าสารเหล่านี้เกิดมาจากขบวนการชีวสังเคราะห์ (biosynthesis) ในพืช สารประเภทนี้ได้แก่ กลุ่มแอลคาลอยด์ กลุ่มกลัยโคไซด์ นํ้ามันหอมระเหย เป็นต้น ส่วนใหญ่สารจำพวกทุติยภูมิจะมีสรรพคุณทางยาหรือออกฤทธิ์เป็นสารพิษที่เห็นได้ชัดเจน

ในที่นี้จะกล่าวถึงสารสำคัญบางกลุ่มอย่างคร่าวๆ

คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrates) ได้แก่ สารจำพวกแป้ง น้ำตาล และเซลลูโลส (cellulose) ซึ่งเป็นกากใยที่มีอยู่ในพืช รวมทั้งวุ้น และสารเมือกจำพวกกัมและมิวซิเลท (gum and mucilage) ต่างๆ คาร์โบไฮเดรตมักพบเป็นอาหารที่พืชเก็บสะสมไว้ในรูปแป้ง โดยเก็บไว้ตามส่วนต่างๆ ของพืช เช่น หัว ราก ใบ เมล็ด เป็นต้น ประโยชน์ที่ได้จากสารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่นเป็นแหล่งของพลังงาน กากใยในพืชช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น วุ้นใช้เป็นยาระบาย เป็นต้น

ไขมัน (Lipids) ประกอบด้วยไข (wax) และนํ้ามันไม่ระเหย (fix oils) ตัวอย่างของนํ้ามันไม่ระเหยได้แก่ นํ้ามันจากเมล็ดพืช เช่น นํ้ามัน ถั่วเหลือง นํ้ามันเมล็ดฝ้าย น้ำมันรำ นํ้ามันปาล์ม น้ำมันละหุ่ง นํ้ามันเหล่านี้ บางชนิดใช้เป็นอาหาร ให้พลังงานแก่ร่างกาย บางชนิดใช้เป็นยาระบาย เป็นต้น

เรซินและบาลซัม (Resins and Balsams) เรซิน หมายถึง สารประกอบที่มีรูปร่างไม่แน่นอน มักเปราะ แตกง่าย แต่บางชนิดอาจนิ่ม เมื่อเผาไฟจะหลอมเหลวได้สารที่ใสข้น และเหนียว เช่น ชันสน ส่วนบาลซัม เป็นสารผสม เช่น กำยานไทย กำยานสุมาตรา ใช้แต่งกลิ่นหอมในเครื่องสำอาง เป็นต้น

โปรตีน-กรดอะมโน ( Proteins-Amino Acids) โปรตีน เป็นสารอินทรีย์ที่เกิดจากกรดอะมิโนมาจับกันเป็นโมเลกุลใหญ่ มีประโยชน์ บำรุงร่างกาย แต่โปรตีนบางชนิดมีพิษ เช่น โปรตีนจากเมล็ดละหุ่งและเมล็ดมะกลํ่าตาหนู เป็นต้น ตัวอย่างของกรดอะมิโนที่มีความจำเป็นต่อร่างกายเช่น ไลชีน (lysine) ทริปโตแฟน (tryptophan) ไกลซีน (glycine) และไทโรซีน (tyrosine) เป็นต้น

เอนไซม์ (Enzymes) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง มีนํ้าหนักโมเลกุล อยู่ระหว่าง 13,000 ถึง 840,000 ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาต่างๆ ในพืช เช่น เร่งปฏิกิริยาการย่อยของสารเร่งปฏิกริยา oxidation-reduction ที่เกิดขึ้นระหว่างสารสองชนิด เป็นต้น

น้ำมันหอมระเหย (Volatile Oils) เป็นสารที่มีลักษณะเป็น นํ้ามันที่กลั่นได้ด้วยไอนํ้า มีกลิ่นเฉพาะ ระเหยได้ง่ายในอุณหภูมิปกติ เป็นส่วนผสมของสารเคมีหลายชนิด มักเป็นส่วนประกอบของพืชสมุนไพรที่ เป็นเครื่องเทศและเครื่องหอม มักใช้เป็นยาขับลมและฆ่าเชื้อโรค เช่น นํ้ามันหอมระเหยในกระเทียม ขิง มะกรูด ดอกกุหลาบ ดอกมะลิ เป็นต้น ตัวอย่างขององค์ประกอบเคมีที่สำคัญในนํ้ามันหอมระเหย เช่น การบูร (camphor) บอร์นีออล (borneol) ซิโทรเนลลาล (citronellal) และไลนาลูออล (linalool) เป็นต้น

รูปที่ 17 ตัวอย่างองค์ประกอบเคมีในนํ้ามันหอมระเหย

แอลคาลอยด์ (Alkaloids) เป็นกลุ่มสารที่สำคัญ ส่วนใหญ่ พบในพืชชั้นสูง พบบ้างในพืชชั้นต่ำ เป็นสารที่มักจะมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาที่เด่นชัด พบได้ในพืชส่วนต่างๆ เช่น ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล เมล็ด ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดของพืช เช่นในใบยาสูบพบแอลคาลอยด์นิโคทีน (nicotine) ซึ่งเป็นสารที่มีพิษ ในยางฝิ่นมีแอลคาลอยด์มอร์ฟีนซึ่งใช้เป็นยาแก้ปวดที่ดีมาก แต่ทำให้เสพติดง่าย ในส่วนต่างๆ ของต้นแพงพวยฝรั่งมีแอลคาลอด์ยวินบลาสทีน (vinblastine) และวินคริสทีน (vincristine) ซึ่งใช้รักษามะเร็ง ในเมล็ดแสลงใจมีแอลคาลอยด์ที่เป็นพิษชื่อ สตริ๊กนีน (strychnine) ทำให้ชักได้ และใช้เป็นยาเบื่อหนู ควินิน (quinine) เป็นแอลคาลอยด์ที่ใช้รักษาไข้มาเลเรียตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน พบได้ในเปลือกซิงโคนา ในรากระย่อมน้อยมีแอลคาลอยด์ที่ใช้เป็นยาลดความดันชื่อรีเซอปีน (reser- pine) ใบชาและเมล็ดกาแฟมีแอลคาลอด์ยคาเฟอีน (caffeine) ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า เป็นต้น

กลัยโคไซด์ (Glycosdes) เป็นสารกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่ง นำมาใช้ประโยชน์เป็นยารักษาโรคอย่างกว้างขวาง เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ยาระบาย ยาลดอาการอักเสบ ยาฝาดสมาน ตลอดจนใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ฮอร์โมนที่สำคัญหลายชนิด กลัยโคไซด์หลายชนิดมีฤทธิ์เป็นสารพิษ กลัยโคไซด์พบมากในส่วนต่างๆ ของพืชชั้นสูง แบ่งออกเป็นหลายชนิดที่สำคัญได้แก่

1. คาร์ดิโอแอ็คทีพ หรือคาร์ดิแอกกลัยโคไซด์(Car­dioactive or Cardiac Glycosides)

เป็นกลัยโคไซด์ที่ออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น digitoxin, digoxin พบได้ในใบดิจิตาลิส (DigitaUis purpurea L.) ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ

2. แอนทราควิโนนกลัยโคไซด์    ( Anthraquinone Glycosides)

เป็นกลุ่มสารที่ออกฤทธิ์เป็นยาถ่ายและยาระบาย ตัวอย่างเช่นสารเซนโนไซด์ (sennosides) ในใบและฝักมะขามแขก สารอะโล-อีโมดิน (aloe-emodm) ในโกฐนํ้าเต้าและฝักคูน สารบาบาโลอิน (barbaloin) ในเปลือกใบว่านหางจระเข้ เป็นต้น

3. ซาโปนิน กลัยโคไซด์ (Saponin Glycosides)

เป็นสารที่ทำให้เกิดฟองเมื่อเขย่ากับนํ้า เป็นสารที่ลดแรงตึงผิวที่ดี และมีคุณสมบัติทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ สารในกลุ่มนี้ใซ้ประโยชน์เป็นสารชะล้างแทนสบู่ได้ ใช้เป็นสารพ่นดับไฟ ใช้เป็นยาเบื่อปลา และประโยชน์ที่สำคัญที่สุดคือ ใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยาจำพวกสเตียรอยด์ ฮอร์โมน (steroid hormones) ตัวอย่างของสมุนไพรที่มีซาโปนิน เช่น พืช จำพวกกลอย (Dioscorea spp.) มีสารไดออสเจนิน (diosgenin) ใบดิจิตาลิส (Digitalis purpurea) มีสารดิจิโทเจนิน (digitogenin) เป็นต้น

รูปที่ 21 ตัวอย่างสารในกลุ่มซาโปนินที่พบในพืช

4. ไซยาโนเจนีติก กลัยโคไซด์ (Cyanogenetic Glycosides)

เป็นกลัยโคไซด์ซึ่งสลายให้สารพิษจำพวกไซยาไนด์ พืชที่มีสารใน กลุ่มนี้มักจะมีพิษ ก่อนนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารต้องทำให้สุกก่อน เช่น นำมา เผา ต้ม ดอง ย่าง เป็นต้น เพื่อให้สารจำพวกไซยาไนด์สลายไป ต้นหญ้าบางซนิดที่มีสารจำพวกนี้อยู่เมื่อสัตว์กินเข้าไปอาจทำให้สัตว์ตายได้ ตัวอย่างพืชที่พบกลัยโคไซด์ในกลุ่มนี้ เช่น รากมันสำปะหลังพบสารแมนนีโฮท็อกซิน (manihotoxin) เมล็ดเฮ่งยิ้งพบสารอะมิกดาลิน (amygdalin) นอกจากนี้ยังพบได้ในลูกกระ ต้นตำแยแมว ผักเสี้ยนผี ใบยางพารา หญ้าตีนกา และแม้แต่ฝักสะตอและชะอมก็มีรายงานว่าพบสารนี้เช่นกันแต่พบในปริมาณน้อย สารจำพวกไซยาไนด์ทำให้เกิดพิษโดยการไปทำลายเอ็นไซม์ในเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เนื้อเยื่อใช้อ๊อกซิเจนในเลือดที่มาเลี้ยงไม่ได้ และทำให้การหายใจหยุดชะงักได้

5. ฟลาโวนอล กลัยโคไซด์ หรือฟลาโวนอยด์ (Flayonol Glycosides or Flavonoids)

เป็นสารมีสี (pigments) ที่พบในส่วนต่างๆ ของพืช เช่น กลีบดอก กลีบเลี้ยง ใบไม้ ผลไม้ เป็นต้น สารนี้แบ่งออกได้เป็นหลายชนิด เช่น

-ในดอกไม้สีเหลือง มักจะพบสารจำพวกฟลาโวนส์ (Flavones) ฟลาโวนอล (Flavonols) ชาลโคนส์(Chalcones) หรือออโรนส์ (Aurones)

-ดอกไม้สีแดง ม่วง นํ้าเงิน มักจะพบสารจำพวกแอนโธไซยานินส์

(anthocyanins)

สารฟลาโวนอยด์หลายชนิดใช้เป็นยาได้ เช่น รูทิน (rutin) ใช้รักษา โรคเส้นโลหิตฝอยเปราะ บางชนิดใช้ฆ่าแมลง แก้อักเสบ ขับปัสสาวะ เป็นต้น

6. แล็คโทน กลัยโคไซด์ (Lactone Glycosides)

สารในกลุ่มนี้บางชนิดมีกลิ่นหอม เช่น คูมาริน (coumarin) จากโกฐสอ เปลือกต้นชะลูด ใช้เป็นสารแต่งกลิ่นหอมในเครื่องสำอาง บางชนิดใช้ป้องกันการแข็งตัวของเลือด และใช้เป็นส่วนผสมในครีมป้องกันการแพ้แสงแดด หรือผสมในแป้งฝุ่นทาตัว เป็นต้น

7. แทนนิน (Tannins)

เป็นกลุ่มสารที่พบได้ในพืชเกือบทุกชนิด เป็นสารที่มีรสฝาด เช่น พบในเปลือกต้นสีเสียด ผลและเมล็ดหมาก เปลือกผลมังคุดและทับทิม ใบฝรั่ง เป็นต้น แทนนินมีคุณสมบัติตกตะกอนโปรตีนได้ จึงใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง ใช้เป็นยาฝาดสมาน และยาแก้ท้องเสีย ช่วยรักษาแผล เช่นแผลไฟไหม้ ทำให้แผลติดเร็วขึ้น

การศึกษาถึงกลุ่มสารสำคัญชนิดต่างๆ ในพืช จะช่วยให้เข้าใจถึง การออกฤทธิ์ ประโยชน์ และโทษของสมุนไพรแต่ละชนิด ทำให้สามารถใช้สมุนไพรได้ถูกต้องและปลอดภัย สมุนไพรชนิดใดที่มีพิษ หากมีการทำลายพิษอย่างถูกต้องก็สามารถนำมาใช้เป็นอาหารและยารักษาโรคได้อย่างปลอดภัย

ยาเตรียมจากสมุนไพร

การนำสมุนไพรมาใช้รักษาโรคนั้นใช้ได้ในหลายรูปแบบ เช่น การใช้สมุนไพรสดๆ ใช้ในรูปยาต้ม ยาชง ยาลูกกลอน ยาดองเหล้า และยาพอก เป็นต้น

1. ใช้ในรูปสมุนไพรสด สมุนไพรบางชนิดนิยมใช้ในรูป สมุนไพรสดจึงจะให้ผลดีในการรักษา เช่น วุ้นจากใบว่านหางจระเข้สดใช้ทาแผลไฟไหม้ นํ้าร้อนลวก ใบผักบุ้งทะเลสดนำมาตำใช้ทาแผลที่ถูกพิษแมงกะพรุน หรือกระเทียมสดนำมาฝานเป็นขึ้นบางๆ ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่เป็นเชื้อรา เป็นต้น ในกรณีของการใช้สมุนไพรสดควรระวังในเรื่องของความสะอาด เพราะถ้าสกปรกอาจติดเชื้อทำให้บาดแผลเป็นหนองได้

2. ยาต้ม ยาต้มเป็นรูปแบบที่ใช้กันมานานแล้ว โดยการใช้น้ำเป็นตัวละลายสารสำคัญในสมุนไพร ข้อดีของยาต้มคือ ดูดซึมง่าย ออกฤทธิ์เร็ว เตรียมง่ายและสะดวก แต่มีข้อเสีย คือ รสและกลิ่นไม่น่ารับประทาน เก็บไม่ได้นาน ขึ้นราง่าย

วิธีเตรียมยาต้ม

นํ้าที่ใช้ต้มควรเป็นน้ำสะอาด ใส ไม่มีกลิ่น รส ปริมาณนํ้าที่ใช้มักใส่ พอท่วมยา ภาชนะที่ใช้ต้มยาควรเป็นหม้อดินเผา หรือหม้อเคลือบ ไม่ควรใช้ภาชนะโลหะเพราะอาจเกิดปฏิกิริยากับตัวยาได้ซึ่งจะมีผลต่อฤทธิ์ของยาสมุนไพรที่นำมาต้มควรหั่นเป็นชิ้นพอดี ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ถ้าใหญ่ไป ตัวยาอาจละลายออกมาน้อย ถ้าเล็กเกินไปก็ทำให้กรองกากออกได้ยาก ในการต้มหลังจากเติมนํ้าลงในสมุนไพรแล้วคนให้เข้ากัน แช่ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมงเพื่อให้ยาสมุนไพรดูดซึมนํ้าได้เต็มที่ (ถ้าเป็นสมุนไพรสดไม่ต้องแช่)ใช้ไฟขนาดกลางต้มให้เดือด พอเดือดแล้วลดไฟลง ต้มต่อไป คอยคนอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ยาไหม้ ส่วนมากจะต้ม 3 เอา 1 คือนํ้าที่ใส่ 3 ส่วน ต้มให้เหลือ 1 ส่วน ยาต้มควรรับประทานเมื่อท้องว่างจึงจะได้ผลดี ยาต้มไม่ควรทิ้งไว้ค้างคืน ควรต้มรับประทานให้หมดภายในวันเดียว

3. ยาชง เป็นยาที่เตรียมง่าย และรวดเร็ว ส่วนใหญ่เป็นการใช้ สมุนไพรแห้ง และเติมนํ้าร้อนเป็นตัวทำละลาย ข้อดีของยาชงคือ ดูดซึมได้ง่าย มีกลิ่นหอม และรสดี

วิธีเตรียมยา

ยาชงมักได้จากการนำเอาส่วนของสมุนไพรมาล้างให้สะอาด ผึ่งลม หรือตากให้แห้ง เช่น ใบหญ้าหนวดแมว ดอกคำฝอย ชาบางชนิดนำ สมุนไพรมาคั่วหรือย่างไฟก่อน เช่น ใบชุมเห็ดเทศ เป็นต้น เติมนํ้าเดือดลงในสมุนไพรแห้งนั้น ทิ้งไว้ 3-5 นาที อย่าแช่ไว้นาน เพราะจะทำให้กลิ่นและรสของยาซงที่ได้เปลี่ยนไป

4. ยาลูกกลอน เป็นยาเตรียมที่มีรูปร่างเป็นเม็ดกลม ทำจากผง ยาชนิดเดียวหรือหลายชนิดผสมกับสารที่ทำให้ผงยาเกาะตัว เช่น น้ำ นํ้าผึ้ง เป็นต้น ที่นิยมมักใช้นํ้าผึ้ง เรียกยาที่ได้ว่า ”ยาลูกกลอนนํ้าผึ้ง”เป็นยาที่แตกตัวช้า ออกฤทธิ์อยู่ได้นาน นํ้าผึ้งที่ใช้ผสมจะช่วยปรับรสและช่วยบำรุงร่างกาย มักใช้เป็นยารักษาโรคเรื้อรังและโรคที่ต้องการยาบำรุงด้วย ข้อเสียคือ ราคาค่อนข้างแพง เพราะใช้นํ้าผึ้งเป็นจำนวนมาก

วิธีเตรียมยาลูกกลอนนํ้าผึ้ง

นำนํ้าผึ้งมาเคี่ยวให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรคและไล่นํ้าที่มีปนอยู่ออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้ยาที่ได้ขึ้นรา การเคี่ยวนำผึ้งช่วงแรกควรใช้ไฟแรง เมื่อเดือดแล้วค่อยลดไฟลง เคี่ยวจนน้ำผึ้งได้ที่โดยสังเกตจากขนาดฟองที่เกิดจะมีขนาดเล็กลงๆ จนเป็นฟองละเอียด มักใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที จากนั้นยกลงจากเตา กรองผ่านผ้าขาวบาง กวนต่อจนนํ้าผึ้งเย็นจึงนำไปผสมกับยาที่บดเป็นผงละเอียด โดยใส่ผงยาในกาละมังที่แห้ง ตวงนํ้าผึ้งที่เคี่ยวแล้ว เทราดบนผงยา ใช้มือคลุกเคล้าผงยาให้เข้ากับนํ้าผึ้งดี โดยลองนำยาที่เคล้าได้ปั้นเป็นเม็ดด้วยมือ ยาควรจะปั้นเป็นเม็ดเกาะกันได้ดีไม่ติดมือ และยาที่ปั้นได้ไม่แตกร่อน เมื่อได้ยาที่เคล้าได้ที่แล้วนำมาปั้นเป็นเม็ดให้กลมและมีขนาดสม่ำเสมอ การปั้นเม็ดทำได้โดยแบ่งยาที่ผสมแล้วมาปั้นเป็นลูกกลอน ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย ในขณะที่ปั้นนํ้าผึ้งจะแห้งลงเรื่อย ๆ จึงต้องคอยทดสอบว่ายาที่ปั้นได้แตกร่อนหรือไม่ ถ้าแตกร่อนแสดงว่าน้ำผึ้งน้อยไป ต้องเติมนํ้าผึ้งและผสมจนเข้าที่ แล้วปั้นจนหมด จากนั้นนำลูกกลอนที่ปั้นได้มาวางใส่ถาดอย่าให้เม็ดซ้อนกัน นำไปตากแดดจัดๆ 1-2 วัน จนเม็ดยาแห้งสมํ่าเสมอ แต่อย่าตากนานไปเพราะจะทำให้เม็ดยาแข็ง เวลารับประทานจะแตกตัวได้ยาก เมื่อแห้งดีแล้วเก็บใส่ขวดที่สะอาดและปิดสนิท

5. ยาดองเหล้า เป็นยาที่ใช้เหล้าหรือแอลกอฮอล์ละลายสาร สำคัญในสมุนไพรออกมา

วิธีเตรียม

นำสมุนไพรที่ล้างสะอาดและหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากหรืออบจนแห้ง ใส่ลงในขวดโหล เทเหล้าลงไปพอท่วมยา คนวันละครั้ง ปิดฝา ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือนจึงรับประทานได้ ถ้าต้องการให้ใช้ได้เร็วขึ้นทำได้โดยนำขวดโหลที่ดองเหล้ามาอุ่นในหม้อนํ้าเดือด พอเดือดยกขวดโหลออก ปิดฝาทิ้งไว้ 1-2 อาทิตย์ก็รับประทานได้ ยาดองเหล้าห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูง ในหญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ป่วยที่แพ้แอลกอฮอล์

6. ยาพอก เป็นยาที่เตรียมได้จากการนำสมุนไพรสดๆ ที่ล้าง สะอาดดีแล้วมาตำให้ละเอียด และเติมเหล้าเล็กน้อยเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ดีขึ้น แล้วนำยาที่ได้ไปพอกแผลตามต้องการ

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบของยาจาก สมุนไพรเพื่อให้ใช้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยเอามาเตรียมเป็นยาสมุนไพร สำเร็จรูป เช่น นำเอาผงยาสมุนไพรมาตอกเป็นเม็ด นำมาบรรจุเป็นยาแคปซูล และนำมาเตรียมในรูปแบบของครีม ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่พัฒนารูปแบบแล้ว เช่น กระเทียมแคปซูล กระเทียมเม็ด ฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูล ครีมบัวบก ครีมจากไพล ครีมผักบุ้งทะเล ขี้ผึ้งพลู และครีมพญายอ เป็นต้น

อาการแพ้ที่อาจพบได้จากการใช้ยาสมุนไพร

การใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคนั้นมีทั้งคุณและโทษ บางคน ใช้แล้วอาจเกิดอาการแพ้ได้ แต่การแพ้พบได้น้อยและไม่รุนแรงเท่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน เพราะสารในสมุนไพรไม่ใช่สารตัวเดี่ยวๆ อาการแพ้ที่อาจพบได้ เช่น มีผื่นขึ้นตามตัวคล้ายลมพิษ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ ตามัว ชาที่ลิ้นและที่ผิวหนัง ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกวูบวาบคล้ายหัวใจจะหยุดเต้น และเป็นบ่อยๆ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลือง เป็นต้น เมื่อเกิดอาการแพ้ควรหยุดยา ถ้าแพ้มากควรรีบไปพบแพทย์