สรรพคุณของกรดน้ำ


ชื่ออื่น กระต่ายจามใหญ่ กัญชาป่า มะไฟเดือนห้า (กรุงเทพฯ) ขัด มอนเทศ (ตรัง) ขัดมอนเล็ก หนวดแมว (ภาคกลาง) ช้างไลดุ (กะเหรี่ยง- แม่ฮ่องสอน) ตานชาน (ปัตตานี) เทียนนา (จันทบุรี) ปีกแมงวัน (กาญจนบุรี) หญ้าจ้าดตู้ด หญ้าหัวแมงฮุน (ภาคเหนือ) หญ้าพํ่าสามวัน (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) หูปลาช่อนตัวผู้ (ตราด) เอี่ยกำเช่า (แต้จิ๋ว) แหย่กานฉ่าว (จีนกลาง) Macao Tea, Sweet Broomweed
ชื่อวิทยาศาสตร์ Scoparia dulcis L.    วงศ์ Scrophulariaceae
ลักษณะต้น เป็นไม้พุ่ม สูง 25-80 ซม. ทั้งต้นไม่มีขน มีกิ่งก้านสาขามาก ใบเล็กยาว 2-5 ซม. ใบออกตรงกันข้ามและหมุนเป็นเกลียวรอบกิ่ง ก้านใบสั้น ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ดอกเล็กสีขาวมีจำนวนมาก ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ กลีบเลี้ยง 4 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 4 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน ผลแห้งแตกได้ ขึ้นตามริมทาง และที่รกร้างทั่วไป
ส่วนที่ใช้ ทั้งต้น ใบ และราก
สรรพคุณ
ทั้งต้น ลดไข้ บรรเทาอาการหัด แก้ไอ คอเจ็บ อาเจียน จุกเสียด ปวดท้อง ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ ขับปัสสาวะลดอาการบวมน้ำ ขาบวมจากเหน็บชา แก้ขัดเบา แก้ผดผื่นคัน
ใบ ลดไข้ แก้ไอ หลอดลมอักเสบ ขับระดู เข้ายาธาตุ ยาอม บ้วนปากแก้ปวดฟัน
ราก ลดไข้ แก้ปวดหัว ขับปัสสาวะ
ตำรับยาและวิธีใช้
1. ขาบวมจากเหน็บชา ใช้ต้นสด 30 กรัม และน้ำตาลแดง 30 กรัม ต้มน้ำกินหลังอาหารเช้า-เย็น
2. หัด ใช้ต้นสด ต้มน้ำดื่มต่างน้ำชาเป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกัน
3. ไข้ในเด็ก ใช้ต้นสด 15 กรัม ต้มน้ำและใส่น้ำตาลกรวดเล็ก
น้อยกิน
4. ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ ขัดเบา ใช้ต้นสด 15-30 กรัม ต้มน้ำกิน
5. คอเจ็บ ใช้ต้นสด 120 กรัม ตำคั้นเอาน้ำมาผสมน้ำผึ้งกิน
6. ไอ ใช้ต้นสด 30-60 กรัม ต้มน้ำกิน
7. ผดผื่นคัน ใช้ต้นสด ตำคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็น
รายงานทางคลินิค
ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานกินอะเมลลิน (amellin) ซึ่งสกัดได้จากต้นสดจำนวน 15-20 มก.ต่อวัน เป็นเวลาหนึ่งเดือน ช่วยลดน้ำตาลในปัสสาวะและในเลือดอย่างเห็นได้ชัด การลดลงจะค่อยเป็นค่อยไป ผล ของยาต่างจากอินสูลิน (insulin) เนื่องจากไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด ลดต่ำกว่าปกติ อะเมลลินจะช่วยเพิ่มสภาพด่างในร่างกายแก่ผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยลดธาตุเหล็กในเซรุ่ม ขจัดอะซีโตนบอดีส์ (acetone bodies) ในเลือด และเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดง จึงช่วยรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการโลหิตจาง มีอัลบูมิน (albumin) และคีโตน (ketone) ในปัสสาวะ นอกจากนี้ยังช่วยลดไขมันในเนื้อเยื่อทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น
ผลทางเภสัชวิทยา
น้ำคั้นจากรากหรือสกัดโดยใช้แอลกอฮอล์ มีผลต่ออวัยวะของสัตว์ต่างๆ ที่ทดลองนอกร่างกายดังนี้ กระตุ้นหัวใจคางคก ลดการเคลื่อนไหวและการเกร็งตัวของลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenum) ของกระต่าย กระตุ้นมดลูกของหนูขาวเล็กน้อย แต่ไม่มีผลต่อลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum)ของหนูตะเภา และกล้ามเนื้อลายหน้าท้องของคางคก แต่ถ้าฉีดเข้าหลอด เลือดของแมวที่วางยาสลบจะทำให้ความดันโลหิตลดลง รวมทั้งลดการ หายใจ สารที่ได้จากการสกัดด้วยน้ำมีพิษค่อนข้างสูงต่อหนูถีบจักร แต่ สารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์เกือบจะไม่มีพิษเลย
สารเคมีที่พบ
ต้นสด มี tritriacontane, sitosterol, d- mannitol, dulciol,
dulciolone, scoparol , amellin, betulinic acid, iffaionic acid,
benzoxazolinone , friedilin, glutinol, α -amyrin, dulcioic acid
และอัลคาลอยด์
ราก มี d-mannitol และ tannin
เปลือกราก มี hexacosanol, ß -sitosterol และ d –mannitol.
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล