สรรพคุณของพริกไทย


ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper nigrum Linn.
ชื่ออื่นๆ พริกน้อย (เหนือ)
ชื่ออังกฤษ Pepper, Pepper Corn, Black Pepper, White Pepper.
ลักษณะ เป็นไม้เลื้อยที่มีเนื้อแข็ง เถาจะเกาะพันค้าง โดยมีรากสั้นๆ ออกมาตรงข้อและตรงข้อจะขยายพองออก ไม้ค้างที่มีคุณภาพดีที่สุด พริกไทยชอบเกาะมากคือไม้กันเกราหรือทางใต้เรียกไม้ตำเสาทางเหนือเรียกไม้มันปลา เถาของพริกไทย จะต่อกันเป็นปล้องๆ ใบเดี่ยวรูปไข่รูปร่างคล้ายใบดีปลี แต่หนากว่าและผิวใบมันน้อยกว่าใบดีปลี ใบจัดเรียงสลับ ใบกว้าง 5-7 ซ.ม. ยาว 8-10 ซ.ม. ดอก ช่อสีขาวออกที่ซอกใบ ดอกย่อยสมบูรณ์เพศ ผลกลมเล็กๆ ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว เมื่อยังอ่อนมีสีเขียว สุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลจะอยู่รวมกันเป็นช่อยาว 4-8 ซ.ม.


การเก็บและการเตรียมพริกไทย
การเก็บจะเก็บเมื่อพริกไทยโตเต็มที่ ผลที่อยู่ล่างสุดในช่อจะเริ่มสุกเป็นสีแดง และนำมาตากแดด หรือทำให้แห้งโดยใช้ความร้อนไม่สูงนัก จะได้พริกไทยดำ (Black Pepper) มีลักษณะสีนํ้าตาลดำ ผิวผลย่นๆ รสเผ็ดจัด ส่วนพริกไทยล่อน (While Pepper) จะเก็บพริกไทยที่สุก นำมาแช่นํ้า หรือแช่นํ้าปูนใส หรือแช่นํ้าผสมคลอรีน แล้วล้างเปลือกออก นำไปทำให้แห้งจะได้พริกไทยล่อน มีลักษณะผิวผลสีขาวอมเทา ผิวเรียบ รสจะเผ็ดน้อยกว่าพริกไทยดำ
ส่วนที่ใช้ ผลที่แก่จัดแห้ง
สารสำคัญ สารที่มีรสเผ็ดฉุนในพริกไทยคือ chavicine มีจำนวนน้อยกว่า 1% ส่วนสารที่ทำให้มีกลิ่นฉุนเผ็ดร้อนได้แก่อัลคาลอยด์ piperine เมื่อสลายตัวจะให้อัลคาลอยด์ ที่เป็นของเหลวคือ piperidine และ piperic acid สำหรับกลิ่นหอมที่ชวนรับประทานนั้นเป็นนํ้ามันหอมระเหยที่มีสีเหลือง มี 1-2.6% ประกอบด้วย α  และ ß-pinene, l- α-phellandrene, dllimonene และอื่นๆ กลิ่นหอมของพริกไทย นี้อยู่ที่ส่วนเปลือกผล สำหรับรสเผ็ดฉุนพบทั่วๆ ไปทั้งเมล็ด นอกจากนั้นมีแป้งอยู่ประมาณ 50% มีนํ้ามันไม่ระเหยน้อยกว่า 1%
ประโยชน์ทางยา พริกไทยใช้เป็นยาร้อนขับลม แก้อาการท้องขึ้นอืดเฟ้อ แก้ไข้ ช่วยกระตุ้นนํ้าย่อยทำให้เจริญอาหาร ใช้เตรียมยาอายุวัฒนะ piperine มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท
อื่นๆ เป็นสินค้าออก ใช้เป็นเครื่องเทศ แต่งกลิ่น แต่งรสอาหาร ผลอ่อน คนไทยนิยมใส่แกงหรือผัดเผ็ด
piperine ใช้แต่งรสบรั่นดี มีฤทธิ์ไนการฆ่าแมลงวันแรงกว่าดอกไพรีทรัม สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากพริกไทยดำมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
การทดสอบศักยภาพของพริกไทยในการฆ่าแมลงวัน
โดยใช้ผงพริกไทยหมักด้วยเหล้าขาว 3-4 ชั่วโมง แล้วกรองเอากากออก นำนํ้ายาไปฉีดพ่นยุงและแมลงวัน ปรากฏผลว่าหลังฉีดพ่น 3 ชั่วโมง ยุงตาย 60% แมลงวันตาย 80%
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ