สรรพคุณของมะระขี้นก


ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica charantia Linn.
ชื่ออื่นๆ ผักเหย (สงขลา) ผักไห่ (นครศรีธรรมราช) มะร้อยรู (กลาง ใต้) มะท่อย มะไห่ (เหนือ) สุพะซู สุพะเด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มะระ (ทั่วไป)
ชื่ออังกฤษ Balsam Pear, Bitter Cucumber, Bitter Gourd, Carilla Fruit, Balsam Apple, African Cucumber.
ลักษณะ ไม้เถามีขน เถาขนาดเล็ก พันเลื้อย มีมือจับที่ปลายเถา ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ก้านใบยาวขอบใบเว้าลึก 5-7 หยัก ค่อนข้างกลม ใบกว้างและยาว 5-12 ซ.ม. ดอกเดี่ยวดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่คนละดอกแต่เถาเดียวกัน ก้านดอกยาว ดอกสีเหลือง ดอกใหญ่ประมาณ 1-1.5 ซ.ม. ผลรูปร่างคล้ายกระสวย ผิว ภายนอกสีเขียว ขรุขระ รสขมจัด ภายในมีเมล็ดแบนๆ สีเหลืองอ่อนฝังอยู่ในเนื้อสีนวลขาวฟ่ามๆ เป็นจำนวนมาก เมื่อผลสุกเนื้อของผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง อมส้ม เนื้อในที่เมล็ดฝังอยู่จะเละนิ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลมะระขี้นกยาว 4-6 ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลางของผลประมาณ 2.5-3 ซ.ม.
นอกจากนี้ ยังมีมะระจีน เถาใบดอกคล้ายกันมาก ใบมะระขี้นกจะเล็ก และสีเขียวกว่ามะระจีนเล็กน้อยขอบใบของมะระขี้นกหยักตื้นกว่ามะระจีน ผลของมะระจีนมีขนาดใหญ่กว่า ยาวกว่ามะระขี้นกมาก ผลเป็นรูปทรงกระบอก หัวท้ายมนยาว 10-25 ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลางผล 4-6 ซ.ม. รสขมน้อยกว่า มะระขี้นก
ส่วนที่ใช้ ราก เถา ใบ ผล เมล็ด
สารสำคัญ ผลมี Charantin, 5-hydroxyseratonin และ amino acids เช่น glutamic acid, alanine, ß-alanine, phenylalanine, proline, citrulline, galacturonic acid ผลสุก มีสาร saponin. เมล็ดมีไขมัน 31.0% ประกอบด้วย butyric acid 1.8% palmitic acid 2.8%, stearic acid 21.7%, oleic acid 30%, ∝-elaeostearic acid, 43.7% momordicine และ protein ใบสดมี momordicine
ประโยชน์ทางยา ผลมะระทั้ง 2 ชนิด จะมีฤทธิ์ในการลดนํ้าตาลในโรคเบาหวาน ซึ่งอาจจะเนื่องจากสาร charantin ที่ไปกระตุ้นการหลั่งอินซูลินในเซลล์ตับอ่อน
ใบ เป็นยาขมเจริญอาหาร ฟอกเลือด ขับพยาธิเข็มหมุด
ดอก แก้บิด
ราก ฝาดสมาน ใช้ในโรคริดสีดวงทวาร แก้บิด
เถา ใช้ดับพิษร้อน แก้บิด
อื่นๆ ผลโตเต็มที่ใช้ปรุงอาหาร
ข้อควรระวัง ผลสุก ไม่ควรรับประทานเพราะมี saponin จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ