สรรพคุณของหลิว


ชื่ออื่น ลิ้ว(แต้จิ๋ว) หลิว(จีนกลาง) Weeping Willow
ชื่อวิทยาศาสตร์ Salix babylonica L.
วงศ์ Salicaceae
ลักษณะต้น เป็นไม้ต้นผลัดใบ สูง 10-20 เมตร มีกิ่งยาวและห้อยลง กิ่งอ่อน มีขนเล็กน้อย ใบรูปหอกยาว 9-16 ซม. กว้าง 5-15 มม. ปลายยาวแหลม ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อยถี่ๆ หลังใบสีเขียว ท้องใบสีขาว ก้านใบยาว 6-12 มม. ดอกเดี่ยวเป็นดอกแยกเพศ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่คนละต้น ดอกตัวผู้ยาว 1.5-2 ซม. ดอกตัวเมียอาจยาวถึง 5 ซม. เป็นไม้ที่ชอบขึ้นริมน้ำ
ส่วนที่ใช้ กิ่ง ใบ ยอดอ่อน ช่อดอก(เก็บได้ตลอดปี)
สรรพคุณ
กิ่ง แก้ปวดลดไข้ แก้โรคปวดข้อ ขับลม ขับปัสสาวะ ลดอาการ บวมน้ำ นิ่ว ขัดเบา ตับอักเสบชนิดติดต่อ ไฟลามทุ่ง แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ฝีคัณฑสูตร
ใบ แก้โรคปวดข้อ
ยอดอ่อนและช่อดอก แก้ปวด ลดไข้
ตำรับยาและวิธีใช้
1. ขัดเบา ใช้กิ่งแห้ง 1 กำมือตำให้ละเอียดต้มน้ำ แบ่งไว้กินส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเทใส่ถังแล้วนึ่งอบไอน้ำ
2. ตับอักเสบ (เรื้อรังและเฉียบพลัน) ใช้กิ่งอ่อน 60 กรัม เติมน้ำ 1,000 มล. ต้มให้เหลือ 200 มล. แบ่งเป็น 2 ส่วน กินใน 1 วัน
3. ปวดข้อ ใช้ใบสดหรือแห้งชงดื่มต่างชา
4. ใช้ช่อดอกและยอดอ่อน จำนวนพอควรต้มน้ำกินแก้ปวด ลดไข้
5. ไฟลามทุ่ง ใช้ขี้เถ้าที่ได้จากการเผากิ่ง ผสมน้ำทาบริเวณที่เป็น
6. ฝีคัณฑสูตร ใช้กิ่งแห้งเผาไฟในขวด แล้วรมควันบริเวณที่เป็น จนเหงื่อออก
7. รำมะมาด ใช้กิ่งหรือใบต้มน้ำอมแล้วบ้วนปากบ่อยๆ
รายงานทางคลีนิค
1. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบแข็ง (coronary arterios-clerosis) ทำการรักษาโดยใช้กิ่งหลิวสด 180 กรัม ทำเป็นน้ำเชื่อม 100 มล. ให้กินครั้งละ 50 มล. วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน หลังจากกินแล้ว ถ้ามีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ให้ยาช่วยย่อย ด้วยการเติมเมล็ดข้าวสาลี ที่เริ่มงอก (30 กรัมต่อ 100 มล.) ในการสังเกตผู้ป่วย 40 ราย เฉพาะผู้ป่วย 31 ราย ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด (angina pectoris มีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจเร็ว ปวดหัว แขนขาชา และบวม) พบว่าอาการหายไป 14 ราย, อาการทุเลา 13 ราย, อาการคงเดิม 4 ราย ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ลดลงหรือหายไปภายใน 2 วันถึง 8 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางคนปัสสาวะเพิ่มขึ้น ทำให้อาการขาบวมหายไป นอนหลับดีขึ้น เฉพาะผู้ป่วย 24 ราย ที่มีอาการความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ส่วนใหญ่แล้วความดันโลหิตจะลดลง ในระดับต่างๆ กัน เมื่อตรวจสอบการรักษา โดยการตรวจคลื่นหัวใจ (electrocardiogram) ในผู้ป่วย 35 ราย ปรากฏว่าดีขึ้น 15 ราย (ดูเหมือนว่าผลการรักษาดีกว่าในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง) ระดับ โฆเลสเตอรอล (cholesterol) ในพลาสมาของผู้ป่วย 38 ราย ไม่พบการเปลี่ยนแปลง ผลข้างเคียงของยานี้อาจทำให้ถ่ายอุจจาระเหลว แต่อาการจะหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์ บางรายอาจเกิดผื่นคันและพรายย้ำ ถ้าใช้ยาแก้แพ้ก็จะหายไปใน 1-2 สัปดาห์
2. หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ใช้กิ่งหลิว 120 กรัม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ล้างให้สะอาดต้มน้ำกินวันละครั้งเป็นเวลา 10 วัน มีผลในการรักษาอาการไอ เสมหะและหอบได้ชั่วคราว ซึ่งการรักษาจะได้ผลดีถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน ในการสังเกตผู้ป่วย 82 ราย หลังจากดื่มยาแล้ว พบว่าผู้ป่วยดีขึ้นและไม่แสดงอาการชั่วคราว 34 ราย, สังเกตได้ว่าอาการดีขึ้น 26 ราย, อาการดีขึ้นบ้าง 21 ราย, ไม่ได้ผล 1 ราย หลังจากกินยานี้แล้วทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่นอนหลับดีและกินอาหารได้มากขึ้น แต่มีบางรายที่กินยาเกินขนาดจะเกิดอาการท้องร่วง ปวดท้อง ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่จำเป็นต้องรักษาก็หายเอง
3. ตับอักเสบชนิดเอ (hepatitis type A) ใช้กิ่งและใบสด 60 กรัม (แห้ง 30 กรัม) ใส่น้ำ 500 มล. ต้มให้เหลือ 300 มล. แบ่งกินเป็น 2 ครั้ง กินติดต่อกันจนอาการดีขึ้น ในคนไข้ 253 ราย รักษาได้ผล 96.3% ใช้เวลาในการให้ยา 28.5 วันโดยเฉลี่ย อาการกินไม่ได้ อาเจียน แน่นท้องจะหายไป ภายในเวลา 3.7, 2.7 และ 7 วัน ตามลำดับ ปัสสาวะที่มีสีเข้มจะจางลง และปริมาณปัสสาวะจะเพิ่มมากขึ้น
ในการป้องกันตับอักเสบชนิดเอ ใช้กิ่งและใบสด 60 กรัม ต้มน้ำกิน (แบ่งเป็น 2 ครั้ง) ติดต่อกัน 1 สัปดาห์
4. ไฟไหม้น้ำร้อนลวก เอากิ่งสดเผาไฟจนเป็นถ่าน(อย่าเผาจนเป็น ขี้เถ้า) แล้วบดให้เป็นผงละเอียด ร่อน ผสมน้ำมันงาทำเป็นขี้ผึ้งเหลว ทาบริเวณแผล เมื่อทา 3-4 ชม. แผลจะค่อยๆ แห้งตกสะเก็ดและรู้สึกเจ็บ ให้ทาน้ำมันงาซ้ำตรงบริเวณแผลให้ชุ่ม อย่าเช็ดยาบนแผลออกเด็ดขาด เวลาเปลี่ยนยาก็ไม่ต้องเช็ดของเก่าออก ปล่อยให้สะเก็ดหลุดเอง ทายาวันละ 1-2 ครั้ง ไม่ต้องปิดแผล ยานี้เคยใช้กับผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้ระดับสอง* ได้ผลดีมาก ใช้เวลารักษา 3-14 วัน อาการก็หายเป็นปกติ
*แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกมี 3 ระดับ คือ
ระดับหนึ่ง ลวกแค่หนังกำพร้า เพียงแต่มีผิวหนังแดงเท่านั้น
ระดับสอง ลวกถึงชั้นหนังแท้ ผิวหนังถูกทำลายและพองทั่วไป
ระดับสาม ลวกถึงชั้นเนื้อ ไหม้ลึกลงไป ผิวหนังถูกทำลายหมด อาการ รุนแรงมาก
ผลทางเภสัชวิทยา
1. ถ้านำซาลิซิน (salicin) ที่สกัดได้จากหลิวมาต้มกับกรดเกลือ เจือจางหรือกรดกำมะถัน จะได้ซาลิเจนิน (saligenin) และกลูโคส ซาลิเจนิน เป็นสารรสขม(มีฤทธิ์ต่อกระเพาะอาหาร) หลังจากดูดซึมแล้วส่วนหนึ่งจะกลายเป็นซาลิซัยเลท(salicylate) ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวดลดไข้ เนื่องจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากซาลิซินเป็นซาลิเจนินและซาลิซัยเลทในร่างกายไม่แน่นอน ดังนั้นการหวังผลที่จะได้ซาลิซัยเลทในการลดไข้แก้ปวด โดยใช้ซาลิซินอาจจะไม่ได้ผลเต็มที่ ส่วนซาลิเจนินเข้มข้น 4-10% สามารถใช้เป็นยาชาเฉพาะที่โดยไม่เกิดพิษ
2. สารสกัดจากเนื้อเยื่อที่เพาะเลี้ยง (tissue culture) จากตากิ่ง มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis
สารเคมีที่พบ
กิ่งก้าน มี salicin 3-4%
เปลอกต้นและใบ มีแทนนิน 3-9% และ 4.9% ตามลำดับ
ใบ มีแทนนิน, delphinidin, cyanidin, fragilin, salicin, salicortin, salidroside, triandrin, vimalin
หมายเหตุ
กิ่งสามารถใช้เตรียมผงถ่านพิเศษ (activated charcoal) ได้ดี.
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล