สรรพคุณของเล็บมือนาง


ชื่อวิทยาศาสตร์ Quisqualis indica Linn.
ชื่ออื่นๆ จะมั่ง จ๊ามั่ง มะจีมั่ง (เหนือ) ไท้หม่อง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) อะดอนิ่ง (ยะลา)
ชื่ออังกฤษ Rangoon Creeper, Chinese Honey Suckle, Burma Creeper, Liane Vermifuge.


ลักษณะ ไม้เถาเนื้อแข็ง เถาแก่จะมีกิ่งที่เปลี่ยนเป็นหนาม พาดไปกับต้นไม้อื่น ยอดอ่อนสีน้ำตาลมีขนปกคลุม ใบเดี่ยวเรียงแบบตรงข้าม ใบรูปรี หรือรูปไข่ขอบขนาน กว้าง 4-8 ซ.ม. ยาว 6-15 ซ.ม. ปลายใบแหลม ดอกออกเป็นช่อใหญ่ ยาว 4-20 ซ.ม. ดอกย่อยยาว 5-8 ซ.ม. แรกบานสีชมพูอ่อนๆ ค่อยๆ เปลี่ยนจนเป็นสีชมพู และชมพูเข้ม มีกลิ่นหอม ผล คล้ายลูกคะน้าจีน คือรูปกระสวย เมื่ออ่อนสีเขียว แก่จัดสีนํ้าตาลเข้ม มีครีบ 5 ครีบ แข็ง ภายในมี 1 เมล็ด รูปกระสวย ยาว 2-2.5 ซ.ม.
ส่วนที่ใช้ เมล็ดในที่แก่ ราก
สารสำคัญ สารสำคัญมีฤทธิ์คล้าย santonin คือ pelargonidin glycoside, quisqualic acid ซึ่งเป็นกรดอะมิโน สารที่มีฤทธิ์ขับพยาธิได้แก่ quisqualic acid มีนํ้ามัน 21% ประกอบด้วย linoleic, oleic และ palmatic acid
ประโยชน์ทางยา เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลมและเส้นด้ายในเด็ก ใช้หั่นทอดกับไข่ หรือจะบดละเอียดผสมกับนํ้าผึ้ง ใช้ 2-3 เมล็ด (4-6 กรัม) ผู้ใหญ่ใช้ 6-8 เมล็ด (10-15 กรัม) ถ้ารากใช้ประมาณ 1/2 กำมือ (8-12 กรัม) ต้มกับนํ้าดื่มเป็นยาถ่ายพยาธิ เมล็ดใช้ตำให้เป็นผงละเอียด ใช้รักษาโรคผิวหนังโดยผสมกับนํ้ามันพืช
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ