สนสามใบสรรพคุณทางยา

(Kesiya pine, Son Sam Bai)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pinus kesiya Royle ex Gordon.
ชื่อวงศ์ PIMACEAE
ชื่ออื่น เกี้ยะเปลือกแดง เกี๊ยะเปลือกบาง จ๋วง สนเขา
ถิ่นกำเนิด เนปาล อินเดีย และพม่า
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-30 ม. ขนาดทรงพุ่ม 6-8 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีนํ้าตาลอมชมพูอ่อน หลุดล่อนเป็นแผ่นหนา มักมียางสีเหลือง ซึมออกมาตามรอยแตก


ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับถี่ตามปลายกิ่ง รูปเข็มเรียวยาว ยาว 12-25 ซม.อยู่รวมกันเป็นกระจุก กระจุกละ 3ใบ ที่โคนกระจุกมีกาบ ห่อหุ้ม ปลายใบและโคนใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา สีเขียวเข้มทั้งสองด้าน ยอดอ่อนมีผงเป็นไขสีขาวปกคลุม
ดอก ดอกแยกเพศร่วมต้นโครงสร้างสืบพันธุ์เรียกว่า โคน (Cone) ดอกเพศผู้สีเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อหางกระรอก อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ที่กลางกลุ่มใบ ช่อดอกตั้งยาว 2-4 ซม. ดอกเพศเมียสีเขียว ออกเป็น ดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กว้าง 3-5 ซม. ยาว 5-9 ซม. ต่อไปจะกลายเป็นผล ออกดอกเดือน พ.ย.-ม.ค.


ผล ผลแห้งแตก อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เรียกว่าโคน รูปกรวยเกล็ด กว้าง 4-5 ซม. ยาว 7-9 ซม. สีเขียวสด เมื่อสุกสีนํ้าตาล เมล็ดมีปีก ด้านเดียวรูปขอบขนาน อยู่ในแต่ละแผ่นกาบแข็งปลายหนาและโค้ง เมล็ดรูปรีมีครีบบาง ขนาดเล็กจำนวนมาก ติดผลเดือน ก.พ.-เม.ย. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบขึ้นอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มบนภูหรือเนินเขา ที่ความสูง 1,000-1,600 ม. จากระดับนํ้าทะเล
การใช้ประโยชน์ ทรงพุ่มสวย สามารถนำมาปลูกประดับตาม สวนหย่อมได้ ตกแต่งสวน
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร กระพี้ รสขมเผ็ดมัน ต้มดื่มแก้ไข้ สันนิบาต แก่น ต้มหรือฝน กินแก้ไข้ เสมหะ กระจายลม ระงับประสาท แก้อ่อนเพลีย แก้คลื่นเหียนอาเจียน บำรุงไขกระดูก ไขข้อ แก้ท้องเดิน น้ำมัน รสร้อน ทาแก้เคล็ดขัดยอก อักเสบบวม ยางสน สมานแผล แก้บิด ปิดธาตุ
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดเลย
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย