สละ:สละมารยาไม้ผลแห่งยุค

 

ไพโรจน์  ผลประสิทธิ์

มารยาเมื่อใช้กับพืช(สะละ) ต้องแปลว่า “การลวง” ที่จริงแล้วพืชไม่มีความคิดของตนเองที่จะไป “ลวง” ใคร แต่สิ่งแวดล้อมบังคับพืชให้เกิดมารยามิใช่จงใจ

เพราะความนิยมการปลูกสะละกำลังขยายวงกว้างอย่างยากที่จะหยุดยั้ง การทำสวน(สะละ) ในลักษณะกระหายเงินอาจเพลิดเพลินจนขาดความรอบคอบ โดยเฉพาะเมื่อความนิยม(ความเห่อ) มาเกิดในยามที่ข้อมูลทางวิชาการยังไม่พร้อมนัก  การเขียนเรื่องนี้จึงเป็นเพียงความพยายามที่จะบอกกล่าวถึงในสิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง และได้พิจารณามาให้ท่านผู้อ่นได้เก็บไว้ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเลือกที่ปลูกและ/หรือกระทำการใด ๆ ต่อสวนสะละของท่าน และที่ถือเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องรีบด่วน เพราะเชื่อว่าทุกวันจะมีเกษตรกรไม่รายใดก็รายหนึ่งต้องตัดสินใจเกี่ยวด้วยเรื่องของสะละ

ฉะนั้นการได้อ่านเรื่องนี้แต่เนิ่นๆ อาจมีส่วนช่วยลดความบกพร่องในการตัดสินใจของเกษตรกรลงได้บ้าง

สละหรือสะละ

เมื่ออ้างถึงไม้ในสกุลระกำต้นนี้ ผู้เขียนจะใช้คำว่า “สะละ” แทนคำ “สละ” ของเดิมเสมอ ด้วยเหตุผลที่เขียนไว้อย่างพิสดารในเรื่อง “สละหรือสะละ” ในหนังสือพิมพ์กสิกรปีที่ 63 ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2533 ด้วยความเห็นที่ให้ไว้และด้วยคำแนะนำจากราชบัณฑิตยสถานที่นำลงในหนังสือดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอใช้คำว่า “สะละ” แทน “สละ” ในเรื่องนี้เช่นกัน สำหรับเกษตรกรชื่อนั้นสำคัญไฉน? จะเรียกสะละหรือสละก็คงขายผลไม้ชนิดนี้ได้กิโลกรัมละกว่า 100 บาท เช่นเดิม

สถานการณ์การปลูกสะละในปัจจุบัน

ถ้าจะถามว่าปัจจุบันพื้นที่ปลูกและจำนวนต้นสะละมีอยู่เท่าไหร่แล้วก็คงตอบไม่ได้  เพราะทางกรมส่งเสริมการเกษตรเองก็ยังมิได้รวบรวมตัวเลขของสะละไว้ คงด้วยเห็นว่าเป็นจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่นในระดับประเทศ  ดังนั้นคำตอบที่ต้องยอมรับฟังขณะนี้ก็คือ “มีปลูกกันมากแล้วโดยเฉพาะในทางภาคตะวันออก และกำลังเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งต้องจองต้นกล้ากันข้ามปี อีกทั้งยังถือเป็นบุญคุณกันอย่างใหญ่หลวงที่ผู้ขยายพันธุ์ขายกล้าให้แก่ผู้ใดในราคาต้นละ 300 บาท

ในอดีตอันไม่ไกลนัก เราวิตกกันว่าพื้นที่ปลูกสะละคงขยายได้ไม่รวดเร็วนัก  เพราะสะละขยายพันธุ์ยาก  แต่เหตุใดปัจจุบันจึงได้ยินว่ามีแหล่งขยายพันธุ์สะละอยู่มากมาย  ผู้ปลูกหน้าใหม่ยังลังเลไม่กล้าซื้อ เช่นเดียวกับผู้ที่ซื้อพันธุ์ไปแล้วก็หวั่นใจว่าที่จะซื้อและที่ซื้อมาแล้ว เป็นสะละตัวผู้หรือสะละตัวเมีย เป็นสะละหรือเป็นระกำ ความวิตกนี้น่าจะเบาบางลงได้บ้าง  หากท่านซื้อพันธุ์จากเรือนเพาะชำที่เจ้าของเป็นคนท้องถิ่นมีญาติโกโหติกาอยู่รอบข้างชนิดไม่สามารถถอนเสาเรือนหนีไปไหนได้ อย่าเที่ยวซื้อจากเรือนเพาะชำที่ไม่มีประวัติ  หรืออีกวิธีหนึ่งคือซื้อแบบมีสัญญา วิธีนี้ก็ดีอยู่ เกรงอยู่อย่างเดียวว่า เมื่อเจ้าของเรือนเพาะชำไม่ยอมทำสัญญา ท่านก็ยังต้องซื้อเพราะกลัวคนอื่นจะซื้อไปก่อน เมื่อไหร่หนอทางราชการจะกำหนดให้มีการจดทะเบียนเรือนเพาะชำสะละกันเสียที คำปลอบใจสำหรับผู้ที่ซื้อพันธุ์ไว้แล้วก็คือ “ให้คิดเสียว่า ถ้าซื้อสะละแต่ออกมาเป็นระกำก็ยังดี เพราะระกำก็ยังมีอนาคต แต่ถ้าออกมาเป็นสะละตัวผู้ หรือระกำตัวผู้ก็จง “ระกำใจ” ไปก่อน

ในอดีตอันยาวนานเราได้เห็นเขาปลูกสะละและระกำในที่ราบต่ำ แต่มีการยกร่องเพื่อมีการระบายน้ำที่ดี น้ำท่วมไม่ถึง และมีน้ำให้เพียงพอเมื่อสะละต้องการ เราได้เห็นการปลูกสะละบนที่ราบ ระดับน้ำใต้ดินสูงประมาณ 1 ฟุตจากผิวดิน แต่น้ำไม่ท่วม เราได้เห็นการปลูกสะละ ระกำบนที่ดอนดินดีสีแดง มีน้ำให้พอควร ปัจจุบันด้วยรายได้สูงจากการทำสวนสะละ และจากนิสัยไม้สกุลระกำที่ทุกคนรู้ว่าเป็นไม้ที่ขึ้นง่าย การเลือกที่ปลูกจึงไม่พิถีพิถันเท่าที่ควร (คงจะลืมไปว่าเราปลูกสะละเพื่อขายผลมิใช่ขายทางใบไปทำจุกขวด) จึงเห็นมีการปลูกสะละบนที่ดอนอัตคัดน้ำ และปลูกในที่ราบต่ำระดับน้ำใต้ดินในฤดูฝนเสมอกับผิวดิน การปลูกสะละผิดที่เช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาการผลิตสะละคุณภาพ และนี่เป็นเหตุผลให้มาเขียนเรื่อง “สะละมารยา”

สะละมารยา

เราคงเคยได้ยินคำ “มารยา” กันบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อใช้กับสตรีเพศ เช่น “ผู้หญิงคนนี้มารยา” หรือ “มารยาหญิงห้าร้อยเล่มเกวียนเรียนกันไม่จบ” คำว่า “มารยา” หรือ “มายา” ในที่นี้แปลว่า “การแสร้งทำ” ที่จริงจะว่าหญิงฝ่ายเดียวก็ไม่ยุติธรรมนัก เพราะชายเองก็ใช่ย่อย ชอบแสร้างทำให้หญิงหลงผิด เข้าใจผิดเหมือนกันแต่เรียกว่า “ชายสาไถย” มารยาเมื่อใช้กับพืช (สะละ) ต้องแปลว่า “การลวง”ที่จริงแล้วพืชไม่มีความคิดของตนเองที่จะไป “ลวง” ใครแต่สิ่งแวดล้อมบังคับพืชให้เกิดมารยามิใช่จงใจ ที่ผู้เขียนเกือบถูกสะละลวงเอานั้นเรื่องเป็นดังนี้

ก่อนที่จะมีการศึกษาเรื่อง “ดอกของไม้สกุลระกำ” (สลักเพ็ชร์ และผลประสิทธิ์ 2533) ผู้เขียนได้เห็นสะละเนินวงที่ปลูกบนที่สูง ดินดี สีแดงแต่ค่อยข้างอัตคัดน้ำในฤดูแล้ง ทุกผลในทุกต้นมีลักษณะยาวรูปกระสวย และมีกลีบเดียวในหนึ่งผล จึงมั่นใจว่าการมีกลีบเดียวของสะละเนินวงเป็นธรรมชาติประจำพันธุ์ของไม้ต้นนี้  แต่มาระยะหลังได้เห็นสะละเนินวงที่คุณอุทัย (เจ้าของสวนสะละเนินวง) นำลงไปปลูกในที่ราบต่ำของหมู่บ้านดอนทราย ผู้เขียนสังเกตว่ามีผลที่มีสองกลีบมากขึ้น บางครั้งมีได้ถึงสามกลีบ ทำให้รูปผลเปลี่ยนไปในทางป้อมขึ้นกว่าเดิม และสะละเนินวงศ์ที่เห็นมีมากกว่า 1กลีบ มิใช่ธรรมชาติธรรมชาติประจำพันธุ์ของเขา แต่เป็นด้วยแรงกระทำของมนุษย์ คุณอุทัยบอกว่าสวนสะละใหม่นี้แกดูแลดีกว่าสวนบนค่ายเนินวง คือ ฤดูแล้งให้น้ำ 2 วันครั้ง  (สวนเก่าให้อาทิตย์ละครั้ง) ครั้งละนานครึ่งชั่วโมงส่วนปุ๋ยคอกก็ให้ต้นละ 5 ถุง เรียกว่า น้ำ ปุ๋ยเหลือเฟือ  นอกจากนี้ยังนำเกสรตัวผู้มาช่วยผสมอีกด้วย  จึงเห็นได้ว่าที่สะละเนินวงเปลี่ยนแปลงไปนั้นเป็นเพราะฝีมือมนุษย์

ที่ผลสะละเนินวงมีได้ถึง 3 กลีบ ก็เพราะในรังไข่หนึ่ง ๆ ปกติมีไข่อยู่ 3 ฟอง (สลักเพ็ชร์และผลประสิทธิ์ 2533) เมื่อสภาพแวดล้อมอำนวย เช่น เกสรตัวผู้เข้าขากันดีกับตัวเมีย และต้นสะละเองทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เพราะได้รับปุ๋ย น้ำพอเพียง (ไม่ขาดไม่เกิน) เชื้อตัวผู้สามารถเข้าไปผสมกับไข่ได้ทั้ง 3 ฟอง และไข่ที่ผสมเชื้อแล้วสามารถเจริญได้ตามปกติก็เกิดเป็นสะละ 3 กลีบ ในทางตรงกันข้าม หากสภาพแวดล้อมไม่อำนวย คือตรงข้ามกับที่กล่าว ผลสะละอาจมีแต่เปลือก หรือมีเพียง 1 กลีบเท่านั้น

ท่านผู้อ่านที่มีสวนทุเรียนอยู่ด้วยคงจะนึกออกว่า เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกับเรื่องของทุเรียน โดยปกติทุเรียนผล (รังไข่) หนึ่งๆ จะมี 5 พู แต่ละพูจะมีไข่อยู่ 5 ฟอง (ผลประสิทธิ์ 2503) ส่วนจะติดเป็นเมล็ดกี่เมล็ดขึ้นอยู่กับเกสรตัวผู้ที่เข้ามาผสม ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนได้แก่ ทุเรียนพันธุ์ชะนีที่มีลักษณะประจำพันธุ์คือ “โดยนิสัยธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้นจะติดผลน้อย และเมล็ดลีบมาก แต่หากนำเกสรตัวผู้พันธุ์อื่นมาผสมจะติดผลมากขึ้น และมีเมล็ดมากขึ้นด้วย” (ผลประสิทธิ์ 2503) เมื่อเป็นเช่นนี้ หากพบเห็นทุเรียนพันธุ์ชะนีทั้งดกทั้งเมล็ดเต็มมาก น่าสันนิษฐานไว้ก่อนว่านั่นคือ “ชะนีมารยา”

ก่อนผ่านย่อหน้านี้ไป ผู้เขียนขอสรุปนิสัยการเกิดกลีบของสะละเนินวงไว้ดังนี้  เป็นธรรมชาติของสะละเนินวงที่ต้องการแรงกระตุ้นมากทุกอย่าง ทั้งปริมาณและคุณภาพของเชื้อเกสรตัวผู้ ทั้งการดูแลรักษาที่ดี  เพื่อให้ทั้งต้นพ่อต้นแม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะน้ำต้องให้เพียงพอเพื่อที่จะให้มีกลีบมากกว่าหนึ่ง  ในขณะที่ระกำแม้การดูแลไม่ทั่วถึง ก็สามารถเกิดกลีบได้ 2-3 กลีบต่อผล นิสัยนี้ดูจะเหมือนกับนิสัยของมะพร้าวพันธุ์มาว่า(MAWA) (ที่ทางกรมวิชาการเกษตรตั้งชื่อให้ใหม่ว่าพันธุ์ “สวีลูกผสม 1”) ที่ดกมากจริง ๆ เมื่อปุ๋ยและน้ำถึง แต่หากปีใดแล้ง และไม่มีน้ำให้ บนคอมะพร้าวมาว่าจะไม่มีผลติดแม้ผลเดียว ขณะที่มะพร้าวพื้นเมืองยังมีผลติดอยู่บ้าง

ประสบการณ์ 2 ด้านของคุณอุทัย  และคุณมาลี  ธัญญชาติ ที่นักรักสะละควรทราบ:

ก่อนอื่นผู้เขียนขออภัยคุณอุทัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยที่นำประสบการณ์ของคุณอุทัยมาขยายต่อสาธารณะโดยมิได้บอกกล่าวมาก่อน แต่มีความเชื่อมั่นว่าคุณอุทัยผู้ให้กำเนิดระกำพันธุ์เนินวง หรือ “สะละเนินวง” คงยินดีในการกระทำนี้ เพราะหากการปลูกสะละเนินวงทำให้เกษตรกรไทยมีฐานะดีขึ้น ย่อมส่งผลให้คุณอุทัยและภริยาพุทธมามกะชั้นดีเกิดความปิติแน่นอน

การเรียนผิดเรียนถูกด้วยตนเองดังที่ชาวสวนเคยทำ กำลังทำ และจะทำต่อไปนี้ กว่าจะรู้ถูกก้ใช้เวลานาน บางครั้งนานจนเกือบหมดอายุหรือหมดทุน หรือหมดความพยายามที่จะทำสวนต่อไป ครั้นจะมอบวิทยายุทธิ์ที่มีอยู่ให้แก่ลูกชาย ลูกชายก็เกิดไม่มี หรือมีแต่ชอบการเดินอย่างมีมาดข้าราชการ ลูกจ้างหรือนักร้องในเมือง มากกว่าเดินมาดหยองกรอดเหมือนภาพที่เคยเห็นพ่อเดินอยู่เดียวดายในสวนที่รกชัฏและวังเวงพ่อเกษตรที่ตกอยู่ในสภาพนี้มีให้เห็นไม่น้อย  ผลที่สุดก็ขายสวนและพกเอาความ “ระกำ” เหมือนดังชื่อไม้ที่ปลูกอยู่ท้ายสวนไว้ในใจ

การเรียนเรื่องสวน นอกจากเรียนด้วยตนเองดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังสามารถเรียนได้จากอีกหลายทาง เช่น จากการอ่านตำรา ซึ่งปัจจุบันมีผู้รู้หลายท่านเขียนตำราเกษตรออกมาขายกันมากมาย ทางหน้าหนังสือพิมพ์ก็มีอยู่มาก จากฟังรายการวิทยุ โทรทัศน์ และจากการเข้าสัมมนาหรือเข้ารับการอบรมที่ทางหน่วยราชการจัดกันอยู่บ่อย ๆ จากการฟังตัวแทนบริษัทขายปุ๋ย ยา วัสดุการเกษตร และสุดท้ายจากเพื่อนชาวสวนด้วยกัน การอ่านและการได้ฟังจากทุกทางที่กล่าวนี้ขอให้ชาวสวนโปรดอ่านและฟังด้วยรู้เท่าทันว่า ผู้เขียนและผู้พูดส่วนใหญ่จะเขียนไปพูดไปตามที่ตนได้ทำมา ได้เห็นมา ณ จุด ณ เวลานั้น ๆ ซึ่งที่พูดที่เขียนไว้อาจไม่เป็นจริงกับสวนของเราก็ได้  เพราะสภาพสวนเราไม่เหมือนของเขา หลังได้รับฟังแล้วจึงควรนำมากลั่นกรองแล้วคัดเอาแต่ส่วนที่น่าเชื่อถือนำไปใช้ ท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องวัดเรื่องวาอยู่บ้าง คงจะจำคำสอนของพระผู้มีพระภาคที่ตรัสแก่กาลมชน  ซึ่งมีปรากฎอยู่ในเกสปุตตสูตรมีความว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมาอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบ ๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่าได้ยินว่าอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือสมณะนี้เป็นครูของเรา”

ฉะนี้แล  เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้ก็อยู่ในกฎเกณฑ์กาลมสูตรเช่นกัน และเพื่อให้ง่ายต่อการอ่านและต่อการเกิดความเข้าใจ จึงขอเสนอข้อมูลที่ได้จากการคุยกับคุณอุทัยในสวนสะละยามโพล้เพล้ของเย็นวันหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2538 ในรูปตารางการเปรียบเทียบดังนี้

สวนเก่า(ค่ายเนินวง) สวนใหม่(ห่างสวนเก่า 1 กิโลเมตร)
สภาพพื้นที่ : ที่เนิน น้ำท่วมไม่ถึง สภาพพื้นที่ : ที่ต่ำ เดิมใช้ทำนา เมื่อดัดแปลงเป็นสวนสะละมิได้ทำร่องระบายน้ำไว้
สภาพดิน : ดินแดง ถือเป็นดินชั้นดี สภาพดิน : ดินทราย ระบายน้ำไม่ดีนัก
สภาพน้ำ : ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึก 20-30 เมตร รากสะละอาศัยแต่น้ำฝนและน้ำที่ใช้รดในฤดูแล้ง โอกาสน้ำมากเกินต้องการจนทำให้พื้นสวนแฉะไม่มี แต่โอกาสน้ำน้อยเกินไปมีได้ สภาพน้ำ : ระดับน้ำใต้ดินอยู่ตื้นมาก ฤดูฝนอยู่เสมอระดับพื้นดินหรืออยู่ลึกลงไปเพียงแค่คืบจากระดับผิวดิน ส่วนฤดูแล้งจะอยู่ลึกลงไปเพียงประมาณ 2 เมตร รากสะละในฤดูแล้งอาศัยน้ำที่ซึมขึ้นจากระดับน้ำใต้ดินได้บ้างเมื่อฝนตกหนักน้ำจะท่วมสวนอยู่นานครึ่งวัน พูดให้สั้นฟังให้ชัดก็คือ พื้นสวนนี้จะแฉะตลอด หรือเกือบตลอดฤดูฝน
สภาพร่มเงา : มีร่มเงาจากไม้อื่น เพราะเป็นสวนผสมไม่มีระยะปลูก สภาพร่มเงา : ไม่มีร่มเงา ปลูกกลางแจ้ง ระยะ 4×4 เมตร จึงให้ร่มเงากันเอง
สภาพการดูแลรักษา : สภาพการดูแลรักษา :
การให้น้ำ : ฤดูแล้งให้ 7 วันครั้ง การให้น้ำ : ฤดูแล้งให้ 2 วันครั้ง
การให้ปุ๋ย : ไม่แน่นอน การให้ปุ๋ย : ปุ๋ยคอกพวกขี้หมูปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 ถุง หรือ 40 กิโลกรัมต่อกอ รวมทั้งปี 80 กิโลกรัมต่อกอ
การพ่นสาร : ไม่เคยพ่นสารกำจัดโรคและแมลง การพ่นสาร : ไม่เคยพ่นสารกำจัดโรคและแมลง
การช่วยผสมเกสร : ไม่ช่วย การช่วยผสมเกสร : การผสมเกสรโดยใช้เกสรตัวผู้สะละจากต้นตัวผู้
การเจริญเติบโต : โตช้ากว่าสวนใหม่เล็กน้อย การเจริญเติบโต : ต้นงาม และโตเร็วกว่าสวนเก่าเล็กน้อย
อายุการให้ผล : 3 ปีหลังปลูก อายุการให้ผล : 3 ปีหลังปลูก
ช่วงการออกดอกติดผล : ช่อดอกออกตลอดหรือเกือบตลอดปี แต่ช่อดอกที่ออกระหว่างฤดูฝนมักจะเน่าเสียหายมากจึงติดผลน้อยหรือไม่ติดผลเลย การติดผลจึงมักเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายฤดูฝนคือ ตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนเมษายนของทุกปี ช่วงการออกดอกติดผล : ช่อดอกออกตลอดหรือเกือบตลอดปีเช่นกัน แต่การติดผลมักเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนถึงเดือนเมษายน ทั้งนี้เพราะจากเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมที่สวนนี้ยังมีน้ำท่วมและพื้นสวนยังแฉะ  เพราะระดับน้ำใต้ดินยังสูง แต่ดอกที่ติดผลเดือนเมษายนมักจะไปเจอฝนทำให้ผลร่วง
อายุการแก่ของผล : ผลแก่เร็วกว่าในสวนใหม่ ทั้งนี้หมายความว่า ผลสะละในสวนเก่าหวานเร็วกว่าสะละในสวนใหม่ เช่น โดยปกติสะละเนินวงจะเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 37-39 สัปดาห์ หลังดอกบาน (ลีอังกูรเสถียร 2533) แต่หากจะเก็บก่อนหน้านี้เล็กน้อยก็ได้ เพราะมีความหวานแล้ว อายุการแก่ของผล : ผลแก่ช้ากว่าสวนเก่า จะต้องปล่อยไว้ให้ถึงอายุแก่จริง ๆ จึงจะตัดได้ จะชิงตัดก่อนอย่างสวนเก่าไม่ได้ อย่างไรก็ตามทั้งสองสวนนี้ หากทิ้งไว้จนแก่จัดก็จะหวานเท่ากัน
ลักษณะผล : ยาวกว่าสวนใหม่เล็กน้อย ลักษณะผล : สั้นกว่าสวนเก่าเล็กน้อย
จำนวนกลีบ : น้อย ส่วนมากมีกลีบเดียว จำนวนกลีบ : จำนวนผลที่มีมากกว่า 1 กลีบ (2-3 กลีบ) สูงกว่าในสวนเก่า
ลักษณะเนื้อ : สีขาว หนา รสหวานกว่าสวนใหม่ ทำให้ตัดได้เร็วขึ้น ลักษณะเนื้อ : สีขาว หนา หากแก่ในเดือนมิถุนายน พฤศจิกายน และธันวาคม รสดี หวานหอม แต่หากแก่ระหว่างฤดูฝนคือเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน ที่มีฝนชุก ที่หัวกลีบจะเป็นจ้ำสีดำ ๆ แทนที่จะขาวทั้งกลีบ แม้ไม่เน่าแต่ดูไม่สวยงาม
น้ำหนักผล : 25 กิโลกรัมต่อเข่ง น้ำหนักผล : 30 กิโลกรัมต่อเข่ง
โรคและแมลง : เชื้อราทำลายผลมีบ้างแต่ไม่มากนัก โรคและแมลง : เชื้อราทำลายผลในทะลายมีมาก ทำให้ผลร่วงเน่า โดยเฉพาะเมื่อน้ำท่วมความเสียหายรุนแรงมาก

เรา(คุณอุทัยกับผู้เขียน) สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่จนกระทั่งลมเย็น ๆ ของฤดูหนาวพัดเข้ามาแทนที่แสงตะวันที่ลับขอบฟ้าไปนานแล้ว ผู้เขียนจึงต้องอำลาคุณอุทัยด้วยความเกรงใจ ก่อนกล่าวคำอำลาผู้เขียนเปรยขึ้นว่า “เอ…พวกสะละนี้ก็มีมารยาทเหมือนคนเหมือนกัน” และทันทีที่หมุนตัวกลับ มีเสียงโหยหวนและเย็นเยือกจากกอสะละแผ่วมาเข้าหูว่า “ไพโรจน์..เธอคิดว่าเธอรู้จักพวกฉันดีหรืออย่างไร จึงบังอาจกล่าวหาว่าพวกฉันมีมารยา แท้จริงแล้วเธอไม่รู้จักพวกฉันจริง ๆ หรอก จึงกล่าวหาไปเช่นนั้น..คนหนอคนนึกว่าตนเองรู้ไปเสียทุกอย่าง นึกถึงเสียงนี้ทีไรขนลุกทั่วตัวทุกที

เอกสารอ้างอิง

ผลประสิทธิ์, ไพโรจน์ 2503. ดอกทุเรียน. หนังสือพิมพ์กสิกร.33:37-45

ลีอังกูรเสถียร, นิลวรรณ. 2533 ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวไม้สกุลระกำ หนังสือพิมพ์กสิกร 63:60-62

สลักเพ็ชร์,เสริมสุข,ผลประสิทธิ์  ไพโรจน์.2533 ดอกของไม้สกุลระกำ หนังสือพิมพ์กสิกร 63:56-59.