สวนยาง:ฟื้นฟูสวนยางหลังน้ำท่วม

สำหรับต้นยางที่ตาย  หากจะปลูกซ่อมแทน ควรจะปลูกซ่อมเฉพาะต้นที่มีอายุ 1-2 ปี เท่านั้น  หากต้นยางอายุมากกว่านี้ไม่ควรปลูกซ่อมเพราะต้นยางที่ปลูกซ่อมจะเจริญเติบโตไม่ทันต้นอื่นๆ  เนื่องจากถูกต้นข้างเคียงแย่งแสงและน้ำ  อย่างไรก็ตามหากเกิดภาวะน้ำท่วมซ้ำอาจทำให้ต้นยางอายุ 1-2 ปี ตายได้ส่วนยางที่ยังมีน้ำท่วมขัง  ให้รีบระบายน้ำออกไปจากสวน  โดยการขุดร่องน้ำกึ่งกลางระหว่างแถวยาง  โดยใช้เฉพาะแรงงานคนและเครื่องจักรขนาดเล็กเท่านั้น ไม่ควรใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ขุดร่องน้ำ เพราะโครงสร้างของดินยังไม่แน่นพอ  อาจทำให้โครงสร้างดินเสียหายซึ่งจะไปกระทบกระเทือนต่อระบบรากจะเป็นอันตรายต่อต้นยางส่วนต่างๆ ของต้นยาง ได้แก่ ยอด กิ่ง ก้าน และทรงพุ่มที่ฉีกขาดเสียหาย ควรตัดแต่งกิ่งออกให้หมด  โดยตัดแต่งกิ่งที่มีทิศทางไม่สมดุลกับกิ่งที่เหลืออยู่ออกบางส่วน  เพื่อป้องกันมิให้ทรงพุ่มที่เหลืออยู่ หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง  สำหรับส่วนของต้นยางที่เป็นแผลเล็กน้อย ให้ใช้ปูนขาวผสมน้ำอัตราส่วน 1 ต่อ 1 แช่ค้างคืน หรือใช้สีน้ำมันทาจากโคนต้นถึงระดับความสูงประมาณ 1 เมตร  หากแผลมีขนาดใหญ่และสภาพอากาศยังชื้นอยู่โดยเฉพาะทางภาคใต้ ควรใช้สารเคมีเบนเลททาแผลเพื่อป้องกันไม่ใช้เชื้อราเข้าทำลายส่วนของเนื้อเยื่อได้

กรณีต้นยางที่เอนไปด้านใดด้านหนึ่งมาก หรือลำต้นโค้งเนื่องจากได้รับความเสียหายจากลมพายุแต่กิ่งก้านไม่ฉีกขาด  แก้ไขโดยตัดแต่งกิ่งก้านด้านที่หนักไปข้างใดข้างหนึ่งออก หากต้นยังเอนอยู่ควรใช้เชือกผูกยึดต้นยางไว้หรือใช้ไม้ค้ำยันให้ลำต้นตั้งตรง แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้เชือกที่ผูกยึดต้นเสียดสีเปลือกยาง ควรใช้วัสดุบางอย่าง เช่น ยางในล้อรถจักรยานรองระหว่างเชือกกับต้นยาง  สำหรับต้นยางที่ล้มเป็นแนยระนาบขนานไปกับพื้นดิน และพบว่ารากยางจะขาด ถึงแม้ว่าจะยกต้นยางขึ้นตั้งตรงแล้วก็ตาม แต่ส่วนของราก ได้แก่ รากแก้ว รากแขนง ฉีกขาดเสียหาย และหากพบว่าจุดเชื่อมต่อโคนคอดินกับรากแก้วขาดหรือเป็นแผลในยางเล็กอายุ 1-4 ปี ควรตัดแต่งกิ่งออกบางส่วนเพื่อรักษาสมดุลของทรงพุ่มและลดการคายน้ำของยาง ส่วนยางที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป ให้ตัดกิ่งและใบอยู่เหนือคาคบประมาณ 0.5-1.0 เมตร ยกลำต้นให้ตั้งตรงแล้วใช้ไม้ค้ำยัน และหมั่นคอยเปลี่ยนไม้ค้ำยันที่ผุพังออกไป เพราะหากยางล้มอีกครั้งส่วนใหญ่ยางมักจะตาย

ต้นยางที่ยกลำต้นขึ้นตั้งตรงใหม่  หากเป็นยางเล็กจะฟื้นคืนสภาพกลับมาได้เร็ว แต่ถ้าเป็นยางใหญ่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นคืนสภาพกลับมา  อย่างไรก็ตามต้นยางใหญ่ที่เปิดกรีดแล้วพบว่า ต้นยางที่ยกขึ้นตั้งตรงบริเวณส่วนเปลือกยางจะแสดงอาการเปลือกแห้งจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตน้ำยางได้ เนื่องจากอาหารที่ได้จากการสังเคราะห์แสงถูกนำไปใช้ในการฟื้นฟู ซ่อมแซมและเสริมสร้างการเจริญเติบโตมากกว่าการสร้างน้ำยาง การยกต้นยางขึ้น ควรรีบทำภายในเวลา 3-5 วัน หากทิ้งไว้นานกว่านี้ใบยางจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วงหล่นทำให้ต้นโทรม ในสวนยางที่กรีดแล้ว เกษตรกรควรหยุดกรีดยางสักระยะหนึ่ง  เพื่อให้ต้นยางได้ฟื้นตัวเป็นการป้องกันไม่ให้คนเข้าไปเหยียบย่ำดินตลอดจนทำลายรากยางด้วย

การฟื้นฟูสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมขัง  เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากสวนยางโดยเร็ว  รอให้น้ำแห้งและดินแข็งตัวดีเสียก่อนจึงค่อยเข้าไปปฏิบัติงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายรากยาง  โดยเฉพาะรากฝอยที่เจริญขึ้นมาใหม่ให้สามารถดูดอาหารและน้ำไปเลี้ยงต้นยาง  ขณะที่น้ำท่วมยังไม่แห้งดีไม่ควรใส่ปุ๋ยไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอกและปุ๋ยชีวภาพ เพราะจะทำให้ธาตุไนโตรเจนที่อยู่ในรูปของไนเตรทและยูเรีย เปลี่ยนเป็นรูปไนไตรท์ ทำให้เกิดภาวะความเป็นพิษต่อต้นยางเนื่องจากส่วนของรากขาดออกซิเจน เป็นการซ้ำเติมต้นยางที่ทรุดโทรม เนื่องจากน้ำท่วมให้อาการหนักขึ้นไปอีก  นอกจากนี้ยังทำให้ต้นยางฟื้นตัวช้า อาจทำให้ต้นยางอ่อนแอกระทั่งถึงตายได้ “การใส่ปุ๋ยคอกในขณะที่ยังมีน้ำท่วมเล็กน้อย จะไปส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในดินให้มีการหายใจมากขึ้น จะทำให้ส่วนของรากยางขาดออกซิเจนได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น เกษตรกรจึงไม่ควรใส่ปุ๋ยทันที ควรรอให้ต้นยางฟื้นตัวและแข็งแรงดีเสียก่อน สิ่งที่เกษตรกรควรทำคือ รีบใส่ปุ๋ยในช่วงฤดูฝนในปีถัดไป

เกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบปัญหาน้ำท่วมสวนยาง  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร.0-7738-1960-1 ได้ในวันและเวลาราชการ