สะตอ

(Stink bean)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Parkia speciosa Hassk.
ชื่อวงศ์ LEGUMIMOSAE – MIMOSOIDEAE
ชื่ออื่น ตอข้าว ตอดาน ตอหนัก ปะตา
ถิ่นกำเนิด มาเลเซีย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-25 ม. ขนาดทรงพุ่ม 6-10 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม แผ่กว้างและโปร่ง ลำต้น เปลาตรง โคนต้นเป็นพูพอนขนาดเล็ก เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม หรือสีน้ำตาลปนขาว หลุดล่อนเป็นสะเก็ด


ใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ปลายคู่ เรียงสลับ แกนกลางใบ ประกอบยาว 30-60 ซม. แยกแขนงตรงข้าม 14-20 คู่ ยาว 6-10 ซม. ใบย่อย 25-40 คู่ เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปขอบขนานกว้าง 0.15-0.2 ซม. ยาว 0.5-1 ซม. ปลายใบมนโคนใบเบี้ยวขึ้นเป็นติ่ง แผ่นใบบางแต่เหนียว และแข็ง สีเขียวสดเรียบเป็นมัน
ดอก สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวห้อย กว้าง 3-3.5 ซม. ยาว 7-10 ซม. ก้านช่อดอกยาว 30-40 ซม. กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก 4-5 กลีบ กลีบดอกเชื่อมติดกัน เป็นหลอดยาว 0.9-1.2 ซม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ออกดอกเดือน ธ.ค.-พ.ค.


ผล ผลแห้ง เป็นฝักรูปแถบแบนบิดเป็นเกลียวและเห็นเมล็ดชัดเจน กว้าง 3-5 ซม. ยาว 30-50 ซม. เรียงอยู่บนแกนตุ้มกลม 2-10 ฝัก สีเขียว เนื้อในฝักสีขาว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมดำและดำเป็นมัน เนื้อในฝักสีส้ม เมล็ดรูปรีค่อนข้างกลม เรียงตามขวางของฝัก สีน้ำตาลอ่อน 10-20 เมล็ดต่อฝัก ติดผล ก.พ.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือติดตา
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบชื้น ป่าเชิงเขา หรือป่าโปร่ง
การใช้ประโยชน์ เมล็ดกินเป็นผักเหนาะโดยกินสด เผาไฟหรือดอง ใช้ผัดเผ็ด ผัดเปรี้ยวหวาน ต้มกะทิ ส่วนยอดใช้กินเป็นผักเหนาะ
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เมล็ดรสจืดมัน ขับปัสสาวะ ช่วยลด น้ำตาลในเส้นเลือด กินเป็นประจำช่วยป้องกันโรคเบาหวาน
หมายเหตุ ต้นที่คล้ายกัน คือ เหรียง (Parkia timoriana Merr.)
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย