สะเดา:การปลูกสะเดาและสรรพคุณทางด้านสมุนไพร

สะเดา

สายสมร  ศรีสุขประเสริฐ(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาอาชีวศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน

“สะเดา” บางท่านอาจนึกถึงอำเภอทางภาคใต้สุดของประเทศที่มีเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย เป็นที่ตั้งของด่านตรวจคนเข้าเมืองที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติรู้จักกันดี แต่ “สะเดา” ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเรานิยมนำเอาดอกและยอดอ่อนมารับประทานกับกุ้งเผาน้ำปลาหวาน เป็นอาหารที่มากับลมหนาว ซึ่งเรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักกันดีว่า นอกจากจะมีรสชาติกลมกล่อมเปรี้ยวนิด หวานหน่อย ขมน้อย ๆแล้ว ยังให้สรรพคุณทางด้านสมุนไพรใช้เป็นยาบำรุงธาตุได้อีกด้วย

สะเดา มีชื่อทางการค้าว่า neem (nim) ในประเทศไทยเรียกได้หลายชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่นภาคเหนือเรียกว่า สะเลียม ภาคใต้เรียกว่า เดาหรือกระเดา เป็นต้น

สะเดาตามธรรมชาติเป็นไม้ป่า พบมากในป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างแห้งแล้ง และป่าแดงทั่วประเทศ  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางทรงพุ่มกลบทึบ ใบเล็กยาวเล็กน้อย อวบน้ำ ผลอ่อนสีเขียวเมื่อสุกจะมีสีเหลือง รสขมจัดเป็นพืชทนแล้ง เจริญเติบโตได้ดีในภูมิอากาศร้อนชื้น มีปริมาณน้ำฝนตกรายปีเฉลี่ย 457-1,143 มิลลิเมตร สามารถขึ้นได้ในสภาพดินเกือบทุกชนิด ทั้งดินตื้นที่หินมากและแห้งแล้ง ไม่ชอบดินที่มีน้ำขัง และดินเค็มจัด ขยายพันธุ์ง่ายทั้งแบบอาศัยเพศ โดยวิธีเพาะเมล็ดซึ่งมีข้อจำกัดคือ ต้องรีบเพาะทันที ภายหลังเก็บเมล็ดมาแล้วไม่เกิน 2 สัปดาห์ เนื่องจากสูญเสียเปอร์เซ็นต์การงอกได้ง่าย หรือจะใช้วิธีขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศก็ได้  โดยการชำรากหรือการชำหน่อที่แตกมาจากราก

การปลูก

สามารถปลูกได้ 2 วิธีคือ

วิธีหยอดเมล็ด  ลงในหลุมแล้วกลบด้วยดินบาง ๆ รดน้ำให้ชุ่ม เมื่อเมล็ดงอกใหม่ ๆ ในระยะแรกอาจเจริญเติบโตช้า แต่ภายหลังจากที่ได้พัฒนาระบบราก แล้วจะเจริญเติบโตได้ดีขึ้น  วิธีนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างสูง ส่วนการปลูกอีกวิธีหนึ่งที่นิยมกันมากคือ การย้ายกล้า โดยใช้ต้นกล้าที่มีอายุประมาณ 4-5 เดือนหรือมีความสูงประมาณ 20-30 ซม. นำมาปลูกในแปลงที่จัดเตรียมไว้  สำหรับระยะในการปลูกนั้นยังไม่มีการศึกษาหาระยะการปลูกที่เหมาะสมแน่นอน แต่เท่าที่กรมป่าไม้เคยทดลองนั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการปลูก เช่น ถ้าต้องการลำต้นไม่ใหญ่มากนักอาจใช้ระยะปลูก 1×2 เมตร หรือ 2×2 เมตร แต่ถ้าต้องการลำต้นใหญ่ จะใช้ระยะปลูก 2×4 เมตร หรือ 4×4 เมตร

การดูแลรักษาต้นสะเดา ทำได้ง่ายเพราะต้นสะเดาต้องการการดูแลเอาใจใส่ในระยะปีแรกของการปลูกในด้าน การกำจัดวัชพืช ซึ่งจะมาแย่งน้ำและอาหาร ต้องระมัดระวังดูแลไม่ให้สัตว์เลี้ยงเหยียบย่ำ ในขณะเป็นต้นอ่อน ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เพื่อเร่งการเจริญเติบโต  ส่วนในเรื่องของโรคและแมลงที่เป็นศัตรูของสะเดามีน้อย เพราะต้นสะเดามีสารที่สามารถป้องกันศัตรูอยู่ในตัวแล้ว สิ่งที่จะมีอันตรายแก่ต้นสะเดาที่เราควรระมัดระวังที่สุด คือการท่วมขังของน้ำ เพราะจะทำให้รากแก้วถูกทำลายได้ง่าย ทำให้ต้นสะเดาตายได้

สะเดาเป็นไม้ปลูกง่าย แต่ให้ประโยชน์ได้ในทุกส่วนของต้น ทั้งในด้านอุตสาหกรรมด้านการเกษตร และในด้านสมุนไพรกล่าวคือ เนื้อไม้ของต้นสะเดา มีคุณภาพดี แข็งแรง ทนทานขัดชักเงาได้ดี สีแดงสวยงาม และที่สำคัญคือ ปลวกไม่ค่อยทำลายจึงทำให้เหมาะสำหรับใช้ในงานก่อสร้าง บ้านเรือน ใช้ทำเสา ฝา ตง คาน เพดาน และเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร นอกจากนี้ไม้สะเดายังเหมาะสำหรับทำเป็นไม้เชื้อเพลิง เนื่องจากเป็นไม้ที่ให้ความร้อนสูงถึงประมาณ 4,000-5,000 แคลอรี่/กก.ด้วย

เมล็กสะเดาสามารถสกัดเป็นน้ำมัน ใช้ทำเป็นน้ำมันเชื้องเพลิงจุดตะเกียง ทำเป็นน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ ทำสบู่ ใช้ผสมทำยารักษาโรคและเครื่องสำอางค์  เปลือกต้นสะเดาให้สีแดง ยางให้สีเหลือง ใช้ย้อมผ้าได้ดี นอกจากนี้เนื้อหุ้มเมล็ดในขณะที่เน่าเปื่อย จะให้แก๊สมีเทนสูง ใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงได้

ในด้านการเกษตร เราใช้ใบและกิ่งที่ร่วงทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ กากของเมล็ดที่เหลือจากการสกัดน้ำมันแล้ว ใช้เป็นปุ๋ยได้ดีเพราะมีธาตุอาหารสูง และในปัจจุบัน ได้มีการทดลองใช้เมล็ด และใบนำมาสกัดสาร “อาซ่าดิเรซติน” (azadirachtin) ใช้เป็นยาฆ่าแมลงปีกแข็ง และแมลงชนิดอื่น ๆ รวมทั้ง ไส้เดือนฝอย (nematode) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรในประเทศอินเดีย  นิยมให้กันมากส่วนในประเทศไทย ได้มีการทดลองใช้ใบสะเดานำมาตำแล้วคั้นเอาน้ำมาฆ่าแมลงในสวนส้มได้ผลดีมาแล้ว  นอกจากนี้ต้นสะเดายังเป็นไม้ให้ร่มเงาและกำบังลมได้เป็นอย่างดีเพราะมีทรงพุ่มกลมกว้าง ใบหนาทึบ ผลัดใบในช่วงต้นฤดูหนาว(พฤศจิกายน-ธันวาคม) ใช้เวลาในการผลัดใบนั้นยอดอ่อนและดอกสามารถเก็บมาบริโภค หรือจำหน่ายได้ในราคาที่ดีพอสมควร

สำหรับสรรพคุณ ทางด้านสมุนไพร สะเดาสามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้หลายชนิด เช่น เปลือกราก เปลือกต้น และผลอ่อน ใช้รักษาไข้มาลาเรีย ก้านใช้รักษาไข้หวัด เปลือกรากใช้รักษาอาการเป็นบิดมูกเลือด ใบอ่อนและดอกช่วยเจริญอาหาร และบำรุงธาตุ ผลแก้โรคหัวใจ ดอกใช้ระงับอาการเลือดกำเดาออก ผลอ่อนใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวงและปัสสาวะพิการ ส่วนยางใช้ดับพิษร้อน เป็นต้น

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าสะเดาเป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์มากมาย การปลูกและดูแลรักษาง่าย มีแนวโน้มว่าจะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต น่าสนใจและน่าส่งเสริมให้มีการศึกษาหาข้อมูล ในแง่มุมต่าง ๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป