สะเดาอินเดียมีสรรพคุณดังนี้


ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A. Juss.
ชื่ออื่นๆ ควินนิน ควินิน คีนิน (กลาง)
ชื่ออังกฤษ Neem Tree, Indian Margosa Tree, Pride of China, Holy Tree, Margosa Tree.
ลักษณะ เป็นไม้ต้นขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่สูง 8-15 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอด ต้นที่โตเต็มที่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 70-80 ซ.ม. ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับกันใบร่วงง่าย มีใบย่อย 5-9 คู่ ใบสีเขียวแก่ หนาและเป็นมัน ใบย่อยโค้งเป็นรูปเคียว ใบและช่อดอกมีรสขมกว่าสะเดาบ้าน ดอกออกเป็นช่อตรงบริเวณปลายๆ กิ่ง ดอกสีขาวมีกลิ่นหอม ผลค่อนข้างกลม ยาว สีเขียวอมขาว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
ส่วนที่ใช้ ก้านใบ ใบ ผลแก่ เมล็ด เปลือกต้น และราก
สารสำคัญ ใบและเปลือกต้นมีสารพวก limonoids ได้แก่ nimbolide และ gedunin ตามลำดับ สารสองชนิดนี้สามารถฆ่าเชื้อ “ฟัลซิปารัม” ซึ่งเป็นเชื้อไข้มาลาเรียชนิดหนึ่ง เป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาคลอโรควีน ในหลอดทดลอง และสารนี้มีความเป็นพิษต่ำ
ช่อดอก มีสารพวกไกลโคไซด์ nimbosterin 0.005% มีน้ำมันหอมระเหยที่มี รสเผ็ด 0.5% นอกนั้นพบ nimbosterol, nimbecetin กรดไขมัน และสารที่มี รสขม ฯลฯ
ผล พบสารที่มีรสขมชื่อ bakayanin
เมล็ด มีน้ำมันขมชื่อ margosicacid 45% หรือเรียกว่า nim oil หรือ margosa oil กากที่เหลือจากการสกัดนํ้ามันเรียก neem cake สารรสขมในนํ้ามันมีชื่อว่า nimbin, nimbinin, nimbidin, nimbidin นี้พบเป็นจำนวนมากใน nim oil เป็นสารที่มีกำมะถันรวมอยู่ด้วยและเป็นสารที่ออกฤทธิ์ พบสารพวก limonoids หลายชนิด มีคุณสมบัติทางชีวภาพ มีฤทธิ์ยับยั้งการกินของแมลง ชนิดแรกที่พบชื่อ “meliantriol” (C30 H3() O5) เป็นสารประเภทไตรเทอรปีน สารอีกชนิดหนึ่งชื่อ “azadirachtin” เป็นสารที่มีฤทธิ์แรงที่สุด ถ้าเก็บเมล็ดสะเดา- อินเดียจากต้นที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี มาสกัดจะได้สารนี้ประมาณ 0.7%
ประโยชน์ทางยา เปลือกใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร แก้ไข้ นำเปลือกมาต้มกับนํ้าใช้ชะล้างแผลกลาย ก้านใบ เข้ายาแก้ไข้ และแก้ไข้มาลาเรีย ใบสด พอกฝี
ดอก ยาบำรุง บำรุงธาตุ ยาขมเจริญอาหาร
ผล ยาถ่าย และยาถ่ายพยาธิ
เปลือกราก เป็นยาฝาดสมาน แก้ไข้
นํ้ามัน margosa ซึ่งสกัดได้จากเมล็ด ในอินเดียใช้ทารักษาโรคผิวหนัง

อื่นๆ การใช้สะเดาอินเดียสำหรับกำจัดศัตรูพืช สามารถกำจัดแมลงได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยชนิดต่างๆ แมลงศัตรูในยุ้งฉาง(มอดแป้ง ผีเสื้อข้าวเปลือก) หนอนชอนใบ หนอนใยผัก สารในสะเดาอินเดียนี้มีทั้งออกฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง (insecticide) สารไล่แมลง (repellent) และสารล่อแมลง (attraction)
วิธีการใช้ – นำเมล็ดสะเดาแห้งมาบดและแช่นํ้า ใช้ 1 กิโลกรัม ต่อนํ้า 1 ปีบ (20 ลิตร) แช่ไว้ 1-2 คืน กรองกากออก นำนํ้ายาไปฉีดพ่นแปลงผัก สามารถฆ่าหนอนกระทู้ผัก หนอนใยผักได้ผลดี
นำใบสะเดาแห้งบดเป็นผงคลุกกับเมล็ดข้าวโพดในอัตรา
1:10 จะสามารถลดจำนวนของด้วงงวงข้าวโพดได้ถึง 44.38% ในยุ้งฉาง สำหรับ “meliantriol” ซึ่งเป็นสารพวก limonoids จะออกฤทธิ์ยับยั้งการกินของแมลงได้ในความเข้มข้น 3 ไมโครกรัมต่อตารางเซนติเมตร สารพวก “limonoids” นี้มีคุณสมบัติไปยับยั้งการกินของแมลงและหนอน โดยเฉพาะ ตั๊กแตนและพวกแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยมวน แมลงวัน ยุง ไส้เดือนฝอย ฯลฯ สาร “azadirachtin” สามารถยับยั้งการกินของแมลงได้ 100% ในความเข้มข้นเพียง 1 นาโมกรัมต่อตารางเซนติเมตร
นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษได้ทำการทดลองต่อไป พบว่าสารในเมล็ดสะเดาอินเดียนี้ไปทำให้ฮอร์โมนในแมลงผิดปกติ และจะทำให้เกิดทุพพลภาพอย่างถาวร เมื่อนำสารสกัดจากใบหรือเมล็ดฉีดพ่นถูกตัวแมลงหรือแมลงกินเข้าไป แมลงไม่ตายทันที จะออกฤทธิ์โดยไปทำให้การสร้างสารไคตินซึ่งเป็นองค์ประกอบของเปลือกลำตัวของแมลงผิดปกติ และทำให้การลอกคราบของแมลงไม่สมบูรณ์จึงทำให้จำนวนของแมลงลดลงเรื่อยๆ (สัตว์ที่มีผนังลำตัวแข็ง มีส่วนประกอบเป็นไคติน ได้แก่ กุ้ง กั้ง ปู กิ้งกือ ตะเข็บ ตะขาบ แมงป่อง แมงมุม ฯลฯ สัตว์พวกนี้เมื่อนำไปเผาไฟหรือถูกความร้อนจะเปลี่ยนผนังลำตัว เป็นสีแดงอิฐ มีกลิ่นเฉพาะ เหมือนเช่นเวลาเผากุ้ง) นอกจากนั้นยังมีผลต่อการวางไข่การฟักไข่ การลอกคราบและการเจริญเติบโตของตัวอ่อนของแมลงสาบด้วย สารอซาดิรัชตินสามารถออกฤทธิ์ต่อเพลงได้มากมายหลายชนิด รวมทั้งตั๊กแตนสีนํ้าตาล ซึ่งเป็นศัตรูพืชตัวสำคัญในการทำลายพืชพรรณธัญญาหาร ให้เกิดความเสียหายอย่างมากมาย
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จากสะเดาวางขายในท้องตลาดแล้ว
สำหรับกากที่เหลือจากการสกัดนํ้ามันออกจากเมล็ดสะเดาอินเดีย เรียก “neem cake” ในต่างประเทศใช้เป็นตัวชะลอการสลายตัวของปุ๋ยยูเรีย เนื่องจากปุ๋ยยูเรียเมื่อใส่ลงในดินจะถูกเปลี่ยนเป็นแอมโมเนียภายใน 24 ชั่วโมง รากพืช ไม่สามารถดูดซึมปุ๋ยนี้ไว้ได้ทัน จึงทำให้ปุ๋ยที่ใส่ลงไปนั้นสูญเปล่า แต่ถ้าใส่ nim cake ลงไป ปฏิกริยาของปุ๋ยยูเรียจะค่อยๆ เปลี่ยนไปอย่างช้าๆ รากจะสามารถดูดเก็บปุ๋ยไว้ได้ทัน ไม่ทำให้เกิดการสูญเปล่า
ในประเทศอินเดีย มีการใช้ส่วนต่างๆ ของสะเดาอินเดียกันอย่างกว้างขวาง เช่น ใช้ในทางยา ทำเยื่อกระดาษ ทำสบู่ ทำกาว ทำเชื้อเพลิง ทำวัสดุก่อสร้าง ใช้เป็นยาฆ่าแมลง กิ่งเล็กๆ ใช้ทุบทำเป็นแปรงสีฟัน ฯลฯ สำหรับในประเทศไทย ชาวชนบทใช้เปลือกและใบรักษาไข้มาลาเรีย มหาวิทยาลัยมหิดลมีความสนใจในการใช้สะเดาอินเดียเป็นยารักษามาลาเรีย จึงได้ทำการศึกษาวิจัยว่า สมุนไพรต้นนี้สามารถจะใช้รักษามาลาเรียได้จริงหรือไม่
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ