สารภีทะเล

(Alexandrian Laurel)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Calophyllum inophyllum L.
ชื่อวงศ์ GUTTIFERAE
ชื่ออื่น กระทิง กากะทิง (ภาคกลาง), ทิง (กระบี่), เนาวกาน (น่าน) สารภีทะเล (ประจวบคีรีขันธ์), สารภีแนน (ภาคเหนือ)
ถิ่นกำเนิด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทย มาลายู
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 8-20 ม. ไม่ผลัดใบ ลักษณะพิเศษพบว่ามีน้ำยางเหลืองใสๆ เปลือกต้นสีเทาเรียบหรือน้ำตาลปนเหลือง เปลือกในสีชมพูเนื้อไม้สีน้ำตาลปนแดง


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปไข่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง 4-10 ซม. ยาว 8-17 ซม. ปลายใบเว้าบุ๋มหรือกลม หรือแหลมเล็กน้อยโคนใบรูปกลมหรือรูปลิ่มขอบใบเรียบเป็นคลื่นยาว ใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ผิวใบด้านบนสีเขียวเป็นมัน ผิวใบด้านล่างจะสีจางกว่า เนื้อใบหนาคล้ายหนัง เส้นใบมีจำนวนมาก ขนานและเรียงชิดกัน ก้านใบยาว 1-2.8 ซม.
ดอก สีขาว ออกดอกตามง่ามใบ เป็นช่อกระจะ ช่อดอกยาว 10-16 ซม. แต่ละช่อมี 5-15 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ซม. กลีบรวม 8 กลีบ เรียงซ้อนเป็น 2 ชั้น ชั้นนอก 2 คู่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากกัน ชั้นใน มี 4 กลีบ เรียงเป็นวงซ้อนเหลื่อมกัน เกสรเพศผู้มีจำนวนไม่แน่นอน โคนก้านติดกัน ออกดอกเดือน มิ.ย.-ก.ค.


ผล ผลเมล็ดเดียว รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 ซม. ผลอ่อน จะเป็นสีเขียวเป็นมันแต่เมื่อผลแก่จะเป็นสีน้ำตาลอมเขียว มีรอยย่น ติดผลเดือน ก.ค.-พ.ย.
นิเวศวิทยา พบตามป่าใกล้ชายทะเล อยู่ได้ทั่วไปในที่สูงจาก ระดับน้ำทะเล 5-50 ม.
การใช้ประโยชน์ ไม้ใช้ก่อสร้างเครื่องตกแต่งบ้าน เครื่องมือกสิกรรม ใช้ทำเรือ ทำเครื่องสำอาง ปลูกเป็นไม้ประดับ
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ดอก ปรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ น้ำมันสกัดจากเมล็ดใช้ทาแก้ปวดข้อ
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดระยอง
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย