สารอาฟล่าทอกซินเป็นพิษต่อสุกร

รวบรวมโดย สมศักดิ์  ทองดีแท้

สุกรที่ได้รับสารอาฟล่าทอกซินจะมีอาการอย่างไร การรักษาและควบคุมโรคควรปฏิบัติอย่างไร

สุกรที่ได้รับสารอาฟล่าทอกซินส่วนใหญ่จะเกิดโรคแบบเฉียบพลัน เนื่องจากมีสารพิษปริมาณค่อนข้างสูงในอาหาร สุกรจะกินอาหารลดลง แกร็นหรือเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ ไม่มีแรง บางตัวมีอาการดีซ่านและถ่ายอุจจาระสีดำเข้ม มีสภาวะร่างกายขาดน้ำ บางตัวมีเลือดออกที่ผิวหนังและอาจพบอาการท้องมานในบางราย ก่อนตายบางตัวมีอาการชักและน้ำลายฟูมปาก

สารอาฟล่าทอกซินนี้เกิดจากการแปรธาตุอาหารของเชื้อรา(แอสเปอร์จิลัส) ทำให้เกิดการเป็นพิษรุนแรงที่สุดต่อสัตว์ที่กินเข้าไป มักตรวจพบในข้าวโพดและถั่วลิสงที่เก็บไว้ในที่มีความชื้นสูง

การเป็นพิษในสุกรขึ้นกับปริมาณและระยะเวลาการได้รับสารพิษนี้ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับอายุและสภาพทางโภชนาการของสุกรด้วย การเป็นพิษที่เกิดขึ้นเป็นผลจากฤทธิ์ของสารพิษ ซึ่งมีผลทำลายเซลล์โดยตรงทำให้เกิดการเสื่อมของเซลล์โดยเฉพาะที่ตับและไต

ไม่มีการรักษาที่จำเพาะ เนื่องจากไม่มียาที่ทำลายสารพิษอาฟล่าได้ เมื่อเกิดปัญหาโรคนี้ควรหยุดให้อาหารชุดนั้นทันทีและเปลี่ยนไปใช้อาหารที่แน่ใจว่าไม่มีสารพิษ และควรให้อาหารที่มีระดับไขมันต่ำแต่มีระดับโปรตีนสูงแทน อาหารชุดที่มีสารพิษของเชื้อราควรทำลายเสีย

บรรณานุกรม

กิจจา  อุไรรงค์ใ ๒๕๓๐. แนวทางการวินิจฉัย รักษา และควบคุมโรคสุกร.โรงพิมพ์สารมวลชน พระโขนง กรุงเทพมหานคร หน้า 302-304