สารเคมีคลุกหรือแช่เมล็ดข้าวเพื่อการป้องกันกำจัดโรค

ดร.สมคิด  ดิสถาพร

กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร

เกษตรกลาง บางเขน กรุงเทพฯ

สารเคมีที่ใช้คลุกหรือแช่เมล็ดข้าวป้องกันกำจัดโรคข้าว เช่น โรคถอดผักดาบ และโรคกล้าแห้ง นับวันจะมีการผลิตเพื่อให้ใช้ป้องกันเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ดและเชื้อที่อยู่ในดินเพิ่มชนิดมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพราะมีการนิยมใช้สารเคมีดังกล่าวแพร่หลายขึ้น

การใช้สารเคมีคลุกหรือแช่เมล้ดข้าวก่อนปลูก นับว่าเป็นการป้องการการเกิดโรคในเบื้องต้น ลดระดับแหล่งระบาด ที่ลงทุนต่ำแต่ให้ผลคุ้มค่า อาจกล่าวได้ว่า การคลุกหรือแช่เมล็ดข้าวก่อนปลูก เป็นปฏิบัติการที่ให้หลักประกันในการป้องกันกำจัดการแพร่ระบาดของโรคข้าวสำคัญที่มีเชื้อติดเมล็ดและอยู่ในดิน ตลอดฤดูกาลปลูกในแต่ละครั้งอย่างได้ผลดี

โรคถอดฝักดาบ

เป็นโรคที่ติดมากับเมล็ด เฮ็มมิและคณะ (ค.ศ. ๑๙๓๑) รายงานว่าโรคเข้าทำลายในระยะข้าวออกดอก เมล็ดที่ติดเชื้อรุนแรงจะแสดงอาการเป็นจุด(ผง)สีชมพูแดงบนเมล็ด นั่นคือกลุ่มเม็ดสืบพันธุ์ของเชื้อรา เมื่อนำเมล็ดติดเชื้อโรคไปเพาะก็จะแสดงอาการโรค ซึ่งมีทั้งต้นเตี้ยแคระแกรนไปจนถึงข้าวแสดงอาการสูงชลูดผิดปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อว่ามีมากน้อยแค่ไหน

การคลุกหรือแช่เมล็ดป้องกันกำจัดโรคถอดฝักดาบ

ในปัจจุบันมีสารเคมีหลายชนิดที่ผ่านการทดสอบแล้ว และกลุ่มงานวิจัยโรคข้าวกองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำ ๒ ชนิด คือ เบโนมิล+ไทแรม และ แมนโดเซ็บ

การคลุกหรือแช่เมล็ดด้วยสารเคมีทั้ง ๒ ชนิดมีดังนี้

๑.  การคลุกเมล็ด ให้คลุกสารเคมี (อย่างแห้ง) กับเมล็ดโดยตรง ในอัตราร้อยละ ๐.๑-๐.๒ ของน้ำหนักเมล็ด เช่น ข้าวเปลือก ๑๐ ถัง ใช้สารเคมี ๑๐๐-๒๐๐ กรัม (๑ กก.=๑,๐๐๐ กรัม)

๒.  การแช่เมล็ด ให้แช่เมล็ดในน้ำละลายสารเคมี อัตรา ๑:๑,๐๐๐ นาน ๑ ชั่วโมง หรือใช้อัตรา ๑:๒,๐๐๐ นาน ๕ ชั่วโมง

การคลุกหรือแช่เมล็ดดังกล่าวได้ผลในการป้องกันกำจัดโรคถอดฝักดาบได้อย่างดี

วิธีการคลุกหรือแช่เมล็ดข้าว

กรรมวิธีการคลุกหรือแช่เมล็ดข้าวที่ทำการทดลอง โดยกลุ่มงานวิจัยโรคข้าว กองโรคพืชและจุลชีววิทยากรมวิชาการเกษตร

ก.  คลุกเมล็ดข้าวแบบแห้ง

คลุกเมล็ดข้าวโดยตรงกับสารเคมีชนิดผง ตามอัตราการใช้ ดังระบุในฉลากบรรจุสารเคมีนั้น ๆ

ตามปกติอัตราการใช้อยู่ระหว่าง ๐.๒-๐.๓% ของน้ำหนักเมล็ดข้าว กล่าวคือใช้สารเคมี (สำเร็จรูปที่วางขายในท้องตลาด) คลุกเมล็ดข้าว อัตราประมาณ ๒๐-๓๐ กรัมต่อเมล็ดข้าว ๑ ถัง (๑๐ ก.ก.)

วิธีการคลุกสามารถกระทำได้ ๓ วิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณเมล็ดข้าวที่จะใช้ ดังนี้

๑.  แบ่งคลุกในถุงพลาสติก

๒.  คลุกเคล้าธรรมดาบนภาชนะที่ปูบนพื้นดิน

๓.  ใส่ภาชนะคลุกเคล้า โดยใช้มือหมุนหรือเครื่องจักรกล

หรือกรรมวิธีอื่นใดที่สามารถคลุกเคล้าให้ตัวสารเคมีเคลือบเมล็ดข้าวโดยทั่วถึงและสม่ำเสมอ

เมื่อคลุกแล้ว สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ได้นานแค่ไหน โดยที่สารเคมียังคงออกฤทธิ์และไม่ทำให้การงอกเสื่อมสลายไปนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของสารเคมีแต่ละชนิด ซึ่งไม่เหมือนกัน รายละเอียดเช่นนี้ จะต้องมีระบุไว้ในฉลากบรรจุสารเคมีอย่างชัดเจน

ข.  แช่ในสารละลายเคมี

แช่เมล็ดข้าวในสารละลายเคมี (อัตราความเข้มข้นระบุในฉลาก) นาน ๑-๒ วัน (ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดของสารเคมี) หลังจากนั้นจะนำไปปลูก (หว่าน) โดยตรง หรือแช่(ล้าง)น้ำเปล่าก่อนปลูก ก็สุดแล้วแต่กรรมวิธีการปลูกคือ ปลูก(หว่าน)โดยตรง หรือ หว่านข้างงอก และชนิดของสารเคมีที่จะเลือกใช้

สารเคมีที่กลุ่มงานวิจัยโรคข้าวทำการทดลองคลุกหรือแช่เมล็ดข้าว แล้วพบว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันและกำจัดโรคสำคัญบางโรค ตามกรรมวิธีการใช้และผลที่ได้รับ ดังบทสรุปเป็นตารางข้างล่างนี้

โรคข้าว

สารเคมี อัตรา

รายละเอียด

โรคไหม้ ไทอาเบนดาโซล

ไตรไซคลาโซล

ฟอนโกเรน

คาร์เบนดาซิม

  ใช้ได้ทั้งคลุกแห้งและแช่ตามอัตราและความเข้มข้นดังระบุในฉลาก ออกฤทธิ์ในการป้องกันโรคไหม้ระยะกล้า หลังปลูกแล้วไม่เกิน ๓๐ วัน
โรคถอดฝักดาบ แมนโคเซ็บ

เบโนมิล+ไทแรม

คาร์เบนดาซิม

  ใช้ได้ทั้งคลุกและแช่ให้ผลดีในการลดอัตราการเกิดโรคเป็นเปอร์เซ็นต์สูง
โรคกล้าแห้ง คาร์บ็อกซิน

ไตรไซคลาโซล

ไทแรม

ทีซีเอ็มทีบี

อัตรา ๐.๐๕℅

อัตรา ๐.๔℅

อัตรา ๐.๒℅

อัตรา ๐.๖℅

ป้องกันเชื้อโรคในดิน