สารเคมีที่นิยมใช้ควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของผลผลิตพืชสวนในปัจจุบัน

สารเคมีที่นิยมใช้ควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของผลผลิตพืชสวนในปัจจุบัน

  • ออโธ-ฟีนีลฟีนอล (Ortho-phenylphenol)

เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มใหญ่มาก  เพราะจะเป็นพิษต่อเชื้อรา  แบคทีเรียและตัวของผลิตผลเองด้วย  โดยสารประกอบฟีนอลที่ไม่แตกตัวจะฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้และเป็นพิษต่อผลิตผลเมื่อใช้ในอัตราความเข้มข้น 200-400 มก./ลิตร  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของสารละลายและระยะเวลาที่ใช้  แต่สารประกอบออโธ-ฟีนีลฟีเนต ซึ่งมีประจุบวกจะไม่เป็นพิษต่อพืช  และสารละลายโซเดียมออโธ-ฟีนีลฟีเนต หรือ SOPP ก็นับเป็นสารเคมีที่ปลอดภัยในการนำมาใช้กับผักและผลไม้

สำหรับผลไม้ที่มีแว็กซ์เคลือบผิว เช่น ส้ม แอปเปิ้ล และผลไม้อื่น ๆ นั้นจะไม่ยอมให้สารละลายออโธ-ฟีนีลฟีเนตผ่านเข้าไปได้ จึงทำให้สารเคมีชนิดนี้ไม่สามารถควบคุมโรคหลังจากที่ใช้กับผลิตผลประเภทนี้  อย่างไรก็ตามสารนี้จะสามารถซึมเข้าสู่แผลของผลิตผลได้ การล้างผลิตผลที่ได้รับสารนี้แล้วจะทำให้สารถูกชะล้างไปกับน้ำจึงมีสารเหลืออยู่ที่ผิวผลน้อยมากแต่หากผลิตผลมีบาดแผลก็จะยังคงมีสารชนิดนี้อยู่และสามารถป้องกันการเข้าทำลายผลิตผลได้

การใช้สารโซเดียมออโธ-ฟีนีลฟีเนต (SOPP) มีประโยชน์คือ สปอร์ของเชื้อราและแบคทีเรียซึ่งอยู่ที่ผิวผลิตผลหรือในน้ำที่ใช้ล้างผลิตผลจะถูกฆ่าหมดและสารออโธ-ฟีนีลฟีนอล ซึ่งตกค้างอยู่บริเวณแผลจะป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ที่บริเวณในระหว่างการขนส่งได้

สารละลาย SOPP สามารถใช้ในการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของผลไม้หลายชนิด เช่น แอปเปิ้ล สาลี่ ท้อ มันเทศและผักผลไม้ที่เสียง่าย  วิธีการใช้ก็สามารถทำได้หลายวิธี  เช่น  แช่ผลไม้ลงในสารละลาย SOPP นาย 1-3 นาที หรือ ให้ SOPP ไหลผ่านผลไม้ และใช้ฟองของ SOPP ทาให้ทั่วผลิตผลด้วยแปรงนาน 15 นาที  ซึ่งในทุกกรณีผลิตผลจะถูกล้างด้วยน้ำฟองของ SOPP 0.5 เปอร์เซ็นต์  ผสมกับโซเดียมลอรีล ซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate) 0.3 เปอร์เซ็นต์  มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการกระทบกระเทือนเมื่อใส่ผลิตผลลงในภาชนะบรรจุและยังป้องกันการเน่าที่เกิดจากเชื้อรา Geotrichum และ Rhizopus ซึ่งเกิดกับมะเขือเทศ

  • ไบฟีนีล (Biphenyl)

เป็นสารเคมีที่ใช้ใส่ลงไปกับภาชนะบรรจุผลไม้พวกส้มในช่วงระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา  โดยสารนี้จะระเหยกลายเป็นไออยู่ในภาชนะบรรจุและช่วยป้องกันการสร้างสปอร์ของเชื้อรา  แต่ในระหว่างการขนส่งเป็นระยะเวลานานและการเก็บรักษาพบว่า สารนี้ก่อให้เกิดปัญหา 3 ประการ คือ

ประการแรก  ผลิตผลที่ได้รับสารนี้จะมีกลิ่นของสารติดอยู่ระยะเวลาหนึ่ง  ดังนั้นจึงนิยมใช้สารนี้กับผลไม้ตระกูลส้มเท่านั้น เพราะจะเกิดปัญหาเรื่องกลิ่นน้อยมาก

ประการที่สอง  พิษตกค้างของสารไบฟีนีลบนผลิตผลอาจจะเกิน 70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งเป็นปริมาณที่ตลาดญี่ปุ่นและยุโรปไม่ยอมรับ  ปัญหานี้จะเกิดมากกับผลิตผลซึ่งดูดซับสารนี้ไว้มาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในระหว่างการขนส่งผลิตผลไม่ได้อยู่ในสภาพที่ได้รับอุณหภูมิต่ำเพียงพอ

ประการที่สาม  เชื้อรา Penicillium บางสายพันธุ์สามารถต้านทานต่อสารนี้และยังทำให้เกิด Cross-resistant ต่อออโธ-ฟีนีลฟีนอบในโรงคัดบรรจุส้มด้วย

  • บิวทีลามีน (Butylamine)

เป็นสารเคมีที่ใช้กับผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยวโดยการรม หรือในรูปสารละลายของเกลือบิวทีลามีน  การใช้สารเคมีชนิดนี้รมผลไม้ตระกูลส้มจะช่วยควบคุมเชื้อรา Penicillium ได้  ส่วนบริเวณแผลของผลิตผลหากได้รับไอของแอมมีน (amine) จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นมีสภาพเป็นด่างและมีผลในการระงับการเจริญเติบโตของเชื้อรา

ในต่างประเทศก็มีการใช้สารนี้ในการควบคุมโรคเช่นกัน เช่นที่ประเทศอังกฤษจะใช้สารบิวทีลามีนรมมันฝรั่งที่ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อควบคุมโรคซึ่งเกิดจากเชื้อรา Oospora และ  Phoma ระหว่างการเก็บรักษา  อย่างไรก็ตามบิวทีลามีนไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคเน่าแห้งที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium ของมันฝรั่ง หรือที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีการใช้บิวทีลามีนความเข้มข้น 11 เปอร์เซ็นต์ ในสภาพของเกลือฟอสเฟตหรือคลอไรด์ที่พีเอช 9 ในการป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อรา Penicillium กับผลไม้ตระกูลส้ม  โดยใช้ในระหว่างกระบวนการกำจัดสีเขียวและการเก็บรักษา สำหรับกระบวนการกำจัดสีเขียวของส้มนั้นจะเป็นกระบวนการที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเข้าทำลายของเชื้อรา เพราะว่าเป็นกระบวนการที่ผลส้มได้รับเอทธิลีนประมาณ 5 ส่วนต่อล้านเป็นเวลาหลายวันภายใต้สภาพที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้บิวทีลามีนร่วมไปกับการแวกซ์  ซึ่งมักจะใช้กับมะนาวก่อนการเก็บรักษา เพื่อป้องกันการเน่าจากเชื้อ Penicillium แต่จะไม่มีผลในการควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อ Alternaria หรือ Geotrichum ซึ่งจะต้านทานต่อสารบิวทีลามีน

อย่างไรก็ตามการใช้สารนี้ก็มีข้อที่ต้องคำนึงถึงคือ การใช้สารนี้กับส้มบางพันธุ์ เช่นพันธุ์ Navel  พบว่าจะเกิดเป็นพิษเมื่อเปลือกส้มชนิดนี้ดูดสารนี้เข้าไป  นอกจากนี้ก็พบว่ามีเชื้อรา Penicillium บางสายพันธุ์ที่สามารถต้านทานสารเคมีนี้ได้ด้วย

  • ไดคลอแรน (Dichloran)

สารเคมีตัวนี้นับว่าเป็นสารที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อรา Rhizopus stolonifer ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่เข้าทำลายทางบาดแผลของผลไม้และผัก  สารเคมีนี้นิยมใช้กับเชอรี่ ท้อและผลไม้เมล็ดแข็งชนิดต่าง ๆ ก่อนการขนส่งไปในระยะทางไกล ๆ นอกจากนี้สารนี้ยังมีประสิทธิภาพในการควบคุม Monilinia fructicola และเชื้อจุลินทรีย์ เช่น Rhizopus และ Mucor ที่เข้าทำลายผลไม้เมล็ดแข็ง  ดังนั้นจึงมักจะนำไดคลอแรนมาผสมกับบีโนมีลเพื่อใช้ควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อราที่สำคัญ รวมทั้ง Monilinia fructicola และ Rhizopus stolonifer

ในช่วงก่อนกลางทศวรรษที่ 1960 สารเคมีฆ่าเชื้อราที่นิยมนำมาใช้กันก็คือ บอแรกซ์ โซเดียมคาร์โบเนต SOPP และ บิวทีลามีน  ซึ่งใช้ควบคุมโรคโดยการป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ทางแผลหรือทางผิวของผลิตผล  ซึ่งทั้งไบฟีนีลและไดคลอแรนก็จัดว่าอยู่ในสารกลุ่มนี้เช่นกัน แต่สารสองตัวนี้จะมีข้อดีกว่าสารอื่น ๆ ตรงที่สามารถป้องกันการสร้างสปอร์ของเชื้อรา ทำให้โรคไม่แพร่ระบาดไปยังผลข้างเคียง

  • เบนซิมิดาโซล (Benzimidazole)

สารฆ่าเชื้อราที่อยู่ในกลุ่มนี้มีอยู่หลายตัว ได้แก่ ไธอะเบนดาโซล บีโนมีลคาร์เบนดาซิมและไธโอฟาเนต-เมทธีล  ซึ่งค้นพบในปลายทศวรรษที่ 1960 เป็นการค้นพบที่นำไปสู่การป้องกันโรคซึ่งเข้าทำลายแฝงของเชื้อราหลายชนิดที่เข้าทำลายไม้ผลเมืองร้อน สารเคมีในกลุ่มนี้ยังมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการเข้าทำลายทางแผลของเชื้อราหลายชนิดในระหว่างการจัดการหลังเก็บเกี่ยว

การใช้ไธอะเบนดาโซลที่ความเข้มข้นสูงประมาณ 4-6 กรัมต่อลิตรและบีโนมีลที่ความเข้มข้นสูงประมาณ 2-3 กรัมต่อลิตจะสามารถป้องกันการสร้างสปอร์ของเชื้อรา Penicillium และเชื้อราชนิดอื่น ๆ บนผิวของผลไม้ที่เป็นโรคได้ ดังนั้นจึงสามารถใช้เบนซิมิดาโซลทดแทนไบฟีนีลได้และยังสามารถนำมาใช้ได้ดีในการควบคุมโรคของผลไม้ตระกูลส้ม

สารเคมีในกลุ่มเบนซิมิดาโซล  มีความสามารถในการควบคุมเชื้อราได้คล้ายคลึงแต่จะต่างกันที่ปริมาณการใช้ อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้วสารในกลุ่มนี้จะสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ เว้นแต่ในบางกรณีที่อาจจะต้องใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งเจาะจงลงไปเพราะคุณสมบัติทางชีวเคมีบางชนิด

สารเคมีในกลุ่มนี้เป็นสีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการควบคุมโรคเน่าของไม้ผลเมืองร้อนหลายชนิด และยังใช้ได้ผลดีกับการควบคุมเชื้อรา Monilinia ที่เข้าทำลายผลไม้เมล็ดแข็ง เช่น ท้อ เชอรี่และพลัม

สารเบนโนมีลนั้นมักจะนิยมใช้ร่วมกับไดคลอแรนเพื่อควบคุมโรคเน่าที่เกิดจากเชื้อรา Rhizopus และ Minilinia ซึ่งเข้าทำลายผลไม้เมล็ดแข็งเนื่องจากเบนโนมีลเป็นสารที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่ผลิตผลได้ดีกว่าไธอะเบนดาโซล คาร์เบนดาซิม หรือ ไธโอฟาเนต-เมทธีล

อย่างไรก็ตามสารเคมีในกลุ่มนี้ก็มีข้อจำกัดในการใช้อยู่ 2 ประการ คือ สารเคมีทั้งหมดในกลุ่มนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุม Rhizopus, Mucor,Alternaria, Geotrichum, Phytophthora และแบคทีเรีย รวมทั้ง Ervinia ด้วย อีกประการหนึ่งคือ เชื้อราที่ได้รับสารเคมีกลุ่มนี้มาก ๆ จะเกิดความต้านทานต่อเบนซิมิดาโซล ซึ่งเป็นการลดประสิทธิภาพของสารเคมีนี้ลงที่สำคัญก็คือขณะนี้ปัญหาการต้านทานต่อสารเคมีในกลุ่มนี้ได้แพร่ไปยังผลไม้หลายชนิดแล้ว

  • อิมาซาลีล (Imazalil)

สารนี้สามารถใช้ควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวโดยสลับกับสารเคมีในกลุ่มไธอะเบนดาโซลและบีโนมีลได้ โดยประสิทธิภาพของสารจะผันแปรไปตามชนิดของเชื้อ สาเหตุโรคพืชที่เกี่ยวข้อง  สารนี้มีประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อรา Pdigitatum และ Pitalicum ในผลไม้ตระกูลส้ม รวมถึงสายพันธุ์ของเชื้อจุลินทรีย์ที่ต้านทานต่อไธอะเบนดาโซล  บีโนมีล SOPP และ sec-butylamine สารนี้มีประสิทธิภาพในการระงับการสร้างสปอร์ของเชื้อราและป้องกันโรคได้อย่างน้อยก็มีผลเทียบเท่าหรือดีกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเบนโนมีล  วิธีการใช้อาจจะแช่ ฉีดพ่นและ drench แต่การฉีดพ่นจะได้ผลดีเมื่อพ่นเหนือลูกกลิ้งที่เป็นแปรง

อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของสารตัวนี้จะลดลงหากนำไปผสมกับแวกซ์ (Water wax) ดังนั้นหากจะนำมาใช้ร่วมกับแวกซ์ก็จะต้องผสมสารเคมีนี้ให้มีความเข้มข้นมากขึ้นอีก 2-3 กรัมต่อลิตร เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพเท่ากับการใช้ที่ความเข้มข้น 1 กรัมต่อลิตรในน้ำนั่นเอง

  • กรดซอบิก (Sorbic acid)

กรดซอบิกถูกนำมาใช้ในการควบคุมโรคของผลไม้ตระกูลส้ม  โดยใช้ในโรงคัดบรรจุโดยเฉพาะกับเชื้อรา Penicillium สายพันธุ์ที่ต้านทานต่อเบนซิมิดาโซล  โปแตสเซียมซอเบท (Potassium sorbate) จะใช้ในการควบคุมโรคขั้วเน่าของส้มที่เกิดจาก Phomopsis และเชื้อรา Penicillium และมีประสิทธิภาพเท่ากับ SOPP แต่การใช้ซอเบทตามปกติจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าไธอะเบนดาโซลและบีโนมีลในกรณีของเชื้อรา Penicillium

  • กัวซาทีน (Guazatine)

เป็นสารเคมีฆ่าเชื้อราที่มีพิษกว้างและเป็นสารที่ละลายน้ำ มีประสิทธภาพในการกำจัดเชื้อรา Penicillium และ Geotrichum แต่ไม่สามารถระงับการสร้างสปอร์ของเชื้อรา Penicillium บนผลิตผลได้  กัวซาทีนเป็นสารเคมีฆ่าเชื้อราที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อรา Geotrichum แต่สำหรับเชื้อรา Penicillium นั้นปัจจุบันพบว่ามีบางสายพันธุ์ที่พัฒนาจนต้านทานต่อสารนี้ได้แล้ว  สารนี้ไม่สามารถใช้ควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อรา Alternaria Phomopsis หรือ Colletotrichum โดยเฉพาะที่เข้าทำลายส้มเขียวหวาน แต่จะสามารถใช้ควบคุมโรคขั้วเน่าของส้มที่เกิดจาก Diplodia ได้ดี

  • โปรคลอราซ (Prochloraz)

เป็นสารที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อราได้เท่า ๆ กับอิมาซาลีล และใช้ควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อรา Penicillium ได้ดีเท่ากับบีโนมีลและอิมาซาลีล  นอกจากนั้นยังใช้ควบคุมเชื้อรา Penicillium ที่ต้านทานต่อบีโนมีลและไธอะเบนดาโซล  โปรคลอราซที่เข้มข้น 500-1000 มิลลิกรัมต่อลิตร สามารถระงับการสร้างสปอร์ของเชื้อรา Penicillium ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับบีโนมีลและอิมาซาลีล นอกจากนี้สารนี้ยังสามารถใช้ควบคุมโรคเน่าที่เกิดจากเชื้อ Alternaria ได้ปานกลาง แต่จะใช้กับเชื้อ Geotrichum ไม่ได้ผลและประสิทธิภาพจะต่ำกว่าบีโนมีลและอิมาซาลีลในการควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อรา Diplodia และ Phomopsis

  • อีตาโคนาโซล (Etaconazole)

สารนี้มีประสิทธิภาพเท่ากับโปรคลอราซในการลดโรคที่เกิดจากเชื้อรา Alternaria ได้ปานกลางแต่ก็ดีกว่าบีโนมีลและไธอะเบนดาโซลที่ใช้ควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อนี้ไม่ได้  แต่สารเคมีชนิดนี้จะมีผลกว้างในการควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อรา Geortrichum และ Penicillium รวมทั้งสายพันธุ์เชื้อราทั้งสองชนิดนี้ที่ต้านทานต่อสารเคมีชนิดอื่นโดยใช้ที่ความเข้มข้น 250-1000 มิลลิกรัมต่อลิตร  นอกจากนี้ยังใช้ในการระงับการสร้างสปอร์ของ Penicillium ได้ด้วยและยังช่วยป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อหลังจากที่ให้สารเคมีชนิดนี้แล้วอีกด้วย

  • เมตาแลกซีล (Metalaxy)

ใช้ควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อรา Phytophthora แต่จะใช้ควบคุมโรคหลังเก็บเกี่ยวที่เกิดจากเชื้อราที่อยู่ในชั้นอื่นไม่ได้ ความเข้มข้นที่นำมาใช้คือ 1000-2000 มิลลิกรัมต่อลิตร  โดยผสมกับน้ำหรือแวกซ์ จะช่วยป้องกันหรือชะลอการพัฒนาของโรคเน่าได้

  • อิมินอกทาดีน (Iminoctadine)

ใช้ในการควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อรา Penicillium และ Geotrichum ซึ่งสารนี้จะมีผลในการระงับการสังเคราะห์ไขมันของเชื้อราที่จะทำให้เยื่อหุ้มต่าง ๆ เสียไป โดยทั่วไปจะใช้สารนี้ที่ความเข้มข้น 10 มิลลิกรัมต่อลิตร  ซึ่งจะสามารถระงับการเจริญของเส้นใยและการสร้างสปอร์ได้ นอกจากนั้นเมื่อใช้สารนี้ก่อนการเก็บเกี่ยวที่ความเข้มข้น 125-250 มิลลิกรัมต่อลิตร ก็จะสามารถควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อรา Alternaria, Diplodia, Phomopsis และ Diaporthe ได้ และสารนี้ก็ยังสามารถใช้ควบคุม Penicillium ที่ต้านทานไธโอฟาเนต-เมทธิลได้ด้วย  อย่างไรก็ตามในการใช้สารนี้จะมีสารตกค้างอยู่ที่เนื้อและผิวของผลิตผล 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตรและ 0.1-0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ

  • โพลีเฮกซาเมทธีลีน ไบกัวไนด์ (Polyhexamethylene biguanide หรือ PHMB)

ในการทดลองใช้สารนี้ที่ความเข้มข้น 10 มิลลิกรัมต่อลิตร จะสามารถฆ่าสปอร์ของเชื้อรา Geotrichum  เมื่อมีระยะเวลาการสัมผัสกับเชื้อรานาน 15 วินาที  ซึ่งเป็นระยะเวลาปกติที่ผลิตผลจะผ่านน้ำที่ใช้ล้าง ส่วนที่ความเข้มข้น 1000-4000 มิลลิกรัมต่อลิตร  จะสามารถควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อ Penicillium และ Geotrichum ได้ โดยสารนี้จะช่วยลดจำนวนผลเน่าที่เกิดจาก Penicillium ลงได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์  และ การใช้สารนี้ที่ความเข้มข้น 1000 มิลลิกรัมต่อลิตร นาน 1 ชั่วโมงจะสามารถฆ่าสปอร์ของ Penicillium ได้น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จากผลการทดลองต่าง ๆ ที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าสารที่สามารถใช้กำจัดการเข้าทำลายของเชื้อ Penicillium และ Geotrichum บนผลผลิตได้  สามารถฆ่าสปอร์ของเชื้อราและป้องกันการเข้าทำลายทางแผลระหว่างการล้างผลิตผลได้ สารนี้จึงอาจจะกลายเป็นสารเคมีที่ควบคุมโรคหลังเก็บเกี่ยวได้ในอนาคต