สารเคมีที่พบในยาสูบ


ชื่ออื่น จะวั้ว (เขมร-สุรินทร์) อิงเช่า (แต้จิ๋ว) เยียนฉ่าว (จีนกลาง) Tobacco
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nicotiana tabacum L.
วงศ์ Solanaceae
ลักษณะต้น เป็นพืชอายุปีเดียว สูง 1-2 เมตร ลำต้นตรง ทั้งต้นมีขนอ่อน ปกคลุม ใบออกสลับกัน ใบใหญ่หนาสากมือ ยาว 10-30 ซม. กว้าง 8- 15 ซม. ไม่มีก้านใบ ฐานใบห่อลำต้นเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ช่อดอกมีหลายกลุ่มออกบริเวณยอด แต่ละช่อเป็นแบบดอกบนบานก่อน ก้านช่อดอกยาว 4-5 ซม. กลีบเลี้ยงแยกเป็นแฉกยาวราว 2 ซม. ตรงปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกยาว 3-5 ซม. กลีบดอกเป็นรูปแตร สีชมพู มีสีขาวเป็นส่วนน้อย ภายนอกปกคลุมด้วยขนอ่อน มีเกสรตัวผู้ 5 อัน ยาวเท่ากัน เกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่มี 2 ห้อง ผลแห้งแล้วแตก ภายในมีเมล็ดเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อนจำนวนมาก เพาะพันธุ์โดยเมล็ด
ส่วนที่ใช้ ใบ
สรรพคุณ
สงบประสาท แก้ท้องอืด ทำให้อาเจียน เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ ขับเสมหะ แก้คัดจมูก แก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน ใช้ป้องกันทากหรือปลิงเกาะ ใช้เป็นยาพ่นฆ่าแมลง อดีตเคยใช้เป็นยาแก้หอบหืด
ตำรับยาและวิธีใช้
1. ฝีฝักบัว (บริเวณหลัง) ใช้ใบสด 10-15 กรัม ต้มน้ำเอาน้ำผสม เหล้าเล็กน้อยกิน แล้วใช้ใบสดและเนื้อหอยกาบ (Sinonovacula constricta Lamarck) ตำพอกบริเวณที่เป็น
2. ฝีฝักบัว (บริเวณเต้านมระยะเริ่มเป็น) ใช้ใบสดแช่เหล้า อุ่นให้ร้อนแล้วปิดบริเวณที่เป็น
3. ฝีและแผลเปื่อย ใช้ใบสดกับน้ำตาลแดงตำพอกบริเวณที่เป็น
4. บาดแผลจากของมีคม ใช้ใบแห้งบดเป็นผงโรยบริเวณบาดแผล
5. คัดจมูก ใช้ใบแห้งบดเป็นผง ทำเป็นยานัตถุ์สูดดม
6. ช่วยระบายในผู้ป่วยที่ลำไส้ตีบตัน ใช้ใบสดคั้นกับน้ำ สวนทวาร
7. กันทาก ปลิง และแมลงเกาะ ใช้ยาเส้นแช่น้ำแล้วชะโลมทา
ผลทางเภสัชวิทยา
ในการสูบบุหรี่เมื่อใบยาสูบถูกเผาไหม้ นิโคติน (nicotine) จะ สลายให้สารอื่นๆ เช่น พัยริดีน (pyridine), เฟอร์ฟูราล.(furfural), โคลลิดีน (collidine), กรดไฮโดรซัยยานิค (hydrocyanic acid) และ คาร์บอนมอน็อกไซด์ เป็นต้น ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย ยาสูบ 1 มวน มีสารนิโคตินประมาณ 20-30 มก. ร่างกายได้รับพิษนี้มากหรือน้อยขึ้นกับชนิดของบุหรี่และอัตราความเร็วในการสูบ (เช่น ในเวลา 10 นาที สูบ หมดไป 2/3  มวนจะได้รับสารนิโคตินประมาณ 0.2 มก. ถ้าในเวลา 5 นาที สูบหมดไป 2/3 มวน จะได้สารนี้ 2 มก.) ถ้าร่างกายได้รับสารนี้มากเกิน ไปจะทำให้อาเจียน มึนงง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดหัว นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว และบีบตัวผิดปกติอาจทำให้หัวใจวายได้ ควันจากบุหรี่จะไปกระตุ้น และระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้คอและหลอดลมอักเสบ ทั้งยังทำให้การย่อยอาหารผิดปกติ ท้องผูก และเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย นอกจากนั้นพบว่าการเป็นมะเร็งที่ปอดมีส่วนสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะผู้มีอายุเกิน 45 ปี ที่สูบบุหรี่มากกว่า 25 มวนต่อวัน เป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบประมาณ 50 เท่า
โดยปกติผู้สูบเข้าใจว่าบุหรี่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และลด ความเหน็ดเหนื่อย ทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่จากการทดลอง พบว่าบุหรี่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองลดลง
ผู้ป่วยโรคปอด ไอ คออักเสบ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และ หญิงท้อง ควรงดบุหรี่โดยเด็ดขาด การติดบุหรี่เป็นนิสัยเกิดจากความพึงใจนับเป็นการเสพติดทางจิตใจของผู้สูบเท่านั้น การเลิกสูบบุหรี่ไม่มีอาการทุรนทุรายเหมือนการเลิกมอร์ฟีนหรือเฮโรอีน
นิโคตินสามารถซึมผ่านผิวหนัง ทำให้เกิดพิษได้เหมือนกับได้รับ โดยการสูบบุหรี่หรือเคี้ยวกินโดยตรง
อาการพิษที่พบบ่อย
เมื่อได้รับนิโคตินเกินขนาดจะทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก มึนงง หัวใจเต้นเร็ว ชัก เมื่อคนกินขนาด 40 มก. จะ ตายเพราะเส้นประสาทฟรีนิค (phrenic nerve) เป็นอัมพาต ทำให้หายใจไม่ได้
วิธีแก้พิษเบื้องต้น
1. ล้างท้องหรือทำให้อาเจียน
2. ดื่มน้ำต้มสีเสียด กาแฟ หรือชาแก่ๆ หลายๆ ครั้ง
3. ให้ความอบอุ่น เช่น ห่มผ้าหนาๆ
4. ถ้าระบบหายใจล้มเหลวต้องรีบให้ออกซิเจน แล้วนำส่งโรงพยาบาล
สารเคมีที่พบ
ใบ ประกอบด้วยคาร์โบฮัยเดรท กรดอินทรีย์ต่างๆ ( malic acid, citric acid และ oxalic acid) polyphenols (rutin, chlorogenic acid, quercitrin) น้ำมันหอมระเหย, resin และอัลคาลอยด์ (อัลคาลอยด์นิโคติน เป็นอัลคาลอยด์ที่สำคัญในยาสูบ มีประมาณ 93% ของอัลคาลอยด์ทั่งหมด) เช่น nicotine, nicotianin, nicotinine, nicoteine, nicoteline, anabasine, anatabine, gibberelline, nicotianamine, neophytadiene, tetradecatetraenal, pyrrolidine, N-methyl pyrroline, nornicotine, myosmine, nicotyrine, anatalline
หมายเหตุ
ยาฉุน ยาเส้น คือใบยาสูบที่นำไปบ่ม แล้วหั่นฝอยตากแห้ง
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล