สาหร่ายข้าวเหนียว

สาหร่ายข้าวเหนียว (saaraai khaao nieo) สาหร่าย สาหร่ายไข่ปู สาหร่ายดอกเหลือง สาหร่ายนา สายตีนกุ้ง สาลี (ไทย) แหนเครือ กาแหนเครือ (เชียงใหม่)
เป็นวัชพืชน้ำ ที่มีลำต้นยาวลอยอยู่ในน้ำ หรือมีบางส่วนจมอยู่ในโคลน ลำต้นกลมและอวบน้ำ
ใบ เป็นกลุ่ม ออกรอบข้อตลอดความยาวของลำต้นเป็นคู่ๆ หรือ 3-4 กลุ่ม ยาว 2-5 ซม. แตกเป็นเส้นเล็กๆ แต่ละเส้นมีถุงพองออกมา ใช้สำหรับดักจับแมลง สาหร่ายข้าวเหนียวจึงนับว่าเป็นพืชกินแมลงชนิดหนึ่ง


ดอก ออกเป็นช่อ (raceme) ชูขึ้นมาเหนือผิวน้ำ ก้านช่อดอกยาว 4-12 ซม. มีดอกย่อย 4-8 ดอก ดอกย่อยแต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนติดกันที่ฐาน แล้วแยกออกเป็น 2 แฉก ปลายแหลม กลีบดอกติดกันสีเหลือง มีลักษณะเป็น 2 ปาก ส่วนที่ติดกันเป็นหลอดสั้นมาก ปากบนค่อนข้างกลมและเรียบ มีลายเส้นสีน้ำตาลแดงที่ฐาน และมีส่วนที่คล้ายถุง (spur) เจริญออกที่ด้านล่าง ถุงนี้จะสั้นกว่าปากล่างเล็กน้อย เกสรตัวผู้ 2 อัน ติดอยู่บนกลีบดอก ก้านสั้น เกสรตัวเมียมีรังไข่ตั้งอยุ่บนฐานดอก รังไข่ 1 ช่อง (carpel) ท่อรังไข่สั้น มีลักษณะเป็นรูปกรวย
ผล ค่อนข้างกลม ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก ค่อนข้างแบน และเป็นเหลี่ยม สีน้ำตาลอ่อนจำนวนมาก
ขยายพันธุ์โดยอาศัยเมล็ด หรือส่วนของลำต้นที่แยกขาดออกไป พบในนาข้าว ชอบน้ำที่ค่อนข้างนิ่ง กล่าวว่า ถ้าพบในลำคลองจะเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนของกระแสน้ำและอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้เรืออีกด้วย