สาเหตุของโรคขี้เรื้อนสุกรและวิธีการรักษา

โรคขี้เรื้อนสุกรเป็นโรคผิวหนังที่พบในฟาร์มต่าง ๆ ในอัตราค่อนข้างสูง เกิดจาก “ไรขี้เรื้อน” เป็นปรสิตภายนอกที่สำคัญที่สุดในสุกรทั่วโลก เพราะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมากโดยเจ้าของคาดไม่ถึง ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นผลเนื่องจาก

๑.  อัตราการเจริญเติบโตลดลง และมีประสิทธิภาพ การแลกอาหารลดลงประมาณร้อยละ ๙.๒-๑๒.๕

๒.  สุขภาพไม่สมบูรณ์  เป็นสาเหตุโน้มนำทำให้สุกรช่วยง่ายต่อการเกิดโรคอื่นแทรกซ้อน เกิดอาการหงุดหงิดและเครียดเนื่องจากอาการคันที่เกิดขึ้น อาจก่อให้เกิดปัญหาการกัดกัน เกิดบาดแผลที่ง่ายต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วยโรคผิวหนังชนิดอื่น ๆ หรือเกิดจากปัญหาฝีภายในอวัยวะภายในและข้ออักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา

๓.  ลักษณะภายนอกไม่น่าดู เนื่องจากบาดแผลจากการเกาหรือการกัดกันในรายเป็นโรคแบบภูมิแพ้ ซึ่งค่อนข้างรุนแรง หรือเนื่องจากเป็นโรคแบบเรื้อรัง ซึ่งจะมีสภาพผิวหนังหนาย่น ขนหยาบกร้านไม่เป็นมัน ทำให้ถูกตัดราคาหรือเป็นปัญหาในการซื้อขาย

สาเหตุเกิดจากไรขี้เรื้อนเป็นปรสิตรูปร่างกลมสีขาวแกมเทา ขนาดความยาวประมาณ ๐.๕ มิลลิเมตร ซึ่งมองเห็นยากด้วยตาเปล่า ตัวเต็มวัยของไรชนิดนี้มีขาสั้น ๆ ทั้งหมด ๔ คู่ ไรชนิดนี้จัดเป็นปรสิตภายนอกอย่างถาวรของหนังกำพร้า(ผิวหนังชั้นนอก) เพราะทั้งไข่ ตัวอ่อน ตัวเต็มวัย ล้วนแล้วแต่เจริญเติบโต และอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของผิวหนังชั้นนอก โรคติดต่อโดยกรสัมผัสโดยตรง ด้วยเหตุนี้สุกรทุกช่วงอายุจึงมีโอกาสเป็นโรคได้เมื่อสัมผัสกับสุกรป่วย ส่วนใหญ่เป็นการแพร่กระจายของไรตัวเมียที่เพิ่งผสมพันธุ์ใหม่ ๆ จากสุกรป่วยไปติดสุกรอื่น ๆ อาการที่เด่นชัดคืออาการคันที่เกิดจากการขุดโพรงของตัวไรในผิวหนังชั้นนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขุดโพรงของไรตัวเมียจากพื้นผิว เพื่อไปวางไข่หลังการผสมพันธุ์ โพรงที่เกิดขึ้นเป็นผลจากตัวไรปล่อยน้ำย่อยอย่างแรงออกมาย่อยเนื้อเยื่อและของเหลวที่เกิดจากการสลายของเนื้อเยื่อจะถูกตัวไรดูดกลับ

การรักษาและควบคุมโรค

๑. ทำการตรวจหาสุกรที่เป็นโรค โดยเฉพาะพ่อและแม่พันธุ์ซึ่งเป็นโรคแบบเรื้อรัง

๒. ทำการรักษาสุกรที่เป็นโรคภายในฟาร์มอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ และ

๓.  ป้องกันสุกรเล็กหรือลูกสุกรแรกเกิดไม่ให้ติดโรคจากสุกรป่วย

ยาที่ใช้รักษาโรคขี้เรื้อนสุกรมีหลายชนิด แต่ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของประสิทธิภาพ ราคา ความสะดวกในการใช้ ตลอดจนพิษหรืออาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ก่อนการใช้ยาแต่ละชนิดผู้ใช้ควรจะต้องศึกษารายละเอียดต่าง ๆ จากเอกสารกำกับยาและปฏิบัติตามขั้นตอนโดยละเอียดและเคร่งครัด เพื่อให้การรักษาและควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สารฆ่าแมลงที่นำมาใช้ในการรักษาโรคขี้เรื้อนสุกรมาเป็นเวลานาน ที่นิยมใช้กันและค่อนข้างได้ผล ได้แก่ ลินเดน ท็อกซาฟิน มาลาไทออน ไตรคลอร์ฟอน และ ไดอะซินอน ซึ่งทั้งหมดนิยมใช้ในรูปฉีดพ่นบนตัวสุกร สารฆ่าแมลงในกลุ่มนี้ที่ให้ผลดีที่สุดคือ ลินเดน

ในปัจจุบันมีสารฆ่าแมลงซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับการรักษาและควบคุมโรคขี้เรื้อนสุกร เนื่องจากมีประสิทธิภาพจัดอยู่ในขั้นดีมาก สารฆ่าแมลงดังกล่าวได้แก่

๑.  ฟอสเมท เป็นยาฆ่าแมลงชนิดใหม่ที่ให้ผลดีมากในการรักษาขี้เรื้อนสุกร โดยใช้ในรูปเทราดไปบนผิวหนังบริเวณกลางหลัง ซึ่งสามารถกำจัดไรขี้เรื้อนได้ทั้งระยะเป็นไข่ถึงตัวเต็มวัย

๒. ไอเวอร์เม็คติน เป็นสารฆ่าปรสิตที่ออกฤทธิ์กว้าง ที่มีประสิทธิภาพดีมากในการทำลายปรสิตภายในส่วนใหญ่ รวมทั้งเหาและไรขี้เรื้อนในสุกร สามารถกำจัดไรขี้เรื้อนได้ทั้งระยะเป็นไข่ถึงตัวเต็มวัย

บรรณานุกรม

กิจจา  อุไรรงค์ ๒๕๓๐ แนวทางการวินิจฉัย รักษาและควบคุมโรคสุกร โรงพิมพ์สารมวลชน พระโขนง กรุงเทพมหานคร หน้า ๒๑๙-๒๒๖