สาเหตุที่ทำให้ผักเกิดโรค

สาเหตุหรือตัวการที่ทำให้ผักเกิดโรคได้แยกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

1. สาเหตุโรคที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต

ได้แก่โรคหรือความผิดปรกติของพืชผักซึ่งเกิดจากการกระทำของสิ่งไม่มีชีวิตที่อยู่รอบๆ ตัวพืช รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ (environmental factors) ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืชผักนั้น เป็นโรคที่เกิดเฉพาะที่หรือแหล่ง ไม่ระบาดแพร่กระจายเรียกว่า non-parasitic diseases หรือ non-infectious diseases โดยจำแนกออกได้เป็นประเภทดังนี้

1.1 สภาพของดิน ได้แก่ ลักษณะส่วนประกอบ หรือสภาพของดินปลูก ซึ่งแยกออกได้เป็น

ลักษณะโครงสร้างของดิน หมายถึงลักษณะ องค์ประกอบทางฟิสิกส์ ชนิด หรือประเภทของดินที่ผักนั้นขึ้นอยู่ เช่น ดินร่วน ดินเหนียว ดินทราย หรือดินปนทราย เหล่านี้ อาจมีผลทำให้พืชผักที่ปลูกแสดงอาการผิดปกติไปจากธรรมชาติได้ ทั้งนี้เนื่องจากผักแต่ละชนิดต่างมีความต้องการดินปลูกเฉพาะของมัน ซึ่งแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น ผักพวกที่ให้หรือใช้ประโยชน์ในส่วนที่เป็นราก ได้แก่ มันฝรั่ง ผักกาดหัว มันเทศ แครอท บีท พวกนี้จะปลูกให้เจริญเติบโตเป็นปกติ ให้หัวสมบูรณ์มีขนาดใหญ่ หากปลูกในดินร่วนซุยหรือดินปนทราย ในทางกลับกันหากนำมาปลูกในดินเหนียว แข็งจะแคระแกร็น การเจริญเติบโตไม่เป็นปกติ หัวที่ได้จะมีฃนาดเล็ก เนื้อน้อย กากมาก นอกจากนั้นลักษณะโครงสร้างของดินยังมีผลเกี่ยวโยงไปถึงปริมาณของก๊าซ ออกซิเจนในดิน ซึ่งทั้งตัวพืชเองและจุลินทรีย์ในดินพวกที่เกี่ยวข้องกับพืชชนิดต่างๆ ต้องการ และยังรวมไปถึงชนิด และปริมาณของแร่ธาตุอาหารพืชที่จำเป็นซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของดินเหล่านี้ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตและอาจทำให้ผักที่ปลูกแสดงอาการผิดปรกติได้ทั้งสิ้น

สารเคมีในดิน ได้แก่แร่ธาตุและสารเคมีต่างๆ ที่มีอยู่ในดิน ทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหารพืชโดยตรง พวกที่เป็นอาหารต้องมีอยู่อย่างพอเพียงต่อความต้องการของพืช และอยู่ในรูปที่พืซสามารถนำไปใช้ได้ นอกจากนั้นจะต้องมีอยู่ในปริมาณที่พอดีและสมดุลกับธาตุชนิดอื่นๆ อีกด้วย สำหรับธาตุที่ไม่ใช่อาหารพืชนั้น บางชนิดแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับพืชโดยตรง แต่ก็มีความสัมพันธ์กันทางอ้อม กล่าวคือธาตุพวกนี้จะไปช่วยให้เกิดความสมดุลกับธาตุอื่นที่พืชใช้เป็นอาหาร ช่วยไม่ให้ธาตุบางชนิดเป็นพิษกับพืชโดยไปรวมตัวกับธาตุนั้น ให้เกิดเป็นสารประกอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นอันตรายกับพืช นอกจากสารเคมีที่มีอยู่ในดินตามธรรมชาติเหล่านี้เเล้วสารเคมีอย่างอื่น เช่นสารเคมีที่ใช้ในการป้องกันกำจัดโรคเเมลงศัตรูพืชแม้แต่พวกปุ๋ยสังเคราะห์ต่างๆ ที่ใส่ให้กับพืชใน ดินมากๆ หากไม่คำนึงถึงสภาพของดินหรือปริมาณของธาตุ

อื่นที่มีอยู่เดิม แทนที่จะเป็นประโยชน์ก็กลับจะให้โทษ กลาย

เป็นพิษต่อพืชที่ปลูก ทำให้เกิดอาการผิดปรกติขึ้นได้

ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) พืชผักแต่ละชนิดต่างก็มีความต้องการสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินปลูกไม่เหมือนกัน บางชนิดอาจชอบดินที่มีสภาพค่อนข้างไปทางกรด แต่บางชนิดก็ต้องปลูกในดินที่เป็นด่างจึงจะเจริญเติบโตงอกงามเป็นปกติ อย่างไรก็ตามโดยทั่วๆ ไปแล้ว ผักส่วนใหญ่ต้องการหรือจะขึ้นได้ดีในดินที่มี pH ที่เป็นกลาง ระหว่าง 6-7 (แต่ก็มีพืชอยู่หลายชนิดที่สามารถขึ้นเจริญเติบโตได้ แม้ในดินที่มี pH ต่ำถึง 4 หรือสูงขึ้นไปถึง 8 ) ถ้ามากหรือน้อยไปกว่านี้พืชก็อาจแสดงอาการผิดปกติขึ้นได้นอกจากนี้ pH ของดินไม่เพียงแต่จะมีผลโดยตรงต่อพืชเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับแร่ธาตุอาหารบางชนิดที่มีอยู่ในดินนั้นด้วย โดยจะมีผลทำให้ธาตุเหล่านั้นรวมตัวหรือทำปฏิกิริยากันเป็นสารประกอบที่มีประโยชน์(available) หรือไม่มีประโยชน์ (non-available) ต่อพืชหรือไม่ก็อาจเป็นพิษกับพืชโดยตรง นอกจากนั้นความเป็นกรดเป็นด่างของดินยังเกี่ยวข้องกับจุสินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชบางชนิดในดิน โดยอาจช่วยทำให้เกิดโรคกับพืชได้ง่ายและรุนแรงขึ้น หรือไม่ก็ลดความรุนแรงลงได้

ความชื้นในดิน หมายถึงปริมาณน้ำที่มีอยู่ในดิน ซึ่งมีผลต่อพืชทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังที่ได้ทราบแล้วว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของทั้งสัตว์และพืชทุกชนิด โดยเฉพาะผัก ซึ่งเป็นพืซที่อวบน้ำ มีความต้องการน้ำเพื่อใช้ในการหมุนเวียนและกิจกรรมต่างๆ ภายในต้น ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง เช่น เพื่อให้การทำงานของเซลล์ต่างๆ เป็นไปโดยปกติ ช่วยให้เซลล์คงรูปอยู่ได้ เป็นตัวช่วยละลายธาตุอาหารในดินให้รากพืชสามารถดูดซึมขึ้นมาและส่งผ่านไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของต้นที่อยู่เหนือขึ้นไปได้ ช่วยรักษาระดับและปรับอุณหภูมิภายในต้นให้คงที่ อย่างไรก็ดีปริมาณน้ำภายในดินที่พืชต้องการจะมากน้อยเท่าใดนั้น จะต้องอยู่ในอัตราส่วนที่พอเหมาะกับพืชแต่ละชนิด ต้องไม่มากหรือน้อยเกินกว่าที่พืชนั้นต้องการ เมื่อใดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับปริมาณนํ้าในดินขึ้นไม่ว่าจะในทางบวกหรือลบก็จะมีผลกระทบต่อระบบทำงานและกลไกต่างๆ ภายในพืชที่ปลูกอยู่บนดินนั้น ทำให้เกิดการผิดปกติต่อการเจริญเติบโต และต้นพืชให้เห็นได้ทันที ส่วนความเกี่ยวพันของน้ำในดินที่มีต่อพืชทางอ้อมคือ ในด้านการเกิดและความรุนแรงของโรคต่างๆ ที่มีต่อพืช กล่าวคือน้ำในดินนับเป็นส่วนหรือปัจจัยร่วมที่สำคัญในการช่วยส่งเสริมการเพิ่มลดปริมาณของเชื้อโรคในดิน อาจทำให้เกิดโรครุนแรงขึ้น หรือลดความเสียหายให้น้อยลงได้เช่นกัน

1.2 สภาพของอากาศ

ได้แก่บรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยรอบที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของผัก อันได้แก่

อุณหภูมิ อุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไปของอากาศ อาจมีผลทำให้ผักที่ปลูกแสดงอาการผิดปกติไปจากธรรมชาติได้ ทั้งนี้เนื่องจากผักแต่ละชนิด ต่างต้องการความร้อน-หนาว ในการเจริญเติบโตไม่เท่ากัน ดังจะเห็นได้จากผักที่ขึ้นหรือปลูกได้ในแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละเขตซึ่งต่างระดับเส้นรุ้ง (latitude) จะไม่เหมือนกัน หากเกิดการสับเปลี่ยนหรือนำเอาไปปลูกในแหล่งที่ต่างไปจากเดิมจะไม่สามารถเจริญงอกงามได้เป็นปกติ โดยเฉพาะผักเป็นพืชที่มีอายุการเจริญเติบโตสั้น จึงไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ตัวอย่างเช่น พืชพวกแตงซึ่งเป็นพืชที่ต้องการอุณหภูมิสูงในการเจริญเติบโต (25° – 35° ซ) หากขณะปลูกอุณหภูมิลดต่ำลงกว่า 20 °ซ การเจริญเติบโตจะหยุดชงักทันที ยอดจะหดม้วนไม่คลี่และทอดเป็นปกติ ยิ่งไปกว่านั้นในกรณีที่เกิดมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็วฉับพลัน ไม่ว่าจะในทางเพิ่มสูงขึ้นหรือลดต่ำลงจะมีผลกระทบกระเทือนก่อให้เกิดการเสียหายให้กับพืชผักโดยตรงทันที การลดต่ำลงของอุณหภูมิอย่างกระทันหันถึงจุดเยือกแข็ง จะมีผลทำให้น้ำหรือของเหลวภายในเซลส์พืชขยายเพิ่ม ปริมาตรมากขึ้น ทำให้เซลล์แต่ละเซลล์ซึ่งมีขอบเขตและขนาดจำกัดปริแตกออกก่อให้เกิดอาการไหม้ หรือที่เรียกว่าตายนึ่งขึ้น ในกรณีของผักซึ่งเป็นพืชที่อ่อนอวบน้ำ อาการตายนึ่งของเนื้อเยื่ออาจเกิดขึ้นได้ตลอดทุกส่วนของต้น ส่วน พืชที่มีลำต้น กิ่งก้านแข็งก็จะเกิดขึ้นเฉพาะส่วนใบ ยอด ตา แขนง หรือส่วนยอดและปลายที่ยังอ่อนอยู่เท่านั้น อาการตายของเนื้อเยื่อที่เกิดจากอุณหภูมิลดต่ำลงจนถึงจุดแข็งตัว (0 °ซ.) ดังกล่าว เรียกว่า freezing injury อย่างไรก็ดีอาการดังกล่าวนี้ในประเทศไทยมักจะพบเห็นได้ไม่บ่อยนัก นอกจากในบางจังหวัดทางภาคเหนือ ฤดูหนาว บางที่อากาศเย็นจัด โดยเฉพาะบนดอยหรือภูเขาสูงๆ เช่น ที่อ่างขาง อำเภอฝาง บ้านแม่แฮ ตำบลบ่อหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ในตอนกลางคืนของบางวันอุณหภูมิลดถึงจุดเยือกแข็ง หรือต่ำกว่า ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นจะพบว่าบรรดาพืชผักต่างๆ ที่ปลูกหรือขึ้นอยู่โดยเฉพาะพวกที่มีใบบางและใหญ่จะกรอบแข็ง แตกหักง่าย แม้จะถูกกระทบเพียงเบาๆ ต่อมาในตอนสาย อากาศอบอุ่นขึ้น นํ้าภายในเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่แข็งตัวละลายก็จะแสดงอาการเหี่ยวแล้วเปลี่ยนเป็นตายนึ่ง ในที่สุดก็จะแห้งตายทั้งใบและต้น

ส่วนอุณหภูมิที่สูงขึ้นจนถึงขั้นเป็นอันตรายกับพืชผักนั้นพบเห็นได้บ่อยและทั่วๆ ไป โดยเฉพาะในฤดูร้อนช่วงที่มีกลางวันยาว ผักที่ปลูกในที่โล่งแจ้งได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่ ก็จะสะสมความร้อนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันหากปริมาณน้ำหรือความชื้นในดินที่พืชจะดูดซึมขึ้นมาระบายความร้อนออกมีไม่พอ น้ำที่มีอยู่ในต้นหรือเซลล์ก็จะถูกดึงเอาไปใช้ในการระเหยด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นตามธรรมชาติ ช่องปากใบ (stomata) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุม การระเหยน้ำจากใบจะปิดอาการขั้นแรกที่พืซจะแสดงให้เห็น ในตอนนี้คือใบจะเริ่มเหี่ยวเฉา และหากยังคงได้รับความร้อนอยู่ต่อไป ในขณะที่น้ำในต้นและเซลล์เหลือน้อยเต็มทีพืชก็จะสะสมความร้อนเพิ่มมากขึ้นๆ จนในที่สุดเซลล์จะแห้งตายคล้ายกับถูกไฟลวก อาการแห้งตายโดยความร้อนนี้มัก จะเกิดขึ้นเฉพาะแห่งที่ถูกกับแสงนานๆ และเต็มที่เท่านั้น และเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของต้นไม่ว่าจะเป็นต้น กิ่ง ใบ ลูก ผล หรือฝัก อาการแห้งหรือไหม้อันเนื่องมาจากอุณหภูมิสูงนี้ เรียกว่า sun burn หรือ sun scald

ความชื้น ปรีมาณน้ำหรือความชื้นในอากาศมีผลต่อผัก แต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ผักพวกที่มีผิวหรือชั้นของเซลล์ผิว (epidermis) บาง มีสารพวกไขมัน เช่น wax หรือ cutin ฉาบเคลือบอยู่น้อยในสภาวะปกติ จะมีอัตราการระเหยน้ำสูงกว่าพวกที่มีชั้นของเซลล์ผิวหนาหรือมีสารพวกไขมันมาก ผักที่ต้องการความชื้นสูงพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่มีอัตราการระเหยน้ำหรือต้องการใช้น้ำหมุนเวียนเพื่อการทำงานของกลไกและระบบต่างๆ ภายในต้นมาก พวกนี้หากอากาศรอบๆ ตัวแห้งหรือมีความชื้นน้อย การระเหยนํ้าออกจากต้นยิ่งมีมากขึ้น ขณะเดียวกันถ้าได้รับน้ำจากดินไม่พอ ไม่สมดุลกับที่จะระเหยออก ระบบการทำงานต่างๆ ภายในต้น จะหยุดชงักหรือเสียไปทันที หากสภาวะดังกล่าวเกิดติดต่อกันเป็นเวลานาน พืชจะเหี่ยวเฉาหยุดเจริญเติบโต แคระแกร็น หรืออาจถึงตายได้ในที่สุด ตัวอย่างในเรื่องนี้จะเห็นได้จากพืช พวกหอม หากอากาศแห้ง อัตราการระเหยนํ้าจากดินสูง ต้น หอมจะแสดงอาการแห้งจากปลายใบลงมา หากแก้ไขไม่ทัน จะแห้งทั้งต้นในที่สุดในทางกลับกันสำหรับผักที่ไม่ต้องการความชื้นมากนัก ถ้าหากในอากาศหรือบรรยากาศโดยรอบมีความชื้นสูง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของละอองฝุ่น เมฆ หมอก หรือน้ำค้างตกต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ การระเหยน้ำออกจากต้นค่อยๆ ลดน้อยลง ในที่สุดอาจจะหยุดโดยสิ้นเชิง เมื่อไม่มีการหมุนเวียนนํ้าภายในต้น ก็จะไม่มีการดูดซึมอาหาร ไม่มีการหายใจหรือถ่ายเทก๊าซออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่มีการสังเคราะห์อาหาร (photosynthesis) ระบบเอนไซม์ (enzymes) ไม่ทำงาน กระบวนการมีชีวิต (vital activities) ต่างๆ ของเซลล์จะหยุดสิ้น นอกจากนั้น หากนํ้าถูกดูดซึมขึ้นมาจากดินมากแต่คายออกน้อย ก่อให้เกิดการสะสมน้ำในเซลล์หรือเนื้อเยื่อมากขึ้นทำให้เซลส์หรือเนื้อเยื่อนั้นบวม พองโต ขยายใหญ่ขึ้น ในที่สุดจะปริแยกแตกออก โดยเฉพาะพวกเนื้อเยื่อที่อวบน้ำ (succulent tissue) เช่น ก้านใบ ลูก ผล หัว หรือฝัก ซึ่งเป็นส่วนที่มักจะพบเห็นได้เสมอความชื้นของอากาศนี้นอกจากมีผลต่อต้นพืชผักโดยตรงดังกล่าวแล้วยังมีผลทางอ้อม โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและราชั้นต่ำบางชนิด เช่น โรคเน่าเละที่เกิดจากเชื้อ Erwinia carotovora โรคเน่าดำ หรือเหี่ยวของพวกกะหล่ำ ที่เกิดจากเชื้อ Xanthomonas campestris pv. Campestns โรคราน้ำค้างที่เกิดจากเชื้อราพวก Peronospora sp. และโรคเลทไบลท์ (late blight) ของพวกพริก มะเขือเทศ มันฝรั่ง ที่เกิดจากเชื้อรา Pftytophthora infestans พวกนี้พบระบาดสร้างความเสียหายรุนแรง หากความชื้นในอากาศสูงแต่ถ้าอากาศแห้งหรือความชื้นต่ำ โรคจะหยุดสร้างความเสียหายหรือลดความรุนแรงลง

แสง แสงสว่างโดยเฉพาะแสงอาทิตย์ จัดเป็นปัจจัยร่วม สำคัญที่สุดในการเจริญเติบโตของพืชผักทุกชนิด เนื่องจากต้องใช้ในกระบวนการสังเคราะห์อาหารร่วมกับน้ำ (H2 O) คาร์บอนไดออกไซด้ (C O 2) และคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) หากขาดแสงหรือได้รับไม่เพียงพอ พืชหยุดเจริญเติบโต แคระแกรน สีซีดจาง อ่อนแอเป็นช่องทางให้เชื้อโรคต่างๆ เข้าทำลายได้ดีและง่ายยิ่งขึ้น ไม่มีความคงทนต่อสภาพสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่แม้จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย นอกจากนั้นแสงอาทิตย์ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับอุณหภูมิด้วยโดยเฉพาะประเทศในแถบศูนย์สูตรอย่างประเทศไทย ระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคมของปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน จะได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่กลางวันมีเวลายาวนาน ไม่น้อยกว่า 13-14 ชั่วโมง ประกอบกับความเข้มแสง (light intensity) ที่สูง อุณหภูมิกลางแจ้งในเวลากลางวันจึงค่อนข้างสูงตามไปด้วย เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 37-38° ซ. ผักบางชนิดที่ปลูกในช่วงของเดือนดังกล่าว โดยเฉพาะพวกที่ไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิที่สูงมากๆ ได้ จะเกิดอาการเหี่ยวเฉา ไหม้ แห้งตายที่เรียกว่า sun burn หรือ sun scald ดังได้กล่าวแล้ว

1.3 ก๊าซหรือพิษอันเกิดจากสารเคมีบางชนิด ก๊าซหมอกควัน หรือสารเคมีชนิดต่างๆ รวมทั้งละออง ฝุ่นผง ที่มีปะปนอยู่ในบรรยากาศ ในบริเวณเมืองที่แออัดหรือมีโรงงานอุตสาหกรรมมากๆ พบว่ามีอยู่หลายชนิดที่เป็นพิษต่อการเจริญเติบโตของพืชทั้งทางตรง และทางอ้อมหากสารเหล่านั้นตกลงบนพืช อาจจะโดยพิษที่เกิดจากตัวของสารเหล่านั้นเองโดยตรง หรือเกิดขึ้นโดยสาร เหล่านั้นไปทำปฏิกิริยากับธาตุหรือสารอื่นๆ บางอย่าง หรือแม้แต่กับน้ำในรูปของความชื้นที่มีอยู่ในบรรยากาศทั่วๆ ไป ก็จะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นเกลือของกรดต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อเซลล์ เนื้อเยื่อ และส่วนต่างๆ ของต้นพืช เช่น กิ่ง ใบ ดอก ผล หรือไม่ก็อาจไปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการทำงานภายใน (physiological process) ของพืชให้ผิดไปจากธรรมชาติได้ ส่วนผลทางอ้อม ได้แก่ เขม่า หมอกควัน ไอเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องจักร เครื่องยนต์ จากยวดยานพาหนะ รวมทั้งฝุ่นผงธุลีที่เกิดจากการก่อสร้างตามเมืองใหญ่ๆ หรือชานเมืองที่กำลังขยายตัว พวกนี้เมื่อเกิดมีขึ้นมากๆ แล้วปลิวไปตกลงบนพืช จะเคลือบคลุม ฉาบเกาะติดอยู่ทั่วทั้งต้น ก่อให้เกิดการอุดตันหรือปิดช่องเปิดธรรมชาติต่างๆ ที่พืชมีอยู่ ทำให้ไม่สามารถหายใจ คายน้ำ หรือดูดซึมอาหารได้เป็นปกติ

นอกจากนี้บรรดาสารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืซ หรือแม้กระทั่งปุ๋ยสำเร็จรูปที่ใช้เป็นอาหารเสริม สำหรับพืชเหล่านี้หากใช้ไม่ถูกต้อง ปราศจากความระมัดระวังที่ดีพอก็อาจก่อให้เกิดอันตรายกับพืชผักที่เรียกว่า phytotoxl ได้ เช่น อาจทำให้เกิดอาการแผลจุดไหม้แห้ง และเหี่ยวเฉาขึ้น หรือไม่ก็อาจมีผลทำให้ความสมดุลระหว่างธาตุอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในดินเสียไปเกิดเป็นพิษต่อพืช หรือเปลี่ยนไปอยู่ในรูปที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเสียหายได้ทั้งสิ้น

1.4 การขาดหรือมีธาตุอาหารบางชนิดมากเกินไป

นอกจากพืชจะปรุงหรือสังเคราะห์อาหารได้เองโดยมีคลอโรฟิลล์ แสงอาทิตย์ ร่วมกับไฮโดรเจน (H) ออกซิเจน (O) คาร์บอน (C) จากน้ำและอากาศแล้ว พืชยังต้องใช้ธาตุอย่างอื่นอีก 13 ชนิด ซึ่งได้จากดินหรือปุ๋ยในรูปของไอออน (ion) ในปริมาณต่างๆ กัน พวกที่ใช้มากเรียกว่าธาตุอาหารหลักซึ่งพวกนี้นอกจาก H O C ที่ได้จากน้ำและอากาศแล้วก็มี ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โปแตสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) กำมะถัน (S) และแมกนีเซียม (MG) ส่วนอีกพวกหนึ่งพืชใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย เรียกว่าธาตุอาหารรอง หรืออาหารเสริม ได้แก่ แมงกานีส (Mn) โบรอน (B) ทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) เหล็ก (Fe) โมลิบดีนัม (Mo) และคลอรีน (Cl) ธาตุเหล่านี้หากขาดหรือได้รับไม่เพียงพอ หรือมีมากเกินไปก็อาจทำให้พืชแสดงอาการผิดปกติต่อการเจริญเติบโตออกมาให้เห็นได้หลายลักษณะอาการ

2. สาเหตุโรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต

ได้แก่โรคที่เกิดโดยการกระทำของสิ่งที่มีชีวิตต่างๆ อาศัยมาเกาะกินหรือมามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพืช ก่อให้เกิดความเสียหายหรือความผิดปกติในลักษณะต่างๆ เรียกว่าโรคขึ้น โรคชนิดนี้นับว่าสำคัญกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโรคที่เกิดจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต เนื่องจากเมื่อเกิดเป็นขึ้นแล้ว สามารถระบาดแพร่กระจาย ก่อให้เกิดความเสียหาย ขยาย ลุกลามออกไปในบริเวณที่กว้างขวางได้ โรคที่เกิดโดยสาเหตุนี้เรียกว่า parasitic disease หรือ infectious disease นี้มีอยู่ด้วยกันหลายชนิดโดยจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้คือ

2.1 สัตว์

ได้แก่สิ่งมีชีวิตที่จำแนกอยู่ในพวกสัตว์ชั้นต่ำและชั้นสูง มีทั้งพวกที่ทำให้เกิดโรค และคล้ายโรค ดังนี้

แมลง ความจริงแล้วแมลงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพืชทั้งในด้านที่ให้ประโยชน์และโทษ จะเห็นได้ว่าแมลงบางชนิดมีส่วนช่วยในการผสมเกษรทำให้พืชติดดอกออกผลขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณมากขึ้น เช่น ผึ้ง แมลงภู่ บางชนิดก็ทำหน้าที่เป็นตัวเบียนคอยทำลายกัดกินลดปริมาณแมลงอื่นๆ ที่เป็นศัตรูพืช ตัวอย่างก็ได้แก่ พวกตัวต่อ แตน และด้วงปีกแข็งบางชนิด (lady bird) ส่วนที่เป็นโทษก็ปรากฏว่ามีแมลงมากมายหลายชนิด เป็นศัตรูทำลายพืชผักก่อให้เกิดความเสียหายโดยการกัดกิน ดูดนํ้าเลี้ยงจากต้น ใบ กิ่ง ลูก ผล หรือเนื้อเยื่ออื่นๆ ทำให้เกิดการฉีกขาด แหว่ง หรือ แห้งเหี่ยวขึ้นกับพืช คล้ายอาการของโรค แต่ไม่นับว่าทำให้เกิดโรคแมลงบางชนิดทำหน้าที่เป็นพาหะนำและถ่ายทอด เชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัส ทำให้โรคระบาดแพร่กระจายไปได้รวดเร็วกว้างขวางขึ้นยิ่งกว่าตัวเชื้อเอง บางชนิดพบว่าเป็นตัวให้เชื้อโรคบางอย่างอาศัยพักตัวอยู่ภายในชั่วคราวหรือข้ามฤดู และปรับตัวให้เหมาะสมพร้อมที่จะเข้าทำลายพืชต่อไป

ไส้เดือนฝอย (nematode) ได้แก่พยาธิตัวกลมที่มีขนาดเล็กชนิดหนึ่ง จัดเป็นพวกสัตว์ชั้นต่ำที่อาศัยอยู่ในดิน และน้ำทั้งในลักษณะที่เป็นอิสสระ (free living) และเกาะกินอยู่บนหรือในสิ่งที่มีชีวิตอื่น (parasite) ทั้งพืชและสัตว์ ที่เกี่ยวข้องกับพืชก็มีทั้งพวกที่ก่อให้เกิดโรค ทำความเสียหายโดยตรง เช่น โรครากปมจาก Meloidogyne sp. และเป็นพาหะนำเชื้อโรคอื่นๆ มาสู่พืชโดยเฉพาะ เชื้อไวรัส เช่น พวก Xiphinema sp. Longidorus sp. และ Trichodorus sp. นอกจากนั้นยังพบว่าไส้เดือนฝอยบางตัวเมื่อเข้ากัดกินพืช ก็จะทำให้เกิดแผลขึ้นกับพืช เท่ากับเป็นการช่วยเปิดช่องทาง ให้เชื้อโรคชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในดินเข้าสู่ราก และส่วนของพืซที่อยู่ใต้หรือบริเวณระดับดินได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

แมงมุมแดงหรือไรแดง (red spider หรือ mite) เป็นสัตว์ชั้นต่ำพวกอาร์โทรพอด (arthropod) ขนาดเล็กที่มีรูปร่างคล้ายแมลง แต่มีขามากกว่าแมลงหนึ่งคู่ พวกนี้มีอยู่หลายตัวที่พบว่าอาศัยเกาะกินโดยการดูดนํ้าเลี้ยงจากต้นพืช ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคขึ้นได้

หอยทาก (mollusk, snail) ได้แก่หอยบางชนิดที่อาศัยอยู่บนบก ทั้งที่มีเปลือกและไม่มีเปลือกหุ้มตัว สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้โดยการคืบคลาน มีขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่ตัวเล็กๆ ครึ่งนิ้วไปจนโตถึง 4-5 นิ้ว ที่ทำความเสียหายให้กับพืชผักต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่มีเปลือกหุ้มตัวขนาดค่อนข้างโตที่เรียกว่าหอยทากยักษ์ พบมากในบางภาคของประเทศไทย เช่นภาคเหนือและภาคใต้บางจังหวัดโดยเฉพาะ ในฤดูฝนที่อากาศชื้นแฉะ ซึ่งพวกนี้ขยายพันธุ์ได้ดี เมื่อมีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็จะก่อให้เกิดปัญหากับพืชผล โดยเฉพาะผักต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารอย่างดีของมัน บางครั้งเมื่อเกิดระบาดขึ้นเป็นจำนวนมากก็จะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง และกว้างขวาง นอกจากนั้นสารที่มีลักษณะเหนียวเป็นยาง เมือกที่หอยพวกนี้ขับออกมาอยู่รอบๆ ตัวของมันเพื่อป้องกันความแห้ง จะเป็นส่วนที่ช่วยพาเอาเชื้อสาเหตุโรคบางชนิดเช่น สปอร์ เส้นใยของรา และแบคทีเรีย ซึ่งปรากฏอยู่ตามส่วนของพืชที่เป็นโรค ขณะที่มันเคลื่อนที่ไปกัดกินหรือไปสัมผัส เข้าทำให้เชื้อระบาดไปยังที่อื่นๆ ตามทางที่มันเคลื่อนที่ผ่านไปได้อีกด้วย แต่ตัวมันเองไม่จัดเป็นพวกทำให้เกิดโรค

สัตว์ชั้นสูงบางชนิด ได้แก่ นก หนู กระรอก กระต่าย รวมทั้ง แพะ แกะ วัว ควาย และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ อย่างไรก็ดีในความหมายของคำว่าโรคพืชแล้ว พวกนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับพืชในลักษณะที่เรียกว่าโรค แต่ส่วนใหญ่จะสร้างความเสียหายให้กับพืชผักโดยตรง โดยการกัดกิน ทำลายหรือเหยียบย่ำ ซึ่งมีผลทำให้พืซที่ปลูกลดปริมาณลง หรือไม่ก็อาจทำให้เกิดอาการฉีกขาด หัก แตกออก นับเป็นการสูญเสียอย่างหนึ่ง

2.2 พืช

พืซที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคกับพืชด้วยกันเอง มีทั้งพวกพืชชั้นต่ำและพืชชั้นสูง ดังนี้

พืชชั้นตํ่า (lower plant)

ราเมือก (slime mold) ได้แก่ราชั้นต่ำที่ไม่มีผนังเซลล์ และเซลล์ไม่ต่อเชื่อมกันเป็นเส้นใย ส่วนใหญ่เป็นพวกที่อาศัย เกาะกินพวกเศษซากอินทรีย์วัตถุในดินมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ที่พบว่าอาศัยเกาะกินอยู่บนพืชหรือสิ่งที่มีชีวิตอื่นด้วยกัน ที่เป็นสาเหตุของโรคผักที่สำคัญและรู้จักกันดีในปัจจุบันมีเพียง 2 ชนิดคือ Plasmodiophora brassicae โรครากบวมของพืช พวกกะหล่ำ และ Spongospora subterranea โรค powdery scab ของมันฝรั่ง

รา (mold) เป็นพืชชั้นต่ำที่มีขนาดเล็กกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งเจริญเติบโตโดยการสร้างเซลล์ต่อเชื่อมกันเป็นเส้นใย (mycelium) ขยายพันธุ์ได้ทั้งโดยวิธีใช้เพศ (sexual repro­duction) และไม่ใช้เพศ (asexual reproduction) โดยการเกิดเป็นสปอร์ (spore) โคนิเดีย (conidia) หรือออยเดีย (oidia) มีชีวิตการเป็นอยู่ทั้งในลักษณะที่เป็นปรสิต (parasite) หรือพาราไซท์อาศัยเกาะกินอยู่บนสิ่งมีชีวิตอื่นและแซพโพรไฟท์ (saprophyte) บนเศษซากของสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว จัดเป็นสาเหตุโรคพืชกลุ่มใหญ่ที่สุด (มากกว่า 8,000 specie) ทำลายพืชกว้างขวางเกือบทุกชนิด

พืชชั้นสูง (flowering หรือ seed plant)

พืชชั้นสูงที่เป็นพาราไซท์ อาศัยเกาะกินเจริญเติบโตอยู่บนพืชด้วยกันเองก็ได้แก่พวกกาฝาก (phanerogram หรือ mistletoe) ฝอยทอง (dodder) หญ้าแม่มด (witchweed) อย่างไรก็ดี พวกนี้ไม่สู้มีความสำคัญและก่อให้เกิดปัญหานัก ในด้านของพืชผักส่วนใหญ่จะขึ้นเกาะกินอยู่บนไม้ยืนต้นหรือไม้ผล นอกจากหญ้าแม่มดเพียงชนิดเดียว ซึ่งเคยมีรายงานว่าก่อให้เกิดความเสียหายกับพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ในบางท้องถิ่นของจังหวัดทางภาคอีสานเมื่อ 5-6 ปีมานี้

2.3 สาเหตุอื่นๆ

ได้แก่เชื้อสาเหตุโรคพืชอย่างอื่น ที่ไม้ได้จัดอยู่ทั้งในพืชและสัตว์ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น พวกนี้แบ่งออกเป็น

แบคทีเรีย (bacteria) คือสิ่งที่มีชีวิตเซลล์เดียวที่มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จัดอยู่ในพวก living world มีชีวิตอยู่โดยอาศัยเกาะกินอยู่บนสิ่งที่มีชีวิตอื่นในลักษณะที่เป็นพาราไซท์หรือไม่ก็บนเศษซากอินทรีย์วัตถุอื่นที่ตายแล้วในลักษณะแซพโพรไฟท์ แต่เดิมแบคทีเรีย ถูกจัดไว้ในพวกพืชใน Division Protophyta Class Schizomycetes เช่นเดียวกับเชื้อรา แต่ปัจจุบันได้ถูกแยกออกตั้งเป็น Kingdom ใหม่คือ Prokaryotae แบคทีเรียส่วนใหญ่มีการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศโดยการแบ่งตัวออกเป็นคู่ๆ เรียกว่า binary fission ที่เป็นสาเหตุโรคพืชเท่าที่มีผู้พบแล้วในปัจจุบันมีอยู่เกือบ 200 species โดยทั้งหมดก่อให้เกิดโรคกับพืชต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 150 ชนิด (genera) ตระกูลต่างๆ กันไม่ต่ำกว่า 60 ตระกูล (families)

ไวรัส (virus) เชื้อไวรัสจัดเป็นสาเหตุโรคของพืชผักที่สำคัญมากชนิดหนึ่ง สร้างความเสียหายให้กับผักต่างชนิดต่างพันธุ์อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัดว่าไวรัสเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่ แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิต เพราะแม้ว่าไวรัสจะเป็นเพียงอนุภาคไม่เป็นเซลล์แตกสามารถทวีจำนวนเพิ่มปริมาณได้ในเซลล์ของสิ่งที่มีชีวิตอื่นที่มันเข้าไปอาศัยเกาะกินอยู่ ไวรัสมีขนาดเล็กมาก และเล็กที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาเชื้อต่างๆ ที่เป็นสาเหตุโรคพืชทั้งหมดที่กล่าวแล้ว จัดเป็นพวก sub-microscopic ไม่สามารถเห็นหรือตรวจสอบได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดานอกจากจะใช้กล้องอิเล็กตรอน (electron microscope) ที่มีกำลังขยายสูงเป็นหมื่นๆ เท่า เท่านั้น ไวรัสมีคุณสมบัติเป็นอนุภาคหรือผลึกของโปรตีนประกอบด้วย nucleic acid (RNA หรือ DNA) และโปรตีนโดย nucleic acid เป็นแกนในและมีชั้นของโปรตีนเป็นเปลือกหุ้มอยู่โดยรอบ เมื่อเข้าทำลายพืชจะเป็นไปในลักษณะแพร่กระจาย (systemic) หรือไม่แพร่กระจาย cal) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลไกระบบทำงาน หรือ metabolic ของเซลล์พืชเกิดเป็นอาการต่างๆ ขึ้นหลายลักษณะ ทั้งที่เป็นแบบเฉพาะของไวรัสเองและเหมือนหรือคล้ายกับอาการโรคที่เกิดจากเชื้อสาเหตุอื่น เช่นเกิดอาการเป็นแผลจุดเป็นดวง ด่างลายเปลี่ยนสีเหลืองทั้งต้น แคระแกร็น หยุดการเจริญเติบโต ยอด ตา ใบหงิกม้วนงอ เสียลักษณะผิดรูปผิดร่าง แตกตา กิ่ง แขนง ช่อ ดอกหรือหัวมากกว่าปกติ มีการสร้างส่วนหนึ่งส่วนใดมากเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ออกดอกผลล่าหรือก่อนฤดูกาล แก่สุกเร็วหรือช้ากว่ากำหนดเป็นต้น

มายโคพลาสมา (mycoplasma) มายโคพลาสมาเป็นจุลินทรีย์ตัวล่าสุดที่พบว่าก่อให้เกิดโรคกับพืชได้ เดิมมีชื่อเต็มของเชื้อตัวใหม่นี้คือ Mycoplasma-like bodies (MLBs) หรือ Mycoplasma-like organisms (MLO) หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันในนาม Pleuropneumonia-like organisms (PPLO) ปัจจุบันจัดเป็นพวก Prokaryotae Division Tenericutes Class Mollicutes ลักษณะรูปร่างกลมหรือรูปไข่ (ellipsoidal) มีขนาดอยู่ระหว่าง 80-800 มิลลิไมครอน ไม่มีผนังเซลล์ มีแต่ชั้นของ membrane บางๆ เท่านั้นห่อหุ้มอยู่ เมื่อนำมาเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อจะสร้างโคโลนีคล้ายรูปไข่ดาวเล็กๆ ปัจจุบันพบว่ามีพืชมากกว่า 50 ชนิด รวมทั้งผักต่างๆ ถูกทำลายโดยเชื้อนี้ ก่อให้เกิดอาการคล้ายๆ กับอาการบางอย่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น อาการเหลือง (yellow type) อาการกลีบดอกแตกเป็นฝอย (phyllody) แคระแกร็น (dwarfing) อาการเขียวเข้ม (greening) อาการยอด ตาหงิกและแตกออกเป็นกระจุก (bigbud หรือ witches’ broom)