สีเสียดเหนือมีประโยชน์อย่างไร


ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia catechu Willd.
ชื่ออื่นๆ สีเสียดลาว (ลาว) สีเสียดแก่น (ราชบุรี) สีเสียดเหลือง (เชียงใหม่)
ชื่ออังกฤษ Black Catechu, Cutch, Cutch Tree, Catechu Tree.
ลักษณะ ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 9-12 เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ยาว 9-17 ซ.ม. ใบย่อยรูปขอบขนานมีขนาดเล็กกว่าใบมะขาม ในหนึ่งใบมีใบย่อยเป็นจำนวนมาก ดอกออกเป็นช่อสีนวลออกตรงซอกใบ ผลเป็นฝักแบนถ้าแก่จัด สีน้ำตาลดำ แก่นมีสีนํ้าตาลแดง ทั้งต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมโค้งเป็นคู่ๆ
ส่วนที่ใช้ แก่น เปลือกต้น
สารสำคัญ catechutannic acid 25-33%, acacatechin 10-12%
ประโยชน์ทางยา
ยาภายใน ผงสีเสียดเป็นยาฝาดสมาน แก้อาการท้องเดิน โดยผสมกับผงอบเชย ในปริมาณเท่าๆ กัน ถ้าท้องเดินมากใช้ 1 กรัม ถ้าน้อยใช้ 1/2 กรัม ต้มกับนํ้า 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวหนึ่งชั่วโมง กรอง รับประทานครั้งละ 4 ช้อนแกง (ประมาณ 30 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง
ยาภายนอกใช้
-ห้ามเลือด ใช้ผงสีเสียดละลายนํ้าใส่แผลสด
-ก้อนสีเสียดฝนกับนํ้าให้ข้นๆ ทาแผลนํ้ากัดเท้า
-ผงสีเสียดผสมกับนํ้ามันพืช ทาแผลนํ้ากัดเท้า
-ใส่ปูนที่ใช้รับประทานกับหมากและพลู เพื่อป้องกันปูนกัดปาก
อื่นๆ เปลือกต้นและสีเสียดใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง และใช้เป็นสีย้อม เช่น ย้อมอวนให้สีนํ้าตาลแดง
วิธีการสกัดเอาสีเสียด
สับแก่นสีเสียดให้เป็นชิ้นเล็กๆ ใส่นํ้าให้ท่วม เคี่ยว 5-6 ชั่วโมง ยาง ในแก่นจะถูกสกัดออกมาเป็นสีนํ้าตาลดำๆ ข้นๆ คล้ายนํ้าตาลที่เคี่ยวจนงวด เทลงพิมพ์ตามต้องการเมื่อเย็นจะแข็ง มีลักษณะเป็นก้อนสีนํ้าตาลดำ
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ