ส่วนประกอบของดิน(Soil Component)

ดินประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน คือ แร่ธาตุ อินทรีย์วัตถุ น้ำและอากาศ ซึ่งในดินแต่ละแห่งมีส่วนประกอบเหล่านี้ในอัตราส่วนที่ไม่เท่ากันเสมอไป

ส่วนประกอบของดิน (soil Component)

สำหรับดินร่วนปนตะกอน (silt loam) ซึ่งถือว่าเป็นดินที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชส่วนใหญ่ จะมีส่วนประกอบโดยปริมาตร ดังนี้คือ
1. แร่ธาตุ                  45%         ส่วนที่เป็นของแข็ง (50%)
2. อินทรีย์วัตถุ            5%         ส่วนที่เป็นของแข็ง (50%)
3. น้ำ                         25%         ส่วนที่บรรจุอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดดิน (50%)
4. อากาศ                  25%                “
รวม                        100%

แร่ธาตุและอินทรีย์วัตถุรวมกัน เป็นครึ่งหนึ่งของปริมาตรของดินทั้งหมด เรียกว่าส่วนที่เป็นของแข็ง (solid space) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นน้ำและอากาศ จะบรรจุอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดดิน (pore space)

น้ำและอากาศในดินมีความสัมพันธ์กันอช่างใกล้ชิด เพราะบรรจุอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดดินอันเดียวกัน เมื่อมีน้ำมาก น้ำจะไล่ที่อากาศ ทำให้อากาศน้อย และเมื่อมีน้ำน้อย อากาศจะเข้ามาแทนที่น้ำที่หายไป

ช่องว่างระหว่างเม็ดดินมีความสำคัญมากเกี่ยวกับความชื้น และอากาศในดิน ขนาดของช่องว่างจะเล็กหรือใหญ่ ขึ้นอยู่กับขนาดของเม็ดดิน และการรวมตัวเป็นก้อนของเม็ดดิน

 

1. ส่วนประกอบของดินที่เป็นแร่ธาตุ
ส่วนประกอบของดินที่เป็นแร่ธาตุ เป็นส่วนที่มีมากที่สุดในส่วนประกอบของดินทั้ง 4 อย่างที่กล่าวมาแล้ว คือมีถึงประมาณ 45%
ส่วนที่เป็นแร่ธาตุได้มาจากการสลายตัว และผุพังของหินและแร่ธาตุชนิดต่างๆ ออกเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดต่างๆ กัน ดังนั้นในส่วนของดินนี้ จึงประกอบด้วยธาตุชนิดต่างๆ มากมาย เท่าที่พบขณะนี้ในโลกมีธาตุอยู่ทั้งหมดประมาณกว่า 100 ชนิด ในดินแต่ละแห่งมีส่วนประกอบของธาตุเหล่านี้ในปริมาณที่แตกต่างกัน ธาตุเหล่านี้บางชนิดก็เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ และสัตว์ และบางชนิดก็เป็นอาหารของพืช

2. ส่วนประกอบของดินที่เป็นอินทรีย์วัตถุ
อินทรีย์วัตถุในดินเกิดจากการเน่าเปื่อยผุพังของซากพืชและสัตว์ ที่ทับถมอยู่บนดิน อินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อยผุพังดีแล้วจะมีสีดำ ถ้าดินใดมีอินทรีย์วัตถุมาก จะทำให้ดินมีสีดำ และถ้ามีอินทรียวัตถุน้อย ดินจะมีสีดำน้อยลง แต่การที่ดินมีสีดำมิได้แสดงว่ามีอินทรีย์วัตถุมากเสมอไป บางครั้งสีดำอาจเกิดจากแร่ธาตุบางชนิดที่มีอยู่ในดิน

อินทรีย์วัตถุในดินมีความสำคัญ คือ.-
ก. เป็นแหล่งที่ให้ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส กำมะถัน และธาตุ
ปริมาณน้อยอื่นๆ
ข. ช่วยให้ดินมีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำดีขึ้น
ค. ทำให้ดินมีคุณสมบัติในการตรึงอาหารธาตุไว้ได้มาก
ง. ช่วยให้ดินมีโครงสร้างดีขึ้น

3. ส่วนประกอบของดินที่เป็นน้ำ
น้ำในดินส่วนมากมาจากน้ำฝน เมื่อฝนตกลงมาน้ำฝนบางส่วนจะไหลลง ตามช่องระหว่างเม็ดดิน และบางส่วนจะไหลบ่าไปตามผิวดินลงสู่ที่ต่ำ

ดินสามารถอุ้มน้ำไว้ได้ในปริมาณที่จำกัด แล้วแต่ลักษณะของดิน และระยะเวลาที่ได้รับน้ำ
ดินทรายอุ้มน้ำไว้ได้น้อย เพราะมีช่องว่างระหว่างเม็ดดินใหญ่ การระบายน้ำมากเกินสมควร
ดินร่วนจะอุ้มน้ำไว้ได้มากพอสมควร เพราะมีช่องว่างระหว่างเม็ดดินขนาดปานกลางการระบายน้ำดีพอสมควร
ดินเหนียว อุ้มน้ำไว้ได้มาก เพราะมีช่องว่างระหว่างเม็ดดินเล็กมาก และการระบายน้ำเลวมาก

น้ำในดินอยู่ในรูปของสารละลาย ซึ่งมีแร่ธาตุชนิดต่างๆ ละลายอยู่ แร่ธาตุในสารละลายนี้ ส่วนที่เป็นอาหารของพืช พืชสามารถที่จะนำไปใช้ได้ทันที
4. ส่วนประกอบของดินที่เป็นอากาศ
อากาศในดินมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต และหน้าที่ในการดูดอาหารของรากพืช รากพืชต้องการออกซิเจนในการหายใจ และช่วยในการดูดอาหารธาตุ

โดยปกติ อากาศในดินจะมีออกซิเจนน้อยกว่าในบรรยากาศภายนอก (ในบรรยากาศมีออกซิเจน 20-27%) และมีคารบอนไดอ๊อกไซด์ มากกว่าในบรรยากาศ (ในบรรยากาศมีคาร์บอนไดออกไซด์ 0.03 %)

ในดินที่มีน้ำมาก หรือดินที่แน่นทึบ การถ่ายเทอากาศระหว่างดินกับบรรยากาศเป็นไปได้ยากจึงมีคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการหายใจของรากพืชสะสมอยู่มาก ทำให้ขาดแคลนออกซิเจน ซึ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและพลังงานในการดูดอาหารธาตุของรากพืช
ดังนั้น ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกจึงจำเป็นต้องมีการระบายน้ำดี มีการไถพรวน เพื่อให้มีอากาศพอเพียงแก่ความต้องการของรากพืช

กลุ่มอนุภาคดิน (soil Separate)

เราแบ่งอนุภาคดินออกตามขนาดได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่ม

ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง

การมองเห็น

กรวด (Gravel), หิน(Stone)

ใหญ่กว่า 20 มม.

ตาเปล่า

ทราย (Sand)

2.0-0.5 ม.ม.

ตาเปล่า

ตะกอน(Silt)

0.5-0.002 ม.ม.

กล้องจุลทัศน์

เม็ดดินเหนียว(Clay)

เล็กกว่า 0.002 ม.ม.

อีเลคตรอนไมโครสโคป

ที่มา:กรมวิชาการเกษตร