ส้มเขียวหวาน:ส้มเขียวหวานปทุมธานี

สำนักงานเกษตรจังหวัด อ.เมือง จ.ปทุมธานี

ส้มเขียวหวานเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จักดีและนิยมบริโภคกันมานาน เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง

แหล่งกำเนิด

การปลูกส้มเขียวหวานในประเทศไทยมีมาตั้งแต่เมื่อไรยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่เล่ากันมาว่าชาวจีนเป็นผู้นำมาประมาณร้อยกว่าปีมาแล้ว และปัจจะบันได้มีการปลูกแพร่หลายทั่วไปในภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคเหนือของประเทศไทย

ในภาคกลางได้มีการปลูกกันมาประมาณ ๖๐-๗๐ ปีมาแล้ว บริเวณตำบลบางมด เขตราษฎร์บูรณะและเขตบางขุนเทียน เรียกส้มที่ปลูกกันว่า ส้มบางมด ซึ่งมีลักษณะเป็นส้มเปลือกล่อน รสหวานจัดอมเปรี้ยวเล็กน้อย

ส้มเขียวหวานที่ปลูกกันในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครและอำเภอบางขุนนนท์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เรียกว่าส้มบางบน มีลักษณะเปลือกหนากว่าส้มบางมด รสไม่หวานแหลม

สำหรับส้มเขียวหวานในเขตทุ่งหลวงรังสิต มีการปลูกกันมากว่า ๒๐ ปีแล้ว แต่ปลูกจำนวนไม่มากนัก พันธุ์ที่ปลูกกันคือ พันธุ์ที่นำมาจากนนทบุรีและบางมด กทม.ซึ่งได้ทำให้เกษตรกรในเขตนี้มีรายได้ดีขึ้น ในเวลาต่อมาจึงได้มีการปลูกกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

เกษตรกรที่ปลูกส่วนหนึ่งก็ย้ายมาจากตำบลบางมด เขตราษฎร์บูรณะและเขตตลิ่งชัน เพราะพบกับปัญหาน้ำเสีย จึงได้อพยพมาทำการเพาะปลูกในอำเภอหนองเสือ อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี และอำเภอคลองหลวง ซึ่งที่ดินมีราคาถูกและสภาพน้ำยังดีอยู่

เกษตรกรอีกส่วนหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี เดิมใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ทำนาก็ได้เปลี่ยนมาปลูกส้มเขียวหวาน ในเขตทุ่งหลวงรังสิต มีพื้นที่กว้างขวางขึ้นใน ๔ อำเภอ ได้แก่ ธัญบุรี ลำลูกกา คลองหลวง และหนองเสือ

รวมพื้นที่ปลูกส้มทั้งหมดไม่ต่ำกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ไร่ นับว่าเป็นพื้นที่ปลูกส้มมากที่สุดในประเทศไทย

ส้มรังสิต

ส้มเขียวหวานปทุมธานี หรือรวมเรียกตามแหล่งผลิตว่า “ส้มรังสิต” สามารถจำแนกตามคุณภาพผิวและรส ซึ่งเกษตรกรผลิตขึ้นตามความต้องการของตลาดแต่ละท้องที่ที่ได้ ๔ แบบ คือ

๑.  ส้มรังสิตผิวบางมด มีลักษณะผิวเป็นกระ มีตำหนิดำหรือน้ำตาลแดงเข้ม เปลือกล่อน รสหวานจัด อมเปรี้ยวเล็กน้อย ซังอ่อนนุ่ม กากน้อย เช่นเดียวกับส้มบางมดในอดีต

สาเหตุลักษณะผิวเช่นนี้เนื่องจากเกษตรกรจะปล่อยให้ส้ม ซึ่งเริ่มติดผลแล้ว ถูกทำลายด้วยเพลี้ยไฟ และไรแดง และเก็บเกี่ยวผลเมื่อผลแก่จัดอายุ ๑๑-๑๒ เดือน

จำหน่ายในตลาดทั่วไปในภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตกโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร

๒.  ส้มรังสิตผิวเหลืองอมเขียว ผิวสะอาดมีตำหนิไม่มากนัก สีเหลืองอมเขียว ซึ่งมักรู้จักและเรียกกันทั่วไปว่า “ส้มรังสิต” รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เปลือกบาง ซังอ่อนนุ่ม มีกากเล็กน้อย

เกษตรกรจะดูแลรักษาผล และต้นเพื่อไม่ให้ต้นโทรมเร็ว และจะเก็บเกี่ยวผลเมื่อผลอายุได้ ๑๐-๑๑ เดือน

จำหน่ายมากในตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

๓.  ส้มรังสิตผิวเขียว หรือชาวภาคใต้ เรียกว่า “ส้มเขียว” เป็นส้มที่เก็บก่อนกำหนด เมื่อผลส้มอายุได้ ๙-๑๐ เดือน ผิวสีเขียวอ่อน รสเปรี้ยวอมหวาน ซังอ่อนนุ่มมีกากเล็กน้อย

จำหน่ายในตลาดภาคใต้ ฮ่องกง มาเลเซีย ส้มจะเปลี่ยนสีเป็นเหลืองอมเขียว และรสหวานจัดขึ้นเมื่อถึงตลาดแหล่งจำหน่าย

๔. ส้มรังสิตผิวเหลืองทอง ผิวสะอาดสีเหลืองอมส้มเขียว เปลือกล่อน ซังอ่อนนุ่ม และกากน้อย รสหวานจัดอมเปรี้ยวเล็กน้อย

เกษตรกรจะปฏิบัติดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ทั้งการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และการให้ปุ๋ย เก็บผลเมื่อแก่จัดเมื่ออายุได้ ๑๑-๑๒ เดือน

เหมาะสำหรับจำหน่ายในตลาดต่างประเทสในแถบยุโรปด้วยมีลักษณะคล้ายส้มเขียวหวานในทวีปยุโรป

ลักษณะการปลูกส้มในทุ่งรังสิต

แต่เดิมทุ่งรังสิตเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล็งเห็นว่าควรนำพื้นที่นี้มาใช้ประโยชน์ จึงได้วางแผนขุดคลองระบายน้ำและคลองส่งน้ำแล้วได้ทรงขนานนามบริเวณที่ได้ขุดคลองแล้วนี้ว่า ทุ่งหลวงรังสิต และพระราชทานให้เกษตรกรทำนาและทำการเกษตรอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งต่อมาจนถึงปัจจุบันได้แปลงสภาพจากนาเป็นสวนส้มดังกล่าว

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ลุ่มน้ำสามารถเข้าได้ทุกพื้นที่ ในบางปีที่มีน้ำมากก็สามารถท่วมสวนได้หากไม่ได้มีการทำคันกั้นน้ำไว้ป้องกัน ดินในจังหวัดปทุมธานีเป็นดินเหนียวและเหนียวปนดินร่วน มีความเป็นกรดปานกลางถึงกรดจัด การระบายน้ำไม่ค่อยดีจึงต้องมีการทำร่องส่วนเพื่อเพิ่มการระบายน้ำให้ดีขึ้น

สำหรับปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกส้มแต่เดิมพบปัญหาเกี่ยวกับโรคและแมลง แต่ก็สามารถแก้ไขได้ในขณะนี้ ปัญหาที่กำลังเป็นที่หนักใจก็คือราคา เพราะราคาของส้มเขียวหวานไม่แน่นอน ซึ่งมักทำให้เกษตรกรขาดทุนได้เสมอ ๆ เมื่อราคาถูกมาก ๆ ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการขยายพื้นที่ปลูกส้มมากขึ้น

ช่วยบริโภค-เพื่อส่งเสริมเกษตรกร

ดังนั้น ในอนาคตในเรื่องการการตลาดของส้มนอกจากจะส่งเสริมให้มีการขายในตลาดต่างประเทศให้มากขึ้นแล้ว ท่านก็จะเป็นอีกผู้หนึ่งที่สามารถส่งเสริมการขายของเกษตรกรได้ โดยการซื้อส้มมาบริโภคเป็นประจำ ซึ่งนอกจากจะทำให้สุขภาพดีแล้วก็สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย