ส้มแขก:ส้มแขกของดีเมืองใต้

จำได้ว่าสมัยเด็กๆ ไม่ว่าจะแกงอะไรที่ต้องอาศัยความเปรี้ยวเพิ่มรสอาหารตามสูตรนิยม โดยเฉพาะแกงส้มแล้วทั้งคุณแม่และพี่สาวมักจะใช้ส้มแขกแห้งสำเร็จรูป ซึ่งมีขายตามตลาดสดในเขตภาคใต้แทบทุกจังหวัดทีเดียว ส้มแขกจึงเป็นพืชปรุงรสอาหารที่ชาวปักษ์ใต้ใช้แทนมะขามเปียกหรือมะขามเปรี้ยวมาแต่ไหนแต่ไร

การใช้มะขามแขกหรือส้มแขกในลักษณะดังกล่าว ปัจจุบันยังคงมีอยู่แต่อาจจะไม่กว้างขวางเหมือนสมัยก่อนด้วยเหตุผลหลายประการ ประการหนึ่งก็คือปัญหาที่ต้นส้มแขกถูกตัดโค่นทำลายลงหมดไปพร้อมๆ กับป่าธรรมชาติประการต่อมาก็คือ สภาพความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ส้มแขกออกดอกให้ผลผลิตน้อยเพราะพืชชนิดนี้ไม่มีชาวสวนหรือชาวบ้านคนใดปลูก นอกจากจะไปเก็บมาจากต้นในป่าเท่านั้น

สวนป่าธรรมชาติที่มีพืชป่า รวมทั้งทุเรียนป่าต้นหลายๆร้อยปี เป็นพืชผลธรรมชาติที่ชาวบ้านคีรีวงศ์ อ.ลานสะกา จ.นครศรีธรรมราช อาศัยผลผลิตนำไป่ขายเลี้ยงครอบครัวมานานหลายชั่วอายุคน ประมาณเดือน ก.ค.-ส.ค. จะมีชาวบ้านเก็บส้มแขกผลสดๆ ลงมาจากเขานำมาผ่าซอยเป็นชิ้นผึ่งแดดแล้วนำไปจำหน่าย บางรายใส่กระชุสายด้วยไม้ไผ่และหวายเป็นโครงซึ่งแข็งแรงมาก ห้อยท้ายมอเตอร์ไซด์สองข้าง นำลงมาจากเขาคีรีวงศ์ เป็นภาพที่น่าชื่นชมเพราะป่าที่นี่คือป่าที่ชาวบ้านถือว่าเป็นหม้อข้าวของเขาต้องรักษาไว้ตลอดไป

ส้มแขกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gracinia atroviridis Griff. มีชื่ออีกหลายชื่อเช่น มะขามแขก ส้มมะวน ส้มพะงุน ส้มควาย เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับมังคุด ชะมวง มะพูด มะดันป่า มังคุดป่า แต่คนละชนิดกัน

ใครอยากจะปลูกก็เห็นจะต้องหาผลสดที่แก่จัดนำเมล็ดไปเพาะชำไว้ในที่แสงน้อยๆ จนโตพอสมควรแล้วนำไปปลูกในแหล่งที่ความชื้นสูง มีร่มเงาและหน้าดินลึกๆ ระบายน้ำดีๆ เห็นมีผู้ปลูกชะมวงในสภาพดินเหนียวยกร่องแถว ๆปทุมธานีก็เห็นต้นโต สูงใหญ่ร่วม 7-8 เมตร เขาก็ไม่มีปัญหาอะไรแต่โตช้าหน่อยเท่านั้นเอง