ส้มโชกุน:เคล็ดไม่ลับในการพิชิตส้มโชกุน

ปัญหาของการปลูกและผลิตส้มโชกุน

1.  ปัญหาผลแตกร่วงเสียหายมาก

2.  ปัญหาต้นทรุดโทรมเร็วอายุสั้น

จากปัญหาหลัก ๆ 2 ประการ วิธีการแก้ไขเพื่อพิชิตการปลูกส้มพันธุ์นี้

1.  เลือกแหล่งปลูกที่มีลักษณะดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี ดินมีอินทรียวัตถุสูงพอสมควร และที่บริเวณนั้นต้องไม่ใช่ที่ลุ่มน้ำขัง

2.  แหล่งปลูกต้องมีน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์จริง ๆ เพราะในระยะที่ผลส้มกำลังเจริญเติบโตต้องมีการให้น้ำอย่างเพียงพอจริง ๆ

3.  ควรใช้พันธุ์จากแหล่งต้นพันธุ์ที่แข็งแรง  ไม่ปรากฎอาการของโรค  หากเป็นไปได้ควรใช้กิ่งพันธุ์ส้มที่ใช้ต้นตอพันธุ์ต้านทานโรครากเน่า โคนเน่า และผลิตด้วยวิธีปลอดโรค หรือส้มปลอดโรคจะดีที่สุด

4.  ต้องจัดการควบคุมแมลงศัตรูพืชอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้แมลงพาหะนำเชื้อโรคจากภายนอกเข้ามาระบาดภายในสวน

5.  ต้องให้ปุ๋ยเคมี  อินทรียวัตถุและอาหารเสริมทางใบอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ  โดยเฉพาะวิธีการให้ปุ๋ยไปพร้อมน้ำ (Fertigation) จะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงในการให้ส้มโชกุนของท่านได้รับปุ๋ยและธาตุอาหารอื่น ๆ อย่างเพียงพอ

ส้มชนิดนี้ (หรือจะเรียกได้ว่าส้มโดยทั่วไป) เป็นพืชที่กินจุและตะกระยิ่งให้ผลผลิตสูงติดผลมากยิ่งต้องโด๊ปให้อย่างเพียงพอ มิเช่นนั้นต้นจะทรุดโทรมทำให้เกิดโรคแทรกจนแก้ไขลำบากในที่สุด

กรณีส้มโชกุนของชาวสวนบางรายในภาคใต้ เริ่มทดลองปลูกทีแรกแทบไม่ได้สนใจเลยต้นจึงไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่ควร ต่อมาภายหลังได้ให้ความสนใจดูแลรักษาอย่างดี ส้มโชกุนแปลงดังกล่าวสามารถให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ และเป็นพืชที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทำรายได้ดีเยี่ยม ผลตอบแทนไร่ต่อไร่ดีกว่าทุเรียนในยุคราคาแพงเป็นไหน ๆ

กรณีการเลือกแหล่งปลูกส้มโชกุนให้ได้ผลดีในปัจจุบันนั้น  ในประเทศไทยมีแหล่งปลูกที่เกษตรกรได้พิสูจน์ตัวเองไว้แล้วหลาย ๆ เขต เช่น ภาคเหนือ จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย (สภาพดินค่อนข้างเป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี) ภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งเขตหรือจุดที่ปลูกได้ล้วนแล้วแต่เป็นเขตที่ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทรายระบายน้ำได้ดี ดินไม่เป็นกรดจัดจนเกินไป มีแหล่งน้ำเพียงพอ นอกจากนี้ในเขตภาคตะวันตกคือ กาญจนบุรี เขตดินร่วนปนทรายและใกล้แม่น้ำก็สามารถปลูกได้ผลดีเช่นเดียวกัน

สังเกตได้ว่าแหล่งปลูกแต่ละพื้นที่นั้นจะมีข้อได้เปรียบเทียบที่แต่กต่างกันไป เช่น ในเรื่องของรส สีผิว ความหอมของเปลือก เขตภาคใต้อาจได้เปรียบในการคงเอกลักษณ์ของผิวและกลิ่นหอม  รวมทั้งคุณภาพเนื้อที่กลมกล่อม  ภาคเหนือได้เปรียบเรื่องสีผิวที่เป็นสีเหลืองทองในช่วงเทศกาลปีใหม่พอดีเพราะอากาศหนาวเย็น  ทำให้สามารถขายได้ราคาสูงเป็นพิเศษ

ภาคเหนือ  ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ฝนจะหมดเข้าสู่ฤดูแล้งก่อนภาคใต้ ทำให้การควบคุมรสชาติสามารถทำได้ดี ส่วนภาคใต้หากฝนยังไม่หมด รสชาติก็ยังจะติดเปรี้ยวมากกว่า แต่ก็ถือว่าเป็นเอกลักษณ์อีกแบบสำหรับผู้ที่ชอบลักษณะนี้

ทั้งหมดที่เล่าสู่กันฟังเพื่อตอกย้ำหลักการสำหรับท่านที่สนใจที่จะเริ่มฤดูใหม่ในการปลูกส้มพันธุ์นี้  สำหรับมือเก่าคงจะเข้าใจไม่ยากหรือลึกซึ้งอยู่แล้ว  ส่วนมือใหม่ต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ  มิเช่นนั้นจะเท่ากับเอาเงินไปทิ้งเปล่า ๆ แถมปวดหัวพาลให้เป็นโรคประสาท สู้เก็บเงินไว้กินดอกเบี้ยดีกว่า

ขอย้ำว่าการทำสวน ทฤษฎีหรือหลักการเป็นเพียงข้อพิจารณาขั้นพื้นฐานที่จะประกอบการพิจารณาตัดสินใจดำเนินการเบื้องต้น  ในภาคปฏิบัติจะมีตัวแปรอีกมากมายที่ท่านจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยตัวเอง แต่สำหรับส้มหากท่านได้เริ่มต้นโดยใช้เทคโนโลยี วางระบบสวน เลือกพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมตั้งแต่แรก ปัญหาจะน้อยกว่าพืชอีกหลายชนิด เพราะเทคโนโลยีเกี่ยวกับส้มในโลกแห่งพืชสวนถือว่าก้าวหน้ามาก สามารถวางแผนการผลิตเป็นอุตสาหกรรมได้แล้ว

สุดท้ายใครขอนำตัวเลขการลงทุนในการทำสวนส้มโชกุนมาให้นายทุนน้ำลายไหลเล่น ๆ เผื่ท่านเศรษฐีที่มีทุนและที่ดินเหลือจะได้พิจารณา หรือจะให้ช่วยหาทีมศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ(Feasibility Study) ก่อนจะดำเนินการก็ไม่ขัดข้อง ส่วนเกษตรกรรายย่อยหรือชาวสวนทั่วไป เคหการเกษตรบริการตอบจดหมายในคอลัมน์ฟรีอยู่แล้ว

เห็นตัวเลขข้างล่างแล้วอย่าตกใจ  ถ้าทุกอย่างพร้อมสามารถทำได้จริง ๆ หากไม่พร้อมก็พังได้เช่นกัน

รายได้กรณีทำการผลิตขายผลส้มโชกุนแซมด้วยมะละกอ พื้นที่ 300 ไร่

1.  มะละกอ 270 ไร่ ๆ ละ (8,000 กก.x 2 บาท) = 4,320,000/ปี (ปีแรกได้ผลผลิตเลย, คิดพื้นที่ปลูก 270 ไร่)

บางฤดูมะละกอสุกที่โรงงานรับซื้อกิโลกรัมละ 4 บาท จะได้เพิ่มเป็น 2 เท่า จากการประเมินไว้เพียง 2 บาท/กก.

รายได้จากมะละกอ 2 ปีแรก                                    = 8,640,000 บาท

2.  รายได้จากส้มปีที่ 4 ต้นละ 50 กก. ๆ ละ 25 บาท =      62,500 บาท/ไร่ (ไร่ละ 50 ต้น)                                            =16,875,000 บาท/270 ไร่

รายได้จากส้มปีที่ 5 ต้นละ 150 กก.                          =     187,500 บาท/ไร่ (25 บาท/กก.)                                         =50,625,000 บาท/270 ไร่

รายได้จากส้มปีที่ 6 ต้นละ 200 กก.                          =     250,000 บาท/ไร่                                                                      =67,500,000 บาท/270 ไร่

รายได้รวมเมื่อสิ้นสุดปีที่ 6                                                =135,000,000 บาท

การทำสวนเพื่อขายผลผลิตจะสามารถมีกำไรคืนทุนไม่เกินปีที่ 6 และกำไรปีต่อ ๆ ไปจะสูงขึ้นอีกจนถึงปีที่ 8

รายได้จะคงที่ไปจนถึง 15 ปีของอายุส้ม (มีเงื่อนไขว่าต้องมีการจัดการที่ดี)