หญ้าดับไฟ


ชื่อ
จีนเรียก  ซัวเก่าฮะ เล่าโฮ่วเหยี่ย กิมทึงซี้ กิมฮวยเช่า โทอั่งฮวย Solidago virgo – aurea Linn.

ลักษณะ
ชอบขึ้นริมคูนํ้า ในป่า เป็นพืชประเภทหญ้าล้มลุก พวกเดียวกับสร้อยทอง ลำต้นตรงสีนํ้าตาล สูง 1-2 ฟุต ใบขึ้นคู่ ใบใกล้โคนต้นมักใหญ่กว่าใบปลายต้น ในรูปกลมยาวรูปไข่ ยาวประมาณ 1-2 นิ้ว ขอบใบเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อย แต่ไม่แหลม ออกดอกที่ปลายกิ่ง เมื่อบานกลีบดอกจะมีสีเหลืองแบะหลุดออก คล้ายปากแตร

สรรพคุณ
ใช้รับประทานสามารถไล่ลม แก้แน่นคัด แก้พิษ ใช้ภายนอกสามารถแก้บวม แก้ปวด ฤทธิ์เข้าถึงปอดและม้าม

รส
รสขม ธาตุค่อนข้างร้อน ไม่มีพิษ

รักษา
ไอ เจ็บคอ เจ็บช้ำภายใน เจ็บปวดที่เอว ปวดเมื่อย ใช้ภายนอกแก้ฝีผื่นพิษ ผื่นคัน พิษงูกัด

ตำราชาวบ้าน
1. ไอเนื่องจากหวัดลมหวัดหนาว-หญ้าดับไฟ หญ้ารอยเท้าม้า อย่างละครึ่งตำลึง ต้มรับประทาน
2. ไอเรื้อรัง-หญ้าดับไฟ 1 ตำลึง ต้มกับปอดหมู รับประทาน
3. เจ็บคอ-หญ้าดับไฟ 1 ตำลึง ต้มใส่นํ้าตาลแดง รับประทานและเอาใบตำแหลก แล้วอม
4. ร่วมสังวาสพอดีหญิงมีประจำเดือนมา-เอาหญ้าดับไฟ ต้มนํ้าตาลแดง รับประทาน
5. ถูกทุบตีเจ็บชํ้าภายใน-หญ้านํ้าดับไฟ 1 ตำลึง ตำแหลกเอานํ้าตุ๋นกับเหล้า รับประทาน ส่วนกากใช้พอกที่เจ็บชํ้า
6. เป็นผื่นฝีพิษเจ็บบวม มือไม้เมื่อยล้า-หญ้านํ้าดับไฟ ตำกับเกลือ พอก ทา
7. ผิวหนังเป็นผื่นคัน-หญ้าดับไฟ ต้มล้าง
8. ฝีตะมอย-หญ้าดับไฟ ตำกับเหล้า พอก
9. งูพิษกัด-หญ้านํ้าดับไฟ 2 ตำลึง ตำกับเหล้า คั้นนํ้ารับประทาน ส่วนการใช้พอกปากแผล หรือใช้เป็นยาแก้พิษอย่างอื่นก็ได้

ปริมาณใช้
สดใช้ไม่เกิน 1 ตำลึง แห้งใช้ไม่เกินครึ่งตำลึง ใช้ภายนอกกะพอประมาณ

ข้อควรรู้
หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช