หญ้าปักกิ่ง รักษามะเร็งได้จริงหรือ?


ประวัติความเป็นมาของหญ้าปักกิ่ง

หญ้าปักกิ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายก็เพราะคุณณรงค์  สุทธิกุลพาณิช  ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 คุณณรงค์  เห็นลูกน้องของเพื่อนหายจากมะเร็งด้วยหญ้าปักกิ่งจึงรวบรวมเพื่อน ๆ ให้ช่วยกันปลูกหญ้าปักกิ่งแจกให้กับคนไข้มะเร็งที่ต้องการจะใช้หญ้าปักกิ่ง พร้อมทั้งมีการรวบรวมประสบการณ์การใช้หญ้าปักกิ่งในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ

จากการรวบรวมผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ใช้หญ้าปักกิ่งรักษาตนเอง ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งมดลูก มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งเต้านม เนื้องอกในสมอง มะเร็งม้าม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งกระดูก เป็นต้น

หลังจากนั้นคุณณรงค์ได้นำข้อมูลเหล่านี้พร้อมทั้งตัวอย่างหญ้าปักกิ่งไปมอบให้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.วีณา  จิรัจฉริยากุล ศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จากการศึกษาวิจัยค้นคว้าพบว่า หญ้าปักกิ่ง มีสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยยับยั้งมะเร็ง

ลักษณะของหญ้าปักกิ่ง

หญ้าปักกิ่งหรือหญ้าเทวดามีลำต้นสูง 7-10 ซม. บางทีสูงได้ถึง 20 ซม. ใบที่โคนต้นกว้างประมาณ 1 ซม. ยาวไม่เกิน 10 ซม. ใบตามลำต้นสั้นกว่าใบที่โคนต้น ดอกออกเป็นช่อที่ยอดรวมกันเป็นกระจุกแน่น กลีบดอกสีฟ้าหรือสีม่วงอ่อนรูปไข่กลับยาว 3-5 มม. ใบประดับกลม ยาวประมาณ 4 มม. ไม่ซ้อนกัน ร่วงง่าย เกสรตัวผู้ที่สมบูรณ์มี 2 อัน เกสรตัวผู้ที่ไม่สมบูรณ์มี 3 อัน ก้านเกสรมีขน รังไข่รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 มม.เกลี้ยง ก้านเกสรตัวเมียยาว 3 มม.ผลรูปไข่เป็นสามเหลี่ยม ปลายแหลมยาว 3-4 มมง มีเมล็ด 2 เมล็ด มีลายเป็นรัศมี

มีหญ้าหลายชนิดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับหญ้าปักกิ่งเช่นหญ้ามาเลเซียจึงควรต้องระวังในการเลือกมาใช้เพราะอาจจะเป็นอันตรายหรือไม่มีผลการรักษาตามที่ต้องการ

วิธีปลูกหญ้าปักกิ่ง

เริ่มจากการเตรียมดิน โดยพรวนดินให้ร่วนซุยแล้วตากแดดทิ้งไว้ 1-2 วัน ควรยกร่องดินให้สูงขึ้นเล็กน้อย เพราะหญ้าปักกิ่งชอบน้ำ แต่ต้องให้มีทางระบายออก ถ้าดินแฉะมีน้ำขัง รากจะเน่า นำหญ้าปักกิ่งที่แยกมาจากต้นอื่นมาปักลงในดินที่เตรียมไว้ห่างกันต้นละ 1 คืบ

อีกวิธีหนึ่งคือ ใช้เมล็ดปลูก โดยเอาเมล็ดจากดอกที่แก่แล้วมาขยี้ให้แตกแล้วโรยลงบนดินที่เตรียมไว้ประมาณ 12-15 วัน เมล็ดจะงอก หญ้าปักกิ่งที่ปลูกด้วยวิธีแยกต้นนำมาใช้เป็นยา ควรปลูกไม่ต่ำกว่า 3 เดือนขึ้นไป และถ้าวิธีเพาะเมล็ดต้องไม่ต่ำกว่า 5 เดือน หญ้าปักกิ่งชอบแดดรำไร ไม่ควรโดนแดดจัดทั้งวัน หรือร่มมากเกินไป เพราะใบเหลือง ควรรดน้ำวันละ 1 ครั้ง หน้าร้อนจะรดน้ำเพิ่มเป็น เช้า เย็น ก็ได้ ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุงดินและห้ามใช้ยาฆ่าแมลงเพราะหญ้าปักกิ่งที่ปนเปื้อนสารเคมีไม่เหมาะที่จะนำมาใช้รักษาโรค

วิธีเตรียม

นำต้นหญ้าปักกิ่งทั้งต้นทั้งราก มาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาแช่ด้วยนำเกลือ โดยผสมน้ำเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 กะละมังเล็ก (1 ลิตร)  หรือน้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 กะละมังเล็ก (1 ลิตร) แช่ทิ้งไว้ 20 นาที เพื่อฆ่าเชื้อต่าง ๆ

วิธีใช้

นำหญ้าปักกิ่งที่ล้างสะอาดแล้ว 3 ต้นมาตำให้ละเอียดในครกดินเผาหรือครกไม้(ควรเป็นครกใหม่) แล้วเติมน้ำต้มสุก 2 ช้อนโต๊ะ จากนั้นกรองผ่านผ้าขาวบาง เอาน้ำมาดื่ม น้ำจากหญ้าปักกิ่งที่ทำแต่ละครั้งควรเป็นหญ้าปักกิ่งสดและควรดื่มให้หมดในแต่ละครั้ง ไม่ควรทำค้างไว้ เพราะอาจทำให้สรรพคุณของยาเสื่อมได้ โดยผู้ใหญ่กินครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง คือ ก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วโมง และก่อนเข้านอนอีก 1 ครั้ง เด็กกินครั้งละ ½ -1 ช้อนโต๊ะ ของแสลงต้องห้าม ได้แก่ แตงกวา หน่อไม้ ผักบุ้ง ปลาเค็ม ปลาร้า เนื้อวัว

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เมื่อใช้หญ้าปักกิ่ง

อาการข้างเคียงจากการดื่มน้ำจากหญ้าปักกิ่ง ถ้ากินไปแล้วภายใน 7-10 วัน อาจจะมีอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ โมโหง่าย บางรายถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะมีสีเหมือนน้ำล้างปลา(ไม่เป็นทุกคน) อาการเช่นนี้จะเป็นอยู่ระยะหนึ่ง เพราะยากำลังออกฤทธิ์ ไม่ต้องตกใจ เพราะอาการจะหายไปเอง สำหรับบางคนถ้าดื่มน้ำคั้น เกิน 20 วันแล้วอาการของโรคที่รักษาไม่ดีขึ้น แสดงว่ายาไม่ถูกกับคนนั้น ควรจะหยุดยา บางคนกินแล้วอาจถูกกับโรค เพียงแค่ 10 กว่าวันเท่านั้นอาการจะดีขึ้น คนที่มีสภาพร่างกายเย็นเมื่อดื่มน้ำคั้นหญ้าปักกิ่งนอกจากจะมีอาการข้างเคียงดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็อาจจะมีอาการอย่างอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เท้าไม่มีแรง เป็นตะคริว รวมทั้งอาการท้องอืดเฟ้อ ซึ่งก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่ขิงแก่ 2-3 ชิ้น ลงไปต้มกับน้ำที่จะนำมาผสมกับหญ้าปักกิ่งในขั้นตอนการตำ

ความก้าวหน้าในงานวิจัย

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของหญ้าปักกิ่งคือ Murdannialorformis (Hassk) Rolla Rao et Kammathy อยู่ในวงศ์ Cornmelinaceae

ความคืบหน้าของการศึกษาวิจัยหญ้าปักกิ่ง ปัจจุบันสามารถหาสารมาตรฐานที่ใช้ควบคุมคุณภาพของหญ้าปักกิ่งได้แล้วเป็นกลุ่มสารที่ละลายน้ำได้ที่เรียกว่า กลัยโคไซด์ และ อะกลัยโคน ซึ่งสารทั้งสองแสดงฤทธิ์ในการยับยั้งเซลมะเร็งลำไส้ใหญ่ เซลมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า หญ้าปักกิ่งมีฤทธิ์ต้านมะเร็งทางอ้อมโดยผ่านระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งพบว่าหญ้าปักกิ่งมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

นอกจากการต้านเซลมะเร็งโดยตรงแล้วยังมีผู้รายงานถึงคุณสมบัติต้านการก่อกลายพันธุ์ของหญ้าปักกิ่ง ซึ่งอาจจะบ่งชี้ว่าหญ้าปักกิ่งมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดมะเร็งโดยที่หญ้าปักกิ่งสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดเอ็นไซม์ที่ย่อยสลายสารพิษ เช่น สารพิษพวกอัลฟาท๊อกซินและลดการเกิดอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของมะเร็ง

ประโยชน์ของหญ้าปักกิ่ง

จากการสัมภาษณ์คนไข้โดยคุณณรงค์ พบว่าหญ้าปักกิ่งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งดีขึ้น เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่ปอดรายหนึ่งไอมาก เวียนศีรษะตลอด มีอาการหอบหืดด้วย เมื่อมาใช้หญ้าปักกิ่งแล้วอาการไอหอบดีขึ้นมากผู้ป่วยบางท่านอาการหนักต้องฉีดยาวันละ 3 เข็ม และกินยานอนหลับทุกคืน หลังจากทดลองใช้หญ้าปักกิ่ง พบว่าอาการต่าง ๆ ดีขึ้น และไม่ต้องกินยานอนหลับแล้ว

อีกท่านหนึ่งเป็นมะเร็งที่ข้างคอ มีหนองออกมามาก มีกลิ่นเหม็น กินข้าวไม่ได้ น้ำหนักลด พอได้กินหญ้าปักกิ่ง ประมาณ 6 ครั้ง รู้สึกหลับสบาย กินข้าวได้ อาการดีขึ้น บางรายก็สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ดังนั้นหญ้าปักกิ่งจึงน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลที่ได้ก็สนับสนุนการใช้หญ้าปักกิ่งกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง จึงพอสรุปได้ว่าหญ้าปักกิ่งมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งบางชนิด โดยทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นและช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นในคนปกติ หญ้าปักกิ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการเป็นอาหารบำรุงสุขภาพเพราะมีสรรพคุณป้องกันมะเร็งได้ เพราะปัจจุบันคนเราต้องเผชิญกับสารพิษพวกอัลฟาท๊อกซิน และลดการเกิดอนุมูลอิสระ ทั้งมีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายแข็งแรง

บทสรุป

เราไม่สามารถกลาวว่าหญ้าปักกิ่งสามารถรักษามะเร็งได้เพราะการเกิดมะเร็งมีหลายเหตุหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยจากภายในและภายนอก ดังนั้นการรักษาทั้งกายและจิตเป็นสิ่งที่จำเป็น

หญ้าปักกิ่งเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ให้เซลมะเร็งมีการชะลอตัวหรือหยุดพัก ผู้ป่วยจะต้องมีจิตใจเข้มแข็งและเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นและความหวัง รวมทั้งการที่เราไม่ไปเพิ่มปัจจัยที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งอันอื่น เช่น จากอาหาร จากสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ

ดังนั้น หญ้าปักกิ่งจะได้ผลก็ต่อเมื่อใช้หญ้าปักกิ่งร่วมกับการรักษาสุขภาพกายใจและการใช้หญ้าปักกิ่งอย่างถูกต้อง ถูกวิธีถูกกับชนิดของเซลมะเร็ง เพราะมะเร็งบางชนิดหญ้าปักกิ่งก็ไม่มีผลดีนัก และผู้ป่วยต้องมีความอดทนที่จะใช้อย่างต่อเนื่อง มีความเชื่อมั่นในการใช้ ไม่ใช่ใช้ไปสักพักแล้วเลิก หันเหไปลองอันโน้นอันนี้บ้าง ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากหญ้าปักกิ่งได้อย่างเต็มที่

ผู้สนใจสามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม หรือสนใจเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ ชมรมหญ้าปักกิ่งต้านมะเร็ว 520/1-2 ซอย 16 ถนนเทศบาลรังรักษ์เหนือ เขตจตุจักร กทม. 10900 ติดต่อคุณเยาวดี  ฐานิตารมภ์ โทร 02-392-5299, 02-392-8186