หญ้ารอยเท้าม้า(จีน)ใช้รักษา


ชื่อ
จีนเรียก     เบ๊เต้ยกิม  ห่อยคักเช่า  จัวไจ่เช่า  นิวเกี๋ยเช่า  Dichondra repens  Forst.

ลักษณะ
ชอบขึ้นตามริมเนินดินในนา ริมคูน้ำ ที่ลุ่มที่ชื้น เป็นพืชล้มลุกหลายปี ไม่มีชื่อไทย ลำต้นอ่อนมักเลื้อยตามบนดินออกใบและรากตามข้อ ขยาย พันธุ์ไปเรื่อย ลำต้นและใบมีขนปุยประปราย ใบออกสลับกัน ก้านใบยาวประมาณนิ้วกว่าๆ รูปใบกลมคล้ายรอยเท้าม้า กว้างประมาณ 3-4 หุน ขอบใบเรียบ ขั้วใบแหว่ง ออกดอกเล็กๆ หน้าฝนกิ่งละดอก จุกดอกสีเหลืองแตกเป็น 5 แฉก มีกระเปาะดอกออกลูกกลมสีแดง

รส
ฝาดนิดๆ ธาตุไม่ร้อนไม่เย็น ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
ขับลม ไล่ความเย็น แก้แน่นคัด แก้ปวด ฤทธิ์เข้าถึงลำไส้และกระเพาะ

รักษา
ปวดท้องเพราะถูกความเย็น ปวดท้องเพราะมากในกามกิจ ปวด
ท้องเพราะหวัดร้อน ปวดคัดหน้าอกเพาะถูกของแข็ง ปัสสาวะไม่คล่อง เด็กมีเสลดเพราะลม

ตำราชาวบ้าน
1. ปวดท้องถูกความเย็น – ใบรอยเท้าม้า 1 ตำลึงตำแหลกเอานํ้ารับประทานกับเหล้า ส่วนกากคั่วร้อนแล้วพอกที่ท้อง
2. ปวดท้องเพราะมากในกามกิจ -หญ้ารอยเท้าม้า ใบบัวบก โด่ไม่รู้ล้ม หญ้าเกล็ดหอย  อย่างละ 1 ตำลึง ตำแหลกใส่เหล้า 2 ตำลึง ตุ๋นรับประทาน ส่วนกากพอกใต้สะดือ
3. ปวดท้องเพราะหวัดแดด-หญ้ารอยเท้าม้าใบบัวบกโด่ไม่รู้ล้ม อย่างละ 1 ตำลึง ตำเอานํ้า ชงเหล้านิดหน่อยรับประทาน หรือต้มนํ้าใส่นํ้าตาลแดง
4. ถูกของแข็งปวดเสียดคัด – หญ้ารอยเท้าม้า 1 ตำลึง ตำเอาตุ๋นกับเหล้า
5. ไตกระทบของแข็ง ปัสสาวะไม่คล่อง – หญ้ารอยเท้าม้า 1 ตำลึง ตำเอานํ้าผสมเหล้า รับประทาน
6. เด็กมีเสลดเพราะลมขึ้น – หญ้ารอยเท้าม้า 1 ตำลึง ตำแหลกเอานํ้าผสมนํ้าผึ้ง รับประทาน

ปริมาณใช้
ใช้สดไม่เกิน 1 ตำลึง แห้งไม่เกินครึ่งตำลึง

ข้อควรรู้
หญิงมีครรภ์ ห้ามรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช