หญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ออโธซิฟฟอน แกรนดิฟลอรัส (Orthosiphon grandiflorus, Bold, or O. stamineus, Benth. ) อยู่ในตระกูลแลบไบเอตี้ ( Labia tae) ภาษาอังกฤษเรียกใบชาชะวา (Kidney Plant or Java Tea) บางท้องถิ่น เรียกว่า พยัพเมฆหรือหญ้าหนวดเสือที่เรียกพืชชนิดนี้ว่าหญ้าหนวดแมวเนื่องจากเกสรตัวผู้ยื่นยาวออกมาพันกลีบดอกมีลักษณะคล้ายหนวดแมว หญ้าหนวดแมวเป็นพืชเล็กๆ จำพวกหญ้า ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยมคล้ายพวกกะเพราหรือแมงลัก ลำต้นสีเขียวทอดยาวประมาณ ๒ ฟุต ขอบใบหยักออกตรงขามกัน ภายในใบหญ้าหนวดแมวประกอบด้วยเกลือของโปแตสเซียมในปริมาณที่สูง มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ โดยเฉพัผู้ที่เป็นโรคไตและโรคบวมนํ้า ใช้ใบพืชชนิดนี้ชงดื่มต่างน้ำ และช่วยบรรเทาอาการปวดและบวมตามข้อ นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือด ในคนที่เป็นโรคเบาหวานและลดความดันโลหิตได้ดี เกลือโปแตสเซี่ยมและสารอีกชนิดหนึ่งในใบหญ้าหนวดแมวคือ ออร์โธซิพโฟนิน ( orthosiphonin ) มีสรรพคุณทำให้กรดยูริค ( Uric acid) และเกลือยูเรทไม่สะสมที่ไต เพราะถ้ากรดยูริคและเกลือยูเรทสะสมที่ไตมากจะทำให้ปวดข้อ (gout) ดอกออกที่ยอดต้นลักษณะคล้ายฉัตรเป็นชั้นยาวประมาณ ๕ ฟุต สีขาวอมม่วงอ่อน มีเกสรตัวผู้ยื่นออกมาพันกลีบดอกคล้ายหนวดแมวหรือหนวดเสือ ลักษณดอกสวย น่าดูมาก ปลูกไว้เป็นไม้ประดับได้สวยงามดี พืชนี้มีถิ่นกำเนิดแถวอินเดียสามารถปลูกขึ้นได้ดีในเขตร้อนทั่วๆ ไป

ตามความเชื่อของแพทย์แผนโบราณ เชื่อว่าใช้ทั้งต้นของหญ้าหนวดแมวหนั่เป็นชิ้นเล็กๆ ผึ่งแดดพอหมาดๆ แล้วคั่วไฟพอหอม ชงน้ำดื่มแทนน้ำชาช่วยขับปัสสาวะ ปวดเมื่อยตามเอว แก้นิ่ว แพทย์แผนโบราณเชื่อว่าหญ้าหนวดแมวเป็นยากดหัวใจเล็กน้อย จึงใช้เนื้อไม้ของต้นแสลงใจหรือต้นพระจันทร์ครึ่งซีกผสมลงไปด้วยเล็กน้อยเพื่อป้องกันการกดหัวใจ และช่วยบำรุงปอดให้ทำงานดีขึ้น       .

สรุปสรรพคุณ

ใบหญ้าหนวดแมวมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตและโรคบวมน้ำ บรรเทาอาการปวดและบวมตามข้อ ลดน้ำตาลในเลือด และลดความดันโลหิต

แพทย์แผนโบราณเชื่อว่าใช้ทั้งต้นคั่วไฟผสมกับต้นแสลงใจหรือต้นพระจันทร์ครึ่งซีก ชงน้ำดื่มช่วยขับปัสสาวะ ปวดเมื่อยตามเอว แก้นิ่ว ช่วยบำรุงปอดทำให้ทำงานดีขึ้น