หญ้าแฝก:ปลูกแฝกในสวนพุทราพลิกฟื้นผืนดินทรายให้ชุ่มชื้น

สภาพดินทรายที่ไม่อุ้มน้ำ น้ำระเหยและซึมลงดินในระยะเวลาอันรวดเร็ว  อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ลาดเทเกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ในพื้นที่ ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องเลือกที่จะปลูกอ้อยและมันสำปะหลังเท่านั้น  เนื่องจากสภาพดินไม่เหมาะสมที่จะปลูกพืชชนิดอื่น  ซึ่งนับวันผลผลิตอ้อยและมันสำปะหลังก็ตกต่ำลงเรื่อย ๆ เป็นปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่

นายวิกุล  กงสะเด็น  หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน เป็นเกษตรกรผู้หนึ่งที่ประสบปัญหาดังกล่าว  จึงตั้งใจเปลี่ยนจากการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง มาทำการเพาะปลูกไม้ผล ซึ่งน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยอาศัยประสบการณ์ที่เคยไปรับจ้างอยู่ในสวนที่ จ.นครปฐม ปลูกไม้ผล เช่น พุทรา ฝรั่ง ชมพู่

หมอดินวิกุล เล่าว่า ตนได้นำความรู้และประสบการณ์เมื่อครั้งไปรับจ้างทำสวนไม้ผลอยู่ 9 ปี มาลองปลูกในพื้นที่ของตนเอง แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ไม้ผลไม่เจริญเติบโต แคระแกร็น  เพราะปัญหาในเรื่องของสภาพดิน ทำให้ต้องขวนขวายหาความรู้ด้านการปรับปรุงดินจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะได้รับความรู้จากสถานีพัฒนาที่ดินขอนแก่นในเรื่องการปลูกหญ้าแฝกช่วยรักษาให้ดินชุ่มชื้นได้ตลอดปี  และได้รับการสนับสนุนกล้าหญ้าแฝกมาด้วย ตนจึงเริ่มลงมือปลูกหญ้าแฝกมาตั้งแต่ปี 2548

ด้วยความสนใจและตั้งใจทำการปลูกหญ้าแฝกอย่างจริงจังไม่นานนักผืนดินจำนวน 8 ไร่ ที่ปลูกไม้ผลซึ่งส่วนใหญ่ปลูกพุทราเป็นหลักก็มีสภาพเปลี่ยนไป หญ้าแฝกเริ่มทำหน้าที่ของพืชมหัศจรรย์ ช่วยให้ดินมีสภาพดีขึ้นสามารถรักษาความชุ่มชื้นในดินได้นาน ช่วยดักตะกอนดินและปุ๋ยไม่ให้ไหลไปกับน้ำยามหน้าฝน

การปลูกหญ้าแฝกทำให้ผลผลิตในสวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หมอดินวิกุล ได้เก็บข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบและหาบทพิสูจน์ว่าหญ้าแฝกดีจริงหรือไม่  ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ก่อนดำเนินการปลูกหญ้าแฝก ผลผลิตพุทราได้จำนวน 732 กก./ไร่ หลังดำเนินการปลูกหญ้าแฝกผลผลิตพุทราเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 915 กก./ไร่ เมื่อผลเป็นที่ยอมรับว่าดีจริง เขาก็ได้สมัครเข้าเป็นหมอดิน อาสาประจำหมู่บ้านของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้การใช้ประโยชน์หญ้าแฝกให้เกษตรกรคนอื่น ๆ  ซึ่งสวนของเขาได้รับคัดเลือกจากสถานีพัฒนาที่ดินขอนแก่น  ให้เป็นจุดเรียนรู้การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ปลูกไม้ผล

การปลูกหญ้าแฝกในจุดเรียนรู้แห่งนี้เป็นวิธีการปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนไม้ผล  โดยปลูกหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลทุกแถว หรือเว้น 1-2 แถวจึงปลูกหญ้าแฝก 1 แถว ที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผลและปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมโดยให้ห่างจากโคนต้นไม้ผลประมาณ 1.5-2 เมตร และให้รูปครึ่งวงกลมหงายรับน้ำที่ไหลบ่ามาเพื่อกักเก็บน้ำและตะกอนดิน  ในขณะที่ไม้ผลยังเล็กสามารถตัดใบหญ้าแฝกมาคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นได้  เมื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นร่มเงาจะคลุมพื้นที่หญ้าแฝกจะตายกลายเป็นอินทรียวัตถุในดินต่อไป  นอกจากนี้เขายังมีแปลงหญ้าแฝกที่ปลูกไว้เพื่อนำมาซ่อมแซมหญ้าแฝกที่เสียหายหรือตายไป  รวมทั้งแจกจ่ายให้เกษตรกรที่สนใจด้วย

ความสำเร็จจากการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกในพื้นที่ของตนเอง และเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกร ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้และแจกจ่ายกล้าหญ้าแฝกให้ผู้ที่สนใจได้รู้จักกับพืชมหัศจรรย์นี้ ทำให้ หมอดินวิกุล ได้รับการเสนอผลงานเข้าสู่การประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2550 และคว้ารางวัลประเภทการปลูก : บุคคล ซึ่งทุกวันนี้หมอดินวิกุล ก็ยังคงเดินหน้าเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกหญ้าแฝกเพื่อพลิกฟื้นผืนดินให้อุดมสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง

“รู้สึกภูมิใจที่ได้ปลูกหญ้าแฝกตามพระราชดำริของในหลวง และภูมิใจที่ได้รับรางวัลการปลูกหญ้าแฝก  ซึ่งการปลูกหญ้าแฝกทำให้ดินอุ้มน้ำได้ดี หน้าดินไม่ถูกชะล้าง เพราะมีหญ้าแฝกกั้นอยู่ เหมือนอยู่พื้นที่เรียบ ๆ ทั้งที่มีการลาดเท ผลผลิตก็เพิ่มขึ้น” หมอดินวิกุล กล่าวย้ำ

หญ้าแฝกนั้นยังมีวิธีการใช้ประโยชน์อีกหลายรูปแบบ หากเกษตรกรสนใจขอรับความรู้เพิ่มเติมได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด และสำนักงานพัฒนาที่ดินทั้ง 12 เขต หรือหมอดินอาสาใกล้บ้าน