หญ้าแฝก:เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการปักชำหญ้าแฝก

เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการปักชำหญ้าแฝก

วิทูร  ชินพันธุ์  กองอนุรักษ์ดินและน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน จตุจักร กทม. 10900

ขอเริ่มต้นด้วยคำพังเพยที่ว่า “what was new was fault” หรืออะไรก็ตามที่เป็นของใหม่หรือแนวความคิดใหม่  ดูเหมือนจะผิดไปเสียทั้งหมด แต่ “what was true was old” อะไรก็ตามที่พิสูจน์ทราบแล้วว่าเป็นความจริง  ก็มักจะบอกว่าเขารู้กันมาตั้งนานแล้ว พฤติกรรมดังกล่าวมักจะประสบเสมอในขบวนการเรียนรู้หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี  ทั้งนี้ก็เนื่องจากความหลากหลายของความคิดและประสบการณ์ การตีความหมายจะขึ้นอยู่กับข้อมูลและเงื่อนไข  จึงไม่แปลกอะไรกับคำพังเพยดังกล่าวข้างต้น  การปักชำหญ้าแฝกก็เช่นเดียวกัน  บางทีอาจจะเห็นว่าเป็นของใหม่  หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ทำกันจนประสบความสำเร็จมาแล้วก็ตาม ขอให้ถือเสียว่า “รู้ไว้ ใช่ว่า…”  ซึ่งก็คงจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง

หลักการปักชำก็เหมือนกับพืชอื่น ๆ ทั่วไป คือ การจัดการความชื้น อุณหภูมิและแสงแดดให้เหมาะสม โดยใช้น้ำเป็นปัจจัยหลัก (Key facter) หรือ “น้ำคือชีวิต” น้ำจะเป็นตัวหลักในการปรับความชื้นและอุณหภูมิ ซึ่งการปักชำหญ้าแฝกสามารถกระทำได้ดังนี้

(1)  การปักชำหญ้าแฝกกลางแจ้ง ซึ่งได้รับแสงแดดตลอดเวลา  จะต้องใช้ระบบพ่นน้ำฝอยเพื่อปรับความชื้นและอุณหภูมิบ่อย ๆ  อย่างไรก็ตามข้อควรระมัดระวังก็คือ เครื่องปลูกหรือดินในภาชนะ  เช่น ถุงเพาะชำ หรือกระถาง  จะต้องมีความสัมพันธ์กับระบบการให้น้ำดังกล่าวคือ จะต้องมีการระบายน้ำดี  อากาศถ่ายเทสะดวกหรือที่เรียกว่าดินชื้นแต่ไม่แฉะ  โดยทั่ว ๆ ไป จะมีทรายและขี้เถ้าแกลบเป็นส่วนผสม

(2) ถ้าหากไม่มีระบบการให้น้ำแบบพ่นฝอย  ก็สามารถประยุกต์หลักการดังกล่าวไปใช้ได้  คือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่  หรือวางถุงปักชำในคอกที่มีพลาสติกใสคลุม  ในกรณีที่ปักชำไม่กี่ต้น ก็ปักชำในกระถางหรือถุงพลาสติก  แล้วใช้ขี้เถ้าแกลบผสมทรายเป็นเครื่องปลูก นำกระถางหรือถุงพลาสติกที่ปักชำกล้าหญ้าแฝกแล้วใส่เข้าไปในถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่  รดน้ำให้ชุ่มแล้วผูกปากถุงไว้ วิธีการนี้เรียกกันในหมู่นักขยายพันธุ์ต้นไม้ใบหญ้าว่า “ไอ ซี ยู”  แต่มีข้อควรระวังคือจะต้องอยู่ภายในเรือนเพาะชำหรือที่มีแสงรำไร  เพื่อไม่ให้เกิดความร้อนหรืออุณหภูมิภายในถุงสูงเกินไป  ซึ่งจะทำให้ตายนึ่งหรือเกิดเชื้อรา  ใช้เวลาไม่เกินสามสัปดาห์  เปิดปากถุงพลาสติกแล้วเลี้ยงตามปกติ

สำหรับกรณีขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากก็สามารถทำได้โดยการกั้นคอกด้วยไม้กระดาน หรืออิฐบล็อก เช่น วางอิฐบล็อก กว้างประมาณหนึ่งเมตร ยาวสี่เมตร วางเพียงชั้นเดียวก็พอ ชำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติก  โดยใช้ขี้เถ้าแกลบกับทรายเป็นเครื่องปลูกเช่นเดียวกัน  แล้วนำไปวางในคอกดังกล่าว เรียงให้ชิดติดกัน รดน้ำให้ชุ่มแล้วคลุมด้วยพลาสติดใสโดยตลอด ผูกเชือกฟางหรือลวดไว้กับหลักเพื่อเป็นโครงปิดด้านข้างและหัวท้าย  ทับริมพลาสติกใสให้มิดชิด  วิธีนี้จะต้องทำภายในเรือนเพาะชำหรือที่มีแสงรำไรเช่นเดียวกัน  ใช้เวลาไม่เกินสามสัปดาห์ เปิดพลาสติกใสที่คลุมออกสาเหตุที่ทำคอกกั้น  ก็เนื่องจากป้องกันไม่ให้ถุงเพาะชำมีการเคลื่อนไหวหรือล้ม ซึ่งจะเป็นการรบกวนหรือกระทบกระเทือนการงอกของราก การปักชำในถุงพลาสติกขนาดเล็กและวางไว้ในคอกขนาดกว้างหนึ่งเมตร  ยาวสี่เมตรนี้อาจเพาะชำกล้าหญ้าแฝกได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันต้น

(3)  กรณีกล้าหญ้าแฝกเหลือจากการปักชำตามข้อ (1) และ (2) ก็สามารถเก็บไว้ปลูกในวันต่อไปได้  โดยมัดรวมกันเป็นกระจุกคล้ายมัดกล้าข้าวแล้วใส่ลงไปในถุงพลาสติกใส  เติมน้ำลงไปเล็กน้อย พอให้เกิดความชุ่มชื้น  ผูกปากถุงพลาสติกเก็บไว้ในเรือนเพาะชำหรือที่มีแสงรำไรภายในสามวัน แต่ไม่ควรเกินห้าวัน รากใหม่ของหญ้าแฝกจะงอกออกมาจากข้อลำต้น ซึ่งเป็นรากขนาดโต  และรากฝอยจะงอกออกมาจากรากเดิม  รากที่งอกใหม่อาจยาวมากกว่าหนึ่งเซนติเมตร  นอกจากนี้ยังมีหน่อใหม่งอกออกมาด้วย  จากนั้นจึงนำกล้าหญ้าแฝกดังกล่าวไปปลูก  กรณีนี้สามารถปลูกลงในดินผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในกระถางหรือถุงพลาสติกได้ทันที  ให้ส่วนที่เป็นโคนต้นและหน่อที่งอกออกมาใหม่นั้นอยู่เหนือดิน

การดูแลรักษาหญ้าแฝกที่ปักชำและปลูกตามวิธีที่ (2) และ (3) ควรปลูกเลี้ยงในโรงเรือนเพาะชำหรือที่มีแสงรำไรไม่เกิน 3 สัปดาห์  หลังจากนั้นต้องให้ได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่เหมือนหญ้าทั่ว ๆ ไป ซึ่งต้องการแสงมาก กล้าหญ้าแฝกจะตั้งตัวหลังจาก 3 สัปดาห์ผ่านไป และจะเจิรญเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจาก 8 สัปดาห์ การให้ปุ๋ยควรระมัดระวัง หากให้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไปหญ้าแฝกจะอวบน้ำ  ใบอ่อนกล้าจะไม่แข็งแรง หลังจากเลี้ยงกล้าหญ้าแฝกได้ 12 สัปดาห์ ควรมีการเตรียมกล้าหญ้าแฝกให้มีความแข็งแรง  โดยการเตือนกล้าหญ้าแฝกด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น งดการให้ปุ๋ย ให้น้ำน้อยลง หรือฝึกให้กระทบแล้งก่อนที่นำไปปลูกหรือแยกขยายพันธุ์ต่อไป  ทั้งนี้เพื่อให้หญ้าแฝกสามารถปรับตัว  ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี

อนึ่งกล้าหญ้าแฝกที่นำมาปักชำตามข้อ  (1) (2) และ (3) นั้นควรเป็นกล้าที่ตัดใบออกให้เหลือความยาวของต้นกล้าประมาณ 20 เซนติเมตร และตัดรากให้เหลือความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร

เทคนิคต่าง ๆ  ในการปลูกหญ้าแฝกจะได้นำมาเสนอในโอกาสอันควรต่อไป