หนุมานประสานกายมีประโยชน์อย่างไร


ชื่อวิทยาศาสตร์ Schefflera leucantha Viguier
ชื่ออื่นๆ ว่านอ้อยช้าง (เลย) ชิดฮะลั้ง (จีน)
ลักษณะ เป็นไม้พุ่มแกมเลื้อย ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงสลับกัน มี 5-8 ใบ ใบย่อย ฐานและปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมันค่อนข้างแข็ง และเหนียว ก้านใบประกอบยาวประมาณ 6-8 ซ.ม. แผ่นใบกว้าง 2-4 ซ.ม. ยาว 5-8 ซ.ม. ดอก ออกเป็นช่อ จัดเป็น compound umbel ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีเขียว ช่อดอกยาวประมาณ 7-12 ซ.ม. ผล อวบนํ้า รูปไข่ สีเขียว แก่จัดสีแดงเหมือนสีเหล้าองุ่น
ส่วนที่ใช้ ใบสด
สารสำคัญ มี 2 ชนิด ชนิดแรกมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมขยาย แต่ไปกดหัวใจ อีกชนิดหนึ่งมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมตีบและไปกระตุ้นหัวใจ เป็นสารพวก ซาโปนีนมี 5 ชนิด ขณะนี้ยังหาสูตรโครงสร้างของสารอยู่ นอกจากนั้น ในใบมี butulinic และ oleic acid น้ำตาล D-glucose, D-xylose ฯลฯ
ประโยชน์ทางยา ยาไทยใช้เป็นยาแก้หืด ใช้ใบย่อยสด 9-12 ใบตำให้ละเอียด เติมนํ้า 1 แก้ว คั้นแต่น้ำดื่ม รับประทานให้หมดในครั้งเดียว รับประทานจนกว่าจะหาย แต่ถ้าเป็นหวัดใช้รับประทาน 6-7 ครั้ง ควรจะหาย ใบสด โขลกเติมเหล้าโรง คั้นนํ้ารับประทานแก้อาเจียนเป็นเลือด
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ