หนู:ศัตรูปาล์มน้ำมัน

เสริมศักดิ์  หงส์นาค และพวงทอง  บุญทรง

กลุ่มงานสัตววิทยาการเกษตร กองกีฏและสัตววิทยา

กรมวิชาการเกษตร

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษกิจพืชหนึ่งของไทย ปลูกมากทางภาคใต้ มักทำกันเป็นรูปบริษัทโดยปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่ สภาพทางภาคใต้ของไทยอุดมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ดังนั้นเมื่อปลูกปาล์มน้ำมันจึงมีสัตว์พวกหนู่ เม่น หมูป่า อีเห็น กระรอก และกระแตเข้าทำลายสวนปาล์ม ในบรรดาสัตว์ดังกล่าว หนูนับว่าเป็นสัตว์ที่ทำความเสียหายแก่สวนปาล์มมากที่สุด โดยพบว่าปาล์มน้ำมันถูกหนูกัดทำความเสียหายถึงประมาณ ๖-๓๖ เปอร์เซ็นต์

สาเหตุที่หนูระบาดสวนปาล์ม

พื้นที่ป่าเมื่อถูกบุกรุกเพื่อปลูกสร้างสวนปาล์ม สภาพนิเวศน์จะเปลี่ยนไป ศัตรูธรรมชาติของหนูไร้ที่อยู่ ต่อมาอาจจะตายหรือหนีหายไป ทำให้สมดุลย์ธรรมชาติเสียไป ในฤดูฝน พื้นที่บางแห่งจะเป็นแอ่งน้ำ พื้นดินร่วนซุยเหมาะที่หนูจะขุดรูทำรังอยู่ใกล้ๆ แหล่งน้ำ เมื่อเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมัน พื้นที่เหล่านี้จึงกลายเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของหนู หนูจะขยายพันธุ์ออกลูกออกหลานและเข้าทำลายสวนปาล์ม ต้นปาล์มจะถูกหนูกัดทำความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของปาล์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปาล์มที่มีอายุ ๗ ปีขึ้นไป ซึ่งกำลังให้ผลผลิตเต็มที่ จะถูกหนูทำลายมาก

ลักษณะการทำลายและความเสียหาย

หนูจะทำความเสียหายปาล์มน้ำมัน ๒ ระยะ คือ

ระยะที่ ๑ ตั้งแต่ปาล์มเริ่มปลูกใหม่จนถึงระยะเริ่มให้ผลผลิต (อายุ ๑-๔ ปี) ในช่วงที่ปาล์มมีขนาดเล็กเช่นนี้ สภาพพื้นที่ในสวนปาล์มมักนิยมปลูกพืชคลุมดิน หรือไม่ก็มีวัชพืชขึ้นรกรุงรังแทนที่ ซึ่งเหมาะสำหรับการเป็นที่หลบอาศัยของหนูชนิดต่างๆ โดยหนูจะเข้ามากัดทำลายโคนต้นอ่อน ยอดต้นอ่อนและทางใบปาล์มส่วนที่อยุ่ติดกับพื้นดิน หากร่องรอยการทำลายมีมาก โดยเฉพาะที่โคนต้นอ่อนจะทำให้ต้นปาล์มแห้งตายในที่สุด

ระยะที่ ๒ เป็นระยะที่ปาล์มให้ผลผลิต (อายุ ๕-๒๕ ปี) หนูจะเป็นปัญหามากที่สุด  โดยจะกินทั้งผลปาล์มดิบและสุกเป็นอาหารหลัก นอกจากนี้ช่อดอกเกสรตัวผู้ของปาล์มยังเป็นแหล่งอาศัยของตัวอ่อนของด้วงผสมเกสรในสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นอาหารของหนูอีกชนิดหนึ่งด้วย ด้วยเหตุนี้เราอาจใช้ร่องรอยการทำลายของหนูบนช่อดอกเกสรตัวผู้ที่บานและแห้งแล้ว เป็นตัวชี้ว่าสวนปาล์มนั้นมีจำนวนประชากรหนูอยู่มากหรือน้อยโดยคร่าวๆไดด้

ชนิดของหนูศัตรูปาล์มน้ำมัน

๑.  หนูพุกใหญ่หรือหนูแผง พบมากในสวนปาล์มน้ำมันที่อายุไม่เกิน ๔ ปี โดยเฉพาะที่มีป่าหญ้าคาและหญ้าขนขึ้นในพื้นที่ เนื่องจากหนูชนิดนี้ปกติมีขนาดใหญ่ จึงไม่ชอบปีนป่ายต้นไม้ แต่มันจะกัดกินโคนต้นอ่อน ทางใบและลูกปาล์มที่ติดอยู่กับพื้นดินเท่านั้น จากการสำรวจพบหนูพุกใหญ่กัดกินต้นอ่อนที่อำเภอเมือง จังหวัดตรัง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

๒.  หนูฟันขาวใหญ่ พบเพียงเล็กน้อยในสวนปาล์มน้ำมันที่อยู่ริมคูน้ำระหว่างเนินเขาและติดชายป่า หนูชนิดนี้มีขนาดใกล้เคียงกับหนูพุกใหญ่ ต่างกันที่หนูพุกใหญ่มีแผงขนที่บริเวณด้านหลังและท้องสีเทาเข้ม นิสัยดุร้าย ส่วนหนูฟันขาวใหญ่จะไม่มีแผงขนที่หลัง ขนที่ท้องสีครีม และนิสัยเชื่อง ไม่ดูร้าย หนูฟันขาวใหญ่ทำลายต้นปาล์มอ่อนเช่นเดียวกับหนูพุกใหญ่ จากการสำรวจพบหนูฟันขาวใหญ่ในสวนปาล์มน้ำมันของศูนย์วิจัยพืชสวนสุราษฏร์ธานีและสวนปาล์มน้ำมันพรทวี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

๓.  หนูฟานเหลือง ปกติพบในสภาพป่าทุกประเภทในประเทศไทย พบเพียงเล็กน้อยในสวนปาล์มน้ำมันที่มีอายุ ๕ ปีแล้วและอยู่ติดชายป่าหนูฟานเหลืองเป็นหนูขนาดกลางหน้าขาวด้านหลังสีเหลืองส้มปนขนสีดำประปราย ท้องสีขาวครีมล้วนๆ หางมี ๒ สี ด้านบนสีดำด้านล่างสีขาวปลายหางยาว อุปนิสัยเชื่องช้า ไม่ดุร้าย อาหารในธรรมชาติคือ รากไม้ ผลไม้ แมลง หอย จากการสำรวจพบหนูฟานเหลืองในสวนปาล์มเกษตรกรในพื้นที่ของนิคมสร้างตนเอง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล

๔.  หนูนาใหญ่ เป็นศัตรูที่สำคัญในสวนปาล์มที่อายุระหว่าง ๔-๗ ปี พบมากในภาคกลางและภาคใต้ ชอบอาศัยในดงหญ้ารกใกล้ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ชอบขุดรูบนพื้นดินที่มีวัชพืชขึ้นปกคลุม รังหนูอยู่ลึกจากระดับพื้นดินไม่เกิน ๐.๕ เมตร สภาพที่น้ำท่วมผิวดินหนูจะอพยพหนีน้ำไปหาแหล่งอาศัยที่น้ำท่วมไม่ถึง เช่น มันจะทำรังในดงหญ้าโดยหักใบหญ้ามาสุมทำรังเหนือระดับน้ำ จากการสำรวจพบในสวนปาล์มที่มีอายุระหว่าง ๔-๗ ปี

๕.  หนูท้องขาว พบมากที่สุดในสวนปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะเมื่อปาล์มน้ำมันเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่ ในประเทศไทยหนูชนิดนี้กำลังเป็นปัญหาที่สำคัญในสวนปาล์มที่มีอายุ ๖ ปีขึ้นไป เช่นที่ จังหวัดสตูล กระบี่ สุราษฎร์ธานีและชุมพร จากการดักหนูในพื้นที่ดังกล่าวพบว่า ขนด้านท้องมีความแตกต่างกันมาก ตั้งแต่สีขาวปนครีม สีน้ำตาลปนเอาอ่อน สีน้ำตาลปนเทาส้ม สีเทาเข้ม ฯลฯ ซึ่งพอจะจำแนกเป็นชนิดย่อยได้ดังนี้

๕.๑ หนูป่ามาเลย์ พบมากในสวนป่าละเมาะ ดงหญ้าที่เกิดภายหลังการเปิดป่าใหม่ ป่าโกงกาง พบเฉพาะในภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป โดยเฉพาะในสวนปาล์มน้ำมันทางภาคใต้ของประเทศไทย จัดว่าเป็นชนิดที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุดในสวนปาล์มน้ำมัน

หนูป่ามาเลย์ชอบกินลูกปาล์มทั้งดิบและสุกตลอดจนดอกตัวเมียและดอกตัวผู้ด้วย มีข้อสังเกตอีกว่าเมื่อหนูป่ามาเลย์กินลูกปาล์มสุกมันชอบขนลูกปาล์มไปกินในกองทางใบ ซึ่งชาวสวนนิยมตัดทางใบเก่าทิ้งแล้วนำไปกองเป็นแถวระหว่างต้นปาล์มในสวนนั้น บ่อยครั้งที่พบซากเมล็ดปาล์มกองอยู่เป็นจำนวนมากในกองทางใบนี้ หนูป่ามาเลย์จะเริ่มเข้าทำลายปาล์มตั้งแต่ปาล์มอายุ ๔ ปีขึ้นไป และจะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วเป็นศัตรูปาล์มน้ำมันที่สำคัญที่สุด

๕.๒  หนูบ้านมาเลย์ พบในทุ่งหญ้าที่อยู่ติดต่อกับหมู่บ้านหรือเมือง ในสวนปาล์มน้ำมันทางภาคใต้ของประเทศไทย ในมาเลเซียหนูชนิดนี้จะมีชุกชุมในเมืองและหมู่บ้านทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายา แพร่กระจายไปถึงทุ่งหญ้าของเกาะสิงคโปร์ เป็นหนูศัตรูปาล์มน้ำมันอีกชนิดหนึ่ง

๕.๓  หนูท้องขาวสิงคโปร์ อาศัยอยู่ตามป่าละเมาะและป่าหญ้าที่เกิดจากการเปิดป่าใหม่ พบตั้งแต่ภาคใต้ของประเทศไทยลงไปถึงคาบสมุทรมลายาและสุมาตรา หนูชนิดนี้ชอบหากินตามพื้นดินมากกว่าหนูป่ามาเลย์เป็นหนูมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อเทียบกับหนูท้องขาวทั้ง ๒ ชนิดที่กล่าวมาแล้ว ลักษณะขนนิ่ม ขนด้านหลังสีน้ำตาลปนเทาสีท้องขาวสะอาด บางครั้งจะมีขนสีเหลืองแต้มอยู่ด้วย หนูชนิดนี้แม้จะพบไม่มากแต่ก็เป็นศัตรูปาล์มน้ำมันด้วย

เมื่อใดควรปราบหนู

ในการพิจารณาว่าเมื่อใดเหมาะสมในการป้องกันและกำจัดหนูศัตรูปาล์มน้ำมัน หากต้นปาล์มอ่อนในเรือนเพาะชำหรือปาล์มปลูกใหม่ถูกทำลายจนถึงตาย ควรจะทำการป้องกันกำจัดทันที ทั้งนี้เพราะต้นทุนในการปลูกปาล์มแต่ละต้นค่อนข้างสูง ร่องรอยการทำลายที่เกิดจากหนู เช่น พบมูลหนูในบริเวณใกล้เคียง หรือรอยฟันแทะ ๒ คู่หน้าที่กัดต้นปาล์ม ถ้าในบริเวณกว้างคือมากกว่า ๑๐ ไร่ ควรจะใช้สารเคมีกำจัดหนู่ ถ้าพบเพียงเล็กน้อยก็อาจใช้วิธีกลอื่นๆ เข้าช่วยป้องกันกำจัดได้

ในปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตแล้ว ถ้าพบว่าผลปาล์มมีร่องรอยการทำลายใหม่มากกว่า ๕ เปอร์เซ็นต์ โดยทำการนับร่องรอยการทำลายใหม่จากต้นปาล์มน้ำมันอย่างน้อย ๒๐๐ ต้น การป้องกันกำจัดหนูต้องรีบดำเนินการทันที เพราะผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเปอร์เซ็นต์ร่องรอยการทำลายใหม่กับจำนวนหนูในพื้นที่เป็นเวลา ๘ ปี ยืนยันว่าที่ระดับ ๕ เปอร์เซ็นต์ นี้จะมีจำนวนหนู่ในพื้นที่นั้นมากกว่า ๘ ตัวต่อไร่ หากไม่ทำการป้องกันกำจัดจะเกิดความเสียหายต่อผลปาล์ม

อีกวิธีหนึ่งอาจประเมินจำนวนประชากรหนูจากเหยื่อที่กินโดยใช้พื้นที่ปาล์มประมาณ ๓๐๐ ไร่ นำเหยื่อ เช่น กล้วยน้ำว้า หั่นเป็นชิ้นๆหรือปลาช่อนสด หรือปลาเค็มที่ไม่แห้งจนแข็งเป็นชิ้นๆ นำไปวางที่โคนต้นปาล์มต้นละ ๑ ชิ้น ในบริเวณใจกลางแปลง หากพบว่าภายหลังการวางเหยื่อแล้ว ๔-๕ วัน เหยื่อถูกกินไปมากว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ก็ควรทำการป้องกันกำจัดได้แล้ว

หรืออีกวิธีหนึ่ง ใช้วิธีการล่าหนู โดยรื้อกองทางใบออกแล้วใช้คนล้อมตีหนูที่วิ่งหนีออกมา ควรจะทำในแปลงที่มีต้นปาล์มอย่างน้อย ๒๑ ต้น (คือต้นปาล์ม ๓ แถวๆละ ๗ ต้น) หากพบว่าแปลงใดมีหนูมากกว่า ๒๐ ตัว ควรทำการป้องกันกำจัดทันที

วิธีป้องกันกำจัดหนู

ก.  การป้องกันกำจัดโดยไม่ใช้สารเคมี ได้แก่

๑.  การล้อมตี วิธีนี้ต้องใช้คนหลายคนช่วยกัน โดยการยกทางใบที่กองอยู่ระหว่างต้นปาล์มออก เนื่องจากใต้กองทางใบปาล์มเป็นแหล่งที่อยู่และขยายพันธุ์ของหนูศัตรูปาล์ม หรือจะใช้รถไถที่สามารถตีทางใบปาล์มแห้งให้ละเอียดแล้วให้คนคอยดักตีหนูที่วิ่งออกมา หรือใช้ไม้ไผ่ยาวๆ แทงตามซอกทางใบและซอกทะลายปาล์มบนต้น เพื่อไล่หนูที่หลบซ่อนอยู่ให้ตกลงพื้นดินแล้วใช้คนไล่ตี วิธีการนี้ช่วยลดปริมาณหนูลงในช่วงระยะหนึ่ง ซึ่งถ้าจะให้ผลดีก็ต้องกระทำบ่อยๆ

ข้อเสียของวิธีการนี้ คือ สิ้นเปลืองแรงงานและเวลามาก และไม่สามารถควบคุมจำนวนประชากรหนูได้ในระยะยาว

๒.  การดัก  การดักโดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น กรงดัก กับดัก หรือเครื่องมือดักหนูอย่างอื่นที่สามารถประดิษฐ์จากวัสดุที่หาได้ง่าย เป็นวิธีที่น่าส่งเสริมให้ปฏิบัติส่วนมากจะใช้ได้ผลดีในเนื้อที่จำกัด และไม่กว้างขวางนัก เช่น ในแปลงเพาะปลูกขนาดเล็กที่ปริมาณของหนูศัตรูปาล์มไม่มาก

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ เหยื่อดัก การเลือกเหยื่อชนิดใดควรคำนึงว่าสัตว์ชนิดที่ต้องการดักมีความคุ้นเคยหรือต้องการอาหารชนิดนั้นมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ราคาเหยื่อต้องไม่แพงจนเกินไป

จากประสบการณ์และการทดลองพบว่าเหยื่อที่ใช้ดักหนูในสวนปาล์มที่ให้ผลดีใกล้เคียงกัน คือ ปลาช่อนสด ๆ หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ข้าวโพดหวานสด ๆ เนื้อมะพร้าวแก่ย่างไฟ ปลาเค็มตัวเล็กๆ ที่ไม่แห้งจนแข็ง และกล้วยน้ำว้าสุก

ตำแหน่งที่วางกรงหรือกับดักหนู คือตามร่องรอยทางเดินหากินของมันบนพื้นดิน ข้างกองทางใบ หรือโคนต้นจะสะดวกและปลอดภัยกว่าการวางบนต้นที่ทะลาย เพราะบ่อยครั้งที่พบงูเห่าขึ้นไปนอนคอยกินหนูบนยอดปาล์ม

สำหรับการดักหนูศัตรูปาล์มไม่ใช่เป็นวิธีการกำจัดหนูที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนมากใช้เป็นวิธีเสริมหรือเพิ่มเติมหลังจากการใช้สารเคมีกำจัดหนูแล้ว หากยังมีหนูหลงเหลืออยู่ก็ใช้วิธีการดักเข้าช่วย ก็จะทำให้ลดปริมาณหนูให้เหลือจำนวนน้อยลงที่สุดได้

๓.  การเขตกรรม  เช่น การหมั่นถางหญ้าบริเวณรอบโคนต้นปาล์มโดยห่างโคนต้นประมาณ ๑-๑.๕ เมตร อย่าให้มีหญ้าขึ้นรก เพราะจะเป็นที่หลบอาศัยอย่างดีของหนู คันดิน จอมปลวก หรือทางใบปาล์มที่ตัดทิ้งแล้วกองไว้ข้าง ๆ ต้นปาล์ม ถ้าไม่จำเป็นก็ทำลายหรือกำจัด หนูก็จะไม่มีที่หลบซ่อน ทำให้ง่ายต่อการกำจัดโดยวิธีอื่นๆ

๔.  การอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ศัตรูธรรมชาติของหนูคือ งูสิง งูแมวเซา งูแสงอาทิตย์ งูเห่า งูทางมะพร้าว พังพอน เหยี่ยว นกเค้าแมว นกแสก นกฮูก สัตว์เหล่านี้ช่วยกำจัดหนูโดยกินเป็นอาหาร จำเป็นต้องสงวนปริมาณไว้ให้สมดุลกับธรรมชาติ เพื่อคอยควบคุมประชากรหนูไว้ไม่ให้มีมากเกินไป เพราะถ้าทำลายสัตว์ศัตรูธรรมชาติเหล่านี้หมดไป จะเป็นเหตุให้หนูขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วและทำความเสียหายให้แก่ปาล์มน้ำมันเป็นอย่างมาก

พื้นที่สวนปาล์มใดถ้ามีศัตรูธรรมชาติเช่น นกแสก นกฮูก เหยี่ยว หรือนกเค้าแมวมาก ไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดหนูชนิดออกฤทธิ์เร็ว เพราะจะเป็นอันตรายต่อนกเหล่านี้ที่กินหนูตัวที่ได้กินเหยื่อพิษชนิดนี้มาก โดยปกติเกษตรกรที่จะกำจัดหนูโดยใช้ศัตรูธรรมชาติและสารกำจัดหนูเข้าช่วย สารกำจัดหนูที่ใช้ควรเป็นชนิดที่ออกฤทธิ์ช้าจะปลอดภัยต่อนกศัตรูธรรมชาติของหนูมากกว่า

ข.  การป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมี

การใช้สารเคมีกำจัดหนู เป็นวิธีการที่ลดจำนวนประชากรของหนูอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะสามารถลดปริมาณหนูได้มากในระยะเวลาสั้น นอกจากนี้ยังกระทำได้ในบริเวณกว้างมาก ช่วยประหยัดเวลาและแรงงานอีกด้วย เมื่อเทียบกับการป้องกันกำจัดหนูศัตรูปาล์มด้วยวิธีอื่นๆ

สารกำจัดหนูที่กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการทดสอบในสวนปาล์มน้ำมันแล้วและได้ผลดีมาก เป็นสารเคมีกำจัดหนูประเภทออกฤทธิ์ช้าชนิดสำเร็จรูปที่หนูกินครั้งเดียวตาย แต่หนูจะตายหลังกินเหยื่อพิษไปแล้ว ๒-๑๐ วัน และมักจะตายในรูหรือรังหนู จึงมักไม่ใคร่พบซากหนูตาย สารกำจัดหนูออกฤทธิ์ช้าที่หนูกินครั้งเดียวตายนี้ จะเป็นชนิดสำเร็จรูปชนิดก้อนขี้ผึ้งก้อนละประมาณ ๕ กรัม ได้แก่ โฟลคูมาเฟน (สะตอม ๐.๐๐๕ เปอร์เซ็นต์) และโบรไดฟาคูม (คลีแร็ต ๐.๐๐๕ เปอร์เซ็นต์)

ขั้นตอนการวางเหยื่อพิษมีดังนี้

๑.  ถ้าพบหนูมากพอสมควรที่จะกำจัด โดยดูจากวิธีการที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนแรก เช่น พบว่ามีเปอร์เซ็นต์ร่องรอยการทำลายใหม่เกิน ๕ เปอร์เซ็นต์ จากต้นปาล์ม ๒๐๐ ต้น ก็ให้ดำเนินการป้องกันกำจัดหนูทันที

๒.  นำเหยื่อพิษชนิดออกฤทธิ์ช้าสำเร็จรูปชนิดก้อนขี้ผึ้ง ที่หนูกินครั้งเดียวตาย ได้แก่ โบรไดฟาคูม (คลีแร็ต ๐.๐๐๕ เปอร์เซ็นต์) โฟลคูมาเฟน (สะตอม ๐.๐๐๕ เปอร์เซ็นต์) ชนิดใดชนิดหนึ่ง วางที่โคนต้นปาล์มต้นละ ๑ ก้อน ในขณะที่วางเหยื่อพิษ ควรจะวางให้ชิดกับโคนต้นปาล์มมากที่สุดและวางหลีกเลี่ยงทางน้ำไหลผ่าน กล่าวคือให้วางชิดกับโคนต้นและตรงข้ามกับทางน้ำไหลของน้ำฝน เนื่องจากภาคใต้มีปริมาณฝนมาก อาจจะพัดพาเหยื่อพิษไปได้หากวางขวางทางน้ำไหล

๓.  ทุก ๗-๑๐ วัน หลังจากการวางต้องตรวจนับจำนวนเหยื่อพิษที่ถูกหนูกินไป และเติมเหยื่อทดแทนก้อนที่ถูกกินไป ทำซ้ำเช่นนี้จนกว่าเปอร์เซ็นต์การเติมเหยื่อจะลดลงต่ำกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์ จึงหยุดวางเหยื่อพิษจากการทดลองพบว่า เมื่อวางเหยื่อพิษแล้ว ๔ ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ ๑๐ วัน เปอร์เซ็นต์การเติมเหยื่อพิษจะลดลงต่ำวก่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์

๔.  ภายหลังการวางเหยื่อพิษครั้งสุดท้ายผ่านไปแล้ว ๖ เดือน ควรตรวจนับเปอร์เซ็นต์ร่องรอยการทำลายใหม่อีก หากพบว่าเกิน ๕ เปอร์เซ็นต์ ก็ควรเริ่มการรณรงค์กำจัดหนูโดยวางเหยื่อพิษตามวิธีการเช่นเดิมอีก

สรุป

การป้องกันกำจัดหนูศัตรูปาล์มน้ำมันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยมีจำนวนหลายแสนไร่ ความเสียหายที่เกิดจากหนูศัตรูปาล์มน้ำมันนับเป็นมูลค่าปีละนับพันล้านบาท ดังนั้นถ้ามีการป้องกันกำจัดจะให้ผลคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการลงทุน วิธีการในการป้องกันและกำจัดต่างๆ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม วัสดุอุปกรณ์ สภาพสังคมในท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม การประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้ทราบถึงความสำคัญและความจำเป็นในการป้องกันกำจัดหนูศัตรูปาล์มน้ำมัน การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรในระดับจังหวัด อำเภอหรือตำบล สิ่งต่างๆเหล่านี้จะเป็นปัจจัยทำให้การป้องกันและกำจัดหนูศัตรูปาล์มน้ำมันประสบความสำเร็จ