หว้านา

(Wa naa)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium cinereum (Kurz) Chantar. & J. Parn.
ชื่อวงศ์ MYRTACEAE
ชื่ออื่น เสม็ดแดง หว้า หว้าทุ่ง
ถิ่นกำเนิด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-25 ม. ขนาดทรงพุ่ม 8-12 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่ กิ่งอ่อน รูปสี่เหลี่ยม เปลือกต้นสีเทาหรือสีนํ้าตาลอ่อน ล่อนเป็นแผ่นบางๆ


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน กว้าง 3-7.5 ซม. ยาว 5-16 ซม. ปลายใบมนป้าน โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบเป็นคลื่น เล็กน้อย แผ่นใบเกลี้ยงค่อนข้างหนาและเหนียว สีเขียวสดเรียบเกลี้ยง ใบอ่อนสีน้ำตาลอมแดง ก้านใบยาว 0.5-1 ซม.
ดอก สีเขียวอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนง ที่ด้านข้างกิ่งแก่และปลายกิ่ง ดอกย่อย 30-40 ดอก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวอ่อนเชื่อมติดกับฐานรองดอกรูปกรวย กลีบดอก 4 กลีบ รูปช้อน เกสรเพศผู้จำนวนมาก สีขาวปลายเหลืองอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1-1.5 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-เม.ย.


ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางผล 0.5-1 ซม. ปลายหรือก้นผลบุ๋ม รวมกันเป็นพวง ผลเปลี่ยนสีจากเขียว เป็นชมพูแล้วแดงเข้ม สุกเต็มที่สีดำ เมล็ดทรงกลมแป้น สีน้ำตาลอ่อน ติดผลเดือน มี.ค.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามท้องนา มีมากในภาคใต้
การใช้ประโยชน์ ผลมีสีสวยงาม เมื่อสุกมีรสชาติหวาน ฉํ่าน้ำ เด็กๆ ชอบรับประทาน
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย