หว้าสรรพคุณทางยา

(Black Plum)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium cumini (L.) Skeels.
ชื่อวงศ์ MYRTACEAE
ชื่ออื่น หว้าอินเดีย หว้าขี้เเพะ ห้า มะห้า ห้าขี้แพะ (เหนือ), หว้า (กลาง)
ถิ่นกำเนิด เอเชียเขตร้อนจากอินเดียถึงมาเลเซีย
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-20 ม. แตกกิ่งก้านสาขามากมาย เปลือกต้นสีเทา-ขาว ร่อนเป็นแผ่นหนา ขรุขระ


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตัวแบบตรงข้าม ใบรูปวงรีหรือรูปไข่ ปลายใบ แหลมเรียวยาว โคนใบสอบ ขอบใบเรียบค่อนข้างหนา เส้นกลางใบนูนเห็นชัด เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ใบสีเขียวเข้มผิวมันเรียบ ใบกว้าง 4-7 ซม. ยาว 11-15 ซม. มีจุดน้ำมันบริเวณขอบใบ ก้านใบยาว 1-2 ซม.
ดอก สีขาวหรือสีเหลืองอ่อนเป็นช่อ ประกอบด้วยกลุ่มย่อย 5-12 กลุ่ม แต่ละกลุ่มย่อย มี 3-8 ดอก ดอกออกบริเวณกิ่งใหญ่ ดอกมีฐานรองดอกเป็นรูปถ้วยไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก โดยจะมีเนื้อเยื่อบางๆ หุ้มดอกตูมอยู่ เมื่อดอกเจริญเต็มที่เยื่อบางๆ นี้จะหลุดไปตรงกลางของฐานรองดอกเว้าลึกลงไปซึ่งต่อไปจะเจริญไปเป็นผล เกสรเพศผู้จำนวนมากติดอยู่รอบๆ ขอบของฐานรองดอก เกสรเพศเมีย มี 1 อัน ฝังอยู่ตรงกลางของฐานรองดอก ก้านดอกสั้น ออกดอกเดือน มี.ค.-เม.ย.
ผล ผลสดรูปไข่เป็นพวง เป็นผลที่อ่อนนุ่ม เมื่อสุกมีสีม่วงแดงถึงดำ เนื้อมีรสเปรี้ยว ยาว 1.5-2 ซม. กว้าง 1-1.5 ซม. 1 เมล็ด ต่อมาใบเลี้ยงมีสีเขียวหนา เรียงตัวตามขวางของเมล็ดและมีต้นกล้าหลายต้น ต่อหนึ่งเมล็ด ออกผลเดือน มิ.ย.-ก.ค.
นิเวศวิทยา พบตามดินอุดมสมบูรณ์และอากาศค่อนข้างชื้น สามารถขึ้นได้ตั้งแต่ป่าดิบใกล้ทะเล
การใช้ประโยชน์ ยอดอ่อน รับประทานเป็นผักสด ผลสด ใช้รับประทาน มีรสเปรี้ยว หรือนำไปดองใช้ทำไวน์ผลไม้คุณภาพดีมีรสหอมหวาน
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบ แก้บิดมูกเลือด ต้มชะล้างบาดแผล ตำทาแก้โรคผิวหนัง เมล็ดต้มหรือบดรับประทานแก้โรคเบาหวาน แก้บิด ท้องร่วง เปลือกต้น แก้ท้องร่วง แก้น้ำลายเหนียว ต้มชะล้างบาดแผล
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบุรี
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย