หอมใหญ่

หอมใหญ่

ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ หอมหัวใหญ่ หอมฝรั่ง

ชื่ออังกฤษ Onion

ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium cepa Linn.

วงศ์ Alliaceae

หอมใหญ่เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศในแถบเอเชียตะวันตก แต่ได้มืการนำมาปลูกในหลายภูมิภาค เป็นพืชที่ใช้เป็นอาหารและเครื่องเทศมานานแล้ว โดยใช้แต่งกลิ่นอาหารหลายชนิดให้น่ารับประทาน เช่น ยำ สลัด ผัดเนื้อ เป็นต้น หอมใหญ่ยังใช้แต่งกลิ่นเครื่องดื่มทั้งชนิดที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ แต่งกลิ่นขนมบางชนิด เช่น เยลลี่ ขนมผิง แต่งกลิ่นเนื้อและผลิตภัณฑ์จากเนื้อ เป็นเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดร้อน ใช้แต่งกลิ่นอาหารที่ปรุงเสร็จ แล้ว แต่งกลิ่นนํ้าซ้อส ซุปชนิดต่างๆ เป็นต้น

หอมใหญ่เป็นพืชในตระกูลเดียวกับกระเทียมและกุยช่าย เป็นพืชล้มลุกอายุประมาณ 2 ปี มีลำต้นใต้ดินเป็นแบบ bulb รูปกลม หัวใต้ดินมีขนาดค่อนข้างใหญ่และเป็นหัวเดี่ยว สำหรับหอมหัวเล็ก (Allium ascalonicum Linn.) มีหัวสีม่วงอมแดง สีเข้มกว่าหอมใหญ่ มีรสร้อนและกลิ่นฉุนมากกว่า

สารสำคัญ

ในหัวหอมใหญ่ จะประกอบด้วยสารประกอบอินทรีย์กำมะถันหลายชนิด เมื่อหัวหอมถูกทำให้ซํ้าสารเหล่านี้จะถูกย่อยโดยเอนไซม์อัลลิเนส (allinase) ทำให้ได้สารกำมะถันที่โมเลกุลเล็กลง ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารที่ทำให้หัวหอมมีกลิ่น สารที่สำคัญได้แก่ เมททิล โปรปิลไดซัลไฟด์ (methylpropyl disulfide), เมททิลโปรปิลไตรซัลไฟด์ (methylpropyl trisulfide), ไดโปรปิลไตรซัลไฟด์ (dipropyl trisulfide) และอัลลิลโปรปิลไดซัลไฟด์

(allylpropyl disulfide) นอกจากนี้ในหัวหอม ยังมีนํ้ามันหอมระเหยจำนวนเล็กน้อย และมีสารอาหารจำพวกนํ้าตาล ไวตามินเอ ไวตามินซี ไวตามินบี 1 และบี 2 และสารเปคติน อีกด้วย

เมื่อปอกหอมแล้วจะเกิดอาการระคายเคืองที่ตา ทำให้นํ้าตาไหล ทั้งนี้เนื่องมาจากสารชื่อไทโอโปรปานาลซัลฟอกไซด์(thiopropanal sulfoxide), กรดโปรปินิลซัลฟีนิค (propenylsulfenic acid) และกรดเอททีนซัลฟินิค (ethenesulfenic acid) ซึ่งสารเหล่านี้เรียกว่าสารหลั่งนํ้าตา ใน หอมหัวเล็กจะมีสารหลั่งนํ้าตาในปริมาณมากกว่าหอมหัวใหญ่

หัวหอมที่ทำให้สุกจะมีรสหวาน ทั้งนี้เป็นเพราะสารอัลลิลโปรบิลไดซัลไฟด์ ที่พบในหัวหอมสดนั้นจะระเหยไปในขณะปรุงอาหาร ส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนไปเป็นอนุพันธ์ของโปรปิลเมอร์

แคปแทน (propylmercaptan) และไดโปรปิลซัลไฟด์ (dipropylsulfide) ซึ่งมีรสหวาน

ประโยชน์ทางยา

ในยาพื้นบ้าน การใช้หัวหอมไม่นิยมใช้แพร่หลายเหมือนการใช้กระเทียม หัวหอมใช้ประโยชน์เป็น

1. ยาขับลม ยาบำรุงธาตุ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

2. ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จากการวิจัยพบว่านํ้าคั้นจากหัวหอม หรือหัวหอมที่ปั่นใหม่ๆ จะสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง (Staphylococcus aureus) และเชื้อไทฟอยด์ได้

3. มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา จากการทดลองพบว่าน้ำคั้นหัวหอมสดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิดได้ มีผู้ใช้นํ้าคั้นจากหัวหอม ผสมกับแชมภูเพื่อสระผม หรือใช้น้ำคั้นดังกล่าวทาที่หนังศีรษะ จะช่วยขจัดรังแคที่เกิดจากเชื้อราหรือแบคทีเรียได้ ฤทธิ์ดังกล่าวเนื่องจากฤทธิ์ของอัลลิลโปรปิลไดซัลไฟด์ที่มีอยู่ในหัวหอม

4. ฤทธิ์ลดนํ้าตาลในเลือด จากการทดลองในสัตว์ทดลองและในคนพบว่าหอมใหญ่และสารสกัดจากหอมใหญ่สามารถลดนํ้าตาลในเลือดได้ สารที่ออกฤทธิ์พบว่าเป็นสารไดเฟนิลามีน (diphenylamine)

5. ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด จากการทดลองในสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดจากหอมใหญ่มีฤทธิ์ทำให้ระดับไขมันในเลือดตํ่าลง แต่จากการทดลองให้คนปกติกินหัวหอมใหญ่เป็นประจำ พบว่าจะมีระดับไขมันในเลือดปกติ