หอยเจดีย์:หอยเจดีย์ระบาดในแปลงผักกางมุ้ง

ชมพูนุช  จรรยาเพศ

กลุ่มงานสัตว์วิทยาการเกษตร

กองกีฏและสัตววิทยา

กรมวิชาการเกษตร

การปลูกผักในโรงเรือนตาข่ายหรือที่รู้จักกันในชื่อ “ผักกางมุ้ง” โดยใช้ตาข่ายไนล่อนที่มีจำหน่ายทั่วไป ขึงกับโครงไม้และเหล็กครอบบนแปลงผักที่ยกร่องไว้ เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของแมลงต่าง ๆ ช่วยลดรายจ่ายเกี่ยวกับสารฆ่าแมลง และทำให้ปลอดภัยจากสารพิษ เป็นที่นิยมกันอยู่โดยทั่ว ๆ ไป ในท้องที่ อ.บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี

ผู้เขียนเคยคาดการณ์ไว้ว่าสภาพภายในโรงเรือนซึ่งมีความชื้นสัมพัทธ์สูงนั้น อาจจะทำให้มีศัตรูพวกหอยทากมีเปลือกหรือทากไม่มีเปลือกอาศัยอยู่ เนื่องจากเคยปรากฎมีหอยทากตามเรือนปลูกกล้วยไม้และเรือนเพาะชำ ซึ่งมีความชื้นสูงและแสงน้อยกว่าปกติ ดังนั้นเมื่อได้รับรายงานว่ามีหอยทากระบาดหนักในแปลงทดลองปลูกผักอนามัย ในโรงเรือนตาข่าย เมื่อ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๑ จึงได้เดินทางไปศึกษาข้อมูลที่สวนผักของนายสุนทร  วรรธนะอมร ต.คลองเจ๊ก อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี

ผักที่ปลูกในเรือนตาข่ายในขณะนั้นมีผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียวปลี และผักคะน้า มีหอย ทำลายเสียหายมาก เกษตรกรเรียกหอยชนิดนี้ตามลักษณะรูปร่างของหอยว่า “หอยเจดีย์” เพราะมีรูปทรงแหลมสูงปลายเรียวคล้ายเจดีย์

จากการสอบถามเกษตรกรทราบว่าพบหอยเจดีย์อยู่เสมอเป็นเวลาประมาณ ๑๐ ปีแล้ว บางปีมีมาก บางปีมีน้อยและจะพบเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น

จากการสังเกตของเจ้าของสวนพบว่าการทำสวนผักโดยการยกร่องจากที่เดิมซึ่งเป็นนาข้าวนั้น ในปีแรกจะไม่พบหอย แต่จะพบมากในปีต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากสภาพในนาข้าวไม่เหมาะกับหอยเจดีย์ เพราะอากาศร้อน แดดจัดและมักมีน้ำในนาเสมอ เมื่อเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโดยการยกร่องขึ้นมาและมีท้องร่องสองข้าง นำปุ๋ยคอกมาใส่และใช้ฟางคลุมแปลงหลังจากหยอดเมล็ดแล้ว ไข่และตัวหอยเจดีย์ซึ่งมีขนาดเล็กมากจะติดมากับปุ๋ยคอกและฟ่างเหล่านั้น เมื่อมีการนำตาข่ายมาครอบแปลงผัก และรดน้ำวันละหลายครั้ง ทำให้เกิดสภาพที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของหอยเจดีย์ จึงเกิดการระบาดขึ้นดังกล่าว

ชีวประวัติและการแพร่กระจายของหอยเจดีย์

หอยเจดีย์ เป็นหอยที่อยู่บนบกตัวเล็ก สูงประมาณ ๑๐ มม. มีสองเพศในตัวเดียวกัน เปลือกสูงเป็นยอดแหลมไม่มีสี บางและใส ตัวหอยมีเนื้อสีเหลืองบางครั้งจะพบไข่ ๕-๘ ฟองอยู่ภายในเปลือกมี ๘ วง หลังจากจับคู่ผสมพันธุ์แล้วประมาณ ๑ สัปดาห์ หอยจะเริ่มวางไข่ลักษณะกลมสีขาว ขนาด ๐.๒ มม. ตามใต้เศษซากพืชที่เน่าเปื่อยบนพื้นดิน ไข่ฟักเป็นตัวในเวลา ๒-๓ วัน เมื่อฟักออกจากไข่ตัวมีขนาด ๐.๕ มม. สีเหลืองอ่อน จะเริ่มเคลื่อนไหวและกินอาหารหลังจากฟักออกเป็นตัวแล้ว ๒-๓ วัน

หอยเจดีย์ต้องการความชื้นสูงชอบอยู่ตามใต้เศษซากพืชที่เน่าเปื่อยที่อยู่บริเวณพื้นดิน หรือตามโคนต้นส่วนที่รากติดกับดิน เป็นศัตรูพืชที่สำคัญ ในทวีปยุโรป อเมริกากลางและภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาพบว่าเป็นศัตรูพืชในเรือนปลูกต้นไม้ เรือนเพาะชำและเรือนกระจกซึ่งเป็นสถานที่ๆมีความชื้นสูง

หอยชนิดนี้สันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดในอาฟริกาตะวันออก และแพร่กระจายไปตามเขตร้อนอื่น ๆ

ในประเทศอินโดนีเซียและสุมาตรามีรายงานว่า หอยเจดีย์เป็นศัตรูที่สำคัญในแปลงต้นกล้ายาสูบ(Godan,1979)ในสหรัฐอเมริกาพบว่าหอยชนิดนี้แพร่กระจายเข้าสู่ประเทศโดยติดมากับในกล้วยไม้ กับดินที่ติดไปกับต้นพืช เช่น สน ซีดาร์ กับพืชหัว เช่น มันฝรั่ง หอมใหญ่ ที่นำเข้ามาจากเม็กซิโก นิคารากัวและซามัวร์ และอีกทางหนึ่งติดไปกับเมล็ดพันธุ์และต้นมะละกอที่นำเข้ามาจากฮาวายและโอกินาวา

สำหรับประเทศไทยไม่ทราบแน่ชัดว่าหอยเจดีย์เข้ามาจากไหนและอย่างไร แต่ก็คงจะคล้ายคลึกกันกับการแพร่เข้าสู่ประเทศอื่น ๆ คือ ติดมากับดินที่ติดกับต้นหรือส่วนที่ขยายพันธุ์ของพืชต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะทั้งตัวและไข่หอยมีขนาดเล็ก ซึ่งยากที่จะสังเกตได้ถ้าหากไม่มีความชำนาญ

จากการสำรวจของผู้เขียน พบหอยเจดีย์ตามเรือนต้นไม้และกระถางต้นไม้บริเวณบ้านโดยอาศัยอยู่บนผิวดินในกระถางต้นไม้ เช่น เฟิร์นต่างๆ กำมะหยี่ เศรษฐีเรือนนอก-เรือนใน โกสน เป็นต้น นอกจากนี้พบตามพื้นดินในผักสวนครัว เช่น ใต้ต้นมะเขือเปราะ และในแปลงไม้ดอกเช่นเยอบีร่า ซึ่งในเยอบีร่านี้มีรายงานว่าหอยกัดทำลายส่วนโคนที่ติดกับรากด้วย

การระบาดและความเสียหายในแปลงผัก

ในแปลงผักอนามัย อ.บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ที่ไปสังเกตการณ์นี้ปลูกผักโดยวิธีหยอดเมล็ด ครั้งละ ๓-๔ เมล็ด พบหอยเจดีย์มีจำนวนมากถึง ๒๐-๖๐ ตัวต่อหนึ่งตารางฟุต ทำความเสียหายโดยกินเมล็ดผักกาดขาว ผักกาดเขียวและคะน้าที่หยอดไว้ และต้นอ่อนที่กำลังเริ่มงอกเกือบหมด ทำให้ต้องหยอดซ้ำอีก ส่วนที่เหลือรอดเมื่องอกมีใบอ่อน ๒-๓ ใบ ก็ถูกกัดกินตามใบเป็นรูพรุนไปทั่ว

ปกติหอยเจดีย์ออกหากินเวลากลางคืน แต่ในวันที่ฟ้าครึ้มฝนและไม่มีแดดหอยก็ออกหากินได้เช่นกัน ในวันที่ผู้เขียนไปสังเกตการณ์นั้นอากาศค่อนข้างร้อนและแดดจัดพอสมควร แต่ดินยังชื้นเพราะฝนตกมาตลอด ๒-๓ วันก่อนหน้านั้น พบหอยเจดีย์หลบอยู่ใต้ฟางข้าวที่คลุมอยู่บนแปลงตลอดทั้งแปลง และบริเวณโคนต้นผักพบหอยเกาะอยู่เป็นกลุ่มต้นหนึ่งนับสิบตัว โดยเฉพาะริมขอบแปลงขนานกับร่องน้ำทั้งสองข้าง ซึ่งดินมีความ่ชุ่มชื้นมากกว่าบริเวณอื่น ๆ พบหอยเจดีย์เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่เคลื่อนไหวและคอยเวลาที่อากาศจะเย็นลงจึงออกหากิน

การป้องกันกำจัด

เกษตรกรกำจัดหอยเจดีย์ โดยการนำกากถั่วลิสงมาแช่น้ำหนึ่งวันให้เปลือกถั่วพองแล้วคลุกกับปลายข้าวและเมไธโอคาร์บ ผึ่งแดดพอหมาด นำไปหว่านตามแปลง ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันกำจัดที่ถูกต้อง เพราะเมไธโอคาร์บ เป็นสารกำจัดหอยทากได้ดีมาเป็นเวลานานแล้ว ในต่างประเทศผลิตและจำหน่ายสารชนิดนี้ในรูปของเหยื่อพิษสำเร็จรูป ๒ และ ๔ เปอร์เซ็นต์ โดยทำเป็นเม็ดขนาดต่าง ๆกันคือ ขนาดเล็กสำหรับหอยขนาดเล็ก และเม็ดขนาดใหญ่สำหรับกำจัดหอยขนาดใหญ่ เพื่อใช้กำจัดหอยทากและทากศัตรูพืชนานาชนิด

ผู้เขียนมีเหยื่อสำเร็จรูปดังกล่าวอยู่จำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในการทดลอง เป็นชนิดเม็ดเล็กขนาด ๒x๔ มม. จึงทดสอบโดยหว่านในแปลงผักพบว่าหอยทากชอบกินเหยื่อพิษนี้ และตายภายใน ๒ วัน ส่วนเหยื่อพิษที่เหลือสลายตัวไปภายใน ๒ สัปดาห์

ข้อแนะนำในการป้องกันนอกจากการใช้สารเคมีก็คือ เมื่อเก็บผักไปแล้วควรพรวนและตากดิน เพื่อปรับสภาพให้ไม่เหมาะสมกับการแพร่ขยายพันธุ์ของหอยเจดีย์ โดยเอามุ้งออกหรือเปิดให้มากที่สุด การตากให้ผิวดินแห้งชั่วระยะเวลาหนึ่งแทนที่จะปลูกติดต่อกันไปในทันทีก็จะช่วยกำจัดหอยและไข่หอยให้แห้งตายไป อินทรียวัตถุต่าง ๆ ที่นำมาใส่ในแปลงไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยคอกหรือฟางคลุมแปลง ควรป้องกันไม่ให้มีหอยเจดีย์และไข่ติดมาด้วย โดยเกลี่ยปุ๋ยคอกให้หนาประมาณ ๑ นิ้ว หรือกองเป็นกองเล็ก ๆ นำเศษหญ้า เศษฟาง มาสุมเผาไฟก่อนนำไปใส่แปลงผัก ส่วนฟางอาจนำมาแช่น้ำ ๑๒-๒๔ ชั่วโมงก่อนนำไปคลุมแปลง ถ้าปฏิบัติได้ดังนี้ก็จะเป็นการป้องกันที่ดีอีกทางหนึ่ง

เอกสารประกอบการเรียบเรียง

Godan, Dora. 1979. Schadschnecken und Ihre Bekampfung.  Eugen Uhmer GmbH+Co., Stuttgart, Germany. 445 p.