องุ่น:ผลของจิบเบอเรลลิคแอซิดที่มีต่อการพัฒนาของเมล็ดและผลองุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา

วิทยานิพนธ์โดย น.ส.รวีวรรณ  ยุวรรณศิริ ภาควิชาพืชสวน คณะบัณฑิตวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์

พิจารณาเห็นชอบโดย ผศ.ดร.สุรศักดิ์  นิลนนท์

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2537

ผลของจิบเบอเรลลิค แอซิด ที่มีต่อการพัฒนาของเมล้ดและผลองุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา ที่ปลูกบนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

องุ่น (Vitis vinifera L.) เป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของโลก มีถิ่นกำเนิดแถบเอเซียไมเนอร์ บริเวณรอยต่อระหว่างทะเลดำ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากนั้นองุ่นก็ได้แพร่ขยายไปยังแหล่งอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งพืชในวงศ์นี้มีทั้งหมด 12 สกุล มีทั้งที่เป็นพันธุ์ปลูกและพันธุ์ป่าซึ่งมีฤทธิ์เปรี้ยวฝาดจัด เนื้อน้อย รับประทานไม่ได้ สกุลที่สำคัญที่สุดของพืชวงศ์นี้คือ ไวทิส(Vitis)

องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกาจัดอยู่ในกลุ่ม โอลด์ เวิลด์ เกรพ (old world grape) ซึ่งถือเป็นองุ่นพันธุ์ดั้งเดิมปลูกในแถบยุโรป ลักษณะส่วนของเนื้อกับเปลือกติดกัน แตกต่างจากองุ่นที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกา ซึ่งจัดเป็นกลุ่ม นิว เวิลด์ เกรพ (new world grape) มีส่วนของเนื้อกับเปลือกไม่ติดกัน องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกามีถิ่นกำเนิดในประเทศสเปน มีลักษณะช่อผลใหญ่ ผลดกแน่น ช่อผลเป็นรูปกรวย น้ำมาก รสดี ผลสุกค่อนข้างช้า ต้นเจริญเติบโตเร็ว

เมื่อปี 2500 ได้มีการนำองุ่นพันธุ์นี้มาปลูกเป็นการค้าในเขตอ.สามพราน จ.นครปฐม องุ่นพันธุ์นี้แต่เดิมซึ่งมีผลทรงกลม ได้เกิดบัด มิวเตชั่น (bud mutation) ขึ้นที่ต้นองุ่นในพื้นที่ดังกล่าวทำให้เกิดเป็นองุ่นพันธุ์ไวท์มะละกาที่มีทรงผลยาว และได้กลายเป็นพันธุ์องุ่นที่นิยมปลูกกันเป็นการค้าในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันนี้ แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่บริเวณที่ราบภาคกลางตอนล่างระยะเวลาการปลูกจนกระทั่งตัดแต่ง 8-12 เดือน ระยะเวลาตั้งแต่ตัดแต่งจนกระทั่งเก็บผลได้ใช้เวลาประมาณ 120-150 วัน ส่วนองุ่นพันธุ์ไวท์มะละกาที่ปลูกบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทยมีการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า หลังตัดแต่งจนเก็บผลผลิตได้ใช้เวลาประมาณ 7 เดือน แต่ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพสูงมากทั้งขนาดและรสชาติ

จิบเบอเรลลิน  เป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตกลุ่มหนึ่ง ซึ่งส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช วิธีการเรียกชื่อสารจิบเบอเรลลินจะเรียก จิบเบอเรลลิน เอ แล้วตามด้วยหมายเลขลำดับการค้นพบ ตั้งแต่ 1-79 เช่น จิบเบอเรลลิน เอ 3 (GA) หรือจิบเบอเรลลิค แอซิค หรือจีเอ ซึ่งผลิตมาใช้ทางด้านการเกษตรมีอยู่ 3 รูปแบบคือ รูปสารบริสุทธิ์ รูปผงละลายน้ำ และรูปสารละลายเข้มข้น สารจีเอ นี้มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์น้อยมากจัดได้ว่าไม่มีพิษ สารนี้มีการเคลื่อนย้ายน้อยมากบนพืช ดังนั้นการใช้สารนี้กับพืชควรใช้เฉพาะที่

สารจิบเบอเรลลิค แอซิด(จีเอ) ถูกใช้เมื่อจุดประสงค์ในด้านการเกษตรเป็นครั้งแรกกับองุ่นพันธุ์ ธอป์มสัน ซีดเลส (Thompson seedless) ซึ่งปลูกเป็นการค้าในรัฐแคลิฟอร์เนียได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก ต่อมาก็มีรายงานการใช้สารดังกล่าวนี้กับผลองุ่นอีกมาก เช่น การใช้สารจีเอช่วยในการยืดช่อผล ทำให้ช่อผลโปร่ง ช่วยทำให้องุ่นไม่มีเมล็ดมีช่อผลใหญ่ ติดผลดีขึ้น ทำให้องุ่นมีการขยายขนาดตามความยาวผลเพิ่มขึ้น เพิ่มน้ำตาลในผล ทำให้ปริมาณกรดในผลลดลง และยังทำให้ผลองุ่นสุกเร็วขึ้นด้วย ผลของการใช้สารจีเอในองุ่นขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารที่ใช้ ช่วงเวลาในการใช้ สภาพภูมิอากาศ และพันธุ์องุ่น ดังนั้นก่อนการนำเอาสารดังกล่าวไปใช้ในการผลิตองุ่นต้องมี การทดลองศึกษาก่อนเสมอ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

การปรับปรุงพันธุ์องุ่นไวท์มะละกา ซึ่งปกติมีเมล็ดให้ได้ผลองุ่นไม่มีเมล็ด ได้มีการวิจัยหลายครั้งดังเช่น ในพื้นที่ภาคกลางได้มีการใช้สารจีเอ 0.05 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร (ความเข้มข้น 50 พีพีเอ็ม) พ่นให้กับช่อผลองุ่นหลังดอกบาน 7 วัน ได้ผลองุ่นไม่มีเมล็ดเกิดขึ้นสูงสุด 20.21℅ โดยที่ผลองุ่นไม่มีเมล็ดที่เกิดขึ้นมีขนาดและคุณภาพไม่แตกต่างจากผลองุ่นปกติ แต่อย่างไรก็ตามก็มีรายงานว่า ในสภาพอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำการชักนำให้เกิดผลองุ่นไม่มีเมล้ดโดยการใช้สารจีเอให้ผลดีกว่าในสภาพอุณหภูมิสูง ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงทำการศึกษาถึงผลของสารจีเอที่มีต่อการพัฒนาของเมล็ดและผลองุ่นพันธุ์ไวท์มะละกาที่ปลูกบนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีสภาพอากาศหนาวเย็น ซึ่งสามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังต่อไปนี้

1.  ผลของสารจีเอ อัตรา 0.05 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร (ความเข้มข้น 50 พีพีเอ็ม) ต่อความมีชีวิตของละอองเรณูองุ่นเมื่อพ่นสารขณะดอกบานพบว่า ละอองเรณูองุ่นที่ได้รับสารไม่สามารถงอกหลอดละอองเรณูได้ตามปกติมีผลในการทำลายความมีชีวิตของเกสรตัวผู้ และทำให้เกิดผลไม่มีเมล็ด แต่อย่างไรก็ตามการงอกของละอองเรณูมีความเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น ความชื้น อุณหภูมิ และความสมดุลย์ของน้ำตาล ในสภาพที่อุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป (สูงกว่า 30 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า 13 องศาเซลเซียส) มีอิทธิพลในการลดความมีชีวิตของละอองเรณูในช่วงขณะดอกบานหรือหลังจากดอกบานไม่นานนัก ถ้าพืชขาดน้ำหรือมีอุณหภูมิสูงการติดผลจะลดลงอย่างชัดเจน ส่วนในสภาพอุณหภูมิต่ำการงอกของละอองเรณูเกิดขึ้นได้ช้ามาก ซึ่งในสภาพธรรมชาติจะเป็นอุปสรรคต่อการผสมเกสร เนื่องจากความพร้อมของไข่สำหรับการผสมมีช่วงเวลาที่จำกัด

2.  การใช้สารจีเอ อัตรา 0.05 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร (ความเข้มข้น 50 พีพีเอ็ม) พ่นช่อดอกองุ่นขณะดอกบาน หลังดอกบาน 3 วัน หลังดอกบาน 5 วัน และหลังดอกบาน 7 วัน ช่วยเพิ่มการติดผลของดอกที่ไม่ได้รับการผสมทดแทนจิบเบอเรลลินในธรรมชาติ ทำให้องุ่นเจริญขึ้นโดยไม่ต้องมีเมล็ด นอกจากนี้ในผลองุ่นที่มีการติดผลแล้วสารจีเอที่พ่นยังมีอิทธิพลทำให้เมล็ดหยุดการพัฒนา ผลองุ่นที่ได้จัดเป็นผลองุ่นไม่มีเมล็ด เนื่องจากส่วนของเมล็ดลีบเล็กมาก

3.  ในสภาพท้องที่ที่มีอุณหภูมิต่ำการใช้จีเอ อัตราดังกล่าวพ่นช่อดอกองุ่นพันธุ์ไวท์มะละกาขณะดอกบาน 3 วัน หลังดอกบาน 5 วัน และหลังดอกบาน 7 วัน จะทำให้เกิดผลองุ่นไม่มีเมล็ด 98-100℅ โดยผลที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มของขนาดผลเล็กกว่าผลองุ่นมีเมล็ดปกติ แต่มีการติดผลสูงขึ้น ทำให้น้ำหนักช่อผลเฉลี่ยสูงขึ้น ผลองุ่นสุกแก่เร็วขึ้น และเปอร์เซ็นต์ผลร่วงสูงขึ้นกว่าการไม่ใช้สาร เนื่องจากสารจีเอไปทำให้เซลล์บริเวณรอยต่อของผลกับก้านผลซึ่งเป็นเซลล์ขนาดเล็ก และมีแรงยึดติดกันไม่แข็งแรง จึงทำให้ผลองุ่นที่เก็บเกี่ยวแล้วมีการหลุดร่วงจากผลเมื่อได้รับการกระทบกระเทือน และยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะดอกองุ่นบานประมาณ 10-60℅การใช้สารจีเอมีอิทธิพลทำให้เกิดการหลุดร่วงของผล จึงช่วยในการปลิดผลได้

สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพ่นสารจี เอในการทดลองครั้งนี้คือการใช้สารจิบเบอเรลลิคแอซิด อัตรา 0.05 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร หรือความเข้มข้น 50 พีพีเอ็ม พ่นช่อผลองุ่นหลังดอกบานเต็มที่ 5 วัน