องุ่น:แมลงศัตรูองุ่น

วิทย์  นามเรืองศรี

กองกีฏและสัตววิทยา  กรมวิชาการเกษตร

พบแมลงศัตรูองุ่นหลายชนิด เข้าทำลายทำความเสียหายส่งผลให้ผลผลิตลดลงรวมทั้งคุณภาพ ชาวสวนองุ่นจำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลงเพิ่มขึ้นอย่างมากมายและเพิ่มมากขึ้นทั้งนี้เนื่องจากมีปัญหาการดื้อสารกำจัดแมลงของหนอนบางชนิด

องุ่น(Vitis vinifera) เป็นผลไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศ เป็นพืชที่จะทำรายได้สูงให้แก่ชาวสวน รายได้อย่างต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 20,000 บาทต่อฤดูต่อไร่(ในระยะเวลา 3-4 เดือน) และเป็นที่ต้องการของตลาดปริมาณสูง ในบางช่วงราคาแตกต่างกันระหว่างกิโลกรัมละ 15-50 กว่าบาท จากสวนในแต่ละปี ทั้งเพื่อการบริโภคสดและการแปรรูปไปทำเหล้าองุ่น ทำให้รายได้ไม่แน่นอน ปัจจุบันองุ่นที่นิยมปลูกได้แก่พันธุ์ไวท์มาลากา และพันธุ์คาร์ดินัล ปลูกในท้องที่จังหวัดสมุทรสาคร ราชบุรี และนครปฐม ถึงแม้ได้มีการพัฒนาการบำรุงรักษา ตลอดจนใช้เทคโนโลยีบังคับองุ่นให้ออกผลในช่วงฤดูที่ต้องการแล้ว ผลผลิตยังให้ได้ก็เพียงพอแต่ความต้องการของตลาดภายในประเทศเท่านั้น แต่ชาวสวนองุ่นยังต้องเผชิญต่ออุปสรรคนานับประการ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศที่ผันแปร ไม่สามารถบังคับให้ผลผลิตเพียงพอกับต้นทุนการผลิตในบางฤดูกาล รวมทั้งปัญหาศัตรูพืชที่ทำให้ค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ในขณะที่รายได้ของชาวสวนองุ่นไม่แน่นอน

สำหรับปัญหาด้านแมลงศัตรูองุ่น พบแมลงศัตรูองุ่นหลายชนิดเข้าทำลายทำความเสียหายส่งผลให้ผลผลิตองุ่นลดลงรวมทั้งคุณภาพชาวสวนองุ่นจำเป็นต้องใช้สารกำจัดแมลงเพิ่มขึ้นอย่างมากมายและเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากมีปัญหาการดื้อสารกำจัดแมลงของหนอนบางชนิด เช่น หนอนกระทู้หอม หรือภาษาชาวสวนเรียกว่า หนอนหนังเหนียว ซึ่งการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการใช้สารกำจัดแมลงอย่างเดียวเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้ผลในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่จะทำให้ปัญหาติดตามมามากขึ้นในอนาคตในการใช้สารกำจัดแมลงและมีมลภาวะเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมปัจจุบันจึงเห็นได้ว่าพื้นที่ปลูกองุ่นจะลดน้อยลงในแต่ละปี ในท้องที่ที่เคยปลูกองุ่นมาตั้งนาน เช่นที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี อ.สามพราน จ.นครปฐม หรือไปปลูกในแหล่งอื่น ๆ เช่น ที่ อ.ปากช่อง เลย เป็นต้น และการใช้สารกำจัดแมลงนอกจากเป็นอันตรายต่อชาวสวนเองและผู้บริโภคแล้ว ยังมีปัญหาต่อสังคมด้วย

แมลงศัตรูองุ่นที่มีรายงานในประเทศไทยที่พบ มีแมลงศัตรุมากมายหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะพบได้ในบางท้องที่แตกต่างกันไป และถ้าสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสมจะเกิดการระบาด ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแมลงศัตรูที่สำคัญบางชนิดที่จะพบทำลายเสียหายอยู่เสมอๆ ได้แก่

หนอนกระทู้หอม

เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญขององุ่นชนิดหนึ่ง หนอนชนิดนี้ทำความเสียหายต่อทุกส่วนขององุ่น ได้แก่ ใบ ดอก ผล ทั้งในระยะติดดอกออกผล และยอดที่เจริญสะสมอาหารจะไปเป็นดอกและผลในฤดูเพาะปลูกถัดไป หนอนกระทู้หอมเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของพืชหลายชนิด ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง แตงกวา แตงไทย กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปม บร็อคเคอลี่ ผักคะน้า ถั่วลิสง ถั่วเขียว กระเจี๊ยบเขียว หอมแดง หอมหัวใหญ่ ถั่วฝักยาวและถั่วอื่นๆ ยาสูบ ฝ้าย กระเทียม พริกมัน มะเขือ มะระ เผือก มันเทศ ข้าวโพดหวาน และงา เป็นต้น ซึ่งเป็นหนอนที่มีความสำคัญในเขตภาคกลาง ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกเลยที่การระบาดของหนอนชนิดนี้มีระบาดเกือบทั้งปี เพราะพืชดังกล่าวปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี แมลงจึงมีแหล่งแพร่ลูกหลานในพืชอาหาร พืชอาศัยขยายพันธุ์ได้ตลอดปีเหล่านั้นเช่นกัน

ชีวประวัติและนิเวศวิทยา

ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก เมื่อกางปีกออกกว้าง 2-2.5 ซม. ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลแก่ปนเทา กลางปีกมีจุดสีน้ำตาลอ่อน 2 จุด ผีเสื้ออาศัยอยู่ตามใต้ใบ หรือตามพุ่มไม้ใบหญ้า มีอายุประมาณ 5-10 วัน แม่ผีเสื้อจะวางไข่ในตอนหัวค่ำหลังจากพระอาทิตย์เริ่มตกประมาณ 18-20 นาฬิกา วางไข่เป็นกลุ่มเล็กจำนวน 20-80 ฟอง พบกลุ่มไข่ส่วนมากตามด้านหลังใบ โดยพบตั้งแต่ใบอ่อน หรือใบเริ่มเข้าใบเพสลาด และใบแก่ ไข่ปกคลุมด้วยจนสีขาว เมื่ออายุไข่แก่จะเป็นสีน้ำตาลอ่อน ระยะไข่ 2-3 วันจะออกเป็นตัวหนอน หนอนที่ฟักจากไข่ใหม่จะอยู่เป็นกลุ่มและแทะผิวใบพรุนเป็นร่างแห ทำให้ใบแห้งซึ่งเป็นแหล่งสังเคราะห์แสงปรุงอาหาร เมื่อแหล่งอาหารหรือโรงครัวขนาดใหญ่ถูกทำลาย จึงไม่มีแหล่งผลิตเพื่อสะสมอาหาร จะมีผลกระทบต่อองุ่นที่กำลังติดผล ผิวเปลี่ยนสี และทำให้มีผลกระทบต่อคุณภาพและการติดผลในฤดูต่อไปด้วย(ภาษาชาวสวนองุ่นเรียกว่า มีด) และหนอนจะเคลื่อนย้ายกัดกินไปตามใบอื่นๆ หรือตามช่อดอกอื่นๆ ถ้าพบทำลายใบจะทำลายใบอ่อนทั้งหมด และทำลายใบที่มีอายุมากขึ้นเป็นลำดับ ในช่อดอกหรือผลอ่อนพบทำลายดอกและผลอ่อนทำให้เสียหาย ใบที่ถูกทำลายจะสังเกตเห็นใบแห้งตายในสวนองุ่นที่มีการทำลายมาก หนอนลอกคราบ 5 ครั้ง มี 6 วัย ขนาดหนอนโตเต็มที่ยาวประมาณ 3 ซม. มีหลายสี ระยะหนอน 14-17 วัน หนอนเข้าดักแด้อยู่ใต้ดินบริเวณโคนต้น ลึกประมาณ 1-2 นิ้ว ระยะดักแด้ประมาณ 5-7 วัน วงจรชีวิตหนอนกระทู้หอมประมาณ 30-35 วัน ในสภาพฤดูร้อนหนาวต่างกัน เรียกว่าสภาพแวดล้อมจะมีผลต่อวงจรอายุของแมลง ทำให้อายุขัยของแมลงจะแตกต่างกันในแต่ละฤดู ในรอบวันหนึ่งๆ หนอนชนิดนี้จะเคลื่อนย้ายหากินตามยอดบริเวณใบอ่อนในช่วงตั้งแต่เวลาเย็นตลอดจนถึงเช้ามืด ในเวลากลางวันช่วงอากาศร้อนหนอนกระทู้หอมจะหาที่หลบซ่อนตัวบริเวณหลบแสงสว่าง เช่น ใบที่ซ้อนกัน จากข้อสังเกตนี้ การพ่นสารกำจัดแมลงจึงไม่จำเป็นที่จะต้องให้ถูกตัวโดยตรง เพราะเมื่อสารกำจัดอยู่ติดตามผิวพืชแมลงจะสัมผัสกับสารกำจัดแมลงเหล่านั้นเมื่อมีการเคลื่อนย้ายในแต่ละครั้ง เช่น สารกำจัดแมลงมีฤทธิ์ถูกตัวตาย หรือสารกำจัดแมลงชนิดกินตายจะถูกได้โดยการกินส่วนขององุ่น เช่น ใบองุ่นที่มีฤทธิ์สารกำจัดแมลงที่ตกค้างอยู่ เป็นต้น

ฤดูกาลระบาด

การเปลี่ยนแปลงปริมาณประชากรของผีเสื้อและหนอนกระทู้หอม จากการใช้ฟีโรโมนของผีเสื้อและตรวจนับหนอนชนิดนี้ ที่อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ในแปลงองุ่น ทำการสำรวจตลอดปี พบผีเสื้อชนิดนี้ตลอดทั้งปีเช่นกัน ยกเว้นในช่วงที่มีการตัดแต่งกิ่งและยังไม่แตกยอด พบปริมาณการเปลี่ยนแปลงสูง ประมาณ 3 ครั้ง มีระดับสูงสุดในช่วงแตกดอกและบานใหม่ 2 ครั้ง ในเดือนมกราคมและมิถุนายน ซึ่งคาดว่าในระยะดอกบานจะมีการดึงดูดผีเสื้อมากกว่าในระยะอื่นๆ สำหรับหนอนเช่นเดียวกันจะพบใกล้ระยะที่จับได้ผีเสื้อมากในกับดักฟีโรโมน และช่วงที่จับผีเสื้อและหนอนระบาดรุนแรงในช่วงใกล้จะสิ้นฤดูฝนต่อกับหน้าแล้งซึ่งการระบาดจะสูงกว่าหน้าแล้วก่อนฤดูฝน

ศัตรูธรรมชาติ

แมลงศัตรูธรรมชาติของหนอนกระทู้หอมที่พบมีแตนเบียนหนอน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Apanteles sp. (Fam. Braconidae) จะวางไข่บนตัวหนอน เมื่อฟักเป็นตัวอ่อนจะเข้าไปกินภายใน จนเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะออกมาเข้าดักแด้สีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อนบริเวณใกล้เคียงกับตัวหนอนที่ถูกทำลายภายในด้วยตัวอ่อนของแตนเบียนและจะตายในที่สุด จากการที่ชาวสวนองุ่นบางคนมักคิดว่าดักแด้สีขาวที่ติดอยู่ข้างตัวหนอนนั้นเป็นลูกอ่อน จึงทำการพ่นสารกำจัดแมลงกำจัด

นอกจากนี้ยังพบไวรัสเอ็นพี วี (NPV) ที่ทำให้หนอนชนิดนี้ตายในธรรมชาติ กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร จึงได้นำหนอนที่ตายนั้นมาทำการเขี่ยเชื้อเลี้ยง ทำการค้นคว้าและพัฒนาวิจัย ผลิตขยายเชื้อไวรัสนำมาควบคุมหนอนกระทู้หอม ในสภาพไร่ประสบความเร็จ โดยใช้ไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอม ความเข้มข้น 10×10⁹ผลึกต่อมิลลิลิตรในอัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นป้องกันและกำจัดหนอน เชื้อชนิดนี้เท่าที่ดำเนินการทดสอบหนอนไม่ดื้อต่อเชื้อชนิดนี้ สามารถฆ่าหนอนได้ทุกวัย แต่วัยใหญ่ต้องใช้เวลา 3-5 วัน แต่ในระยะที่ได้รับเชื้อหนอนจะหยุดการกินและไม่ทำลายใบพืช ข้อสำคัญไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ และไม่กำจัดแมลงศัตรูธรรมชาติชนิดอื่นๆ ที่คอยทำลายหนอนอยู่ ในระยะองุ่นติดผลใบเต็มค้างเชื้อมีโอกาสอยู่ได้นานกว่าระยะที่องุ่นตัดแต่งกิ่งใหม่ๆ เมื่อมีหนอนเข้ามาทำลายกัดกินใบจะได้รับเชื้อเข้าไปด้วย ข้อเสียคือเชื้อไวรัส NPV หนอนแต่ละชนิดจะให้แทนกันไม่ได้ เช่น เชื้อ NPV ของหนอนหนังเหนียว จะใช้กับหนอนขน(หนอนเจาะสมอฝ้ายอเมริกัน)ไม่ได้และหนอนขนนี้ก็มีเชื้อไวรัส NPV ในธรรมชาติเช่นกัน ทางกองกีฏและสัตววิทยาเองนำมาปรับปรุงและนำมาใช้ได้ดีแล้วทั้งในองุ่น ฝ้าย กุหลาบ เป็นต้น

การสำรวจแมลง

ความจำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจศัตรูพืชก่อนทุกชนิด เนื่องจากเป็นวิธีการที่จะใช้สารกำจัดแมลงให้ถูกเวลา เมื่อถึงขั้นที่จะต้องการกำจัด สำหรับการสำรวจสามารถที่จะทำได้ 2 วิธีคือ

วิธีที่หนึ่งที่มักเห็นชาวสวนองุ่นปฏิบัติอยู่สม่ำเสมอ โดยการสุ่มสำรวจดูไข่ตามใต้ใบพืช และสำรวจดูหนอน การสำรวจแมลงโดยการสำรวจจากยอด ช่อองุ่น ใบอ่อน และบริเวณช่อดอก ในระยะดอกจะพบหนอนสำหรับใบแก่สำรวจดูรอยทำลายและบริเวณที่ใบซ้อนกันอยู่ แต่ชาวสวนไม่ได้คิดถึงการแบ่งระดับการระบาด เช่น พบหนอนน้อยมาก น้อย หรือระบาดมากส่วนใหญ่จะขึ้นกับประสบการณ์ที่มี ถ้าเพิ่มความเข้าใจให้ชาวสวนเกี่ยวกับขนาดของหนอนแต่ละวัยจะเป็นการดีเนื่องจากหนอนชนิดนี้ความต้านทานหรือการที่หนอนจะได้รับสารกำจัดแมลงที่จะทำให้ตายได้ขึ้นกับวัยและขนาดของหนอนด้วย โดยหนอนวัยอ่อนขนาดเล็กจะใช้จำนวนสารน้อยกว่าวัยโตและมีขนาดโต โดยเฉพาะหนอนวัยที่ 3 เป็นวัยที่จะมีการต้านทานสารบางชนิดถึงสามเท่าของปริมาณสารกำจัดแมลงที่ใช้โดยทั่วๆไป

วิธีที่สอง โดยการอาศัยสัญชาตญาณของแมลงในการสำรวจโดยการใช้สารฟีโรโมนสังเคราะห์ คือสาร Z,E-9,12-tetradacadiemyl acetate มีอัตรา 0.5 มิลลกรัมต่อแผ่นยางอายุใช้งาน 20-30 วัน(ขณะนี้ยังไม่มีจำหน่ายในบ้านเรา ตอนนี้สั่งเข้ามาทดลองเท่านั้น) เมื่อติดตั้งโดยใช้กับดักแบบสามเหลี่ยม มีกาวเหนียวอยู่ฐานด้านล่าง สารฟีโรโมนจับได้เฉพาะตัวผู้เท่านั้น จากการศึกษาพบว่าเมื่อกับดักจับได้เฉลี่ย 3 ตัวต่อกับดัก ควรพ่นสารกำจัดแมลงหลังจากนี้ 2-3 วัน

ประวัติของการคิดค้นฟีโรโมนโดยทั่วๆไปมาจากเรื่องของธรรมชาติ กล่าวคือ สิ่งมีชีวิตทุกอย่างต้องมีการสืบพันธุ์เพื่อการดำรงชีวิตต่อไป นักวิทยาศาสตร์จึงคิดค้นโดยตั้งจากสมมติฐานว่า ทำไมแมลงจึงหากันเจอในพื้นที่กว้างขวางเช่นนี้ วิธีการหนึ่งโดยการสกัดส่วนประกอบของสารเคมีว่าประกอบด้วยสารอะไร ปริมาณเท่าไร แล้วนำมาสังเคราะห์ ลอกแบบจากสารสกัดที่ได้นั้น ก่อนนำมาทดสอบในห้องปฏิบัติการ และสภาพธรรมชาติต่อไป จึงพบสารที่สกัดได้จากส่วนสกัดของผีเสื้อเพศเมีย ซึ่งเรียกว่า สารล่อเพศแมลงหรือฟีโรโมนระยะหลังจึงสังเคราะห์สารชนิดนี้ขึ้น เรียกว่า สารสังเคราะห์ฟีโรโมน มีมากมายหลายพันชนิดในขณะนี้ แต่บ้านเรามีใช้ไม่กี่ชนิด

การป้องกันและกำจัด

สามารถปฏิบัติได้หลายวิธีการดังนี้

1.  การใช้เชื้อไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอม ที่สามารถผลิตขึ้นได้เองหรือติดต่อที่กองกีฏและสัตววิทยา โดยให้พ่นไวรัสเมื่อพบหนอนกระทู้หอมขนาดเล็กๆ (วันที่ 1 หรือวัยที่ 2) สัปดาห์ละครั้งเมื่อมีการระบาดรุนแรงเฉลี่ยพบนอน 1 ตัวต่อช่อ จากการสุ่มสำรวจจำนวน 200 ช่อต่อ 3 ไร่ หรือเมื่อพบผีเสื้อของหนอนกระทู้หอมมีปริมาณในกับดักเฉลี่ย 3 ตัวต่อกับดักต่อวัน ควรพ่นถี่ 3-4 วันต่อครั้ง หลังจากนั้นเมื่อหนอนแสดงอาการถูกทำลายด้วยไวรัสNPV ควรเว้นระยะห่าง 7 วัน หรือแล้วแต่ความเหมาะสม

2.  การใช้เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ธูริงเจนซิส (Bacillus thuringiensis) ซึ่งขายตามท้องตลาดมีชนิดและความเข้มข้นต่างกัน ควรเลือกใช้ชนิดที่มีผลดีในการกำจัด เชน เซ็นจูรี่ แบล็กโทรสะปิน และชนิดอื่นๆ เพราะหนอนชนิดนี้มีความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงได้ง่าย

3.  การใช้สารกำจัดแมลงกลุ่มระงับการลอกคราบ พ่น 7 วัน เมื่อสำรวจพบหนอนกระทู้หอมระบาดถึงระดับที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้นแล้วแต่การระบาด ปัจจุบันสารกำจัดแมลงกลุ่มนี้นิยมใช้ และใช้ได้ดี ที่มีวางจำหน่ายทั่วไปยังไม่ถึงขวบปีได้แก่ สารมิมิค ที่ใช้อัตรา 5 มิลลิลิตรผสมน้ำ 20 ลิตร การทดสองขณะนี้ใช้ได้กับหนอนหนังเหนียวชนิดเดียว ไม่สามารถจะใช้กันหนอนขน หรือหนอนเจาะสมอฝ้ายอเมริกัน ถ้าใช้ได้ต้องใช้อัตรา 3-4 เท่าของที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งใช้แล้วไม่คุ้มกับการลงทุน

สำหรับสารจำกัดแมลงทั้งกลุ่มเชื้อไวรัส NPV,เชื้อแบคทีเรีย,สารระงับการลอกคราบ,ไพรีทรอยด์ หรือออร์กาโนฟอสเฟต และอื่นๆ ทุกครั้งหลังจากการพ่นสารกำจัด ควรประเมินผลการกำจัดด้วย และใช้ในช่วงที่กับดักสารล่อเพศจับผีเสื้อชนิดนี้ได้มาก หรือระยะหนอนกระทู้หอมตัวเล็กๆ (วัยที่ 1 ถึงวัยที่ 3) ซึ่งสามารถกำจัดได้ง่ายกว่าหนอนวัยโต และสารแต่ละชนิดอาจมีผลต่อระยะองุ่น เช่น การติดดอกการออกผล ใบ ทั้งคุณภาพขององุ่น จึงควรระวังในเรื่องการใช้สารป้องกันกำจัดหนอนชนิดนี้ในแต่ละครั้งด้วย

4.  การใช้กับดักแสงไฟ แบล็คไลท์(Black light) สีม่วง หรือสีน้ำทะเล ติดตั้งโดยเฉพาะบริเวณหัวร่องน้ำ เหนือน้ำวางขนานกับผิวน้ำประมาณ 1 ฟุต และเปิดไฟในช่วงหัวค่ำถึงกลางดึกจากการสำรวจพบว่ากับดักแสงไฟที่ชาวสวนนิยมใช้ล่อแมลงมากำจัด มักวางหลอดไฟฟ้าสูงเกินความจำเป็น คาดว่าการกำจัดจะได้บางส่วนเท่านั้น เนื่องจากผีเสื้อที่มาเล่นใกล้หลอดไฟ

หนอนเจาะสมอฝ้าย

หนอนเจาะสมอฝ้ายหรือหนอนขน เป็นหนอนที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งจะพบทำความเสียหายต่อส่วนที่เป็นผลผลิตขององุ่นโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะออกดอกและติดผลอ่อน การทำลายจะมีผลต่อผลผลิตขององุ่นโดยตรง

ชีวประวัติและนิเวศวิทยา

หนอนมีตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดกลาง ความกว้างปีกระหว่างปลายปีกคู่หน้าประมาณ 3.2-3.8 ซม. พบผีเสื้อซ่อนอยู่ตามใบแก่ขององุ่นและพืชอาศัยอื่นๆ ระยะไข่ 2-3 วัน หนอนฟักใหม่มีสีขาวนวล บนลำตัวมีปุ่มขนประปรายขึ้นอยู่ตามส่วนท้องทุกปล้อง มีแถบสีน้ำตาลแดงพาดมาตามความยาวของลำตัว ตัวหนอนมีสีต่างๆ มีการลอกคราบ 5 ครั้ง หนอนที่โตเต็มที่มีความยาวของลำตัวประมาณ 3.5-4 ซม. ระยะหนอน 15-21 วัน จะเข้าดักแด้ตามรอยแตกของดิน ระยะดักแก้ 18-21 วัน

หนอนเจาะสมอฝ้ายทำลายองุ่นโดยกัดกินส่วนดอก และเมล็ดภายในผลองุ่นทำลายระยะติดดอกตั้งแต่ดอกตูมจนถึงระยะดอกบาน จะพบช่อดอกที่ถูกทำลายโดยบางส่วนของดอกถูกทำลายกัดกินเป็นแถบ และถ้าทำลายในระยะช่อผลอ่อนที่มีอายุส่วนใหญ่จะไม่เกิน 10-14 วัน หลังจากดอกบานเท่านั้นจะเจาะกินเมล็ดภายในหมดและย้ายไปกัดกินผลอื่นต่อไป ผลที่ถูกทำลายจะเห็นรูร่องรอยถูกทำลายและจะไม่เจริญอีกต่อไป หนอนชนิดนี้ 1 ตัว สามารถทำลายได้หลายช่อดอก โดยเฉพาะช่อดอกที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้หลายช่อ พบหนอนเจาะสมอฝ้ายตามแหล่งปลูกองุ่นในภาคกลาง เช่น ราชบุรี สมุทรสาครและนครปฐม แต่เนื่องจากเป็นแมลงศัตรูที่มีพืชอาหารมาก ฉะนั้นจึงคาดว่าอาจพบในแหล่งปลูกองุ่นอื่นๆ ด้วย

ฤดูกาลระบาด

พบการระบาดตลอดทั้งปี แต่จากการศึกษาพบในช่วงระยะออกช่อดอกจนติดผลอ่อน หลังจากดอกบาน 10-14 วัน ในช่วงผลโต หรือหลังเก็บเกี่ยวจะไม่พบหนอนชนิดนี้

ศัตรูธรรมชาติ

มีแมลงศัตรูธรรมชาติหลายชนิดที่มีรายงานว่าสามารถควบคุมปริมาณหนอนเจาะสมอฝ้ายทั้งในข้าวโพดและฝ้ายคือ แตนเบียนไข่ไตรโครแกรมม่า

การสำรวจแมลง

การสำรวจแมลงเป็นวิธีการที่จะเป็นแนวทางในการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับช่วงการระบาด ฉะนั้นจึงดำเนินการสำรวจหนอนชนิดนี้ด้วยวิธีการดังนี้คือ

1.  การสำรวจช่อที่ถูกทำลายโดยพบว่าการทำลายของหนอนชนิดนี้บนองุ่นจะแตกต่างกับหนอนชนิดอื่นคือมักพบตามช่อระยะดอกและผลอ่อน แต่ถ้าผลใหญ่จะพบการทำลายน้อยมาก

2.  การใช้สารล่อเพศแมลงหรือฟีโรโมนของผีเสื้อหนอนชนิดนี้ สารที่ใช้คือ Z-11-Hexadecenyl aldehyde และ Z-9-Hexadecenyl aldehyde ในอัตราส่วน 97 ต่อ 3 โดยปริมาตร ซึ่งสามารถมีอายุใช้งานได้ 1 เดือน

การป้องกันและกำจัด

สามารถปฏิบัติได้หลายวิธีดังนี้

1.  ในระยะติดดอกและผลอ่อนควรหมั่นตรวจดูช่อองุ่น เมื่อพบมีการทำลายควรดำเนินการจับทิ้งเพื่อไม่ให้ลุกลามไปช่ออื่นๆต่อไป

2.  เมื่อมีการระบาดมากหรือสำรวจพบผีเสื้อซึ่งจับได้จากกับดักสารล่อเพศ ในด้านการใช้เชื้อไวรัส NPV ควบคุมหนอนเจาะสมอฝ้ายนั้นควรใช้เชื้อไวรัส NPV ความเข้มข้น 2×10⁹ผลึกต่อมิลลิลิตร ใช้เชื้อ 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร จะให้ผลดีในการควบคุมหนอนเจาะสมอฝ้ายในช่วงองุ่นอายุ 35-70 วัน หลังจากตัดแต่งกิ่ง

3.  การใช้สารกำจัดแมลงในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เมื่อพบหนอนเจาะสมอฝ้ายระบาด เป็นวิธีการที่ให้ผลรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ หนอนเจาะสมอฝ้ายที่ระบาดทำลายฝ้ายแสดงการต้านทานต่อสารกำจัดแมลงจำพวกไพรีทรอยด์สังเคราะห์ ฉะนั้นต้องใช้สารกำจัดแมลงกลุ่มนี้เท่าที่จำเป็น โดยใช้สารกำจัดแมลงกลุ่มนี้สลับกับกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต หรือกลุ่มระงับการลอกคราบหรือกลุ่มคาร์บาเมท หรือสารกำจัดแมลงประเภทเชื้อจุลินทรีย์ เช่น เชื้อไวรัส แต่ควรเลือกสารกำจัดแมลงด้วย ทั้งนี้เนื่องจากองุ่นมักปรากฎผลเนื่องจากสารกำจัดแมลงบางชนิดจะมีผลต่อใบ ดอก และผลขององุ่นในด้านคุณภาพ

เพลี้ยไฟ

เป็นศัตรูที่สำคัญชนิดหนึ่งทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย

ชีวประวัติและนิเวศวิทยา

ลำตัวยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ตัวอ่อนมีสีเหลือง ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลปนเหลือง รายละเอียดของเพลี้ยไฟไม่สามารถแยกชนิดด้วยตาเปล่าได้ เนื่องจากมีขนาดเล็กต้องมีการนำมาทำสไลด์และแยกชนิดภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเพลี้ยไฟสามารถทำลายพืชทั้งระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัย โดยใช้ปากเขี่ยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอด ใบอ่อน ตาดอก ดอก และผลอ่อน ทำให้ยอด ใบอ่อนหงิกงอ ใบแห้งกรอบ ไม่เจริญเติบโตและตายในที่สุด อาการที่พบส่วนมากถ้าทำลายบางส่วนจะทำให้เกิดแผลเป็นรอยสะเก็ดสีน้ำตาล ในระยะใบเมื่อเกิดทำลายจะทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก ถ้าเกิดในระยะดอกทำให้ดอกร่วงไม่เกิดผล และแผลสะเก็ดตามช่อองุ่นถ้าเป็นกับผล เมื่อผลเกิดแผลเป็นตำหนิคุณภาพตก ซึ่งจะเกิดตั้งแต่ระยะติดผลเมื่อผลแก่ขึ้นจะทำให้บริเวณที่ถูกทำลายไม่เจริญ และปริแตกได้ง่าย ที่สำคัญทำให้ยอดมีการเจริญเติบโตชะงักทั้งในฤดูที่กำลังติดผล และฤดูหน้าที่จะติดช่อต่อไป โดยมากพบระยะระบาดตั้งแต่หลังจากตัดแต่งกิ่ง จนผลโตเต็มที่เนื่องจากองุ่นมีการแตกยอดตลอดเวลา

ฤดูกาลการระบาด

ปริมาณการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ จาก อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โดยที่ศึกษาจากกับดักแมลง กาวเหนียวสีเหลือง เพลี้ยไฟจะพบตลอดทั้งปีมีแนวโน้มจะมี 6 รุ่นต่อปี ช่วงที่พบปริมาณสูงสุดจะมีอยู่ 3 รุ่นคือเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม, พฤษภาคม-มิถุนายนและกรกฎาคม-สิงหาคม และมีในช่วงออกดอกและติดผลซึ่งจะเป็นส่วนเสริมให้มีการระบาดรุนแรงกว่าเดิม

ศัตรูธรรมชาติ

การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูเพลี้ยไฟ โดยเฉพาะในแหล่งที่มีพืชอาศัยอื่นๆ เช่น มะม่วง ในบริเวณด้านที่อยู่ใต้ลมและบริเวณขอบแปลง เมื่อพบควรดำเนินการป้องกันและกำจัด โดยการพ่นสารกำจัดแมลงจนกว่าองุ่นจะพ้นระยะการทำลายของเพลี้ยงไฟเมื่อใบแก่และผลแก่ ซึ่งการพ่นสารกำจัดแมลงควรเลือกใช้สารเคมีที่ไม่มีผลต่อองุ่น ในแต่ละระยะของพืชที่มีการระบาด ศัตรูธรรมชาติมีพวกเพลี้ยไฟบางชนิด แต่พบในพืชชนิดอื่นๆ เช่น เน็คทารีน แต่ไม่พบในองุ่นเนื่องจากมีการใช้สารกำจัดแมลงมาก

การสำรวจ

โดยใช้วิธีการเคาะยอด และใบองุ่นลงบนกระดาษแข็งหรือพลาสติกสีขาว เหลือง หรือดูจากอาการทำลายของเพลี้ยไฟบนใบ

การป้องกันจำกัด

1.  หลีกเลี่ยงการปลูกองุ่นในแปลงที่มีพืชอาศัยอื่นๆ มาก เช่น มะม่วง เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากเพลี้ยไฟเป็นแมลงศัตรูที่มีขนาดเล็ก การเคลื่อนย้าย เช่น แรงลม ทำให้มีการระบาดของเพลี้ยไฟในสวนองุ่นได้ เช่นที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พบเพลี้ยไฟระบาดในร่องปลูกใกล้สวนองุ่นมากกว่าบริเวรร่ององุ่นที่ห่างออกไป การสำรวจเพื่อการป้องกันกำจัดจึงควรสำรวจบริเวณร่องที่อยู่บริเวณใกล้ขอบด้านนอกเสมอแล้วจึงกระจายสำรวจในร่องอื่นๆ

2.  สารกำจัดแมลงไดคาร์โซล 50 หรือเมโซโลน ในอัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สามารถลดปริมาณและช่วยป้องกันกำจัดได้ประมาณ 5-10 วัน

การป้องกันกำจัดแมลงแบบผสมผสาน

ในภาคกลางบริเวณเขต จ.นครปฐม สมุทรสาคร และราชบุรี เป็นแหล่งปลูกองุ่นที่มีการพัฒนาตั้งแต่มีการปลูกองุ่นมาเป็นเวลานาน จนะป็นแหล่งที่ชาวสวนมีความชำนาญปลูกองุ่น เมื่อมีการย้ายไปปลูกแหล่งอื่นๆ เช่น เพชรบูรณ์ นครราชสีมา หรือสระบุรี ก็มักจะเป็นคนพื้นเพที่เคยปลูกองุ่นในแหล่งดังกล่าวข้างต้นมาแล้ว การป้องกันกำจัดศัตรูพืชจึงจะมีวิธีการที่คล้ายคลึงกันแหล่งเกษตรภาคกลางทั่วไป ตลอดจนวิธีการจัดการในแปลงปลูกองุ่น

การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ยังนิยมใช้ปฏิบัติรักษาในสวนองุ่นในด้านเครื่องพ่นสารเคมีต่างๆ ได้มีการพัฒนาเรื่อยๆมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่แบบสูบชัก เครื่องพ่นสารแบบสูบโยก สูบโยกสะพายหลัง เครื่องแรงดันน้ำสูง ทั้งขนิดติดตั้งบนเรือลากหรือแบบส่งมาตามท่อแล้วก็ตาม ในการป้องกันกำจัดแมลง อัตราจำนวนน้ำยากำจัดแมลงที่ใช้ต่อไร่ตั้งแต่ 200-700 ลิตรต่อไร่ก็ยังนิยมใช้ในปัจจุบัน ขนาดหัวฉีดที่ซื้อมาใช้ชนิดรูหัวฉีดโตที่สุด ซึ่งบางครั้งก็ยังไม่เป็นที่พอใจของชาวสวน จำเป็นต้องหาวิธีการให้รูหัวฉีดโตขึ้น เวลาพ่นถ้าเป็นผู้พ่นก็มักจะเปียกทั่วทั้งตัวละอองน้ำยาไหลตกบนพื้นมากกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่แมลงศัตรูพืชที่ต้องการกำจัดอยู่บนต้นพืชหรือถ้าในขณะที่ชาวสวนคิดว่าพ่นสารกำจัดแมลงทุกครั้งเพื่อป้องกันการทำลายของแมลงศัตรูพืชที่จะมาทำลายองุ่นซึ่งได้กล่าวมาแล้ว ในขณะพ่นสารกำจัดแมลง 60-70 เปอร์เซ็นต์ สารมักตกบนพื้น ดังนั้นชาวสวนจะสามารถป้องกันกำจัดได้สักกี่เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้สำหรับองุ่นในขณะที่ปลูกจะพบเห็นว่ามีการพ่นน้ำล้างใบองุ่นทุก 3-4 วัน สารกำจัดแมลงจะอยู่ได้อย่างไร เหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการต้านทานของแมลงต่อสารกำจัดแมลงทำให้สารกำจัดแมลงที่ว่ามีประสิทธิภาพดีหลายชนิดใช้ไม่ได้ผล ยกตัวอย่างเช่น แซดคิลเลอร์ อาทาบอน และน่าเป็นห่วงที่มีสารมิมิค ซึ่งอาจจะดำเนินตามสารกำจัดแมลงสองตัวแรกดังกล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ในขณะที่พ่นสารทำให้เกิดการกำจัดแมลงศัตรูธรรมชาติ ซึ่งถูกทำลายง่ายกว่าแมลงศัตรูพืชจึงไม่มีสิ่งควบคุมทำให้เกิดระบาดอีก และสารยังมีฤทธิ์ตกค้างในผลผลิต ในสภาพแวดล้อม ดิน และน้ำมีผลกระทบต่อสังคม ดังนั้นจึงมีการนำวิธีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน ซึ่งเป็นวิธีการที่จะนำเอาวิธีการที่จะลดจำนวนศัตรูพืชด้วยวิธีการต่างๆ เข้ามาช่วย ทำให้ลดความเสียหายจากการทำลาย คุ้มค่ากับการลงทุนวิธีการดังกล่าว ได้แก่การป้องกันกำจัดทางเขตกรรม การใช้วิธีกล ทางฟิสิกส์ ทางชีวภาพ การใช้พันธุ์ต้านทาน ตลอดจนการใช้สารเคมี ซึ่งเป็นมาตรการอันสุดท้าย ซึ่งการป้องกันกำจัดดังกล่าวศัตรูชนิดหนึ่งอาจใช้วิธีการต่างๆ ที่แตกต่างกันไปวิธีเดียวหรือหลายวิธีก็ได้ ทั้งนี้ต้องแล้วแต่ละชนิดของศัตรูพืช พืช รวมทั้งสภาพแวดล้อม

การป้องกันกำจัดแมลงแบบผสมผสานจะพยายามเน้นการป้องกันกำจัดโดยชีววิธี รวมทั้งการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ การใช้สารกำจัดแมลงจะพยายามใช้สารเฉพาะเจาะจงสำหรับแมลงศัตรูพืชมากกว่าจะใช้สารที่สามารถกำจัดแมลงทุกชนิด จากการทดลองวิธีการป้องกันกำจัดแมลงแบบผสมผสานซึ่งได้เริ่มทดลองในปลายปี 2535 ทั้งในเขต อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และที่อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งเน้นกับหนอนหนังเหนียวเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากโดยทั่วๆไปในระยะนั้นมีการพ่นสารกำจัดแมลงทุก 3-4 วัน จึงสามารถที่จะควบคุมแมลงนี้อยู่ แต่บางส่วนไม่สามารถที่จะกำจัดได้จำเป็นที่จะต้องเลิกปลูกทำให้พื้นที่ลดไปไม่ต่ำกว่า 10,000-20,000 ไร่

วิธีการที่ถูกนำมาทดแทนการใช้สารกำจัดแมลงคือการใช้ไวรัส NPV ในอัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อสำรวจพบหนอนมากกว่า 1 กลุ่มต่อช่อ หรือพบไข่ 0.5 กลุ่มต่อช่อ หรือพบผีเสื้อที่จับได้จากกับดักฟีโรโมนเฉลี่ย 3 ตัวต่อกับดัก ในช่วงที่ระบาดรุนแรงเดือนพฤศจิกาย 2535- มีนาคม 2536 ใช้ไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอมพ่นทั้งหมด 8 ครั้ง และใช้ไวรัสของหนอนเจาะสมอฝ้าย จำนวน 3 ครั้ง ผลผลิตที่ได้ไม่แตกต่างกับวิธีการของชาวสวนพ่นโดยใช้วิธีการเดิมคือพ่นทุก 3-4 วัน ซึ่งชาวสวนจะพ่นทั้งหมด 33 ครั้ง จากการสำรวจในแปลงใช้ไวรัสนั้นพบปริมาณของแตนเบียนหนอนกระทู้หอมมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

แต่อย่างไรก็ตามในการใช้ไวรัสอย่างเดียวจะพบปัญหาแมลงศัตรูอื่นๆ เกิดระบาดจึงจะต้องนำวิธีการอื่นๆ มาช่วย แมลงดังกล่าวได้แก่เพลี้ยไฟ หนอนเจาะผล หนอนเจาะกิ่ง ซึ่งจะต้องทำการค้นคว้าต่อไป ซึ่งโครงการนี้ยังดำเนินการต่อที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี และที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร