อบเชย

อบเชย

ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ อบเชยเทศ อบเชยลังกา อบเชยชวา อบเชยญวน

ชื่อภาษาอังกฤษ Cinnamon

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum spp.

วงศ์ Lauraceae

อบเชยเป็นพืชที่ใช้เปลือกต้นเป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหาร หลายชนิด อบเชยมีหลายชนิด ได้แก่

1. อบเชยเทศ หรืออบเชยลังกา ภาษาอังกฤษเรียกว่า Ceylon cinnamon หรือ True cinnamon ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Cinnamomum verum J.S.Presl (c. zeylanicum Garc. ex Bl.) มีปลูกมากในศรีลังกา อินเดีย หมู่เกาะซิซิลี และบราซิล

2. อบเชยจีน เรียกชื่อในภาษาอังกฤษว่า Chinese cinnamon, False cinnamon, Chinese cassia หรือ Cassia bark ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Cinnamomum cassia (Nees) Nees ex Blume

3. อบเชยชวา มีชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum burmanii Blume ชื่อเรียกในภาษาอังกฤษคือ Batavia cassia, Batavia cinnamon, Padang cassia, Padang cinnamon

4. อบเชยญวน มีชื่อเรียกว่าในภาษาอังกฤษว่า Saigon cinnamon หรือ Saigon cassia ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Cinnamomum loureirii Nees

อบเชยชนิดต่างๆ ส่วนที่นำมาใช้คือ เปลือกต้นด้านใน อบเชยแต่ละชนิดจะมีลักษณะที่แตกต่างกันบ้าง อบเชยเทศนับว่าเป็นอบเชยที่มีกลิ่นหอมที่สุด อบเชยเทศเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก อบเชยจีนสูงกว่าอบเชยเทศ เปลือกหนา และหยาบกว่าเปลือกอบเชยเทศ สีเข้มกว่า กลิ่นฉุน รสขมเล็กน้อย อบเชยจีนที่ดีต้องได้จากแขนงที่ยังอ่อนอยู่ สำหรับอบเชยชวาเป็นไม้ยืนต้นที่ใหญ่ที่สุด สูงได้ถึง 20 เมตร อบเชยที่ขายกันอยู่ในท้องตลาดมักจะเป็น อบเชยชวา (แต่เรียกกันว่าอบเชยเทศ) กลิ่นหอมสู้อบเชยเทศไม่ได้ ส่วนอบเชยญวนเป็นไม้ยืนต้นที่มีลักษณะใกล้เคียงกับอบเชยจีน ส่วนมากส่งไปขายในสหรัฐอเมริกา กลิ่นหอมสู้อบเชยเทศไม่ได้ มีรสหวานเล็กน้อย

สารสำคัญและประโยชน์

เปลือกอบเชยเทศเมื่อนำมากลั่นด้วยไอนํ้าจะได้นํ้ามันอบเชยเทศ (Cinnamon bark oil) ประมาณ 0.5-1 % เมื่อกลั่นใหม่ๆ จะมีสีเหลือง เมื่อเก็บไว้นานๆ จะเปลี่ยนเป็นสีแดง ในนํ้ามันอบเชยเทศจะประกอบด้วยสารหลายชนิด เช่น ซินนามาลดีไฮด์ (cinnam aldehyde), ยูจีนอล, เบนซาลดีไฮด์ (benzaldehyde), เฟลแลนดรีน (phellandrene), ไพนีน, และไล นาลูออล เป็นต้น สำหรับใบอบเชยเทศเมื่อกลั่นด้วยไอนํ้าจะได้นํ้ามันใบอบเชยเทศ (Cinnamon leaf oil) ประมาณ 1% นํ้ามันมีลักษณะเป็นสีนํ้าตาล กลิ่นฉุนคล้ายนํ้ามันกานพลู ประกอบด้วยสารยูจีนอล, ซินนามาลดีไฮด์, เบนซาลดีไฮด์, ไพนีน, บอร์นีออล, เจอรานีออล (geraniol), ไลนาลูออล และ ซินนามิล แอลกอฮอล์ (cinnamyl alcohol) เป็นต้น นํ้ามันใบอบเชยใช้แต่งกลิ่นสบู่ ใช้เป็นส่วนผสมในยาทาถูนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดตามข้อ และใช้ เป็นแหล่งของสารยูจีนอลเพื่อนำมาสังเคราะห์เป็นสารวานิลลิน สำหรับนํ้ามันอบเชยเทศใช้แต่งกลิ่นลูกกวาด ขนมหวาน เหล้า เภสัชภัณฑ์ สบู่ ยาเตรียมที่ใช้สำหรับช่องปาก ใช้เป็นส่วนผสมในยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ นํ้ามันอบเชยเทศมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อรา แต่ทำให้เกิดการระคายเคือง

เปลือกอบเชยจีน มีนํ้ามันหอมระเหยอยู่ประมาณ 1 – 2% นํ้ามันอบเชยจีนจะมีราคาถูกกว่านํ้ามันอบเชยเทศ ในนํ้ามันอบเชยจีนประกอบด้วยสารซินนามาลดีไฮด์, ซินนามิลอะซีเตท (cinnamyl acetate), กรดซินนามิค (cinnamic acid), กรดแทนนิค (tannic acid) และแป้ง แต่จะไม่มีสารยูจีนอล เป็นส่วนประกอบซึ่งต่างกับนํ้ามันอบเชยเทศ น้ำมันอบเชยจีนใช้เป็นยาขับลม บำรุงธาตุ และฝาดสมาน ใช้แต่งกลิ่นยาที่ใช้แก้ท้องเสีย และใช้แก้คลื่นไส้อาเจียน นํ้ามันอบเชยจีนมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์แต่ก็ทำให้เกิดความระคายเคืองได้มาก นอกจากนี้ยังใช้แต่งกลิ่นอาหารและเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ขนมหวาน ลูกกวาด เยลลี่ และอาหารประเภทเนื้อ

เปลือกอบเชยชวา กลิ่นหอมไม่เท่าอบเชยเทศ นํ้ามันหอม ระเหยที่สกัดได้มีประมาณ 1-2% ประกอบด้วยสารคล้ายกับนํ้ามันอบเชยจีน เปลือกอบเชยชวามักใช้ผสมเครื่องแกงมัสมั่น และแต่งกลิ่นข้าวหมกไก่

เปลือกอบเชยญวน มีลักษณะคล้ายคลึงกับอบเชยจีนมาก กลิ่น ไม่หอมเท่าอบเชยเทศ ในเปลือกมีนํ้ามันอบเชยญวนประมาณ 2-6% ประกอบด้วยสารสำคัญคือ ซินนามาลดีไฮด์, ยูจีนอล, ใช้ประโยชน์แต่งกลิ่นยา และอาหารเช่นเดียวกับอบเชยชนิดอื่นๆ