อาการวิทยาในพืช

SYMPTOMATOLOY
ลักษณะอาการของโรค (clinical appearances or syndrome) เป็นลักษณะของพืชที่สังเกตุเห็นได้ด้วยตาเปล่า และอาจสามารถตรวจสอบได้ด้วยกลิ่น การสัมผัส หรือแม้แต่การชิม ประกอบด้วยอาการ (symptoms) เป็นการเปลี่ยนแปลงของพืชที่เกิดจากปฏิกริยาทั้งภายใน หรือภายนอก กับส่วนที่แสดงออกให้เห็นได้ของเชื้อสาเหตุโรค (signs) ร่วมกัน ส่วนของเชื้อดังกล่าว ได้แก่ เส้นใย สปอร์ fruiting bodies ฯลฯ โดยอาจพบเจริญอยู่บน หรือในเนื้อเยื่อพืชที่เป็นโรค
ลักษณะอาการของโรค อาจพบหลายแบบปะปนกันได้ ทั้งนี้ก็แล้วแต่ชนิดของโรค
ลักษณะอาการของโรคที่สำคัญ มีหลักเกณฑ์ที่ควรสังเกตุ ดังนี้
1. อาการของสัณฐาน (morphological symptoms) เป็นลักษณะรูปร่าง ส่วนต่างๆ ภายนอกของพืช เช่น เป็นปม (galls), cankers เน่า (rot) เป็นต้น
2. อาการที่เนื้อเยื่อพืช (histological symptoms) เป็นลักษณะที่ผิดปกติของโครงสร้าง ส่วนประกอบและการเรียงตัวของเซล สีกลุ่มท่อลำเลียงของพืชเปลี่ยนแปลง เซลใหญ่กว่าปกติ ซึ่งตรวจสอบได้ โดยการตัดเนื้อเยื่อมาตรวจสอบภายใต้กล้องจุลทัศน์
3. อาการทางแผล (lesional symptoms) เป็นอาการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเป็นหย่อมๆ ต่างไปจากเนื้อเยื่อปกติอื่นๆ (localized lesions) เช่นใบเป็นจุด แผลเสก็ด เน่าเป็นหย่อมๆ เป็นต้น
4. อาการผิดปกติวิสัยตามสายพันธุ์ (habitual symptoms) เป็นการแสดงออกที่ผิดปกติไปของพืชจากสายพันธุ์นั้น เช่น การเหี่ยว (wilting) ต้นสูงผิดปกติ โคนเน่าระดับดินของกล้าพืช (damping off)
5. อาการแรก (primary symptoms) เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยตรงจากกิจกรรมต่างๆของเนื้อเยื่อพืชที่มีเชื้อสาเหตุโรคเข้าไป
6. อาการที่เกิดตามภายหลัง (secondary symptoms) เป็นอาการที่เกิดขึ้นทางอ้อม โดยไม่ได้เกิดที่เนื้อเยื่อหรือส่วนของพืชที่เชื้อเข้าทำลาย เกิดกับส่วนที่อยู่ห่างออกไป เช่น โรคเน่าที่เกิดกับตา ต่อมาใบอ่อนที่อยู่ถัดไปมีสีเหลือง อาการเน่านั้นจะเป็นอาการแรก ส่วนอาการใบอ่อนสีเหลืองนั้น เป็นอาการของโรคพืชที่เกิดตามภายหลัง เป็นต้น
อาการโดยทั่วไปของโรค General classification of symptoms)
Necrosis
อาการที่เกิดจากเซลตายโดยทั่วไปเป็นแบบแห้ง หรือเป็นหย่อมๆ เน่า อาจเกิดเร็วหรือช้า ส่วนของพืชที่เป็นโรคได้แก่บนใบ ต้น โคนต้น ราก หัว ฝัก ผล ฯลฯ อาการของโรคจะมีขอบเขตใหญ่หรือเล็ก ขึ้นอยู่กับ ส่วนของพืช ชนิดของพืชอาศัย เชื้อโรค สภาพของอากาศ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ โรคใบ หรือผลเป็นจุด ตามปกติมีขนาดแผลประมาณ 1 หรือ 2 มม. จนถึง 1 ซม. ขึ้นไป ส่วนโรคแอนแทรคโนส ของฝักถั่ว แตงกวา แตงโม และฝ้าย มักมีขนาดใหญ่กว่า 1 ซม. เล็กน้อย เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงของส่วนที่เป็นโรค แบ่งเป็นอาการได้ ดังนี้
1. Plesionecrotic symptoms เป็นอาการ necrosis ที่เกิดขึ้นจากการที่ protoplasm สลายตัวไม่ทำหน้าที่ตามปกติ อาการที่พบมีดังนี้คือ
สีเหลือง ซีด เพราะขาดคลอโรฟิล (chloronemia, yellowing, pallor)
ผิวใบสีเทา มันคล้ายเงิน (silvering)
สีม่วงหรือแดงที่ผิดปกติ ซึ่งเกี่ยวกับการสร้างรงควัตถุ (anthocyanescence)
เนื้อเยื่อมีสภาพชุ่มนํ้า เนื่องจากน้ำในเซลไหลออกมาอยู่ตามช่องว่างระหว่างเซล (intercellular spaces)
เหี่ยวที่ใบหรือยอด เกิดจากการทำงานของระบบท่อลำเลียงนํ้าและอาหาร (vascular system) ไม่ปกติ อาจมีปรสิตที่รากหรือส่วนโคนต้น ปฏิกริยาที่เกิดกับท่อลำเลียงนํ้าอาหารพืช อาจเป็นเพราะถูกอุดตัน เนื่องจากสารพิษหรือเอนไซม์ที่เชื้อโรคขับถ่ายออกมาโดยสารพิษไปทำให้ protoplasm ของเซลพืชตกตะกอน เป็นการเพิ่มอัตราการคายนํ้า ส่วนเอนไซม์ เช่น pectinases ไปทำให้โครงสร้างของผนังเซลเสียหาย การดูดซึมของเซลเปลี่ยนแปลง และยางที่เกิดขึ้นจากปฏิกริยาของเอนไซม์จะไปทำให้ xylem อุดตัน
2. Holonecrotic symptoms เป็นอาการ necrosis ที่เกิดจากเซลและเนื้อเยื่อของพืชตาย อาการมีดังนี้
แผลเป็นแผลรอยขีด (Streak) ตามความยาวของใบ เส้นใบ ลำต้น ปกติระยะแรกแผลจะชุ่มน้ำแล้วกลายเป็นสีน้ำตาลภายหลัง
แผลเป็นแถบ (stripe) ตามความยาวของใบ เกิดตรงส่วนเนื้อเยื่อ parenchyma โดยเฉพาะโรคที่เกิดกับธัญญพืชต่างๆ
แผลบุ๋ม (pitting) เนื้อเยื่อใต้ผิวของผลหรือหัว ซึ่งอวบนํ้าตาตาย ทำให้เป็นรอยบุ๋มบนผิวเด่นชัด
แผลเป็นจุด มักเกิดบนใบ หรือผล ปกติจะมีรูปร่างเป็นวงกลม บางโรคอาจจะมีมุมบ้าง เนื้อเยื่อตรงกลางแผลซึ่งตายแล้วจะทำให้เห็นโซนรอบๆ แผล อาจเป็นสีแดงหรือเหลือง
แผลเป็นจุดและมีรูตรงกลาง (shot-hole) โดยเนื้อเยื่อของแผลที่เป็นจุดตายและหลุดออก
แผลพอง (scald) จะมีผิวขาว แล้วกลายเป็นสีนํ้าตาลอ่อนถึงเข้ม คล้ายโดนน้ำร้อนลวก ปกติเกิดที่ผล บางครั้งพบที่ใบ
แผลเป็นตุ่ม ดวง (blotch) เกิดที่ผิวใบหรือผล มักจะพบราที่เป็นสาเหตุของโรคปนอยู่ด้วย
แห้ง (blight) เกิดจากการตายของเนื้อเยื่ออย่างเร็ว พืชที่ใบใหญ่จะเหี่ยวและมีสีน้ำตาลทั้งใบ รวมทั้งที่เส้นใบ ก้านอ่อน และผล โรคไหม้นี้เป็นชื่อที่นิยมเรียกทั่วไปกับใบและดอกที่เป็นโรคแล้วตายทันที โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นมาก่อน ลักษณะของ blight นี้แตกต่างไปจาก scorch ซึ่งมีขอบเขตจำกัดเฉพาะที่ขอบใบ หรือเนื้อเยื่อระหว่างเส้นใบ
ไหม้เกรียม (scorch) พืชที่มีอาการแบบนี้มักเกิดจากพืชที่ได้รับความร้อนจากแสงแดดมากไป หรือได้รับสารพิษจากสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง ฯลฯ ทำให้เซลตายทันทีเพราะสูญเสียนํ้าอย่างรวดเร็วจนพืชดูดมาใช้ไม่ทัน Firing ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ใช้กัน
เน่าระดับดินของกล้าพืช (damping off) ทำให้เกิดอาการซับซ้อนที่ส่วนบนของต้นพืชตามมา
Blast เป็นคำที่นิยมใช้กันกับตาอ่อน ช่อดอก หรือผลอ่อน ที่เป็นโรคตายทันที
Canker เป็นอาการที่เกิดเป็นเสก็ดบนเนื้อเยื่อเปลือกของลำต้น หัว รากในกรณีของไม้ใหญ่จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นนั้นหด ตาย ต่อมาแผลจะแตก เช่น โรค canker ของส้มที่เกิดจากบักเตรี Xanthomonas citri
Die-back เป็นการตายของเนื้อเยื่อพืชที่เกิดเริ่มจากปลายของก้าน หรือกิ่ง เข้ามามักจะเกิดในสภาพที่อยู่ระยฟักตัวของพืช ในฤดูหนาว ดินเปียกจัด หรือมีราเข้าทำลาย
Shilling เป็นอาการที่ผลทั้งผลหรือเฉพาะส่วนเนื้อหลุดล่วงไป เหลือที่งไว้แต่ก้านให้เห็น
เน่า เป็นอาการของเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว เกิดจากสารเพคติน (pectin) ที่ทำหน้าที่เชื่อมเซล ให้ติดกันถูกทำลาย การเน่ามีหลายแบบ เช่น เน่าเละ (soft rot) เน่าแห้ง (dry rot) เน่าแข็ง (hard rot) เน่าแฉะ (wet rot) เน่าสีขาว (white rot) เน่าดำ (black rot) เน่าสีน้ำตาล (brown rot) เน่าสีแดง (red rot) ฯลฯ
Mummy เป็นอาการที่เกิดกับผลโดยที่เน่าอยู่จะมีลักษณะแข็ง หด แห้ง เนื่องจากน้ำระเหยออกไป
นํ้าไหลออกทางแผล (bleeding) ปกติจะมีกลิ่นที่เกิดจากการเฟอร์เมนต์ต่างๆ ปนอยู่ด้วย
ยางไหลออกทางแผล (resinosis)
ยางเหนียวข้น ไหลออกทางแผล และรอยแตกของเปลือก (gummosis)
กลิ่นระเหยออกมาจากเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นโรค
Hyperplastic and hyperttrophic symptoms
อาการที่เกิดจากการแบ่งเซลของพืชลดลงหรือหยุดชงักไปทำให้การเจริญเติบโตของพืชหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของพืชน้อยกว่าปกติ อาการแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ
1. Pygmismic symptoms เป็นอาการซ้บซ้อนที่พืชมีลักษณะการเจริญเติบโตน้อยกว่าปกติ อาจเกิดกับพืชเพียงบางส่วนหรือทั้งต้น เนื่องจากพืชมีจำนวนของเซลน้อยหรือเซลมีขนาดไม่โตเท่าเซลปกติ อาการที่พบจะมีดังนี้
เส้นใบหรือขอบใบ มักหดทำให้บิดคล้ายรูปถ้วย หรือเป็นกระเป๋า เนื่องจากเส้นใบและขอบใบเจริญน้อยกว่าปกติ (savoying)
แตกพุ่ม (rosetting) หน่อหรือกิ่งก้านที่แตกออกมีข้อปล้องสั้น ทำให้ดอกเป็นพุ่มแน่น
แคระแกรน (dwarfing or stunting) เป็นการแคระแกรนของพืชเปีนบางส่วนหรือทั้งต้น เกิดจากเซลมีขนาดเล็กกว่าปกติ
2. Lipoplastic symptoms เป็นอาการของ hypoplasia ที่เกิดจากพืชมีอัตราการแบ่งเซลน้อยกว่าปกติ อาจเกิดกับพืชเพียงบางส่วนหรือทั้งต้น อาการที่พบมีดังนี้:Chlorosis เนื่องจากการสร้างคลอโรฟิล ล้มเหลวทำให้พืชมีสีเหลือง หากดูทั้งใบจะเป็นสีเขียวอ่อน หรือเขียวปนเหลือง ต่อมาต้นและใบพืชจะแคระแกรน หรือทำให้พืชใบด่าง ม้วน (mottle) แล้วพืชจะแคระแกรน ใบหด หงิกงอ
การเจริญของพืชบางส่วนจะชงักงันเช่นโรคเขม่าดำ ของหญ้าการเจริญทีช่อดอกจะชงักงันไป
นํ้าในเซลจะมีรงควัตถุน้อยกว่าปกติในพืชนั้นๆ (achromatosis)
ใบคล้ายใบเฟิร์น เนื่องจากการเจริญของใบ ใบชงักงันไปหรือเจริญน้อยลง
Hypoplastic and hypotrophic symptoms
อาการที่พืชมีการเจริญและเติบโตใหญ่กว่าปกติ รวมทั้งการมีสีเขียวมากกว่าปกติด้วย อาจเกิดกับพืชเป็นบางส่วนหรือทั้งต้น อาการอาจแบ่งออกได้ดังนี้
1. Heterochromic symptoms เป็นอาการเกี่ยวกับเนื้อเยื่อหรือส่วนของพืชมีสีผิดปกติ เช่น มีสีเขียวเข้มในเนื้อเยื่อ (greening)
2. Proleptic symptoms เป็นอาการเกี่ยวกับการเจริญของเนื้อเยื่อบางส่วนก่อนอายุที่ควร เกิดตามปกติของพืช (prollopsis) เช่น การแตกหน่อ ตา ซึ่งมักพบหน่อหรือตาเหล่านั้นจะไหม้ ใบ ดอก และผล ร่วงก่อนกำหนด เนื่องจากมี shelling หรือ abscission เกิดขึ้น การเจริญของรังไข่ของช่อดอกที่เร็วกว่าปกติ เพราะถูกเชื้อเข้าทำลาย เช่นโรคเขม่าดำของหญ้า เป็นต้น
3. Metaplastic symptoms เกิดจากเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อหรือส่วนของพืชจากชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่ง เช่นการเจริญของเนื้อเยื่อมากกว่าปกติผิดตำแหน่งที่ควรจะอยู่ (heterotopy) การเก็บใบหรือโครงสร้างคล้ายใบบนส่วนของพืชที่พืชปกติไม่มี เป็นต้น
4. Gigantismic symptoms อาการที่เพิ่มเติบโตมากกว่าปกติ ทางโครงสร้าง รูปทรงของพืช หรือบางส่วนของพืช เนื่องจากส่วนที่เป็นโรคมีขนาดของเซลใหญ่กว่าปกติ หรือมีจำนวนของเซลมากกว่าปกติ หรือเกิดได้ทั้งสองกรณี อาการที่พบทั่วๆ ไป มีดังนี้
Callus เป็นเนื้อเยื่อบางๆ ที่เกิดปิดแผลพืช ซึ่งเป็นผลจากการตอบโต้ของพืชต่อแผลที่เกิดขึ้น
Sarcody อาการโป่งพองที่เปลือกบนแผล
รอยแยก (cracking) รอยแยกที่ส่วนเนื้อของราก หัว ผล ฯลฯ เนื่องจากเนื้อเยื่อส่วนที่อยู่ใต้เซล epidermis เซลมีอัตราการเจริญหรือมีขนาดใหญ่กว่าแถวเซลที่อยู่ข้างบนหรือเซล epidermis ซึ่งอาจเป็นแผลจากพืชได้รับนํ้ามากทันที หรือจากการกระตุ้นของเชื้อโรคและอื่นๆ เป็นสาเหตุ
หด หรือม้วน (curl, rolling) เป็นผลจากการเจริญมากกว่าปกติบนด้านใดด้านหนึ่ง หรือที่เนื้อเยื่อเฉพาะชนิด พบกับหน่อ และใบพืช
Scab, psoriasis, verrucosis เป็นแผลค่อนข้างกลมนูนเล็กน้อย ขรุขระ เป็นผลจากการเจริญเนื้อเยื่อของเซล epidermis และ cortex มากกว่าปกติ
ปม ก้อน (tumor, excerescence) การเจริญที่พองออกของพืชที่มีมากกว่าปกติเกิดจาก บักเตรี รา หรือแมลงเป็นสาเหตุมีชื่อใช้เรียกอาการโรคต่างๆ กันได้แก่ galls, warts, knots, tubercle, boils, blisters, clubs
Intumescence, exanthema การพองของเนื้อเยื่อของเซล epidermis เป็นตุ่มเล็กๆ เนื่องจากเซล epidermis หรือเซลทีอยู่ใต้ epidermis มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น
Fasciculation การที่ส่วนของพืชเจริญแตกเป็นกลุ่มออกมา เช่นการแตกออกของกิ่ง ราก ดอก และผล เช่นโรคไม้กวาดแจ้ของลำใย (witches broom) และ hairy root เนื่องจากการแตกรากเหนือดินมากมายของข้าวโพด เป็นต้น
การแสดงออกให้เห็นของพืชที่เป็นโรค (Signs of plant diseases)
การแสดงออกให้เห็นบางส่วนของเชื้อ หรือส่วนประกอบอื่นๆ ของสิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคในแผล หรือส่วนของพืชที่แสดงอาการของโรคในสภาพที่เหมาะสม การแสดงออกให้เห็นนี้ จึงแตกต่างไปจากอาการซึ่งเกี่ยวเฉพาะพืชเท่านั้น การแสดงออกให้เห็นนี้ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการวินิจฉัยโรค สิ่งที่แสดงออกให้เห็นพอจะแบ่งได้เป็น 2 พวก คือ
1. ส่วนเจริญ (vegetative structures) เป็นส่วนของเชื้อโรคที่เจริญเติบโตเพื่อใช้อาหารหรือเพื่อสะสมอาหาร มีดังต่อไปนี้
พืชชั้นสูงต่างๆ เช่นกาฝาก (misletoes) จะมีใบสีเขียวแต่ไม่มีราก ฝอยทอง(dodder) จะมีต้นเป็นสาย ไม่มีใบ เกาะติดพืชอาศัย และ broomrape ขึ้นเป็นปรสิตที่รากพืชอาศัยโดยมีก้านและดอกสีม่วง โผล่เหนือดินที่บริเวณโคนต้นของพืชอาศัย
Ooze นํ้าข้นเหนียวประกอบด้วย บักเตรี หรือสปอร์ของราเป็นเมืองเยลาตินปนร่วมกับนํ้าจากเซลพืช
Thallus (pl. thalli) เป็นส่วนเจริญของพืชที่ไม่มีลำต้น และใบ หรือราชั้นตํ่าที่มีแต่เส้นใย
Plasmodium (pl. plasmodia) เป็นก้อน protoplasm ที่ไม่มีผนังเซลมี nucleus มาก (multinucleate) เคลื่อนที่และกินอาการได้คล้าย
อมีบา ซึ่งเป็นส่วนเจริญของรา เมือก (slime mold) ในชั้น (class) Myxomycetes และ Plasmodiophoromycetes
กลุ่มเส้นใย (mycelium, pl. mycelia) หากเป็นเส้นใยที่ไม่มีผนังกั้น (nonseptum, pl. septa) จัดเป็นราชั้นต่ำ (Phycomycetes) พวกที่มีผนังกั้น (septum, pl. septa) จัดเป็นรา Ascomycetes หรือimperfect fungi กลุ่มเส้นใยที่มี clamp connection จัดเป็นรา Basidiomycetes
Rhizomorph เป็นกลุ่มหนาของเส้นใยเรียงแน่นรวมกัน เหมือนเส้นใยเส้นเดียว โดยที่ปลายทำหน้าที่เหมือนกับปลายรากพืช
Stroma (pl. stromata) เส้นใยของเราอัดรวมตัวกันคล้ายหมอน หรือเสื่อ (cushion or mattress) ซึ่งมี perithecium (pl. perithecia) เกิดอยู่ภายใน
Sclerotium (pl. sclerotia) กลุ่มเส้นใยที่อัดรวมกันเป็นเม็ดมีขนาดต่างๆ กันในระยะฟักตัว จะมีสีเหลือง สีน้ำตาลและดำ
แมลง ทั้งนี้อยู่ในสภาพตัวอ่อน และแก่ บางชนิดจะปล่อยสารพิษออกมาขณะกัดกินพืช เช่น แมลงที่ทำให้เกิดปมเป็นก้อน ก็เกิดจากสารพิษของหนอนขณะกัดกิน
ไส้เดือนฝอย เป็นปรสิตในส่วนต่างๆ ของพืชหลายชนิด
2. ส่วนขยายพันธุ์ (reproductive structures) เป็นส่วนที่เชื้อสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ขยายพันธุ์ แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ
ก. Fruiting bodies โครงสร้างที่ซ้บซ้อนของราที่ให้กำเนิดสปอร์ สปอร์อาจเป็นชนิดที่ได้จากการเกิดแบบใช้เพศ หรือแบบไม่ใช้เพศ มีดังนี้
Conidiophore ก้านของเส้นใยซึ่งเป็นที่เกิดของสปอร์ที่ปลายอาจจะเป็นก้านเดี่ยวๆ หรือแตกกิ่งคล้ายต้นไม้
Sporangium (pl. sporangia) เป็นโครงสร้างที่ปลายของเส้นใย ซึ่งขยายใหญ่ และเป็นที่เกิดของสปอร์ภายใน
Sorus (pl. sori) เป็นโครงสร้างที่บรรจุสปอร์อยู่ภายใน ซึ่งเป็นลักษณะของราเขม่าดำ และราสนิม มีสีเหลือง นํ้าตาล และดำ โดย epidermis ของพืชคลุมอยู่ แล้วจะปริออกในภายหลัง
Sporodochium (pl. sporodochia) กลุ่มของ conidiophore เรียงตัวรวมกันคล้ายหมอนเล็กๆ
Acervulus (pl. acervuli) Fruiting bodies ที่ภายในมี conidiophore รวมตัวกันแน่นให้กำเนิด conidia ที่ปลาย Acervulus เกิดได้ cuiticle และ epidermis ปล่อย conidia ออกสู่ภายนอก ผ่านทาง cuticle ที่แตกออกเป็นกลุ่มสปอร์เหนียวๆ
Pycnidium (pl. Pycnidia) Fruiting bodies มีรูปร่างเกือบกลม ภายในจะมี conidiophore เกิดเรียงตัวกัน ให้กำเนิด conidia ที่ปลาย เป็นการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ Pycnidium มีสีดำเล็ก มักพบบนแผลพืช แตกต่างไปจาก acerrulus เพราะมีผนังหุ้ม
Perithecium (pl. perithecia) ลักษณะเหมือน pycnidium แต่เป็น fruiting bodies ที่ภายในเป็นที่เกิดของ asci (sing, ascus) แทน conidiophore มีช่องเปิด (ostiole) ด้านบน เป็นการขยายพันธุ์แบบใช้เพศ ปกติมีสีดำ พบฝังหรือบนแผลพืช
Apothecium (pl. apothecia) เป็น ascocarp แบบเปิดเป็นการขยายพันธุ์แบบใช้เพศ ของรา series Discomycetes ในชั้น Ascomycetes โดยมี asci ที่มีก้านแซมด้วย paraphyses เรียงตัวอยู่
Cleistothecium (pl. cleistothecia) เป็น ascocarp แบบปากเปิด เมื่อแก่แล้วจึงจะแตกออก เช่นของโรคราแป้งขาว (powdery mildews)
Conks เป็นโครงสร้างที่ให้กำเนิดสปอร์ (sporophore) ของราที่ทำลายไม้ (woodrotting fungi) ซึ่งเป็นราในชั้น Basidiomycetes เช่น Lenzites, Polyporus, Fomes, Trametes เป็นต้น
เห็ดต่างๆ (toadstools, mushrooms) sporophore ของรามีรูปร่างแบบร่ม (umbrella shaped) ส่วนมากอยู่ในชั้น Basidiomycetes
ข. พวกสปอร์ เมล็ด ไข่ cysts ฯลฯ ได้แก่
สปอร์ซึ่งราสร้างขึ้นเพื่อให้ขยายพันธุ์แบบใช้เพศ หรือไม่ใช้เพศ มีขนาดและสีต่างๆ อาจมีเซลเดียวหรือหลายเซล สปอร์นับว่าเป็นลักษณะที่สำคัญในการวินิจฉัยโรคเมื่อพบบนแผลพืช
Zoospores เป็นสปอร์ที่เคลื่อนที่ได้ของราชั้นต่ำ มีผนังบางหรือไม่มี เคลื่อนที่ได้เพราะมี (pl. flagella) ที่ปลายหรือด้านข้าง พบเกิดใน sporangium, oospore และ vesicle
Oospore เป็นสปอร์ที่มีผนังหนา เกิดจากการรวมกันของโครงสร้างเพศผู้และเพศเมีย (male and female gametangia) ทนต่อสภาพแวดล้อม
Sporangiospores เป็นสปอร์ที่ได้จากการขยายพันธุ์แบบไม่มีเพศ เกิดใน sporangium เป็นราในชั้น Zygomycetes
Ascospores เป็นสปอร์ที่เกิดภายใน ascus ตามปกติ ascus หนึ่งจะมี 8 ascospores
Conidium (pl. conidia) เป็นสปอร์ที่เกิดจากการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ เคลื่อนที่ไม่ได้ ปกติจะเกิดที่ปลายของเส้นใยหรือภายในเส้นใยที่มีผนังกั้นแยกเป็นส่วน
Basidiospore เป็นสปอร์ที่เกิดที่ปลายก้าน sterigma ออกมาจาก basidium ปกติ basidium หนึ่งให้กำเนิด 4 basidiospores
เมล็ด ได้แก่เมล็ดปรสิตที่เป็นพืชชั้นสูง (phanerogamous pathogens) เช่น ฝอยทอง กาฝาก เป็นต้น
ไข่ของแมลงต่างๆ ซึ่งอาจอยู่บนใบ ผล ก้าน ในบางกรณี แมลงอาจวางไข่ในเนื้อเยื่อของพืช และทำให้พืชเป็นโรคขึ้นเนื่องจากการวางไข่นั้น
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช