อาหารสำเร็จรูปเลี้ยงสัตว์น้ำ

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกใช้อาหารสำเร็จรูป

ในปัจจุบันนี้ อาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ด เกร็ด และผง เข้ามามีบทบาทต่อกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาก และได้มีบริษัทเอกชนจำนวนมากรายผลิตอาหารสำเร็จรูปเพื่อขายให้กับฟาร์มและเกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์น้ำ

แต่ “อาหารสำเร็จรูป” ก็นับว่าเป็นของใหม่สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งทางราชการก็ยังมิได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์น้ำ แต่เพื่อประโยชน์ของผู้เลี้ยงสัตว์น้ำเอง ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำควรทราบเกี่ยวกับลักษณะที่ดีของอาหารสัตว์น้ำสำเร็จรูป โดยพิจารณาตามข้อสังเกตต่อไปนี้

1. ป้ายหรือฉลาก โดยปกติแล้วอาหารสำเร็จรูปที่ขายหรือที่จำหน่ายในท้องตลาดซึ่งบรรจุในถุงหรือกล่องในรูปแบบต่างๆ จะมีข้อความที่บ่งถึงวัสดุต่างๆ ที่นำมาใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ ส่วนประกอบทางเคมีของอาหาร น้ำหนักอาหาร ตารางใช้อาหารและบริษัทผู้ผลิต ดังนั้น ผู้ใช้อาหารควรได้พิจารณาตามข้อความในฉลากนั้น เช่น วัสดุที่ประกอบเป็นอาหารก็ควรเป็นวัสดุหรือผลพลอยได้จากสัตว์ อาทิ ปลาป่น น้ำมันปลา แกลบกุ้ง เนื้อป่น เพราะสัตว์น้ำสามารถใช้ประโยชน์จากวัสดุอาหารโปรตีนที่มาจากสัตว์ได้ดีกว่าวัสดุอาหารที่ทำจากพืช หรือคุณค่าทางอาหารที่ระบุไว้ในฉลาก ตัวเลขควรบ่งบอกถึงระดับโปรตีน ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน และควรมีเปอร์เซ็นต์ของกากหรือของเถ้าจำนวนน้อย สำหรับหลักเกณฑ์ในการตัดสินตัวเลขนั้น จำเป็นต้องพิจารณาอย่างกว้างๆ ในการเลือกอาหารสำเร็จรูปที่เหมาะสมต่อสัตว์น้ำให้ถือพิจารณาจากระบบย่อยอาหารของสัตว์น้ำนั้น โดยดูความยาวของระบบย่อยอาหารจากส่วนคอไปถึงรูทวาร เปรียบเทียบกับความยาวลำตัวและดูลักษณะของกระเพาะปลาว่ามีรูปแบบเป็นกระเพาะจริงหรือกระเพาะเทียม

อายุของอาหาร เป็นอีกประการหนึ่งที่เกษตรกรผู้ซื้อต้องพิจารณาดูวันที่การผลิต ถ้าป้ายฉลากที่ถุงอาหารไม่ระบุวันที่ของการผลิตอาหารสำเร็จรูปนั้นไว้ เกษตรกรก็อาจพิจารณาได้จากความใหม่-เก่าของถุงบรรจุ สอบถามจากร้านขาย หรือสังเกตว่าถุงอาหารนั้นปิดสนิทหรือไม่ ปกติอาหารที่เก็บไว้นานเกิน 3 เดือน สารอาหารที่สำคัญบางส่วน เช่น วิตามินอาจสลายตัวไปได้ จึงควรเลือกใช้อาหารที่ผลิตออกมาใหม่ๆ

2. รูปแบบของอาหาร อาหารสำเร็จรูปที่ใช้อยู่ในขณะนี้มีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบเหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นผงสำเร็จรูปเป็นผงละเอียดคล้ายๆ กับนมผงที่มีคุณสมบัติแขวนลอยได้อยู่ในน้ำเป็นเวลานานไม่ละลายน้ำ ก็จะเป็นอาหารเหมาะสมกับการใช้เลี้ยงลูกกุ้งวัยอ่อนในโรงเพาะฟักได้ใช้รวมกับอาหารธรรมชาติถ้าเป็นแท่งก้อน ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่มีโปรตีนและไขมันสูง และสามารถเกาะยึดคงสภาพรูปร่างในน้ำได้นาน ซึ่งเหมาะสำหรับชนิดสัตว์น้ำที่ชอบอาหารนิ่มและไม่แห้ง ส่วนใหญ่จะใช้อาหารนี้เลี้ยงสัตว์น้ำที่มีราคาแพง และชอบกินอาหารตามพื้นก้นบ่อ เช่น กุ้ง หรือสัตว์น้ำที่ชอบกินเป็นกลุ่มก้อน เช่น ปลาดุก หรืออาหารที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ มีขนาดไม่เท่ากัน มีน้ำหนักเบาเป็นอาหารที่ออกแบบมาเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับปลาขนาดเล็กหรือพวกปลาสวยงามเป็นส่วนใหญ่

“อาหารเม็ดจมน้ำ” มักเป็นทรงกระบอกขนาดเล็กแข็งและหนัก ส่วนใหญ่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.3-1.3 ซม. และความยาวประมาณ 0.5-1.3 ซม. ขนาดของเม็ดอาหารนี้จะมีผลต่อการกินและการย่อยอาหารของปลา โดยทั่วๆ ไปแล้วขนาดของอาหารเม็ดที่เหมาะสมกับปลาน้ำหนัก 5-1,500 กรัม จะเป็นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.3-0.5 ซม. และความยาว 0.5-0.9 ซม. เนื่องจากเป็นอาหารที่เมื่อตกลงในน้ำจะจมลงสู่พื้นก้นบ่อ จึงเหมาะสมกับสัตว์น้ำที่ชอบกระจายกันหากินอยู่ตามพื้นก้นบ่อหรือสัตว์น้ำที่กินอาหารได้ทุกระดับน้ำ ข้อด้อยของอาหารเม็ดจมน้ำคือ ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในน้ำได้ไม่นานนักมักแตกออก ทำให้สัตว์น้ำมีโอกาสกินได้น้อย และละลายน้ำไปทำให้น้ำในบ่อเสีย ในฉลากควรระบุชนิดสารเหนียวที่ผสมในอาหารพวกนี้ด้วย ส่วน “อาหารเม็ดลอยน้ำ” จะเป็นเม็ดค่อนข้างกลมมน้ำหนักเบา เนื่องจากมีความแห้งมาก มีหลายขนาดตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-6 มม. เมื่อตกลงไปในน้ำจะลอยอยู่ตามผิวน้ำและคงรูปลักษณะเดิมได้เป็นเวลานาน จึงเป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับปลาที่ชอบกินตามผิวน้ำ หรือปลาที่มีขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง และอาหารเม็ดลอยน้ำมีจุดอ่อนที่คุณค่าทางโภชนาการในส่วนของวิตามินบางตัวจะถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อนระหว่างขั้นตอนของการผลิต และราคาสูงกว่าอาหารเม็ดจมน้ำ เมื่อเปรียบเทียบกันในแง่ของคุณค่าทางโภชนาการ

3. การคงสภาพรูปของอาหารในน้ำ แม้ว่าอาหารสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นมาจะมีคุณค่าทางอาหารสูง แต่เมื่อมัการคงสภาพรูปเดิมในน้ำไม่ดี อาหารสำเร็จรูปนั้นจะจัดอยู่ในประเภทมีประโยชน์น้อยต่อสัตว์น้ำ ทั้งนี้เนื่องจากเมื่ออาหารสัมผัสกับน้ำจะซึมซับน้ำเข้าไป หากอาหารจับตัวกันไม่ดีโภชนาการของสารอาหารบางตัวในอาหารนั้นจะละลายไปกับน้ำหรือรูปของอาหารแตกกระจาย ทำให้สัตว์น้ำได้กินอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารไม่ครบตามที่ผู้เลี้ยงต้องการ การพิจารณาดูว่าอาหารนั้นมีการคงสภาพของรูปอาหารเดิมได้นานแค่ไหน ให้เอาอาหารสำเร็จรูปนั้นใส่ลงไปในแก้วน้ำภายใน 10-15 นาที หากอาหารนั้นไม่สามารถคงสภาพเดิม โดยมีขนาดเล็กลงหรือหลุดเป็นชิ้นส่วนกองอยู่ก้นแก้ว ก็ถือว่าอาหารนั้นมีการคงสภาพได้ไม่ดี โอกาสสูญเสียสารอาหารไปกับน้ำมีมาก แต่ก็ขึ้นกับชนิดของปลาด้วยหากเป็นปลาดุกซึ่งกินอาหารไว อาหารสามารถคงรูปอยู่ได้ 5 นาที ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าเป็นอาหารกุ้ง ควรอยู่ในน้ำได้ไม่น้อยกว่า 2-3 ชั่วโมง โดยไม่ละลาย เนื่องจากกุ้งกินอาหารช้า ถ้าอาหารยิ่งอยู่ในน้ำได้นานโอกาสที่กุ้งจะกินอาหารก็มีมากขึ้น และน้ำก็ไม่เน่าเสียด้วย

4. สีและกลิ่นของอาหาร อาหารสำเร็จรูปที่ดีจะมีสีของอาหารนั้นสมํ่าเสมอ และกลิ่นของส่วนผสมที่มาทำเป็นอาหารนั้นไม่มีกลิ่นเหม็นหืน ถ้ามีกลิ่นของปลาป่นอยู่ด้วยดี สำหรับอาหารสำเร็จรูปที่มีสีขาวแซมอยู่ในอาหารนั้น ให้พึงระวังเชื้อรา โดยส่วนใหญ่แล้วเชื้อราเป็นตัวทำลายอาหารนั้นให้เสื่อมคุณภาพลงเเละเชื้อราบางอย่างอาจผลิตสารที่เป็นพิษต่อปลา-กุ้งด้วย

5. ความชื้นของอาหาร อาหารสัตว์น้ำสำเร็จรูปที่ดีต้องเป็นอาหารที่มีความชื้นไม่มากเกินไป อาหารชื้นมักเสียเร็วเนื่องจากเกิดเชื้อราได้ง่าย และอาหารที่แห้งเกินไปมีผลต่อการย่อยอาหารของสัตว์น้ำนั้น โดยเฉพาะในช่วงที่อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงได้ง่าย คือ เปลี่ยนจากสูงเป็นตํ่า ทำให้ปลาย่อยอาหารได้ไม่ดี เป็นเหตุให้อาหารตกค้างอยู่ในกระเพาะนานเกินไป จนเกิดแก๊สในท้องเป็นอันตรายต่อปลา ความชื้นในอาหารเม็ดควรอยู่ในระหว่าง 7-13%

6. ราคาอาหาร เนื่องจากอาหารสำเร็จรูปต้องใช้เครื่องมือและกรรมวิธีผลิตค่อนข้างสลับซับซ้อน ความแตกต่างของเครื่องมือและวิธีผลิต ทำให้ราคาของอาหารสำเร็จรูปแตกต่างกันมาก ทั้งที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน พิจารณาถึงอัตราการแลกเนื้อ ค่าใช้จ่ายในการจัดการฟาร์ม ชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยงควรจะได้นำมาเปรียบเทียบ การเลือกซื้ออาหารโดยพิจารณาจากราคาเพียงอย่างเดียวไม่ใช่การพิจารณาที่รอบคอบ จะต้องพิจารณาด้วยว่าการผลิตกุ้ง 1 กก. ใช้อาหารเป็นเงินเท่าใด อาหารใดทำให้สัตว์น้ำโตเร็วกว่าทุ่นเวลาไปเท่าใด ทำให้เลี้ยงอีกรุ่นได้หรือไม่ในรอบปีนั้น ซึ่งเกษตรกรต้องยอมสละเวลาและให้ความสนใจทดลองด้วยตนเอง

7. การยอมรับอาหารของสัตว์น้ำ การเลือกใช้อาหารสำเร็จรูปชนิดใดนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพิ่มเติมคือ การยอมรับอาหารของสัตว์น้ำที่เลี้ยง แม้ว่าอาหารสำเร็จรูปนั้นมีคุณค่าทางอาหารสูง มีความคงทนในน้ำได้ดีและมีราคาถูก แต่เมื่อสัตว์น้ำที่เลี้ยงไม่ชอบอาหารนั้นหรือกินอาหารนั้นได้น้อย อาหารสำเร็จรูปนั้นก็เรียกได้ว่าเป็นของไม่ดี

นอกจากนี้เกษตรกรควรคำนึงถึงชื่อเสียงของผู้ผลิตอาหาร รวมทั้งการดำเนินการด้วยว่า ผู้ผลิตมีการทดลอง ทดสอบ ค้นคว้าในการทำอาหารชนิดนั้นๆ มากเพียงใด รวมถึงการบริการในการให้คำแนะนำปรึกษาด้วย

8. การยอมรับอาหารของสัตว์ การเลือกใช้

ตารางการเลือกใช้อาหารสำเร็จรูปให้เหมาะสมกับราคาขายของสัตว์น้ำและระบบการเลี้ยง

ชนิดของสัตว์น้ำ ระบบการเลี้ยง ราคาปลา  

บาท/กก.

คุณภาพอาหาร
โปรตีน% ไขมัน%
ตะเพียน ไน สวาย กึ่งธรรมชาติ <15 18-25 6-15
นิล แรด ยี่สกเทศ กึ่งพัฒนา >20 25-30 6-12
ดุกด้าน ดุกอุย พัฒนา >28 25-35 6-12
กุ้งก้ามกราม พัฒนา >80 25-35 5-8
ช่อน กะพง เก๋า พัฒนา >35, >60 40-50 8-12
กุ้งกุลาดำ แชบ๊วย กึ่งพัฒนา 

พัฒนา

>100 

>190

30-35 

35-42

3-6 

3-6