องค์ประกอบของอาหารสัตว์น้ำที่ควรรู้

อาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์น้ำนั้น มีหลักเกณฑ์ที่ควรพิจารณาอยู่ 3 ประการ คือ

1. สารอาหารที่สัตว์น้ำต้องการ

2. ส่วนผสมทางเคมีของสารอาหาร

3. แบบของอาหาร

ทั้ง 3 ประการที่ได้กล่าวมานี้ขออธิบายโดยย่อ ดังนี้

ก. สารอาหารที่สัตว์น้ำต้องการ ในอาหารที่สัตว์น้ำกินเข้าไปจะประกอบด้วยสารอาหารหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์น้ำสารอาหารเหล่านี้ได้แก่

-โปรตีน เป็นอาหารที่ให้พลังงานและเป็นตัวเสริมสร้างส่วนต่างๆ ให้แก่ร่างกาย (ตัวโปรตีนประกอบด้วยโมเลกุลของอมิโนแอซิค และตัวอมิโนแอซิคจะเป็นเครื่องชี้บ่งแสดงถึงคุณภาพของโปรตีนนั้นๆ)

การใช้โปรตีนในสัตว์น้ำเพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้

(1) สำหรับลูกสัตว์น้ำ ต้องการโปรตีนเพื่อความเจริญเติบโตซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอสร้างฮอร์โมน และพวกน้ำย่อยต่างๆ

(2) สำหรับสัตว์น้ำโตเต็มวัยต้องการโปรตีน เพื่อการเจริญเติบโตน้อยลง แต่ต้องการโปรตีนไปสร้างในส่วนที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์เพิ่มขึ้น

-คาร์โบไฮเดรต เป็นพวกที่ให้พลังงานที่มีราคาถูกที่สุดในประเภทอาหารประเภทพลังงาน การใช้ประโยชน์จากคาร์โบไฮเดรตของปลา

(1) ปลาใช้ธาตุอาหารนี้อย่างทันทีทันใด และแปรเปลี่ยนมาเป็นพลังงาน

(2) ปลาจะใช้ธาตุอาหารนี้ โดยเก็บไว้ในตัวปลาเพื่อเป็นพลังงานสำรองโดยเก็บในรูปของไขมัน

-ไขมัน เป็นธาตุอาหารที่ให้พลังงานเช่นเดียวกับโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต และให้พลังงานมากที่สุดในกลุ่มของอาหารพลังงาน

การใช้ประโยชน์จากไขมันของปลา

1. ใช้เป็นองค์ประกอบในเซลล์ของร่างกาย

2. ใช้เป็นพลังงานเพื่อกิจการต่างๆ

3. ใช้ในการผลิตผลของการสืบพันธุ์

-วิตามิน เป็นกลุ่มธาตุอาหารที่ไม่ให้พลังงานแต่เป็นตัวก่อให้เกิดขบวนการแปรรูปภายในร่างกาย เช่น ช่วยให้การย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ได้ดีขึ้น

การใช้ประโยชน์จากวิตามินของปลาโดยย่อ

1. ทำให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อของปลาเป็นไปอย่างปกติ

2. ทำให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างปกติ

3. ทำให้การใช้อาหารประเภทต่างๆ ให้มีประส์ทธิภาพดีขึ้น

-แร่ธาตุ เป็นกลุ่มธาตุอาหารที่ควบคุมกิจกรรมในร่างกาย และเป็นโครงสร้างของตัวปลาด้วย

การใช้ประโยชน์จากแร่ธาตุของปลาโดยย่อ

1. ทำให้ปลาสามารถสร้างเม็ดเลือดและกระดูกได้ดีขึ้น

2. ทำให้รู้ถึงรสชาติของอาหารดีขึ้น

3. ทำให้การดูดซึมธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ของเซลล์ดีขึ้น

ข. ส่วนผสมทางเคมีของสารอาหาร ในสารอาหารที่กล่าวมาแล้วในแต่ละกลุ่มยังมีส่วนประกอบย่อยอยู่นานาชนิดที่จะประกอบขึ้นเป็นสารอาหาร และตัวส่วนประกอบย่อยๆ เหล่านี้เป็นตัวชี้บ่งให้เห็นถึงคุณภาพของสารอาหารนั้น และปลาต้องการส่วนประกอบย่อยๆ เหล่านี้เพื่อกิจกรรมในการดำรงชีวิตอยู่ และสร้างความเจริญเติบโตรวมทั้งการแพร่ขยายพันธุ์ด้วย

ในที่นี้จะกล่าวถึงส่วนประกอบย่อยของสารอาหารโดยย่อ ดังนี้ โปรตีน (Protein)

-กรดอมิโนชนิดต่างๆ (Amino Acid) ที่สําคัญ ได้แก่ ไลซีน วาลีน อจินิน ฮิสติดีน ไอโวลิวซีน ลิวซีน เมททิโอนีน ไทรโอนีน เพนนีลาลานีน และทริบโตแฟน

คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)

-แป้ง กลูโคส (Glucose) ฟรัคโทซ (Fructose) และเยื่อใย

ไขมัน (Fat) กรดไขมัน (Fatty acid) ที่สำคัญได้แก่ กรดลินโนเลอิ ลินโนลินิก และโอเมกาไฮลีวันแซตจูเลเตดเฟตตีแอซิด

วิตามิน (Vitamin) ประเภทละลายในไขมัน ได้แก่ เอ ดี อี เค (A, D, E, K) ประเภทละลายในน้ำได้แก่ กลุ่มของวิตามินบี (B) ซี (C) แพนโตเตนิคแอซิด (Pantothenic acid) ไนอาซีน (Niacine) ฟอลิกเอซิด (Follic acid) และอื่นๆ

แร่ธาตุ (Mineral)

-ฟอสฟอรัส (P) แคลเซียม (Ca) ทองแดง (Cu) เหล็ก (Fe) แมกนีเซียม (Mg) แมงกานีส (Mn) และธาตุอื่นๆ

ค. รูปแบบของอาหาร แบ่งแบบของอาหารปลาออกอย่างกว้างๆ ได้ 2 แบบ คือ แบบเปียก และแบบแห้ง

-แบบเปียก เป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาทั่วไปในประเทศเราอย่างเช่นอาหารที่เหลือจากครัวเรือนหรือภัตตาคาร โดยนำมาต้มรวมกับผักหรือพันธุ์ไม้น้ำชนิดต่างๆ หรือโดยการใช้ปลาเบญจพรรณ หรือที่เรียกว่าปลาเป็ด โดยใช้ปลาเป็ดบดรวมกับปลายข้าวต้มและรำแล้วนำไปเลี้ยงปลา และใช้มูลสัตว์โดยผู้เลี้ยงใช้มูลสัตว์เลี้ยงซึ่ง ได้แก่ มูลไก่และหมู ใช้เลี้ยงโดยตรง

-แบบแห้ง เป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาที่สะดวกมากวิธีหนึ่ง อาหารแบบนี้สามารถเก็บรักษาได้เป็นเวลานาน และสะดวกแก่การให้และขนส่งไปยังที่ไกลๆ แบ่งตามรูปร่างได้ดังนี้

-แบบผง อาหารแบบนี้ใช้วัสดุอาหารชนิดต่างๆ ที่มีลักษณะแห้งและเป็นผงละเอียดมาผสมรวมกันและโรยให้ปลากิน หรือผสมน้ำปั้นเป็นก้อนให้ปลากิน หรืออาจผลิตมาในรูปผงละลายน้ำในลักษณะคล้ายกับนมผง แต่มีสารเคลือบพิเศษให้อาหารสามารถแขวนลอยอยู่ในน้ำและละลายน้ำช้า ตัวอย่างของอาหารได้แก่ พวกสไปรูลินาหรือคลอเรลลาผง เมื่อจะใช้ก็นำมาละลายน้ำและสาดให้ลูกปลากิน

-แบบเม็ดจม อาหารแบบนี้ใช้วัสดุอาหารชนิดต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นผงและแห้งมาผสมกับน้ำหรือไอนํ้า แล้วผ่านเครื่องอัดเม็ดออกมาเป็นแท่งยาวตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางและความยาวที่ต้องการ เมื่อออกจากเครื่องใหม่ๆ จะเปียกหมาดเมื่อถูกลมและแดดหรือผ่านเครื่องทำแห้งจะแห้งและจับตัวกันแน่นเป็นแท่งยาว สามารถอยู่ในน้ำได้นานและเก็บรักษาได้นานวัน

-แบบเม็ดลอย ส่วนผสมของอาหารก็เช่นเดียวกับอย่างชนิดเม็ดจม และอาหารต้องผ่านเครื่องอัดเม็ด แต่มีกรรมวิธีการผลิตที่สลับซับซ้อนกว่าคือ ก่อนอัดเม็ดต้องทำให้ส่วนผสมของอาหารละเอียดและร้อนจนวัสดุอาหารประเภทแป้งขยายตัวแล้วจึงอัดผงอาหารด้วยแรงที่สูง อาหารที่ออกจากเครื่องจะเบาและพองตัว และผิวนอกถูกคลุมด้วยแป้งสุก จึงมีคุณสมบัติลอยน้ำได้ ซึ่งอาหารเม็ดนี้เป็นอาหารสมบูรณ์แบบสำหรับอาหารปลาชนิดหนึ่งเพราะลอยน้ำได้ ผู้เลี้ยงสามารถทราบได้ว่าปลากินอาหารหรือไม่ จัดว่าเป็นอาหารที่ประหยัดชนิดหนึ้ง แต่ก็มีจุดด้อยหลายประการ

จากการที่ได้กล่าวถึงรูปแบบของอาหารมาข้างต้นนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ต้องการจะคำนึงถึงคือ สภาพความคงทนของอาหารปลาในน้ำ เราทราบแล้วว่าอาหารที่ให้ปลานั้นแตกต่างจากที่ให้ไก่ หมู ซึ่งอาหารไก่และหมูมักจะมีภาชนะรองรับอาหารทำให้อาหารไม่กระจายหรือสูญเสียไปมากนัก แต่อาหารปลาที่ให้จะอยู่ในน้ำ โอกาสที่อาหารจะสูญเสียหรือละลายน้ำก่อนที่ปลาจะกินมีเปอร์เซ็นต์สูงมาก ทำให้สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ คุณสมบัติความคงทนของอาหารในน้ำจึงมีความสำคัญที่ควรจะคำนึงถึง ซึ่งจะกล่าวในที่นี้อย่างย่อๆ ดังนี้

-การที่จะทำอาหารให้มีความคงทนในน้ำ วัสดุที่มาประกอบเป็นอาหารควรมีขนาดเล็กมีเยื่อใย (fiber) และไขมันน้อย และควรมีแปี้งสุกในปริมาณพอควรเพื่อให้ยึดวัสดุอื่นให้จับตัวกันแน่น และควรอัดหรือบีบวัสดุที่มาประกอบอาหารให้แน่นเป็นรูปแผ่น ก้อน หรือเม็ด การทำเช่นนี้จะทำให้อาหารอยู่คงนาน ในระยะเวลาหนึ่ง และทำให้อาหารอยู่ในน้ำเป็นระยะเวลานาน และควรผสมพวกสารเหนียว (binder) ลงไปด้วย พวกสารเหนียวมีคุณสมบัติพิเศษในการยึดเกาะ ซึ่งจะทำให้วัสดุต่างๆ ยึดเกาะและเกาะตัวแน่น โอกาสที่น้ำจะซึมไปแยกให้วัสดุอาหารหลุดจากกันจะช้าลง ทำให้อาหารคงรูปเดิมอยู่ได้นาน

สารเหนียวนี้ได้แก่พวกกัม (gum) ชนิดต่างๆ เช่น guargum และพวกที่สกัดจากสาหร่ายทะเล พวกเหล่านี้เมื่อถูกน้ำจะพองตัวและเหนียว ทำให้อาหารอยู่ในน้ำได้นาน

วัสดุอาหารต่างๆ ที่นำมาประกอบเป็นอาหาร

การทำอาหารดังที่กล่าวมาแล้ว ปลาก็เหมือนสัตว์ชั้นสูงอื่นๆ ซึ่งต้องการอาหารเพื่อการเจริญเติบโตและสืบพันธุ์ คุณภาพของอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาจึงต้องประกอบด้วยโภชนาการที่ครบถ้วนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น นอกจากอาหารจะต้องมีคุณภาพที่ดีแล้ว อาหารควรมีราคาถูกด้วยเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตปลาต่ำ ซึ่งจะทำให้ผู้เลี้ยงปลามีกำไรมากขึ้น วัสดุที่จะนำมาใช้เป็นอาหารปลานั้นมีอยู่หลายชนิด นอกจากนี้จากการที่ทราบคุณค่าทางอาหารของวัสดุต่างๆ นั้น ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำยังสามารถกำหนดสูตรอาหารได้ตามต้องการอีกด้วย