อินทนิลน้ำ

(Queen’s crape Myrtle)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia speciosa (L.) Pers.
ชื่อวงศ์ LYTHRACEAE
ชื่ออื่น ตะแบกดำ ตะแบกอินเดีย อินทนิล
ถิ่นกำเนิด อินเดีย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-24 ม. ขนาดทรงพุ่ม 4-6 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมแผ่กว้าง เปลือกต้น สีน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบ มีรอยด่างเป็นดวงสีขาว


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปรีหรือรูปขอบขนาน แกมรูปรี กว้าง 6-10 ซม. ยาว 11-26 ซม. ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบมนหรือกลม ขอบใบเรียบห่อยกขึ้น แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว สีเขียวสดเรียบเป็นมัน ใบอ่อนสีเขียวอมน้ำตาล มีขนละเอียดรูปดาว ก้านใบยาว 0.5-0.9 ซม.


ดอก สีม่วงสด ม่วงปนชมพูหรือขาว ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้ง ยาว 10-40 ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน เป็นรูปถ้วย มีสันนูนตามยาวและมีขนสั้นประปราย ปลายแยกเป็น 6 แฉก กลีบดอก 6 กลีบ ทรงกลมโคนคอดเรียวเป็นก้านสั้นๆ กลีบดอก บางยับย่น เกสรเพศผู้จำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 5-7.5 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-พ.ค.
ผล ผลแห้งแตกกลางพู รูปไข่ กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 2-2.5 ซม. เปลือกเกลี้ยงแข็ง มีกลีบเลี้ยงคงอยู่ เมื่อสุกสีน้ำตาล เมล็ดแบนมีปีกสีน้ำตาลอมเหลือง จำนวนมาก ติดผลเดือน มี.ค.-มิ.ย. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามที่ราบลุ่มริมน้ำในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดิบ
การใช้ประโยชน์ ยอดอ่อน รับประทานเป็นผักสด
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบ ต้มหรือชง แก้เบาหวาน ขับปัสลาวะ เมล็ด แก้เบาหวาน นอนไม่หลับ เปลือก แก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก่นแก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ราก แก้แผลในปากและคอ
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดสกลนคร
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย