เกษตรธรรมชาติ

จากเกษตรเคมีสู่เกษตรธรรมชาติ

ในสมัยก่อน เราจะพบคำพูดที่เกี่ยวกับการทำนาทำไร่ การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หรือคำพูดอื่นๆ ที่หมายถึงงานอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินบนผืนแผ่นดินและไร่นา

ต่อมาก็มีการใช้คำว่าการกสิกรรม หรือกสิกรรมและสัตวบาล และเกษตรกรรมก็พูดกัน ถ้าเป็นเรื่องของวิชาการและการศึกษาเล่าเรียน ก็จะใช้คำว่า การเกษตร หรือเกษตรศาสตร์

คำว่าอาชีพเกษตรกรรมนั้น เป็นคำที่มีความหมายกว้าง เพราะเป็นกระบวน การที่จะดึงพลังที่มีอยู่ในธรรมชาติ หรือการทำงานของธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการผลิตอาหารเพื่อมนุษย์และสัตว์

การเกษตรตามแนวคิดสมัยใหม่ หมายถึง การผลิตทางพืชสัตว์ ป่าไม้และการประมง และการเกษตรนี้จะก่อให้เกิดศาสตร์ในสาขาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น พืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ เศรษฐศาสตร์เกษตร วิศวกรรมเกษตร ครุศาสตร์เกษตร ศึกษาศาสตร์เกษตร คหกรรมศาสตร์ วนศาสตร์ วาริชศาสตร์ และอุตสาหกรรมเกษตร เป็นต้น

นอกจากนี้การทำการเกษตรสาขาต่างๆ จะต้องอาศัยศิลปและวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น เคมี ชีววิทยา ฟิสิกซ์ วิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า ชลประทาน สรีรวิทยา กายวิภาคศาสตร์ สถิติคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ เข้ามาช่วยในการผลิตทางเกษตรสาขาต่างๆ จึงทำให้การเกษตรมีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ในทางที่ตรงกันข้ามการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสาขาต่างๆ ก็สูญสิ้นไปอย่างรวดเร็ว และมีการทำลายสภาพสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติดั้งเดิมไปอย่างมาก จนเกิดปัญหาใหญ่ๆ กันไปทั่วโลก เช่น เศรษฐกิจของโลกตกต่ำ สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ขาดสิ่งอุปโภคบริโภคเพราะประชากรเพิ่มอย่างรวดเร็ว และมีโรคร้ายเกิดขึ้นทั่วไป เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น

ถ้าจะดูถึงจุดอ่อนของการเกษตรในประเทศไทย ก็จะพบว่าการเกษตรของเรามีปัญหา อุปสรรคทางด้านทรัพยากรและการจัดการ ดังนี้

1. ดินจืด เพราะมีการใช้ดินติดต่อกันมาหลายชั่วคน และหาดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มาทำการเกษตรได้ยาก ดินมีโรค ดินถูกชะล้างและพังทลาย จึงทำให้เกษตรกรต้องหาปุ๋ยเคมีมาใส่อย่างมากมาย จนกลายเป็นดินเปรี้ยวและดินแข็ง จึงน่าจะกลับมาใช้การเกษตรแบบธรรมชาติกันมากขึ้น

2. เกษตรกรมีฟาร์มขนาดเล็กและอยู่กันอย่างกระจัดกระจายแต่เกษตรกรจำเป็นจะต้องผลิตให้ได้มากๆ ในเนื้อที่อันจำกัดจึงได้นำเอาเคมีกัณฑ์มาใช้มากขึ้น จนเกิดเป็นผลเสียต่อระบบเกษตรธรรมชาติ

3. น้ำไม่พอ น้ำไม่สะอาดหรือน้ำเสีย ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ดินแข็งไถพรวนไม่ได้ เกษตรกรจึงได้นำเอาสารละลายดินดาน และสารช่วยอุ้มนํ้า (โพลิเมอร์) มาใช้มากขึ้น

4. ในปัจจุบัน เกษตรกรไทยได้ใช้เคมีกัณฑ์ เช่น ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมน ยาป้องกันและกำจัดโรคและศัตรูพืช ยาเร่งความเจริญเติบโต ยาป้องกันและกำจัดโรคสัตว์และปฏิชีวนะต่างๆ จนทำให้ประเทศเราเสียดุลการค้า ทางด้านนี้ปีละหลายพันล้านบาท เพราะเคมีกัณฑ์เหล่านี้เราต้องสั่งมาจากต่างประเทศ จึงน่าจะกลับมาใช้การเกษตรแบบธรรมชาติ หรือประยุกต์ธรรมชาติกันมากขึ้น

5. เกษตรกรได้ใช้ยากำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมนและสารปรับปรุงผลิตภัณฑ์มากขึ้น จึงมีสารตกค้างอยู่ในผลิตภัณฑ์มากทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงน่าจะหาทางเลือกอื่นๆ ที่ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารพิษเหล่านี้

6. เกษตรกรได้ใช้ยากำจัดโรคของสัตว์ กุ้ง ปลา หลายชนิด จนทำให้มีสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ของเสียจากฟาร์มเลี้ยงกุ้งกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญที่จะ ต้องแก้ไขอยู่ทุกวัน

7. มลภาวะจากการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปัจจุบัน เป็นปัญหาใหญ่หลวง จำเป็นที่จะต้องหามาตรการมาแก้ไข เช่นการใช้เชื้อจุลินทรีย์มาช่วยในการทำปุ๋ย และการบำบัดนํ้าเสีย เป็นต้น

เกษตรเคมีและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คือประมาณ พ.ศ. 2469 ประเทศในยุโรปและอเมริกาได้ทำการผลิตปุ๋ย และเคมีภัณฑ์กันมาก เช่น ปุ๋ยสูตรต่างๆ ยาฆ่าแมลง ยาปราบโรครา แบคทีเรีย ยากำจัดวัชพืช ฮอร์โมน สำหรับพืชและสัตว์ สารเร่งความหวาน เร่งการสุกบ่ม สารเร่งการเจริญเติบโต และยาป้องกันกำจัดโรคของสัตว์ กุ้ง ปลาต่างๆ ดังนั้น จึงเรียกการเกษตรสมัยใหม่ว่า การเกษตรเคมี (chemical agriculture) แน่นอนเหลือเกินว่าการเกษตรเคมีนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียพอๆ กัน

ข้อดีของการใช้ปุ๋ยและเคมีภัณฑ์คือ การให้ประโยชน์ทันตาเห็น เช่น การเร่งความเจริญเติบโต เร่งผลผลิต และปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ตามความต้องการของตลาด การใช้เคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรใช้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว
ในทางตรงกันข้าม ผลเสียของการใช้เคมีภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยาฆ่าแมลง รา ฮอร์โมน หรือยากำจัดวัชพืช หากใช้มากเกินไปและใช้ไม่ถูกวิธี จะเปรียบเสมือนกับการเร่งเครื่องจนหมดแรง การใช้อย่างต่อเนื่องในปริมาณมากๆ จะให้โทษมาด้วย เช่น การทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายสมดุลของธรรมชาติ ทำลายนิเวศน์วิทยาของดิน ดินเสื่อมคุณภาพดินแข็งดินเป็นกรดเม็ดดินไม่ดูดนํ้า ผลผลิตอาจลดลง พืชอ่อนแอต่อโรค และศัตรูต่างๆ แมลงดื้อยา มีการทำลายศัตรูพืชและแมลงที่เป็นประโยชน์พร้อมๆ กัน ยามีราคาแพง จึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นอกจากนั้นเกษตรกรอาจมีสุขภาพเสื่อมลง บ้างก็ถึงตายหรือเป็นโรคมะเร็งก็ยังมี

การเกษตรแบบธรรมชาติและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การเกษตรที่เป็นมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น การเกษตรธรรมชาติ (nature farming) การเกษตรอินทรีย์ (organic farming ) และเกษตรชีวภาพ (biological agriculture) หรืออื่นๆ

อาชีพเกษตรกรรมตามความหมายเดิมหมายถึง ภาระกิจหนึ่งที่จะดึงพลังต่างๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ หรือการทำงานของธรรมชาติ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตอาหารให้มนุษย์ พลังงานต่างๆ ที่ว่าได้แก่ พลังจากแสงอาทิตย์ ดิน น้ำ และอุณหภูมิ โดยผ่านกระบวนการต่างๆ มากมายเช่น กระบวนการแสงสังเคราะห์ (photosynthesis) จนเกิดเป็นพืชพรรณธัญญาหารที่จะเป็นอาหารของคนสัตว์ต่อไป

ดังนั้นการเกษตรธรรมชาติ คือเกษตรกรรมที่สร้างผลผลิตโดยนำหลักการของธรรมชาติมาใช้อย่างถูกต้อง และสามารถส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์ ตลอดจนการรักษาสภาพแวดล้อมของธรรมชาติไว้ด้วย
การเกษตรแบบธรรมชาตินั้น ได้ดำเนินมาแล้วหลายร้อยปี หรือเริ่มตั้งแต่ที่มีคำว่าเกษตรกรรม ในประเทศไทยเองก็มีการทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลากันมาช้านาน ดังคำกล่าวที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่ทว่าเมื่อมนุษย์เราได้คิดค้นพวกปุ๋ย ยาฆ่าแแลงและเคมีภัณฑ์มากขึ้น จึงได้ใช้การเกษตรเป็นสถานที่ทดลอง และก็ได้ผลทันตาเห็นว่าผลผลิตเพิ่มอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีการทำลายดิน นํ้า สภาพแวดล้อม และสุขภาพของมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน

ท่านโมกิจิ โอกาดะ ชาวญี่ปุ่นจึงได้ประกาศเรื่องราวของเกษตรธรรมชาติในปี พ.ศ. 2478 โดยใช้ปุ๋ยหมักบำรุงพืชและไม่ใช้สารเคมี เพื่อที่จะนำหลักการของธรรมชาติมาใช้อย่างถูกต้อง ส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์ ตลอดจนการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ แต่วิธีนี้มีจุดอ่อนหลายอย่าง เช่นการ ทำงานค่อนข้างช้าเป็นวิธีโบราณเหมือนวิธีดั้งเดิม

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2523 ศาสตราจารย์ ดร.เทรูโอะ ฮิงะ จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยริวกิว เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ผู้ซึ่งให้ความสนใจและติดตามเรื่องราวของการเกษตรธรรมชาติมา 20 กว่าปี ได้คิดค้นวิธีการที่จะทำให้จุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ตั้งชื่อกลุ่มของจุลินทรีย์เหล่านี้ว่า E.M. ซึ่งย่อมาจากคำว่า Effective Microorganisms ซึ่งแปลว่า จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพหรือจุลินทรีย์ที่สร้างสรรค์

ท่านได้ทดลองใช้จุลินทรีย์ EM ในการเกษตรจนได้ผลอย่างดียิ่ง และเริ่มเผยแพร่การเกษตรธรรมชาติสากลออกสู่ประชาคมโลกตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา โดยมีหลักฐานยืนยันว่า การเกษตรแบบใหม่ที่ใช้เชื้อ EM นี้ จะให้ความปลอดภัย ทำได้รวดเร็ว และให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คือผลิตอาหารได้เพียงพอ และนำกำไรมาสู่ผู้ผลิตได้
ต่อมาท่านโมกิจิ โอกาดะ และผู้ร่วมงานได้บัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า Kyusei Nature Farming แปล ว่าเกษตรธรรมชาติคิวเซ คำว่า คิวเซ แปลเป็นภาษาไทยว่า ช่วยเหลือโลก ดังนั้นเป้าหมายหลักของเกษตรธรรมชาติคิวเซ คือการเกษตรที่อิงธรรมชาติ เพื่อช่วยเหลือชาวโลกทั้งมวล โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญๆ 5 ประการ คือ
1 . ผลิตพืชและผักที่ปลอดสารเคมี ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์
2. ช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ และจิตใจ ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
3. โดยใครๆ ก็ทำได้และสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง
4. อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของโลก
5. ผลิตอาหารให้เพียงพอกับการเพิ่มของประชากรในอนาคต

อีเอ็ม (EM) คืออะไร

จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (EM) เตรียมมาเป็นของเหลวสีนํ้าตาลเข้ม กลิ่นหอมอมเปรี้ยวอมหวาน ซึ่งมีเชื้อจุลินทรีย์ 4-5 กลุ่มใหญ่ๆ จำนวนประมาณ 80 ชนิด รวมเก็บไว้ในสารละลายที่มีกากนํ้าตาลเป็นหลัก

หัวเชื้อ EM นี้เป็นผลสำเร็จทางจุลินทรีย์วิทยา ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถจัดให้จุลินทรีย์ทั้งที่ต้องการออกซิเจนและไม่ต้องการออกซิเจนมาอยู่ด้วยกันได้ จุลินทรีย์เหล่านี้มีประโยชน์ต่อพืช ดิน น้ำ และสัตว์ เช่นพวกแอกติโนไมซีส (Actinomycetes) แบคทีเรีย (Bacteria) ยีสต์ (Yeast) และเชื้อราชนิดต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 10 สกุล หรือ 80 ชนิด

จุลินทรีย์ในหัวเชื้อ EM จะแบ่งงานกันทำ เช่นบางชนิดจะช่วยในการสังเคราะห์แสง บางชนิดจะช่วยย่อยพวก เยื่อใย ช่วยในการหมักที่เป็นผลดี ช่วยกำจัดหรือทำลายการเน่าเหม็น ช่วยสร้างไวตามิน กรดอะมิโน และกรดนํ้านม (lactic acid) เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ดินที่ได้รับเชื้อจุลินทรีย์ (EM) แล้วจะกลายเป็นดินที่มีพลัง โดยจะมีเส้นใยช่วยยึดเม็ดดินและช่วยย่อยอินทรีย์วัตถุให้เป็นประโยชน์ ช่วยควบคุมรักษาโรคให้แก่ดินเน่าเหม็น และส่งเสริมการเกิดเป็นดินที่มีประโยชน์หรือดินดีในที่สุด

ประโยชน์และกลไกการทำงานของอีเอ็ม
ตามปกติในดิน นํ้า อากาศและบนวัสดุสิ่งของทั้งหลายจะพบตัวจุลินทรืย์อยู่ทุกหนทุกแห่ง แม้ว่าเราจะเอาปลายเข็มไปจิ้มในดิน ณ จุดใด แล้วเอาปลายเข็มมาป้ายลงบนอาหารเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ภายใน 1-2 วัน เราจะพบเชื้อจุลินทรีย์จำนวนมากมายปรากฏขึ้นบนอาหารเลี้ยงเชื้อนั้น นี่แสดงให้เห็นว่าในดินทุกตารางมิลลิเมตรจะมีจุลินทรีย์อยู่แล้วทั้งนั้น ดังนั้นในบริเวณรอบๆ รากของพืช ก็จะมีจุลินทรีย์อยู่เป็นจำนวนนับไม่ถ้วน

จุลินทรีย์ในดินจากแง่ของการเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรและมนุษย์ พอจะแบ่งได้เป็น 3 พวกใหญ่ๆ คือ

หนึ่งพวกที่ให้คุณประโยชน์หรือเป็นจุลินทรีย์ที่สร้างสรรค์ เช่น จุลินทรีย์ในปมถั่ว จุลินทรีย์ในกระเพาะของสัตว์เคี้ยวเอื้อง จุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสในนมเปรี้ยว จุลินทรีย์ที่ใช้ในกระบวนการหมัก เป็นต้น

สอง คือจุลินทรีย์ที่อยู่กลาง คือไม่ดีไม่เลว เว้นแต่พวกมากจะลากไปให้อยู่ฝ่ายสร้างสรรค์หรือทำลาย

สาม คือจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดผลเสีย เช่นจุลินทรีย์ที่กระตุ้นการหมักบูด การเน่าเปื่อยผุพังต่างๆ

ดังนั้นถ้าเราใส่จุลินทรีย์ EM ลงไปในระบบ (ดิน นํ้า สิ่งขับถ่าย ฯลฯ) EM ก็จะช่วยกระตุ้นพวกกลางๆ ให้ไปทำงาน และเปลี่ยนบทบาทของจุลินทรีย์ชนิดทำลายให้เป็นชนิดสร้างสรรค์ และนี่ก็คือผลของการค้นหาเทคนิคที่เป็นจริงมาแก้ปัญหาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และไม่สร้างความขัดแย้งระหว่างบุคคลและทรัพยากร แต่จะช่วยสร้างระบบการอยู่ร่วมโลกเดียวกันอย่างสันติสุข
จุลินทรีย์ที่อยู่ในดินรอบๆ รากพืชจะทำหน้าที่หลายประการ เช่น การตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้เป็นปุ๋ยไนเตรทในปมถั่ว การย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ เศษพืชปุ๋ยหมัก และปุ๋ยคอก ให้เป็นแร่ธาตุหรือไอออนเพื่อ รากพืชจะดูดไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ซากของจุลินทรีย์ที่ตายลง ก็จะแตกสลายเป็นธาตุอาหารให้แก่พืชด้วย

จึงสรุปได้ว่าดินที่ดีคือดินที่มีชีวิตและมีพลัง (living soil) คือมีทั้งสิ่งที่มีชีวิต (จุลินทรีย์ ไส้เดือน ฯลฯ) และอินทรีย์วัตถุ คุณสมบัติทั่วๆ ไปของ EMในด้านการเกษตรคือ ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินและนํ้า ช่วยแก้ปัญหาจากแมลงศัตรูพืชและโรคระบาดต่างๆ ช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย ช่วยอุ้มนํ้า แต่ยังมีการระบายอากาศดี ช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ ช่วยสร้างฮอร์โมนพืช เพิ่มผลผลิตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ช่วยให้ผลิตผลคงทนและเก็บรักษาไว้นานๆ ช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นจากฟาร์มปศุสัตว์ ช่วยบำบัดนํ้าเสียจากฟาร์มภายใน 1-2 สัปดาห์ช่วยป้องกันโรคต่างๆ ในสัตว์ลดการใช้ยาและปฏิชีวนะ ช่วยส่งเสริมสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ลดอัตราการตาย และทำให้ปริมาณผลผลิตสูงขึ้น

ในด้านการประมง จุลินทรีย์ EM จะช่วยควบคุมคุณภาพของนํ้า ช่วยแก้ปัญหาของโรคพยาธิในนํ้า ช่วยรักษาโรคและแผลต่างๆ ของสัตว์น้ำ ช่วยทำให้เลนที่ ก้นบ่อไม่เน่าเหม็น แต่สามารถนำเลนไปผสมเป็นปุ๋ยหมักใช้กับพืชต่างๆ ได้ดี

ในด้านสิ่งแวดล้อมจุลินทรีย์จะช่วยปรับสภาพขยะจากครัวเรือน เช่น เศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย ช่วยปรับสภาพนํ้าเสียจากอาคารบ้านเรือน และโรงงาน โรงแรม และแหล่งนํ้าเสียต่างๆ ให้เป็นนํ้าที่ดีขึ้นได้ และประการสุดท้ายคือ ช่วยดับกลิ่นเน่าเหม็น จากกองขยะที่หมักหมมมานานได้

สำหรับกลไกการทำงานของจุลินทรีย์ EM และประโยชน์ที่ได้รับ มีดังต่อไปนี้
1. นักวิทยาศาสตร์พบว่า การนำเอาจุลินทรีย์หลายๆ ชนิดมาผสมกัน แล้วใส่ลงไปในดินหรือพ่นลงบนต้นพืช จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้จุลินทรีย์ชนิดเดียว

2. เมื่อใส่จุลินทรีย์ EM ลงไปในสิ่งปฏิกูล (อินทรีย์สาร) และของเสียอื่นๆ จุลินทรีย์จะปรับเปลี่ยนระบบการหมักแบบเน่าเปื่อยเป็นการหมักแบบสังเคราะห์ในที่สุดก็จะได้ปุ๋ยที่ดี และไม่มีกลิ่น

3. จุลินทรีย์ EM ช่วยกำจัดกลิ่นและควบคุมของเสียในประเทศญี่ปุ่น มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2529

4. จุลินทรีย์ EM จะหมักย่อยให้เกิดของดี ความร้อนขณะหมักจะทำลายการเจริญเติบโตและฆ่าเมล็ดวัชพืชได้

5. จุลินทรีย์ EM จะเปลี่ยนบทบาทของจุลินทรีย์อื่นๆ จากบทบาทที่ทำลายให้เป็นบทบาทที่สร้างสรรค์

6. จุลินทรีย์ EM ใช้ได้ผลในการบำบัดนํ้าเสียกำจัดขยะสด ส่งเสริมการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์

7. จุลินทรีย์ EM ใช้ได้ผลในเรือนเพาะชำต้นไม้ในฟาร์มเห็ดในนาข้าวแปลงผักเพราะจะช่วยเพิ่มผลผลิต และปรับปรุงคุณภาพของผลิตผลให้ดีขึ้น

8. . จุลินทรีย์ EM ช่วยในการป้องกันการทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช

9. จุลินทรีย์ EM ช่วยสงวนพลังงานให้ต้นพืช ละลายธาตุอาหารในดิน สร้างสมดุลของจุลินทรีย์ในดิน เช่นทำให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เจริญเติบโต และกำจัดจุลินทรีย์ที่จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ

10. จุลินทรีย์ที่ฉีดพ่นลงบนใบพืช จะช่วยส่งเสริมการสังเคราะห์แป้งและนํ้าตาล ส่วนจุลินทรีย์ในดินจะช่วยในการตรึงไนโตรเจนให้เป็นปุ๋ยแก่พืช

11. จุลินทรีย์ EM ที่เข้าไปในดิน จะไปชักนำให้จุลินทรีย์ที่อยู่เฉยๆ ได้ทำงาน โดยเฉพาะพวกก่อสร้าง และขัดขวางหรือระงับการทำงานของพวกที่ทำลาย

12. จุลินทรีย์ EM จะช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารในดิน และช่วยยึดเม็ดดินไว้อย่างเหนียวแน่น แม้ฝนจะตกหนักดินก็จะไม่ไหลไปตามนํ้า

13. จุลินทรีย์ EM จะย่อยสลายสสารที่อยู่ในขบวนการหมักให้ได้กรดอะมิโน และกรดอินทรีย์ต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพืช มนุษย์ และ สัตว์

14. จุลินทรีย์ EM จะเพิ่มไวตามินซี หรือนํ้าตาลในผลไม้ และกรดอะมิโน (โปรตีน) ในพืชที่กำลังเติบโต

15. จุลินทรีย์ EM ผลิตธาตุออกซิเจน และไซโตไคนิน (cytokinin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งด้วย

16. จุลินทรีย์ EM ผลิตสารต่อต้านการสลายตัวเนื่องจากออกซิเจน ที่เรียกว่าสารแอนตีออกซิเดชัน (antioxidation) จึงทำให้สารต่างๆ มีสภาพคงทนถาวร และอยู่ด้วยกันได้ ยกตัวอย่างเช่น การที่จุลินทรีย์หลายชนิดใน EM อยู่ด้วยกันได้ เพราะจุลินทรีย์เหล่านี้ผลิตสารแอนตีออกซิเดชัน มันจึงไม่ทำลายกัน

17. จุลินทรีย์ EM สามารถช่วยในการรักษาโรคบางชนิดของมนุษย์และสัตว์ได้ เช่น โรคท้องอืด ท้องเสีย โรคหวัด ท้องผูก โรคความดันโลหิต และโรคเบาหวานในมนุษย์ ขณะนี้ทางวงการแพทย์กำลังให้ความสนใจ และนำ EM ไปทดลองใช้เพื่อรักษาโรคดังกล่าว และทดลองรักษาโรคมะเร็งด้วย

การใช้ EM ในประเทศไทย

ศาสตราจารย์ ดร.เทรูโอะ ฮิงะ ได้นำจุลินทรีย์ EM เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2529 โดยทดลองกับผักและสวนส้มที่คลองรังสิต 13 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ต่อมาในปี 2531 ได้มีการจัดตั้งศูนย์ฝึก อบรมและเผยแพร่เกษตรธรรมชาติคิวเซขึ้น ณ อำเภอแก่งคอย จ.สระบุรี ภายใต้การอำนวยการของมูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาได้มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการใช้ EM เพื่อการเกษตรและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นหมื่นๆ คนจากทั้งภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯ มีโครงการที่จะนำความรู้เรื่อง EM เข้าไปสู่ระบบโรงเรียน โดยส่งเสริมการศึกษาทดลองในแปลงผัก แปลงพืชของโรงเรียนต่างๆ ที่ศูนย์ฝึกอบรมเกษตรธรรมชาติคิวเซเอง ก็มีการสาธิตการใช้ EM ในการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ จนได้ผลดีเป็นอย่างมาก เรียกว่า ณ ที่นั้นจะไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชเลย แต่ทว่า พืชชนิดต่างๆ เจริญเติบโตและให้ผลดี แม้แต่พืชต่างถิ่น เช่น แอปเปิ้ล องุ่น แคนตาลูป เสาวรส ฝรั่ง อะโวคา โด ก็ยังติดดอกออกผลได้ดี
ขณะนี้ได้มีประชาชนและเกษตรกรให้ความสนใจในเรื่อง EM กันมาก แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านว่า EM ไม่ดีไม่ได้ผล แต่คนที่นำไปใช้อย่างถูกต้องบอกว่าได้ผลดีมาก เช่น การเพิ่มผลผลิตของข้าว ข้าวโพด ผัก ผลไม้ และใช้ในวงการเลี้ยงสัตว์ การปลูกผักและการทำสวนส้มที่รังสิตนั้นเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ดี

การใช้ EM ในการปราบหนอนชอนเปลือกลองกองที่จันทบุรี และนครศรีธรรมราช กำลังได้รับการกล่าวขวัญกันมาก การใช้ EM เพื่อการเลี้ยงกุ้งก็ได้ผลดี การดับกลิ่นของคอกและมูลสัตว์ การบำบัดน้ำเสีย และการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

เกษตรกรที่จังหวัดสุพรรณบุรีได้ใช้ EM ในการรักษาโรคท้องเสียของลูกสุกรได้ผลดี สรุปว่าจุลินทรีย์ EM สามารถใช้เพื่อส่งเสริมการปลูกพืช (บำรุงพืช ทำปุ๋ยหมัก) เพื่อการเลี้ยงทุกชนิดรวมทั้งกุ้ง ปลา กบ จระเข้ การเพาะเห็ด การบำบัดน้ำเสียจากฟาร์มโรงงาน โรงฆ่าสัตว์ ตลาดสด การกำจัดกลิ่นของกองขยะและน้ำเน่า และกำจัดฝ้าสนิมในน้ำ

สำหรับรายละเอียดและเทคนิคการเตรียมการใช้จุลินทรีย์ EM ให้ติดตามได้จากเอกสารอ้างอิงตอนท้ายเรื่อง

การเกษตรอินทรีย์

การเกษตรอินทรีย์ (organic farming) หมายถึงการที่เรานำเอาวัสดุสิ่งของที่เป็นอินทรีย์สารมาใช้เพื่อการเกษตร จึงมีความหมายคล้ายๆ กับการเกษตรธรรมชาติดังกล่าวแล้ว แต่การเกษตรอินทรีย์จะมุ่งเน้นถึงการประยุกต์ใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด พืชคลุมดิน แทนปุ๋ยเคมี และใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเป็นยาฆ่าแมลง เช่นการใช้สะเดาเป็นพืชป้องกันและกำจัดแมลง นอกจากนี้ยังมีพืชหรือสมุนไพรอีกหลายชนิดที่ใช้ป้องกันกำจัดหนอน และแมลงและโรคพืชบางชนิด คือ
ศัตรูพืช                    การป้องกันกำจัด
ด้วง
-ด้วงงวงข้าว            พริก ว่านนํ้า
-ด้วงเจาะเมล็ดฝ้าย        ยาสูบ
-ด้วงหมัดผัก            ยาสูบ สะเดา ว่านนํ้า
-ด้วงเต่าทอง            น้อยหน่า
ตั๊กแตน                    น้อยหน่า สะเดา
ผีเสือ                        สะเดา

เพลี้ย
-เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล    น้อยหน่า บอระเพ็ด สะเดา
-เพลี้ยจักจั่นสีเขียว        น้อยหน่า สะเดา บอระเพ็ด
-เพลี้ยอ่อน                น้อยหน่า ยาสูบ พริก สะเดา สบู่-นํ้ามันก๊าด
-เพลี้ยหอย                น้อยหน่า สบู่-นํ้ามันก๊าด
มดต่างๆ                    พริก
มวน                        น้อยหน่า ยาสูบ
มอดแป้ง                    น้อยหน่า

แมลง
-แมลงในโรงเก็บ            ว่านนํ้า พริก สะเดา
-แมลงวันทอง            ว่านนํ้า
-แมลงวันผลไม้            หางไหลแดง
-แมลงวันบ้าน            ดาวเรือง สลอด
-แมลงสาป                มะเขือเทศ
-แมลงหวี่ขาว            ดาวเรือง

ปลวก                    ละหุ่ง

ไรแดง                    ยาสูบ มะเขือเทศ น้ำปัสสาวะ

หนอน
-หนอนกระทู้ผัก     ยาสูบ    กระเทียม หางไหลแดง คูน ผกากรอง
-หนอนกระทู้กัดต้น        สะเดา บอระเพ็ด
-หนอนกะหล่ำปลี        ยาสูบ หางไหลแดง
-หนอนชอนใบส้ม        สะเดา ยาสูบ
-หนอนทั่วไป            พริก ยาสูบ
-หนอนผีเสื้อทั่วไป        มะเขือเทศ
-หนอนใยผัก            ดาวเรือง น้อยหน่า สะเดา หางไหลแดง

หอยทาก                    สลอด

หนู                        สลอด

ไส้เดือนฝอย                ดาวเรือง ละหุ่ง มะเขือเทศ สะเดา โรคพืช

-ราน้ำค้าง                กระเทียม
-ราสนิม                กระเทียม ยาสูบ
-ยอดพริกหงิก, ใบม้วน    ยาสูบ
-ใบด่างในแตง พริก        นํ้าปัสสาวะวัว

เอกสารอ้างอิง
1. เกษตรคิวเซ วารสารเพื่อการเผยแพร่เกษตรธรรมชาติแนวใหม่ของโลก  โดยสำนักพิมพ์ของมูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา 20/1 ซอยสีฟ้าพหลโยธิน 9 สามเสนใน กรุงเทพมหานคร 10400
ปีที่ 2 ฉบับที่ 5,6,9 พ.ศ.2536-2537
ปีที 3 ฉบับที่ 10,11,12 พ.ศ.2537-2538
2. EM (Effective Microorganisma) การประยุกต์ใช้จุลินทรีย์อีเอ็มจากธรรมชาติเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในวันนี้ จัดพิมพ์โดยศูนย์ฝึกอบรมและเผยแพร่เกษตรธรรมชาติ คิวเซ
มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา กันยายน 2537,38 หน้า
3. การป้งอกันและกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมีคู่มือเบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 3 โดยสมาคม เทคโนโลยีที่เหมาะสม เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร มีนาคม 2535, 53 หน้า

ที่มา: พานิช ทินนิมิตร