เกษตรอินทรีย์:สหกรณ์เกษตรอินทรีย์

รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่าปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่เขตเกษตรเศรษฐกิจจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ยังคงใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรในการประกอบอาชีพมากขึ้น  ซึ่งการใช้ในปริมาณที่มากและต่อเนื่องโดยขาดการปรับปรุงบำรุงดินอย่างถูกต้อง จะส่งผลให้ดินแข็งกระด้าง ขาดอินทรียวัตถุ ผลผลิตที่ได้ก็ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ที่สำคัญเมื่อถึงฤดูฝนน้ำจะไม่สามารถซึมซับลงสู่ชั้นล่างของผิวดินได้อย่างสะดวก อันจะยังมาซึ่งการเกิดน้ำหลากในพื้นที่และก่อให้เกิดความเสียหายในที่สุด ซึ่งในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งจะใช้เพื่อการดำเนินงานในปี 2555-2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนพัฒนาการเกษตร เพื่อมุ่งหวังให้ภาคเกษตรเป็นฐานการผลิตที่ปลอดภัย โดยมีวิสัยทัศน์ให้ เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นฐานสร้างรายได้ให้แก่แผ่นดิน จึงมีการผลักดันให้มีการแปลงแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะพื้นที่โครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร เน้นรณรงค์การใช้สารอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรให้เป็นกิจกรรมหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบบบูรณาการในเขตพื้นที่ชลประทานนำร่องที่มีศักยภาพ ล่าสุดหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ  ได้มีการจัดประชุมทำประชาคมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการเกษตรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรปี 2555 โดยมีหน่วยงานหลักด้านการส่งเสริมด้านพืช สัตว์ และประมง และพัฒนาที่ดิน ที่จะเข้าไปรณรงค์ส่งเสริมเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากที่พึ่งพาสารเคมีทางการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว ให้หันมาพึ่งพาสารอินทรีย์ที่สามารถผลิตได้เองจากวัสดุที่มีในท้องถิ่น  เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ และให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสมและยั่งยืน  โดยทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะทำการพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้ใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตรให้เข้มแข็ง และจัดตั้งเป็นสาหกรณ์เกษตรอินทรีย์ จำกัด  ขึ้นในพื้นที่โครงการนำร่องเพื่อดำเนินงานด้านการผลิตแปรรูป และการตลาดอย่างครบวงจร และมีความพร้อมเข้าสู่การรับรองมาตรฐานคุณภาพกับกรมวิชาการเกษตร กรมข้าว กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ซึ่งหลายๆ ฝ่ายมองว่ามีความเป็นไปได้สูง  เพราะระบบสหกรณ์เป็นหนึ่งในกลไกที่เอื้อประโยชน์แก่ผลประโยชน์ของเกษตรกรและสมาชิกอย่างแท้จริงที่ระบบทุนทางการเกษตรจากภายนอกไม่สามารถเข้าไปข้องแวะได้ ด้วยเป็นการบริหารจัดการแบบมวลสมาชิกมีสิทธิเท่าเทียมกันหนึ่งคนหนึ่งเสียงในการบริหารจัดการและการตัดสินใจในการดำเนินงานของสหกรณ์ สำหรับเกษตรอินทรีย์นั้นก็คือระบบการผลิตที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมรักษาสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายของทางชีวภาพโดยมีระบบการจัดการนิเวศวิทยา  ที่คล้ายคลึงกับธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนต่างๆ ตลอดจนไม่ใช้พืชหรือสัตว์ที่เกิดจากการตัดต่อทางพันธุกรรมที่อาจเกิดมลพิษในสภาพแวดล้อม เน้นการใช้อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และ ปุ๋ยชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงให้มีความอุดมสมบูรณ์  เพื่อให้ต้นพืชมีความแข็งแรงสามารถต้านทานโรคและแมลงด้วยตนเอง รวมถึงการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ด้วย ที่สำคัญสำหรับเกษตรอินทรีย์ก็คือผลผลิตที่ได้จะปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคและไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมอีกด้วย

วิธีการเกษตรอินทรีย์ มิใช่เกษตรกรรมของคนขี้เกียจ ที่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม หากแต่จะต้องมีความมานะพยายาม ขยัน เอาใจใส่ อดทน ประหยัด ส่งเสริมการเกษตรผสมผสาน และไร่นาสวนผสม แต่ก็คุ้มค่าเพราะผลผลิตมีคุณภาพ รสชาติดี สีสวย น้ำหนักดี เก็บไว้ได้นาน มีคุณค่าทางโภชนาการ และเพิ่มผลผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีเพาะปลูกต่อๆ ไป ที่สำคัญตลาดมีความต้องการสูง