เกสรผึ้ง

(BEE POLLEN)
เกสรผึ้งเป็นที่รู้จักกันหลายชื่อ ได้แก่ เกสรดอกไม้ บีพอลเลน หรือง้วนผึ้ง จริงๆ แล้ว เกสรผึ้งเป็นอาหารบำรุงที่ได้รับการค้นคว้าและพัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาพัฒนาขึ้นมาเป็นอาหารโปรตีนเสริม หรือทดแทนอาหารสำหรับผู้ที่ขาดแคลนโปรตีน ซึ่งเกสรผึ้งนับเป็นแหล่งอาหารประเภทโปรตีนที่มีคุณภาพสูงสำหรับมนุษย์จะมีแมลงเพียงชนิดเดียวคือผึ้งเท่านั้นที่สามารถเก็บรวบรวมเกสรไว้ได้เป็นจำนวนมากที่สุด ผึ้งใช้เกสรจากดอกไม้เป็นแหล่งโปรตีน โดยจะนำมาผสมกับนํ้าผึ้งและนํ้าลาย เรียกว่า BEE BREAD ใช้เป็นอาหารสำหรับประชากรผึ้งในรังเพื่อให้มีกำลังในการทำงาน ถ้าไม่มีเกสรในรังผึ้งราชินีผึ้งจะหยุดออกไข่ ผึ้งงานจะหยุดสร้างไขผึ้งและช่องในรวงผึ้ง
ผึ้งจะใช้ตัวคลุกเค้าเกสรดอกไม้ให้ติดกับขนบนตัว (เกสรส่วนมากจะเป็นเกสรตัวผู้) แล้วจึงใช้ขาคู่หน้าแปรงเอาละอองเกสรมาเก็บไว้ที่ขาคู่หลังที่มีลักษณะพิเศษที่เรียกว่า “ตะกร้าเกสร” (POLLEN BASKET OF CORBICULA) ละอองเกสรจำนวนมากมายนี้จะเกาะยึดกันเป็นปริมาตรทรงกลม มีขนาดความยาวระหว่าง 1-5 มิลลิเมตร ความกว้างระหว่าง 1-3 มิลลิเมตร หลังจากนั้นผึ้งจะบินกลับรังนำเอาเกสรดอกไม้เก็บไว้ในหลอดรวง ผึ้งตัวอื่นจะใช้นํ้าผึ้งปิดช่องที่เก็บเพื่อไม่ให้อากาศเข้าและทำให้ละอองเกสรดอกไม้เสียได้ เนื่องจากเอนไซม์นํ้าตาลบางชนิดในนํ้าผึ้งจะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นกรด
แลคติก ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันสารบางชนิดที่มีอยู่ในละอองเกสรดอกไม้ไม่ให้เสื่อมคุณภาพ ในแต่ละชั่วโมง ผึ้งงาน 1 ตัว จะเก็บรวบรวมเกสรดอกไม้ได้ 4 ล้านอณู และในละอองเกสร 1 ช้อนชาจะมีเกสรถึง 2.5 พันล้านอณู
คุณประโยชน์ของเกสรผึ้ง
สำหรับคุณประโยชน์ของเกสรผึ้งนั้น มีรายงานการค้นคว้าทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมายยืนยันถึงคุณประโยชน์ของเกสรผึ้งในแง่ของอาหารเสริมสุขภาพประมาณกันว่า เกสรผึ้งหนึ่งก้อนประกอบด้วยเอนไซม์และโคเอนไซม์มากกว่า 5,000 ชนิด ซึ่งมีมากกว่าอาหารอื่นๆ หลายเท่า เกสรแต่ละก้อนที่ผึ้งนำมานั้นประกอบด้วยละอองเกสรตัวผู้ของดอกไม้ตั้งแต่ 100,000-500,000 สปอร์ คุณค่าของเกสรผึ้งเป็นที่รู้จักกันดี
ในต่างประเทศ และได้มีการค้นคว้ากันอย่างกว้างขวาง จึงได้ทราบว่าเกสรผึ้งนอกจากจะประกอบด้วยอาหารประเภทโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ แล้วยังประกอบด้วยวิตามิน เกลือแร่ และสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต สามารถสร้างภูมิต้านทานโรค และรักษาโรคให้กับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีผลข้างเคียงติดตามมา เช่นเดียวกับการรักษาโรคด้วยยารักษาโรคชนิดต่างๆ ซึ่งจากการค้นคว้าพบว่าในเกสรผึ้ง ประกอบด้วยสารอาหารถึง 185 ชนิด โดยพอจะแยกได้เป็น วิตามิน 16 ชนิด เกลือแร่ต่างๆ 16 ชนิด นํ้าย่อย กรดอะมิโน และสารอื่นๆ ดังนั้น จึงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเกสรผึ้งมีประโยชน์สำหรับคนทุกเพศทุกวัย เป็นยาอายุวัฒนะสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีและบรรเทาความเจ็บป่วยของผู้ที่มีปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งจากการทดลองของแพทย์ซึ่งใช้เกสรผึ้งกับผู้ป่วยมีผลสรุปได้ดังนี้
1. ช่วยเพิ่มนํ้าหนักแก่ผู้ป่วยซึ่งมีร่างกายซูบผอมให้เป็นปกติอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเพิ่มกำลังวังชา ทำให้หายเร็วกว่าปกติ จะเห็นได้จากตัวอ่อนของผึ้งเพิ่มน้ำหนักได้ถึง 1,500 เท่าภายใน 1 สัปดาห์เมื่อบริโภคเกสรผึ้ง
2. ช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ ทั้งในกรณีของท้องผูกหรือท้องเดิน
3. ช่วยให้ระบบประสาทอยู่ในสภาพปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกรณีของผู้ที่มีประสาทอ่อนไหวง่าย
4. ช่วยเสริมสร้างเม็ดโลหิตแดงอย่างรวดเร็วสำหรับผู้ที่มีเลือดน้อยหรือโลหิตจาง
5. ช่วยขจัดของเสียและสารเป็นพิษออกจากร่างกาย
6. ช่วยเป็นสื่อให้ร่างกายและสมองได้รับก๊าซออกซิเจนมากขึ้น ทำให้ร่างกายแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า และสมองแจ่มใส
7. ช่วยควบคุมการสันดาปภายในร่างกายให้เป็นปกติ กล่าวคือ จะช่วยการควบคุมนํ้าหนักไม่ให้ร่างกายมีไขมันส่วนเกิน เนื่องจากนํ้าตาลในเกสรผึ้งช่วยให้การเผาผลาญอาหารเร็วขึ้นไม่เหลือเป็นไขมัน
8. เกสรผึ้งมีสารซึ่งเรียกกันว่า รัททิน (RUTIN) ช่วยป้องกันและบรรเทาผู้ถูกกัมมันตรังสีจากเอกซ์เรย์และปรมาณู
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ ละอองเกสรของพืชต่างชนิดกันไม่เพียงจะแตกต่างกันในด้านรูปร่าง ขนาด สีและกลิ่นเท่านั้น ส่วนประกอบทางเคมีและคุณค่าทางอาหารของละอองเกสรจากแหล่งต่างๆ กันจะแปรผันไปตามชนิดของพืช ผึ้งอาศัยการดมกลิ่นจึงไม่สามารถแยกแยะส่วนประกอบและชนิดของละอองเกสรได้ ดังนั้น
การเลือกสถานที่เลี้ยงผึ้งและชนิดของพืชที่จะให้ผึ้งหาละอองเกสรที่มีคุณค่าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เช่น ละอองเกสรจากพืชจำพวกสนมีโปรตีนเพียงร้อยละ 7.02 ในขณะที่ละอองเกสรจากอินทผลัมมีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 35.5 นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วว่า ละอองเกสรของต้นไม้บางชนิดทำให้เกิดอาการแพ้ประเภทไข้หวัดหรือไข้ฟางได้สำหรับบางคนที่แพ้ละอองเกสร จึงมีบริษัทผู้ผลิตยาบางบริษัทจะซื้อเกสรผึ้งจากแหล่งที่รู้แน่นอนว่าเป็นเกสรจากพืชชนิดใด ทั้งนี้เพื่อนำมารักษากับคนที่แพ้ละอองเกสร โดยให้คนที่แพ้ละอองเกสรชนิดหนึ่งกินเกสรผึ้งอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งตามทฤษฎีแล้วอาจจะช่วยให้อาการแพ้ละอองเกสรดอกไม้นั้นดีขึ้น แต่ก็ยังคงต้องมีการวิจัยค้นคว้ากันต่อไป
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการรับประทานเกสรผึ้งนั้นผู้บริโภคอาจจะได้รับพิษด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีดังต่อไปนี้
-เกสรดอกไม้จากพืชบางชนิดที่เป็นพิษ และ/หรือเกสรดอกไม้ ซึ่งมีการปนเปือนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีที่มีรูปแบบ MICROENCAP SULATE เนื่องจากสารเคมีประเภทดังกล่าวจะมีขนาดเล็กใกล้เคียงกับขนาดของละอองเกสร เมื่อผึ้งนำไปเก็บไว้ในหลอดรองรังก็จะเป็นอันตรายกับรังผึ้ง และถ้ามนุษย์นำมาบริโภคก็จะเป็นอันตรายกับผู้บริโภคเอง
-ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเกสรผึ้งที่เริ่มบูด เนื่องจากเชื้อยีสต์ในเกสรผึ้งจะผลิตสารบางชนิดที่มีส่วนทำให้เส้นเลือดแตก การแข็งตัวของเลือดช้า อาจจะทำให้เกิดอาการตกเลือดในบุคคลที่รับประทานเกสรผึ้งบูดวันละ 1-2 ช้อนชาติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน
-อาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ เนื่องจากเกสรดอกไม้มีผนังของเม็ดเกสรค่อนข้างเหนียวและย่อยยาก ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีการทดลองยืนยันว่าควรจะรับประทานเกสรผึ้งในปริมาณเท่าใดจึงจะพอเหมาะแก่การย่อย แต่ก็มีผู้ชำนาญในด้านอาหารธรรมชาติบางรายให้คำแนะนำว่า ไม่ควรรับประทานเกสรผึ้งมากกว่า 1 ช้อนชา/ วัน
ปัจจุบันการเก็บเกสรผึ้งจะมีวัตถุประสงค์ 2 ประเภท คือ เก็บไว้เลี้ยงผึ้งหรือเก็บไว้เพื่อให้มนุษย์บริโภค ซึ่งการเก็บไว้เลี้ยงผึ้งของการเลี้ยงผึ้งในระบบอุตสาหกรรมก็คือ เก็บไว้เลี้ยงในฤดูกาลที่ประสบกับปัญหาขาดแคลนเกสรดอกไม้โดยใช้ผสมกับสารอาหารชนิดอื่นๆ เช่น ยีสต์ 25% ไข่แดง 25% และน้ำผึ้ง 25% ซึ่งอาหารเลี้ยงอาหารเลี้ยงผึ้งนี้
สามารถเก็บไว้ได้นานครึ่งปีและเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ผึ้งวางไข่ เกสรผึ้งที่จะเก็บไว้เลี้ยงผึ้งจะต้องเก็บไว้ในที่เย็นจัด โดยไม่ทำให้คุณค่าทางอาหารของเกสรผึ้งนั้นสูญเสียไปสำหรับเกสรผึ้งที่เก็บไว้ให้มนุษย์บริโภคควรทำให้แห้งก่อน โดยเก็บไว้ในภาชนะที่สามารถป้องกันความชื้น เกสรผึ้งในลักษณะนี้จะสามารถรักษาคุณค่าทางอาหารไว้ได้นานประมาณ 1 ปี
กรรมวิธีการผลิตเกสรผึ้ง
ในเชิงพาณิชยกรรม ผู้เลี้ยงผึ้งสามารถดักเก็บเกสรได้โดยบังคับให้ผึ้งที่เก็บเกสรมาแทรกตัวผ่านรูแคบๆ ที่คั่นไว้ก่อนที่ผึ้งจะเข้ารัง หรือที่เรียกกันว่า “กับดักเกสร” ซึ่งจะทำให้เกสรผึ้งหลุดออกมาจากขาหลังลงไปในภาชนะที่รองรับ ซึ่งการเก็บเกสรผึ้ง ควรจะเก็บทุกๆ วันเพื่อไม่ให้มีเชื้อราเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การเก็บเกสรดอกไม้จากกับดักนั้นจะต้องคำนึงถึงปริมาณเกสรที่ผึ้งจะเก็บไว้เป็นอาหารของสมาชิกภายในรังด้วย ฉะนั้นจะกระทบกระเทือนถึงพฤติกรรมของการดำรงชีวิตของผึ้งในรัง แต่การเก็บเกสรผึ้งโดยใช้กับดักเกสรนั้นมีประโยชน์ช่วยกระตุ้นให้ผึ้งเก็บเกสรเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ชนิดของกับดักเกสรนั้น พอจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. กับดักเกสรติดตั้งหน้ารังผึ้ง ข้อดีของกับดักเกสรประเภทนี้ คือ ติดตั้งง่ายแต่มีข้อเสียคือขัดขวางพฤติกรรมบางอย่างของผึ้ง เช่น การทำความสะอาดรัง การฝืกบินของผึ้งรุ่นใหม่ การป้องกันรัง การระบายอากาศภายในรังผึ้ง เป็นต้น จำนวนรูเข้าออกของผึ้งมีน้อยลง จะทำให้ผึ้งในรังเครียดและตายได้ นอกจากนี้ ในกรณีที่มีฝนตก ขณะดักเกสรจะทำให้เกสรเปียกแฉะเพราะนํ้าฝนเข้าไปในถาดเก็บเกสรได้ง่าย
2. กับดักเกสรชั้นล่างและชั้นบน วิธีนี้จะสามารถลดความเครียดของผึ้งได้ แต่กับดักเกสรชั้นล่างจะมีข้อเสีย คือ อาจจะมีสิ่งสกปรกหรือชิ้นส่วนบางอย่างของผึ้ง เช่น เล็กไนปะปนอยู่ การดักเก็บเกสรแบบติดตั้งชั้นล่างจึงต้องเสียเวลาในการทำความสะอาดเกสรผึ้งที่ได้อีกครั้งหนึ่ง ส่วนการใช้กับดักเกสรชั้นบนนับเป็นวิธีที่ดีที่สุด นอกจากจะติดตั้งสะดวกแล้วยังสามารถดักเก็บเกสรได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งในฤดูฝนทั้งยังไม่เป็นอุปสรรคในการฝึกบินของผึ้งรุ่นใหม่
อย่างไรก็ตาม การติดตั้งกับดักเกสรทั้งชั้นล่างและชั้นบนนี้ ผู้เลี้ยงผึ้งจำเป็นจะต้องมีการฝึกผึ้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะผึ้งงานรุ่นเก่าตายหมดแล้ว นอกจากนี้เมื่อเริ่มติดตั้งกับดักเกสรใหม่ๆ ผู้เลี้ยงผึ้งจะต้องดูและเอาใจใส่ในสัปดาห์แรกๆ ว่าจำนวนเกสรผึ้งที่ดักได้ต่อวันนั้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งบางครั้งผู้เลี้ยงจำเป็นจะต้องเลือกรังผึ้งที่ติดตั้งกับดักว่ารังไหนหาเกสรเก่ง สิ่งที่น่าจะพิจารณาก็คือ ประสิทธิภาพของการเก็บเกสรผึ้ง สำหรับการติดตั้งกับดักทั้งชั้นล่างและชั้นบนจะไม่เท่ากัน กล่าวคือ ถ้าติดตั้งกับดักเกสรชั้นล่างจะดักเกสรได้ร้อยละ 60-70 ของเกสรดอกไม้ที่ผึ้งหามาได้ทั้งหมด ในขณะที่การติดตั้งกับดักเกสรชั้นบนดักเกสรได้เกือบทั้งหมด ทั้งขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงผึ้งอีกว่าจะฝึกผึ้งงานที่ออกเก็บเกสรให้เข้าออกทางด้านที่ติดตั้งกับดักเกสรได้มากน้อยเพียงใด
3. กับดักเกสรติดตั้งตรงกลางหรือระหว่างชั้นบนและชั่นล่าง ข้อดีของการติดตั้งกับดักเกสรแบบนี้ คือ ผึ้งงานเก็บเกสรเข้าออกจากรังได้สะดวก สามารถป้องกันการทำลายเกสรอันเนื่องมาจากมดหรือแมลงชนิดอื่นๆ และในฤดูการเก็บนํ้าผึ้งนั้น ในรวงหรือในคอนน้ำผึ้งจะมีเกสรปะปนน้อย สำหรับข้อเสียของกับดักเกสรก็คือ จะเป็นการแยกรังผึ้งเป็น 2 รัง การควบคุมอุณหภูมิภายในรังไม่ดี ทำให้ผึ้งตัวอ่อนมีการเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร เป็นผลให้ประชากรของผึ้งในรังไม่ได้สัดส่วนกัน
เมื่อได้เกสรผึ้งมาแล้วควรจะเก็บรักษาไว้ให้ดีเพื่อรอการส่งออกไปจำหน่ายต่อไป ข้อควรระวังของผู้ที่เลี้ยงผึ้งก็คือ ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อละอองเกสร ได้แก่
1. อากาศชื้น ในขณะที่อากาศชื้น เกสรผึ้งจะชื้น ทำให้เกิดเชื้อราและเสียได้ภายใน 4-5 วัน ยิ่งถ้าเกสรผึ้งนั้นมีความชื้นมากกว่าร้อยละ 25 ภายใน 4 วันก็จะมีกลิ่นเหม็นหืน
2. แสงแดด เมื่อรวบรวมเกสรสดๆ จะต้องระวังอย่าให้ถูกแดด เพราะเกสรผึ้งที่เก็บได้จะเยิ้มและเกาะติดกันเป็นก้อน
3. วิธีการเก็บรักษา การเก็บรักษาเกสรสดๆ ควรนำไปแช่เย็นจนแข็งอย่างน้อยที่สุด 2 วันหลังจากการเก็บรวบรวมเกสรสด ถึงแม้จะใช้เวลานานแต่ก็จะไม่ทำให้เกสรนั้นเสีย การทำให้เกสรนั้นแห้งควรจะทำโดยรวดเร็วที่สุดหลังจากการแช่แข็งแล้ว ทั้งนี้เพื่อลดการแตกหักของเกล็ดเกสร ซึ่งเกสรที่สดจะมีความชื้นมากกว่าร้อยละ 20 แต่เกสรผึ้งที่ส่งไปจำหน่ายในท้องตลาดจะมีความชื้นระหว่างร้อยละ 8-10
ข้อควรระวังก็คือ
-ไม่ควรนำเกสรไปตากแดดเป็นเวลานานๆ เพราะนอกจากจะทำให้เกสรผึ้งมีสีซีดแล้วจะทำให้เกสรเกาะกันเป็นก้อน
-ระยะเวลาในการทำให้เกสรแห้งนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของเกสรและประสิทธิภาพของเครื่องมือ รวมทั้งความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศในขณะนั้น
-เกสรบางชนิดอาจจะใช้เวลาทำให้แห้งเพียง 4-6 ชั่วโมง แต่บางชนิดอาจจะต้องใช้เวลาถึง 24 ชั่วโมง ดังนั้นอุณหภูมิที่จะทำให้แห้งนั้นไม่ควรจะเกิน 50 องศาเซลเซียส
– เกสรแห้งจะแตกหักน้อยกว่าเกสรสด และเกสรสดไม่สามารถทำความสะอาดได้ บางครั้งจะพบว่ามีเหล็กไนหรือส่วนของอวัยวะของผึ้งติดอยู่ เมื่อทำเกสรให้แห้งแล้วควรทำความสะอาดโดยการเปิดพัดลมให้มีความเร็วอ่อนๆ แล้วใช้มือโปรยให้เกสรปลิวขึ้นมา เศษวัสดุที่เล็กละเอียดที่ปนอยู่กับเกสรจะปลิวออกไป
-ควรระมัดระวังการเข้าทำลายของแมลงอื่นๆ เช่น มด มอดยาสูบ หนอนผีเสื้อ เป็นต้น
4. การปนเปื้อน เกสรดอกไม้ที่ดักเก็บจากรังผึ้งอาจจะมีการปนเปื้อนของสารโลหะหนักบางชนิด และ/หรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนเชื้อราเกิดขึ้นด้วย ซึ่งปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อองค์ประกอบทางเคมีของเกสรดอกไม้ ได้แก่ สภาพท้องถิ่น สภาพภูมิอากาศ และฤดูกาลต่างๆ ในรอบปี
ประเภทของเกสรผึ้งที่มีจำหน่ายในท้องตลาด
เกสรผึ้งบางชนิดจะมีรสขม บางชนิดมีรสหวาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกสรของพืชแต่ละชนิด ปัจจุบันเกสรผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์จากผึ้งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งมีผลผลิตออกวางจำหน่ายในหลายรูปแบบ ทั้งแบบเกสรผึ้งอย่างเดียวหรือผสมกับผลิตภัณฑ์อย่างอื่น ซึ่งพอจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. เมล็ดบีพอลเลน (BEE POLLEN GRAINS) เป็นเกสรผึ้งธรรมชาติที่ผลิตออกวางจำหน่ายในรูปของการบดละเอียด ปริมาณบริโภควันละ 1 ช้อนชา
2. บีพอลเลนอัดเม็ด มีบริษัทต่างๆ ผลิตออกมามากมายหลายยี่ห้อ บีพอลเลนแต่ละเม็ดจะมีละอองเกสรประมาณ 800 อณู ปริมาณการบริโภคบีพอลเลนชนิดนี้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแต่ละบริษัท
3. บีพอลเลนผสมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้แก่ นํ้าผึ้ง นํ้าผึ้งและนมผึ้ง และผสมกลูโคส ปริมาณการบริโภคก็ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแต่ละบริษัท
ที่มา:ส่วนวิจัยเกษตรกรรม ฝ่ายวิชาการ ธนาคารกสิกรไทย