เครื่องมือที่ใช้ในการแต่งกิ่งกุหลาบ

ในการตัดแต่งกิ่ง ควรจะได้มีเครื่องมือไว้ให้พร้อม และก็ควรจะใช้เครื่องมือแต่ละชิ้นให้เหมาะกับงานแต่ละอย่างด้วย นอกจากนี้เครื่องมือทุกชิ้นควรจะอยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ทันที คือไม่ชำรุดหรือปล่อยไว้จนเกิด สนิม ทั้งนี้ เพื่อสะดวกในการปฏิบัติงานนั้นเอง สำหรับเครื่องมือที่ควรมีใช้ในการตัดแต่งก็คือ

1. กรรไกรมือด้ามสั้น ควรมี 2 แบบ คือ แบบใบมีดตรง และแบบใบมีดโค้ง

กรรไกรมือด้ามสั้นแบบใบมีดโค้ง ใช้ตัดกิ่งที่เป็นง่ามกิ่ง โดยต้องการที่จะตัดให้ชิดต้น เพื่อให้แผลที่ตัดเรียบชิดกับต้นแลดูเรียบร้อย การตัดก็ควรให้ด้านที่อยู่ทางใบมีดชิดกับโคนต้น ส่วนกรรไกรมือด้ามสั้นแบบใบมีดตรงนั้น ใช้ตัดกิ่งที่ต้องการทอนให้สั้น เพื่อให้เหลือกิ่งมีความยาวตามที่ต้องการเป็นกรรไกรที่เบาและออกแรงน้อย เหมาะกับคุณผู้หญิง

2. กรรไกรมือด้ามยาว ใช้ตัดกิ่งที่มีขนาด โตเกินกำลังของกรรไกรมือด้ามสั้นที่จะตัดได้ และเหมาะที่จะใช้ตัดกิ่งที่อยู่ในพุ่ม ซึ่งกรรไกรมือด้ามสั้นทำงานไม่สะดวก

3. เลื่อยแต่งกิ่ง ควรเป็นเลื่อยมือขนาดเล็ก และมีใบโค้งเหมาะที่จะเลื่อยกิ่งที่อยู่ในพุ่มและเป็นกิ่งที่มีขนาดโตซึ่งกรรไกรจะทำงานได้ยาก

4. มีดแต่งกิ่ง เป็นมีดที่มีใบมีดโค้งปลายแหลม ใช้ตัดกิ่งซักเกอร์ หรือกิ่งที่ไม่ต้องการ ขณะที่กิ่งนั้นยังมีเนื้อไม้ไม่แข็งเกินไปนัก

5. ถุงมือ ปกติเป็นถุงทำจากหนังสัตว์สวมกันหนาม ขณะที่ทำการตัดแต่ง

6. สีทารอยแผลตัด อาจใช้สีน้ำมัน ปูนแดง น้ำมันดิน อย่างใดอย่างหนึ่ง มักนิยมสีที่ทำจากแอสฟัลทํ ซึ่งเตรียมสำหรับใช้ในงานตัดแต่งกิ่งโดยเฉพาะ

การปฏิบัติบางอย่างหลังการตัดแต่งกิ่ง

1. เก็บใบที่เหลือติดอยู่กับต้นออกให้หมด ในกรณีที่ทำการตัดแต่งกิ่งที่ยังไม่แก่ ซึ่งจะต้องเหลือกิ่งที่มีใบไว้เลี้ยงต้น ก็จะต้องเก็บใบที่เป็นโรคออกให้หมด เหลือไว้แต่ใบที่สมบูรณ์และไม่เป็นโรคเท่านั้น

2. เก็บใบแห้งและกิ่งที่ทำการตัดออก ตลอดจนใบและกิ่งที่ร่วงหล่นอยู่ตามโคนต้นเดิม อันเป็นแหล่งที่จะเพาะขยายเชื้อโรคและเป็นที่หลบซ่อนของแมลง ควรจะนำไปเผาไฟเสีย

3. หลังจากเก็บใบและทำความสะอาดทั่วทั้งแปลงแล้ว ควรจะพ่นต้นพืชตลอดจนพื้นแปลงโดยรอบด้วยแคลเซี่ยมโปลซัลไฟด์หรือไลม์ซัลเฟอร์หรือกำมะถันที่ละลายน้ำได้ให้ทั่วตลอดทั้งแปลง

4. กิ่งใดที่มีขนาดใหญ่กว่าดินสอดำ จะต้องทาด้วยสีที่ใช้ในการตัดแต่งที่แผลรอยตัด และควรทำให้เสร็จภายในวันที่ทำการตัดแต่งกิ่งนั้น

5. ถ้าต้องการที่จะพรวนดินแปลงปลูก ควรจะทำในระยะนี้ โดยพรวนดินใส่ปุ๋ยคอกและคลุมแปลงด้วยวัตถุคลุมดินเพิ่มเติม หลังจากนั้น จึงรดน้ำให้ชุ่มและควรจะงดรดน้ำสักระยะหนึ่ง จนกว่าตาที่กิ่งจะเริ่มแตกเป็นยอดอ่อนจึงเริ่มให้น้ำ ในระยะนี้ควรให้น้ำแต่น้อย และค่อย ๆ ให้เพิ่มมากขึ้นเมื่อกิ่งมีใบมากขึ้น

อนึ่ง ควรปลิดตาที่ไม่ต้องการทิ้งเสีย เลือกตาที่เจริญเป็นกิ่งที่แข็งแรงและอยู่ตำแหน่งที่เหมาะไว้ ทำลายกิ่งซักเกอร์คือกิ่งที่เกิดจากต้นตอ ควรจะทำในระยะที่กิ่งยังอ่อน และเลี้ยงกิ่งกระโดงไว้ วัตถุประสงค์ในการตัดแต่งกิ่งข้อ หนึ่งก็คือ เพื่อให้เกิดกิ่งกระโดงจากโคนต้น กิ่งกระโดงนี้จะเป็นกิ่งที่จะให้ดอกต่อทอดรับช่วงมาจากกิ่งแก่ที่ตัดออก เมื่อเกิดกิ่งกระโดงขึ้นแล้วจะต้องเลี้ยงให้ถูกต้อง มิฉะนั้นกิ่งจะไม่สมบูรณ์และให้ดอกดกเท่าที่ควร วิธีที่จะเลี้ยงกิ่ง กระโดงให้ถูกต้องนั้นอาจทำได้ 2 วิธีคือ

1. เด็ดยอดกิ่งกระโดงที่แตกออกเมื่อกิ่งมี ความยาวประมาณ 12″ – 24″ ทั้งนี้เพื่อให้กิ่งกระโดงแตกกิ่งข้างมาก ๆ และจะปล่อยให้กิ่งข้างนั้นเจริญจนถึงออกดอก หลังจากออกดอกแล้วจึงตัดให้เหลือตาที่กิ่งเพียง 3-4 ตา การตัดมักทำพร้อมกับการตัดดอก

2. ปล่อยให้กิ่งกระโดงเจริญจนถึงออกดอก แล้วจึงตัดกิ่งให้เหลือครึ่งหนึ่งของความยาวของกิ่ง และถ้ายังมีกิ่งข้างเหลืออยู่ ตัดกิ่งข้างให้เหลือเพียงตาเดียว

มีบ่อยครั้งที่กิ่งกระโดงเจริญเป็นกิ่งในพวง ซึ่งเป็นกิ่งที่ไม่มีดอก ในกรณีเช่นนี้ถ้าต้นมีใบน้อย ก็จะต้องรักษากิ่งในพวงไว้จนกว่าจะเกิดกิ่งกระโดงที่ต้องการ แต่ถ้าต้นมีใบมากพอแล้ว ก็ควรเลือกตัดกิ่งที่บังแสงแดดโคนต้นออก การตัดควรทำเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้แล้วแต่ความสมบูรณ์ของต้นพืชนั้น ๆ