เครื่องมือและอุปกรณ์ที่สำคัญในการเพาะเห็ดฟางแบบอุตสาหกรรม

โรงเรือน ที่ใช้เพาะต้องเป็นโรงเรือนที่ปิดมิดชิด สามารถทำการอบไอ น้ำ ฆ่าเชื้อ เก็บอุณหภูมิและความชื้นได้ วัสดุที่ใช้สร้างอาจเป็นคอนกรีต กระเบื้องแผ่นเรียบ หรือผ้าพลาสติกคล้ายถุงปุ๋ยซึ่งเคลือบด้วยผ้าพลาสติกใสบาง ๆ อีกชั้นหนึ่งก็ได้ แต่วัสดุที่ดีคือคอนกรีต ซึ่งอาจใช้คอนกรีตบล๊อกก็ได้ เพราะสามารถเก็บรักษาอุณหภูมิและความชื้นเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีความคงทนกว่า ขนาดของโรงเรือนที่เหมาะแก่การดูแลรักษา ควรใช้ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6-7 เมตร สูง 2.5 เมตร หลังคารูปจั่ว พื้นโรงเรือนควรเป็นพื้นคอนกรีตมีประตูทางเข้าอยู่ตรงกลาง 1 ประตู

ในการก่อสร้าง หากก่อสร้างบนพื้นที่แข็งแรงพอ ไม่จำเป็นต้องทำเสาก็ได้ ก่อนจะเริ่มก่อคอนกรีตบล๊อก ควรเทคานขนาดประมาณ 10-12 เซ็นติเมตรรองรับเสียก่อน สำหรับมุมทั้งสี่นั้นให้ใช้เหล็กเส้นตัดเป็นมุมฉากเกี่ยวคอนกรีต 2 ก้อนที่ชนกันไว้ ถ้าใช้คอนกรีตบล๊อกขนาด 40 X 60 ซม. สร้างโรงเรือนขนาด 4×6 ม. สูง 2.5 ม. ใช้คอนกรีตบล๊อกประมาณ 520-550 ก้อน ส่วนหลังคาควรทำด้วยจากหรือหญ้าคา เพราะจะทำให้อุณหภูมิไม่สูงเกินไปเมื่อแดดจัด ๆ แต่ภายในใต้หลังคาจะต้องบุด้วยผ้าพลาสติกถุงปุ๋ย ซึ่งเคลือบด้วยผ้าพลาสติกใสบาง ๆ อีกชั้นหนึ่ง รอยต่อของผ้าพลาสติกให้ใช้กาวยางเบอร์สูง เพราะเหนียวกว่าเบอร์ต่ำหรือใช้เย็บจักร์ เย็บผ้าก็ได้

โรงเรือนอาจทำด้วยผ้าพลาสติกคล้ายถุงปุ๋ย ซึ่งเคลือบด้วยผ้าพลาสติกใส บาง ๆ ทั้งโรงเรือนก็ได้ ใช้ผ้าพลาสติกขนาดหน้ากว้าง 1.40 เมตร ไม่เกิน60 เมตร แต่ด้านนอกของโรงเรือนจะต้องบุด้วยจากหรือหญ้าคาให้หนา ๆ อีกชิ้นหนึ่ง ระยะเวลาที่ใช้โรงเรือนพลาสติกประมาณ 2 – 3 ปี เท่านั้น

ส่วนประกอบของโรงเรือนที่สำคัญได้แก่

1. ช่องระบายอากาศ เป็นช่องสำหรับระบายอากาศและความร้อนที่สูง เกินไป ช่องนี้ควรอยู่ใกล้มุมทั้งด้านหน้าและหลัง กว้างประมาณ 40 X 60 ซม.

2. พัดลมดูด-เป่าและระบายอากาศ เป็นพัดลมกรงกระรอกธรรมดา ขนาดใบพัด 16-20 ซม. แต่ดัดแปลงทำกล่องสังกะสีสวมปากทางลมออก โดยให้มีลมออกได้ 2 ทาง ทางหนึ่งต่อเข้าภายในโรงเรือน และอีกทางหนึ่งออกภายนอก ทั้งสองทางจะมีลิ้นปิดเปิด ส่วนทางดูดลมก็เช่นเดียวกันคือทำทางดูด 2 ทาง ต่อเข้าภายในข้างหนึ่ง อีกข้างอยู่ข้างนอก และมีลิ้นปิดเปิดเช่นกัน สำหรับทางลมออกที่ต่อเข้าภายในโรงเรือนนั้น จะต้องต่อท่อขึ้นไปข้างบนขนานกับสันจั่ว อาจจะทำด้วยท่อเอสร่อนหรือใช้ผ้าพลาสติกเย็บให้ได้เส้นผ่าศูนย์กลางพอสวมปากท่อลมได้ ตรงท่อที่ขนานจั่วนั้นจะต้องทำการเจาะรู เพื่อให้อากาศออก เจาะรูขนาดเท่ามวนบุหรี่

3. เทอร์โมมิเตอร์ คือเครื่องมือสำหรับวัดระดับอุณหภูมิภายในห้อง ควร ใช้ขนาดที่สามารถวัดได้ตั้งแต่อุณหภูมิ 0-100 องศาเซลเซียส ฝังอยู่ติดกับผนัง สูงจากพื้นประมาณ 1.50 เมตร อยู่ด้านไหนของโรงเรือนก็ได้ ช่วงที่เจาะใส่เทอร์โมมิเตอร์นั้นจะต้องกลวงให้เทอร์โมมิเตอร์สัมผัสกับอากาศภายใน ส่วนด้านนอกของโรงเรือนควรปิดด้วยกระจกใสเพื่อสะดวกในการอ่านค่า

4. หิ้งสำหรับวางปุ๋ยหมัก อาจทำจากไม้ไผ่หรือเหล็กก็ได้ แต่ที่ได้ผลดี ที่สุดคือหิ้งเหล็ก เพราะจะไม่มีการสะสมเชื้อที่เป็นอันตรายต่อเห็ด แต่ต้องลงทุนมาก ดังนั้นที่นิยมกันมากที่สุด คือเสาใช้ท่อประปา ส่วนแต่ละชั้นใช้ไม้ไผ่ที่แช่น้ำจนเน่าประมาณ 1 เดือน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 -3 ซม. ทำเป็นไม้ระแนงตามความยาวของโรงเรือน วางห่างกันประมาณ 2-3 ซม. ความสูงของหิ้งประมาณ 1.80-2.00 ม. แต่ละหิ้งประกอบด้วยชั้น 4 ชั้น แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 45-50 ซม. ยกเว้นชิ้นแรกที่ติดกับพื้นให้สูงห่างจากพื้นประมาณ 30 ซม.

5. เครื่องกำเนิดไอน้ำ ต้องมีประสิทธิภาพในการพ่นไอนํ้าสูง รูปแบบ ของเครื่องกำเนิดไอน้ำมีหลายชนิด เช่น ชนิดวางตั้ง ชนิดวางนอน บางชนิดเปลวเชื้อเพลิงผ่านท่อรับความร้อน ท่อเล็ก ๆ มีหลายท่อ บางชนิดมีท่อขนาดใหญ่สำหรับใส่เชื้อเพลิงและรับเชื้อเพลิงไปในตัว คล้ายเครื่องจักรไอน้ำรถไฟ ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก เพราะราคาถูก วิธีการใช้ไม่ยุ่งยาก สามารถใช้ได้ทั้งฟืนและเตาน้ำมัน (ดังรูปเครื่องกำเนิดไอน้ำของสาขาจุลชีวะวิทยาประยุกต์ กองวิจัยโรคพืช กรมวิชาการเกษตร)

จากเครื่องกำเนิดไอนํ้าจะต้องต่อท่อไอนํ้าไปยังโรงเรือนเพาะเห็ด โดยทำการต่อวางกับพื้นของโรงเรือนตรงกลางโดยใช้ท่อขนาด 2-4 ซม. ท่อที่อยู่ในโรงเรือนจะต้องเจาะรูให้ไอน้ำออกขนาดประมาณ 1-2 หุน รูที่เจาะระยะต้น ๆ ควรเจาะห่างกันมาก ๆ แล้วค่อย ๆ ถี่เข้า เครื่องกำเนิดไอนํ้า 1 เครื่อง อาจจะต่อท่อไอนํ้าโยงได้นับเป็นสิบ ๆ โรง

แต่ถ้าหากยังไม่อยากลงทุนมาก อาจใช้ถังน้ำมันขนาดบรรจุ 200 ลิตร เป็นเครื่องกำเนิดไอน้ำแทนก็ได้ โดยวางนอนบนเตาซึ่งอาจเป็นเตาเศรษฐกิจหรือเตาฟืนก็ได้ โดยปกติแล้วถังนํ้ามันจะมีรูสำหรับดูดนํ้ามันออก 2 รู ให้เอารูที่ใหญ่กว่าอยู่ด้านบน เจาะรูบนสันถังเพื่อให้ไอนํ้าออกแล้วเชื่อมต่อด้วยท่อประปาขนาด 2-3 ชม. เพื่อต่อไอนํ้าเข้าไปยังโรงเรือน โรงเรือนขนาด 4 X 6 ม. สูง 2.5 เมตร ควรใช้ถัง 200 ลิตร (เครื่องกำเนิดไอน้ำแบบลูกทุ่ง) จำนวน 2 ใบ ต่อท่อไอนํ้าเข้าหากัน

การใส่นํ้าให้ใส่นํ้าตรงรูสำหรับดูดนํ้ามันรูใหญ่ ประมาณครึ่งถัง อย่าใส่ มากกว่านั้น

6. กะบะไม้หรือไม้แบบสำหรับอัดวัสดุที่จะหมัก จะทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม จัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมคางหมูก็ได้ ขนาดกว้างประมาณ 1 -1.5 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนวัสดุที่จะใช้หมัก ส่วนความสูงของกะบะ ควรสูงประมาณ 50 ซม. (ดังรูป)

7. เครื่องตีปุ๋ยหมัก ใช้ตีปุ๋ยหลังจากหมักได้ที่แล้ว เครื่องสำหรับตีปุ๋ย หมักควรเป็นเครื่องที่มีกำลังแรงสูงอย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 5 กำลังม้า สำหรับเครื่องตี อาจดัดแปลงจากเครื่องตีน้ำแข็งหรือเครื่องตีหินก็ได้ตีปุ๋ยหมักให้ละเอียด และฟูคล้ายฟองน้ำ

8. อื่น ๆ เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ 2 หลอดต่อ 1 โรงเรือน และเครื่องพ่นฝอย เครื่องวัดความชื้น มีดตัดเห็ด ตะกร้าเก็บเห็ด