เครื่องเทศสมุนไพร:ขิง

ขิงดอง

(Ginger)

Zingiber officinale Rose.

ขิง เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศในทวีปเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ไทย ชาวอาหรับเป็นผู้นำขิงไปสู่ตอนใต้ของทวีปยุโรปตั้งแต่สมัยก่อนคริสต์กาล ประเทศที่ส่งขิงเป็นสินค้าออกได้แก่ จีน ไทย จาไมกา ไนจีเรีย ฯลฯ ในทางการค้ามีชื่อเรียกขิงอยู่หลายอย่าง เช่น ขิงจาไมกา ขิงจีน ขิงอัฟริกา และขิงญี่ปุ่น เป็นต้น ขิงที่ถือว่ามีคุณภาพดีที่สุดได้แก่ ขิงจาไมกา ซึ่งเป็นขิงที่ปลูก

ในเขตร้อนหลายประเทศ เช่น อินเดีย อินโดจีน อัฟริกา จีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และรัฐฟลอริดาในสหรัฐอเมริกา ส่วนขิงไนจีเรียนั้นจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับขิงจาไมกา แต่มีสีเข้มกว่า ขนาดเล็กกว่า ผิวหนากว่า มีรสเผ็ดกว่า แต่มีกลิ่นหอมน้อยกว่าขิงจาไมกา

ขิงเป็นเครื่องเทศที่ใช้กันมานานแล้ว มีกลิ่นหอมและรสเผ็ด นำมาใช้ทั้งในรูปขิงสด ขิงแห้ง ขิงผง ขิงดอง รวมทั้งนำมาเตรียมเป็นนํ้าขิงซึ่งใช้เป็นเครื่องดื่มอีกด้วย

ขิงสด ใช้ปรุงอาหาร ใช้เป็นผักจิ้ม ใช้เป็นส่วนผสมในเมี่ยง ใช้ทำเป็นขิงดอง หรือใช้ใส่ในเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และใช้ผสมในเครื่องดื่มจำพวกค็อกเทลต่างๆ

ขิงดอง ทำได้โดยนำเหง้าขิงอ่อนที่ปอกเปลือกแล้วมาดองไว้ใน นํ้าเชื่อมหรือนํ้าผึ้ง บางครั้งก็ทำในรูปขิงแช่อิ่มซึ่งใช้เป็นของหวานได้ ส่วนในทางการค้าขิงดองทำได้โดยนำเหง้าขิงอ่อน ซึ่งล้างสะอาดแล้วนำมาต้มจนกระทั่งนิ่ม ขูดเปลือกนอกออกแล้วนำขิงที่ได้มาต้มในนํ้าเชื่อม แล้วบรรจุลงภาชนะ

ขิงแห้ง ในทางการค้าทำโดยนำเหง้าขิงมาทำความสะอาด ปอกเปลือกนอกออกแล้วนำมาตากแดดให้แห้ง บางครั้งก่อนปอกเปลือกนำเหง้าขิงไปลวกนํ้าเดือด หรือนํ้าปูนขาวก่อนแล้วจึงปอกเปลือกและตากแดดให้แห้ง ขิงแห้งใช้สำหรับแต่งกลิ่นอาหารหลายชนิด เช่น พายน์ คุกกี้ ฯลฯ ใช้เป็นส่วนผสมในผงกะหรี่ใช้แต่งกลิ่นเครื่องดื่มหลายชนิด เช่น Ginger beer, Gingerale เป็นต้น ในปัจจุบันมีการจำหน่ายขิงผงสำเร็จรูปเพื่อใช้ชงนํ้าร้อนเป็นเครื่องดื่ม ได้เช่นเดียวกับชา

ขิงมีคุณสมบัติเป็นยากันบูด กันหืน ใช้ใส่ในนํ้ามันหรือไขมัน เพื่อป้องกันการบูดหืน สารที่ทำให้ขิงมีคุณสมบัติเป็นยากันบูดกันหืนได้คือ สารจำพวกฟีนอลิค (phenolic compound) มีรายงานว่าโชกาออล และซิงเจอโรน สามารถป้องกันการหืนในนํ้ามันและไขมันได้พอๆ กับสารอัลลิลซัลไฟด์ (allyl sulphide) และอัลลิลไดซัลไฟด์ (allyl disulphide) นอกจากนี้ในเหง้าขิง ยังมีสารอาหารบางชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โปรตีน กรดอะมิโน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน เป็นต้น

ในปัจจุบันมีการสกัดสารจากขิงเพื่อนำไปทำยาชนิดต่างๆ เช่น ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาแก้เมารถ และผสมในยาสีฟัน เป็นต้น

เมื่อไม่นานมานี้ยังพบว่าในเหง้าขิงมีเอนไซม์ที่ย่อยเนื้อได้ เอนไซม์นี้จะมีคุณสมบัติเหมือนเอนไซม์โปรทีเอส (protease) เอนไซม์ในขิงประกอบด้วยเอนไซม์ไม่น้อยกว่า 2 ชนิด แม่ครัวบางท่านนิยมฝานขิงสดใส่ลงไปในนํ้าพริกแกงกะหรี่เนื้อ เพื่อช่วยให้เนื้อเปื่อย เนื่องจากผลของเอนไซม์ดังกล่าวนี้เอง